“ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลจากการปราบปรามทางการเมือง” ยื่น “ข้อเสนอแนะต่อบทบาทคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ต่อผู้แทน กสม. จดหมายระบุความรุนแรงครั้งนี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนทางการเมืองอย่างร้ายแรง ขอ กสม. เป็นธรรมและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง
วันนี้ (10 มิ.ย.) “ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลจากการปราบปรามทางการเมือง” (ศปป.) ซึ่งประกอบด้วยนักกิจกรรมและนักสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่ง ได้ยื่น “ข้อเสนอแนะต่อบทบาทคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต่อผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมกันนี้ได้มอบสำเนาจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่ 24 พ.ค. และมอบสำเนาจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ที่รวบรวมรายชื่อองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรแรงงาน และผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 700 รายชื่อ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศโดยทันที เพื่อขอให้ กสม. ให้ความสำคัญกับปัญหาการควบคุมตัวบุคคลตาม พ.รก.ฉุกเฉินฯ ดังกล่าว
สำหรับรายละเอียดของ “ข้อเสนอแนะต่อบทบาทคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่ยื่นให้กับ กสม. มีรายละเอียดดังนี้
ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลจากการปราบปรามทางการเมือง (ศปป.) Thai Information Center for People under the Political Suppression (ICP)
เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อบทบาทคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน เรียน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ตามที่ได้รัฐบาลได้ใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ตลอดจนมีประชาชนถูกจับกุม ควบคุมตัว ทั้งในระหว่างการพิจารณาคดี และถูกศาลพิพากษาจำคุกตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกจับกุมตามหมายจับ ซึ่งยังไม่ได้รับการเปิดเผยจำนวนและสถานที่ควบคุม และมีผู้ที่แจ้งว่าญาติมิตรของตนสูญหายไปอีกจำนวนหนึ่ง นับเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลจากการปราบปรามทางการเมือง เป็นเครือข่ายภาคประชาชนประกอบด้วย นักศึกษา ผู้ทำงานในองค์กรเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนที่ห่วงใยต่อความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น มีข้อเสนอแนะต่อบทบาทของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังต่อไปนี้ 1. ความรุนแรงครั้งนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทางการเมืองอย่างร้ายแรง คณะกรรมการสิทธิมนุษยขนแห่งชาติ ต้องผดุงไว้ซึ่งความเป็นธรรมและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทางการเมือง ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทราบว่าผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ความรุนแรง ทั้งรัฐบาล ทหาร พลเรือน และผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบในชีวิตและทรัพย์สิน 2. ให้คณะกรรมการสิทธิฯใช้อำนาจตามกฎหมายของตนในการขอให้ส่วนราชการทุกส่วนเปิดเผยข้อมูลรายชื่อของผู้ถูกจับกุม คุมขัง ผู้สูญหาย และถูกตัดสินจำคุก ต่อสาธารณะ 3. ให้คณะกรรมการสิทธิฯเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ทั่วประเทศ โดยเร็ว 4. ให้คณะกรรมการสิทธิฯประกาศผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง และประกาศผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ โดยเร็ว
เรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาหากขัดข้อประการใดกรุณาแจ้งให้ทราบด้วยจักขอบคุณยิ่ง
ขอแสดงความนับถือ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลจากการปราบปรามทางการเมือง |