Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

 

เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดจากรถยนต์ส่วนตัวของนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดโครงการขยายถนนขึ้นเขาใหญ่เป็น 4 เลน และมีการตัดต้นไม้ไปมากมาย บางต้นอายุกว่า 100 ปี เรื่องนี้รัฐมนตรีคมนาคมยืนยันว่าโครงการดังกล่าวดำเนินการได้เพราะเข้าหลักเกณฑ์การสร้างถนน 4 เลน และไม่ต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นงานปกติของกรมทางหลวงที่ต้องสร้างถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน หากโครงการนี้ถูกยกเลิกก็ต้องยกเลิกโครงการขยายเส้นทาง 4 เลนทั่วประเทศเช่นกัน เพราะยังมีโครงการขยายเส้นทางอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันอีกที่อยู่ในปีงบประมาณ 54 และถนนบางสายต้องตัดต้นไม้ขนาดใหญ่กว่าถนนธนะรัชต์ซะอีก หากกรมทางหลวงไม่สร้างต่อก็จะถูกกล่าวหาว่าทำงาน 2 มาตรฐาน และอาจจะถูกฟ้องจากผู้รับเหมา

สรุปก็คือ การขยายถนนเขาใหญ่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ต้องทำ EIA เพราะไม่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ถ้าไม่ให้ทำก็ต้องยกเลิกขยายถนน 4 เลนทั่วประเทศตามงบไทยเข้มแข็ง และถ้าไม่ทำก็ 2 มาตรฐาน รัฐมนตรีคมนาคมได้โชว์วิสัยทัศน์อดีตครูบ้านนอกด้วยการแถข้างๆ คูๆ ว่าตัวเองทำถูกทุกอย่าง เป็นที่น่าสมเพชเวทนาให้คนเขาด่ากันทั้งเมือง และก็เป็นวิบากกรรมของคนไทยจริงๆ ที่มีแต่รัฐมนตรีขี้ตะแบง กะอีแค่ใครก็ไม่รู้ที่ถูกคนโตเมืองแปะ จับมาอาบน้ำ ปะแป้ง แต่งตัว แล้วก็ถีบขึ้นมาเป็นเสนาบดี กลับหลงตัวเองว่าเก่งกล้าสามารถไม่ฟังใคร ส่วนรัฐมนตรีตีกินแห่งกระทรวงสิ่งแวดล้อม ก็ออกมาโวยเรียกคะแนนอีกเช่นเคย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็นั่งเงียบตั้งนาน แล้วก็ทำท่าว่ารัฐมนตรีต่างพรรคทั้ง 2 คนนี้ต่างแกว่งปากตอบโต้ใส่กันว่าฝ่ายตนเองถูก ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเอาชนะกัน เพราะเป็นเรื่องหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยภาพรวม เป็นเรื่องเทรนด์ของโลกที่เขาใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการปกป้องมรดกโลก ไม่ใช่มาตะแบงว่า “รถติด ขยายถนน ถูกแล้วไง” หรือ “ถ้ารถติด ก็ปล่อยให้มันติดอย่างนั้นล่ะ เพราะต้องรักษาต้นไม้เอาไว้” ถ้าคิดได้แค่นี้ เด็กอนุบาลก็อาจจะมีแนวคิดดีกว่ารัฐมนตรีทั้ง 2 ท่านก็เป็นได้

แต่ก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 8 มิ.ย. 53 มีมติให้ยุติโครงการนี้ ให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และให้ฟื้นฟูสภาพต้นไม้ที่สูญเสียไป นายกรัฐมนตรีก็บอกว่าต้องตรวจสอบทั้งกรมทางหลวง กรมป่าไม้ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่ามีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ ล่าสุด รมว.สิ่งแวดล้อม บอกว่าจะฟ้ององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ก็ไม่รู้จะไปถึงขั้นไหนก็ต้องติดตามดู อย่ายึดหลักปรองดองระหว่างนักการเมืองกลายเป็นมวยล้มต้มคนดู แทนที่จะปรองดองระหว่างคนกับธรรมชาติ

จะเอาอย่างไรกันแน่ก็ให้มันชัดเจนว่าต้นไม้ที่ตัดไปแล้วจะทำอย่างไร  ยังจะขยายถนนในช่วงที่ตัดไปแล้วหรือไม่  หรือจะฟื้นฟูสภาพให้กลับมาดีดังเดิม ก็ต้องบอกสังคมให้ชัด แต่จริงๆ แล้วแค่นี้ก็คงยังไม่พอ นายกรัฐมนตรีจะต้องสร้างวิธีคิดในการทำงานใหม่ เกี่ยวกับการสร้างถนนทั่วประเทศ เปลี่ยนวิธีคิดและวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เพราะสองข้างเขตทางนั้นหลายแห่งเต็มไปด้วยต้นไม้ ขยายทีไรก็ตัดกันเกลี้ยงทุกที แล้วที่ตัดๆ ไปก็ไม่รู้เอาไปไหน จริงๆ ต้นไม้ข้างทางน่าจะเป็นสมบัติของชุมชน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นสมบัติของกรมทางหลวงอย่างเช่นปัจจุบัน กรณีต้นไม้เกาะกลางถนนก็เห็นตัดแต่งกันทุกปี แล้วก็ตัดในฤดูร้อนด้วย (แทนที่จะได้ร่มเงาให้รถวิ่งหลบร้อน) แล้วก็ไม่รู้กิ่งไม้ที่ตัดไปนั้นเอาไปไหน แค่คิดว่าถ้าขายเป็นไม้ฟืน หรือส่งเข้าโรงงานไฟฟ้าชีวมวลก็หลายเงินอยู่ ใครกันที่ได้ประโยชน์ส่วนนี้ หรือการขยายทางบางพื้นที่ก็แทบไม่มีรถวิ่ง ก็เพราะขยายไปในเส้นทางป่าเขา กลายเป็นเส้นทางขนแร่เถื่อน เอื้อประโยชน์ให้นายทุนไปอีก หรือไม่ก็ทำให้คนเข้าไปบุกรุกแผ้วถางป่าได้ง่ายขึ้นซะงั้น

เรื่องแนวคิดขยายถนนนี้  เป็นแนวคิดเก่าแก่โบร่ำโบราณที่คู่มากับกรมทางหลวง พอๆ กับการสร้างเขื่อนที่คู่กับกรมชลประทาน ไม่ว่าจะน้ำท่วม ฝนแล้ง นายว่าเขื่อนแก้ได้หมด ท่องกันมาแบบนี้ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ เคยสนทนากับวิศวกรทางหลวง ถามว่าทำไมจึงไม่ปลูกต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนน เป็นเพราะรากต้นไม้จะไปทำลายโครงสร้างของถนนรึเปล่า ก็ได้คำตอบว่าเรื่องนั้นไม่สำคัญ สิ่งสำคัญเพราะผิดหลักวิศวกรรมการทาง การมีเกาะกลางถนนจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ไม่ว่าจะจากกิ่งไม้ที่อาจจะหักลงมา จากการรถเสียหลักชนกับต้นไม้ จึงปลูกแต่ไม้พุ่มเล็กๆ ไม่ได้ร่มเงาอะไร จึงให้ข้อสังเกตกลับไปว่า ปลูกไม่ปลูกก็ไม่น่าจะแตกต่างกันเพราะรถอาจจะชนต้นไม้ข้างทางได้ เช่นกัน เขาก็บอกว่า การมีต้นไม้ข้างทางก็ใช่ว่าจะดี ถ้ามีพื้นที่ข้างทางโล่งๆ จะดีกว่า สรุปคือ “ถนนโล่งๆ ไม่มีต้นไม้ดีที่สุด”

ก็เลยสงสัยว่า แม้ไม่มีต้นไม้ การเสียหลักชนขอบปูนเกาะกลางถนนนี่ก็อันตรายมากแล้วนะ บางทีรถเหาะไปชนกับรถฝั่งตรงข้ามก็มี หรือบางทีทางหลวงก็ถมถนนซะสูง (ไม่รู้จะสูงไปไหน) ไม่ต้องชนอะไรหรอก แค่เสียหลักตกข้างทางรถก็คงคว่ำอยู่ดี เขาก็ไม่โต้ตอบอะไร ก็เลยถามว่าเคยวิจัยหรือไม่ว่าระหว่าง 1) ถนนที่ปลูกต้นไม้ริมขอบทาง ปลูกต้นไม้ที่เกาะกลางถนน กับ 2) ถนนที่โล่งๆ ตัดไม้ออกจากขอบทางจนโล่ง ไม่ปลูกต้นไม้บนเกาะกลางถนนด้วย เส้นทางไหนจะเกิดอุบัติเหตุมากกว่ากันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เขาก็บอกว่าในเมืองไทยไม่มีใครวิจัยอะไรแบบนี้หรอก เราก็บอกเขาไปว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าถนนแบบไหนจะดีกว่ากัน สรุปเขาก็เลยชวนคุยเรื่องอื่น

นี่คือปัญหาใหญ่ ไม่ใช่เรื่องมาเถียงกันว่าจะถูกหรือไม่ถูกหลักวิชา หรือหลักกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่ต้องพยายามหาวิธีการที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด มองข้ามให้พ้นไปจากศาสตร์ของตัวเอง กรณีขยายถนนขึ้นเขาใหญ่ (ถนนธนะรัชต์) ยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่าหลักการทาง เช่น การขยายถนนส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อสัตว์ป่าที่ใช้เส้นทางข้ามไป มาระหว่าง 2 ฝั่งถนน ไม่ต้องเอาขนาดช้างป่าหรอก แค่กิ้งก่า จิ้งเหลน กบ เขียด งู เหี้ย อีเห็น มันก็เดือดร้อนเหมือนกัน ในต่างประเทศเขาถึงขนาดทำรั้วตาข่ายกั้น ทำอุโมงค์ให้รถลอด หรือสะพานให้สัตว์ข้าม เรื่องนี้ท่านเสนาบดีคิดอย่างไรนอกจากเรื่องรถติดก็เลยขยายถนน ถ้ารถติดมากกว่านี้ก็จะขยายจาก 4 เลน เป็น 8 เลน อีกใช่หรือไม่ แล้วเท่าไหร่ถึงจะพอ ถ้าคิดแต่จะอำนวยความสะดวกด้วยการขยายถนนจนถึงที่เที่ยว คงต้องทำถนนให้นักท่องเที่ยวขับรถไปถึงตีนน้ำตกเหวนรกเลยอย่างนั้น หรือ คิดบ้างหรือไม่ว่าจะมีวิธีการลดจำนวนรถยนต์ลงอย่างไร เช่น การมีที่จอดรถที่สะดวกสบายปลอดภัยไว้ข้างล่าง แล้วให้ใช้รถรับส่งนักท่องเที่ยวที่แสนสบายขึ้นไปแทน แล้วในระหว่างทางก็บรรยายถึงสภาพธรรมชาติของเขาใหญ่ ให้ความรู้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้เห็นคุณค่าและสร้างความเข้าใจต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ไม่ใช่แค่ย้ายที่กินเหล้าโปกฮาโดยไม่ได้เกิดสำนึกอะไร ก็จะเป็นการสร้างงาน สร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวได้อีก โดยไม่ต้องขยายถนน รวมไปถึงการขยายแค่ไหล่ทางให้กว้างขึ้นโดยไม่ต้องไป ตัดต้นไม้ หรือตัดให้น้อยที่สุด ให้รถหลีกกันได้และทำเส้นทางจักรยานเพื่อให้นัก ท่องเที่ยวปั่นขึ้นไปได้ รวมถึงการลดแรงกดดันต่อพื้นที่ธรรมชาติด้วยการแสวงหาจุดสมดุลระหว่าง จำนวนนักท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยว และความสามารถการรองรับของพื้นที่ ตามหลัก 'Carrying capacity' หรือ ขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะสามารถรองรับได้ สิ่งเหล่านี้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจทั้งนั้น

 

เรื่องแบบนี้จึงเป็นเรื่องแนว คิดใหม่ (สำหรับข้าราชการและนักการเมืองไทย) ไม่ใช่คิดอยู่ในกรอบเดิมๆ ยิ่งมาบอกว่าการขยายถนนทั่วประเทศที่ต้องทำ 4 เลน ก็ต้องตัดต้นไม้มากมายเหมือนกัน ถ้าทำอย่างนี้ก็ 2 มาตรฐาน ก็ยิ่งน่าหมั่นไส้ที่รัฐมนตรีมีแนวคิดแบบนี้ คำว่า 2 มาตรฐานมันไม่สำคัญ จะมีซัก 10 มาตรฐานก็ได้ ถ้าบริบทพื้นที่มันไม่เหมือนกัน เช่น การขยายถนน 4 เลนขึ้นเขาใหญ่ จะใช้มาตรฐานเดียวกันกับขยายถนน 4 เลนที่บ้านแสลงคง จ.บุรีรัมย์ ก็คงไม่ได้ เพราะความบอบบางในเชิงระบบนิเวศของพื้นที่มันไม่เหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นก็คงต้องทำถนนขึ้นภูกระดึงด้วยจะได้เป็นมาตรฐานเดียว กันกับเขาใหญ่ หรืออีกหน่อยก็คงต้องขยายถนนขึ้นดอยอินทนนท์อีก เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะหนาแน่นขึ้นอีก ถ้ายังคิดกันอยู่แค่นี้อีกไม่นานก็คงจะมีแต่ถนน 4 เลนเต็มไปหมดตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ เพราะเรามีแต่รัฐมนตรีสมองอึ่ง วันๆ เอาแต่เบ่งตะแบง สังคมไทยกำลังเป็นบ้ากับคำว่า 2 มาตรฐานจนไม่รู้ว่าอะไรคือถูกต้อง ถูกธรรม ถูกกาลเทศะ แต่ถึงแม้จะขยายถนนจริงก็ไม่เห็นต้องเป็น 4 เลนเสมอไป ในต่างประเทศหลายพื้นที่เขาทำถนน 3 เลน คือเลนกลางเอาไว้แซงร่วมกัน ก็แค่ระวังอย่าแซงพร้อมกัน รวมทั้งเขาทำไหล่ทางให้กว้างขึ้นอีกหน่อยเพื่อให้หลบกันได้ ให้จักรยาน มอเตอร์ไซด์ มีที่วิ่งบ้าง ก็อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าเอาแบบนี้มาลองใช้กับถนนซักสายในเมืองไทย จะมีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นรึเปล่า ลองทำแล้วก็เก็บข้อมูลดู คนปกติขับรถน่ะกลัวตายทั้งนั้น แต่ที่ตายๆ ส่วนใหญ่ก็เพราะเมาแล้วขับ จะมี 4 เลน หรือ 8 เลน มันก็ตาย ก็ต้องไปกวดขันกันจริงจังเรื่องนั้น รวมทั้งเรื่องวินัยจราจรและความมีน้ำใจในการขับขี่ด้วย ทุกวันนี้พอหลีกกันได้ก็ไม่หลบไม่หลีกกัน มารยาทในการขับขี่นับวันจะเลวทรามลงเรื่อยๆ ก็ต้องทำกันจริงๆ จังๆ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็เอาให้ถนนกว้างไว้ก่อน อะไรสองข้างทางจะบรรลัยก็ช่างมัน ถ้าคิดได้แค่นั้นก็ออกไปทำอย่างอื่นเถอะท่าน...   
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net