Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางกระแส ปรองดอง และการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่รัฐบาลประกาศแล้วว่าดร. คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด และนักวิชาการกฎหมายผู้เชี่ยวชาญคดีอาญา จะเป็นหัวเรือใหญ่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่จัดการความจริงต่อกรณีการสังหารประชาชน และความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเดือน เมษายน และเดือน พฤษภาคม กระทั่งมีคนตายไปแล้วกว่า 91 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 1,800 คน

ประชาไทสัมภาษณ์ ศราวุฒิ ประทุมราชว่าด้วยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการสลายการชุมนุม ในฐานะนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนไทยที่ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบก่อนการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ศราวุฒิ เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน ให้กับสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มาเป็นเวลานาน และเขาเป็นนักสิทธิมนุษยชนในจำนวนน้อยนิดที่ออกมาเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “คนเสื้อแดง” เขาระบุด้วยว่า ในฐานะที่คิดต่างกับรัฐ นปช. ทุกคนมีสถานะเป็นนักโทษการเมือง ซึ่งไม่มีความผิด และจะต้องได้รับการปล่อยตัวในทันที

ประชาไท: ทางออกของกรณีการสอบข้อเท็จจริงของกรณีการสลายการชุมนุมในมุมมองของคุณที่เป็นนักสิทธิมนุษยชนและเป็นนักกฎหมายด้วย  คืออะไร

ศราวุฒิ:  การตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงมันเป็นหลักการที่มักจะเกิดขึ้นหลังความรุนแรงในหลายๆ ประเทศ  ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มักจะตั้งกัน ปัญหาก็คือว่ามันมักจะเกิดขึ้นเสมอในประเทศที่มีปัญหาว่ารัฐที่เป็นผู้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและเป็นผู้ปราบปรามประชาชน แล้วรัฐมีความชอบธรรมแค่ไหนที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบตัวเอง จริงคณะกรรมที่ตั้งขึ้นมารัฐอาจจะไม่มีความตั้งใจที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการละเมิดของตัวเองแต่รัฐอาจจะมีข้อสมมติฐานว่าเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่เกิดความรุนแรงนั้นอาจจะไม่ได้เกิดจากรัฐ และถ้ามีสมมติฐานแบบนี้ปั๊บ คุณอภิสิทธิ์ก็อาจจะบอกว่าผมไม่ได้รับรายงานหรือไม่มีเหตุอะไรที่ควรจะเชื่อได้ว่าทหารยิงเข้าไปในวัดปทุมฯ หรือ คนทุกคนในที่เกิดเหตุที่ถูกทหารยิงเพราะว่าในกลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรง หรือมีผู้ก่อการร้ายแฝงอยู่ซึ่งการพูดแบบนี้ซ้ำซากเป็นการทำลายความชอบธรรมของการชุมนุมโดยสงบของคนเสื้อแดง แต่ฝ่ายคนเสื้อแดงก็มีจุดอ่อนว่าไม่ยืนยันชัดเจนว่าคนที่มีอาวุธที่อยู่ในที่ชุมนุมนั้นเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเขาพูดแต่เพียงว่ามีกองกำลังที่จะช่วยเขาอยู่ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นความคลุมเครือ ไม่ว่าจะพูดทีเล่นทีจริง หรือมีความหมายอย่างนั้นจริงๆ ก็ตาม ก็ทำให้คนในสังคมมีความเคลือบแคลงต่อคนเสื้อแดง แต่ถ้าถามว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมในการตั้งคณะกรรมการไหม ผมมองว่าไม่มีความชอบธรรม

ประชาไท: แปลว่าถ้าผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรง หรือมีกองกำลัง ความชอบธรรมของผู้ชุมนุมก็จะลดลงทำให้รัฐบาลมีความชอบธรรมในการปราบปรามผู้ชุมนุมมากขึ้นใช่ไหม
ศราวุฒิ: ก็ต้องไปปราบกองกำลัง ไม่ใช่ปราบคนเสื้อแดง หรือการชุมนุมทั้งหมด ผมว่านี่ต้องแยกให้ชัดเจน เรื่องนี้ต้องแยกให้ชัดในเชิงหลักการ เหมือนกับถ้าเรามีการเดินขบวนกันไปตามท้องถนนอย่างสงบแล้วมีคนๆ หนึ่งไปทุบเสาไฟไฟฟ้า ทำลายสิ่งของสาธารณะ หรือทุบรถยนต์ ก็อาจจะติดกับหลุมพรางตรงนี้ว่า นี่เห็นไหมการชุมนุมมีความรุนแรง แต่ลืมไปว่าการกระทำความผิดกฎหมายอาญา ใครกระทำความผิดคนนั้นต้องรับผิดชอบ ในที่ชุมนุมคนไหนทำอะไรก็เป็นความรับผิดชอบส่าวนตัวแต่ไม่เกี่ยวกับคนทั้งหมด เพราฉะนั้นถ้าเกิดรัฐบาลอ้างว่ามีคนชุดดำ มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายอยู่ในที่ชุมนุม คุณก็มีหน้าที่ต้องไปสืบสวนสอบสวนหามาให้ได้ แต่ไม่ใช่บอกว่าทั้งที่ชุมนุมนั้นมีคนชุดดำแอบแฝงอยู่ผมก็จะกระชับพื้นที่ อันนี้อันตราย จะเหมารวมว่าผู้ชุมนุมทั้งหมดใช้ความรุนแรงซึ่งมันไม่ใช่ บางคนเขามาเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยแล้วมันถูกกลบความต้องการ เป้าหมายตรงนี้ไป

ประชาไท: ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำในเบื้องต้นอะไร
ศราวุฒิ: สิ่งที่ต้องทำคือต้องลาออกก่อน แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง แล้วถ้าคุณอภิสิทธิ์ต้องลาออกแล้วหาคนอื่นมาทำหน้าที่แทน ให้เป็นสิ่งที่รับกันได้ก่อน

ประชาไท: นายกต้องลาออกก่อนหรือ
ศราวุฒิ:  ต้องลาออก แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง แล้วคนใหม่ที่เข้ามาก็จะมีอำนาจที่จะสั่งการตั้งคนหรือตั้งคระกรรมการที่จะตรวจสอบโดยไม่ตกอยู่ใต้อำนาจรัฐหรือผู้สั่งการเดิม แล้วก็เอาคดีขึ้นสู่ศาลเป็นเรื่องๆ ไป เช่นคดีที่ตายระหว่างการปราบปราม ตั้งแต่วันที่ 10 ต้องถือว่าเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องมีการไต่สวนการตาย ซึ่งศาลและหมอนิติเวชจะเป็นผู้พิสูจน์ว่าการตายตายที่ไหน ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการตายที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐก็มาสู้เรื่องการสอบสวนในคดีอาญา ว่าเจ้าหน้าที่คนไหนไปยิงคนไหน คนที่เสียชีวิตนั้นอยู่ในความควบคุมของหน่วยงานไหน เช็คไม่ยากเพราะคำสั่งต้องมีผู้รับผิดชอบชัดเจน ไม่ว่าจะสั่งทางโทรศัพท์หรือเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ต้องมีผู้รัดผิดชอบชัดเจน ในแง่คำสั่ง และเนื่องจากเป็น พ.ร.ก. ฉุกเฉินตรวจสอบโดยศาลปกครองไม่ได้ก็ต้องไปใช้ศาลอาญาและศาลแพ่ง ทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นความเป็นธรรมที่จะฟอกความถูกผิด และทั้งนี้ต้องมีกลไกพิสูจน์ศพอย่างถูกต้องและเอาพยานทุกฝ่ายมาสอบกันในศาล ซึ่งมักเข้าใจผิดกันว่าในชั้นนี้ญาติผู้เสียชีวิตไม่ต้องมาในขั้นศาลก็ได้ เป็นเรื่องระหว่างศาลกับผู้กระทำ แต่จริงๆ แล้วการไต่สวนนี้มีความสำคัญเพราะเหตุว่าจะนำไปสู่การได้หลักฐานถ้าได้ซักถามมีข้อสงสัยในหลักฐานการชันสูตรที่ได้มาก็จะนำไปสู่การดำเนินคดีได้

ประชาไท: ทั้งหมดนี้ใช้กระบวนการตามปกติ
ศราวุฒิ: กระบวนการตามปกติครับและผมคิดว่าศาลเองน่าจะแสดงบทบาทในเชิงเป็นองค์กรในการควบคุมความชอบธรรมของหลักกฎหมายหลักนิติธรรม

ประชาไท: มีคดีที่เกี่ยวเนื่องเช่น การจับกุมคุมขัง เช่น กรณีของนักโทษออสเตรเลีย ซึ่งถือว่าตัวเองเป็นนักโทษการเมือง
ศราวุฒิ: การจับคนที่วันที่ 19 หลังการสลายการชุมนุมผมถือว่าไม่ควรถูกจับ เพราะเขาเป็นนักโทษการเมืองเขาไปเรียกร้องประชาธิปไตย เขาไม่ได้ทำอะไรผิด การชุมนุมไม่ผิดกฎหมายนะครับ ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่รัฐไปฟ้องคดีแกนนำเป็นคดีก่อการร้าย ซึ่งศาลก็ไม่ได้อธิบายว่าพฤติการณ์อะไรของแกนนำที่เข้าข่ายการก่อการร้าย ซึ่งต้องมีการอุทธรณ์ แต่เข้าใจว่าไม่มีเพราะหมดอายุความอุทธรณ์แล้ว แต่ว่าแม้กฎหมาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินบังคับอยู่แต่ไม่ตัดสิทธิการที่ศาลจะมามีอำนาจ ผู้ชุมนุมที่อยู่ในวันที่ 19 รัฐบาลก็ประกาศให้ออกมามอบตัว มันไม่มีลักษณะที่บอกว่าถ้าคุณออกมาแล้วจะปลอดภัย ไม่ถูกจับ ขณะเดียวกันกลับมีลักษณะว่าถ้าอยู่ต่อผมยิงคุณตายได้นะ มันขัดกับหลักนิติธรรม นิติรัฐ ซึ่งฮิตเลอร์ก็ใช้หลักนิติรัฐไม่ต่างกัน

ประชาไท: ไม่มีการชุมนุมที่ผิด แต่ของไทยมันไปผิดกฎหมายอื่น เช่น กีดขวางการจราจร
ศราวุฒิ: ซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะเมื่อเสรีภาพหนึ่งได้ใช้อาจต้องมีการสละ และสังคมไทยต้องเรียนรู้  จริงๆ เราก็เรียนรู้กันมานานแล้ว  เมื่อ 14 ตุลา นักศึกษาประชาชนปิดถนนราชดำเนิน คนในกรุงเทพฯ ก็ใช้เส้นทางอื่นได้ โอเค คนในยุคนั้นอาจจะเกิดความเข้าใจได้ว่า ผู้คนในสังคมสนับสนุนการชุมนุม แต่ว่า การชุมนุมนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะเราไม่มีเครื่องมือในการพูดถึงการแก้ปัญหา เพราะว่ากว่าบ้านเราจะเกิดการชุมนุได้ต้องผ่านการร้องเรียนมาจากหลายหน่วยงานแต่ไม่ได้รับการแก้ปัญหา ทำให้ต้องชุมนุมยืดเยื้อ จะไปเปรียบเทียบกับบ้านอื่นเมืองอื่นเขาชุมนุมกัน 3 ชม. ก็เลิก นั่นคือเขามีกลไกการแก้ปัญหา ต้องพูดให้ครบถ้วน ไม่งั้นก็มองแค่ปรากฏการณ์

ประชาไท: แต่ที่ผ่านมา  ใช่ว่ามีการยอมรับว่าการชุมนุย่อมเกิดการรอนสิทธิ แต่มีการกล่าวอ้างเรื่องความเสียหายหลายหมื่นล้าน
ศราวุฒิ: โอเค การชุมนุมครั้งนี้อาจจะมองว่าเป็นการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างสองขั้ว  แต่สิ่งที่ประชาชนต้องฟังหรือวิเคราะห์คือเราเห็นด้วยกับอำนาจหรือแง่มุมของฝ่ายไหน ถ้าเห็นว่ารัฐบาลนั้นไม่ชอบธรรมแล้วตั้งแต่ต้น ก็ควรสนับสนุนคนเสื้อแดง แต่คนไปติดกับอยู่ตลอดเวลาว่าเสื้อแดงมีทักษิณหนุนหลัง ซึ่งนี่เป็นการโยนบาปให้คนๆ เดียว ซึ่งไม่ใช้ อย่าลืมว่าการเมืองนั้นมีคนหลายกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง มีประชาชน มีนักธุรกิจ ฯลฯ เมื่อประชาชนมาพูดเสียงไม่ดังเท่านักธุรกิจ เมื่อพูดเรื่องความเสียหาย เราต้องดูว่ามีการละเมิดกฎหมายอื่นหรือไม่ ที่นอกเหนือจากไปการปิดถนน และคนที่เดือดร้อนก็ต้องฟังผู้ชุมนุมให้เขาได้ใช้สิทธิ ซึ่งถ้าผมพูดออกไปหลายคนก็ส่ายหัว รับไม่ได้ แต่คำถามคือ จะให้เขาไปชุมนุมที่ไหน เพราะการชุมนุมคือการกดดัน จะให้เขาไปชุมนุมที่สนามหลวงโดยที่ไม่มีใครสนใจหรือ นี่คือวิธีที่สันติที่สุดแล้ว

ประชาไท: คุณยังยืนยันว่าการชุมนุมสันติอยู่หรือ
ศราวุฒิ: โดยรวมผมคิดว่ายังสันติอยู่แต่ถ้าเขาไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าใครมาช่วยเขา วันที่ 10 เกิดอะไรขึ้น  ในความคิดเห็นผม ผมยังมองว่าเป็นความขัดแย้งกันระหว่างทหาร เราไม่มีข้อมูลมาก แต่ทหารบางส่วนอาจจะไม่พอใจว่าทำไมไม่ปราบเสียที ไม่อยู่ใต้อาณัติของผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งพล.อ.อนุพงษ์อาจจะมีจุดยืนว่าไม่ใช่หน้าที่ของทหารว่าถ้าปัญหาเรียกร้องของ นปช. มาจากการเมืองต้องให้การเมืองแก้ ผมว่านี่เป็นจุดยืนที่ถูกต้อง ต้องใช้การเมืองนำ ทหารมีหน้าทีปกป้องประเทศ ไม่ใช่เอามาดูแลกการชุมนุม บริบทมันต่างกัน

แต่การชุมนุมมันควรจะมีกรอบ มีช่วงเวลาและสามารถที่จะควบคุมฝูงชนของตัวเองได้ด้วยนะ ที่ผ่านมาเสื้อแดงอาจจะมีปัญหาตรงนี้ เพราะบางทีก็ไม่สามารถควบคุมมวลชน อย่าว่าแต่มวลชนเลย แกนนำเองก็ยังคุมกันเองไม่ได้ ซึ่งนี่ต้องจัดการในแง่ของการจัดการชุมนุม

ประชาไท: คนที่ถูกจับกุมอยู่ตอนนี้จะสามารถใช้สิทธิอะไรได้บ้าง
ศราวุฒิ:  คุณถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือถูกแจ้งข้อหาคดีอาญา คือในกฎหมายฉุกเฉินบอกแต่เพียงว่าคุณถูกเชิญตัวมาเพื่อซักถาม แต่กรณีมีคนเสื้อแดงถูกจับตั้งแต่วันที่ 19 ออกจากที่ชุมนุมปุ๊บ มีทหารรออยู่แล้วชี้คนนี้ไปได้ คนนี้ไปขึ้นรถ นี่คือเลือกปฏิบัติชัดเจน คือเลือกดูเสื้อผ้า หน้าตาท่าทางแล้วจากนั้นส่งตัวไปโรงพักไปเรือนจำ ฉะนั้นถ้าคุณถูกจับแค่ว่าขัดคำสั่งเจ้าพนักงานบอกให้เลิกการชุมนุมแล้วไม่เลิก ตรงนี้ผมถือว่าไม่ควรถูกจับ แต่ถ้ามีข้อหาว่าไปวางเพลิง ไปเผาเซ็นเตอร์วัน นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็ต้องได้พบทนายความ  และไม่ควรเอามาแถลงข่าว อย่างวันก่อนหน้านี้เอาผู้ต้องหามาแล้วบอกว่าวางเพลิงเผาเซ็นเตอร์วัน พอเขาพูดเขาบอกว่าผมไม่ได้เผา ซึ่งถ้าเป็นผม ผมถือว่าชีวิตผม เกียรติยศชื่อเสียงของผมถูกทำลายแล้ว ต้องปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ต้องให้เขาเข้าใจข้อหา ถ้าเขาบอกไม่ได้เผา คุณก็ต้องมีหลักฐานและต้องบันทึกว่าผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ และต้องไม่เอาแถลงข่าว แม้ว่าผู้ต้องหาจะให้การรับสารภาพหรือไม่ก็ไม่เกี่ยวกับที่ตำรวจจะมาพิจารณาว่าจะเอามาแถลงข่าวหรือไปทำแผนประกอบคำสารภาพ เหมือนกันกับคดีข่มขืน ที่ปล่อยให้ญาติรุมกระทืบ ไม่ต้องพามาให้สะใจ
ผมเห็นว่าต้องปล่อยคนที่ถูกจับในคดีฉุกเฉินทั้งหมด แล้วสงสัยใครก็ใช้สิทธิไปตามคดีอาญาทั่วไป 

ในสมัยหนึ่งเราเคยรณรงค์ให้มีการนิรโทษกรรมคนที่มีการกระทำคอมมิวนิสต์ ก็กลายเป็นไม่มีการฟ้องข้อหาคอมมิวนิสต์แต่ไปฟ้องคดีอาญา

ผู้ต้องหาการเมืองต้องปล่อย คุณสมยศหรือใครๆ ก็ต้องปล่อยออกมาให้หมด เมื่อวานผมเห็นข้อมูลของกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีผู้ถูกจับ 417 คน และก็มีชื่อไปซ้ำกับทางมูลนิธิกระจกเงา ผมเห็นวาบางส่วนมีคดีอาญา แต่ส่วนใหญ่เป็นการความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งผมเห็นว่าต้องปล่อยตัวทั้งหมด เพราะการมาร่วมชุมนุมไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เป็นความผิดทางการเมือง และแม้จะมีการฆ่าพนักงานตามคดีอาญา ถามว่าอยู่ดีๆ ผมจะฆ่าเจ้าพนักงานเรื่องอะไรถ้าไม่ใช่เพราะจุดมุ่งหมายทางการเมือง ในคดีของนปช. เขาใช้อาวุธสงครามประกาศต่อสู้แย่งชิงอำนาจรัฐหรือยัง...ยัง ผมถือว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองตามปกติ ดังนั้นกรณีที่มีการฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือทหาร ตำรวจอะไรก็ตาม ก็เพราะแรงจูงใจทางการเมือง เพราะเขาถูกจำกัดความคิด เหมือนกันกับภาคใต้

ประชาไท: แม้แต่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าเจ้าพนักงานหรือ
ศราวุฒิ: ใช่ เราต้องปฏิบัติต่อเขาในฐานะที่เขาถูกจำกัดความคิด  เพียงแต่รัฐบาลหลายรัฐไปจับเขาเพื่อเบี่ยงเบนประเด็น การฆ่านั้นจริงหรือไม่จริงต้องไปสู้ในศาล  อย่างกรณีคอมมิวนิสต์ เขาโดนข้อหายิงตำรวจเพื่อแย่งชิงแกนนำ แต่ผู้ต้องหาคนนี้เป็นแพะ ถูกพรรคสั่งให้ไปยอมรับ แล้วก็เอาหลักฐานมา แต่เขายินยอม เขาถือว่านี่เป็นมติของพรรค ในคดีแบบนี้ ต้องถือว่า นปช. ทุกคนเป็นนักโทษการเมือง เพราะจุดมุ่งหมายคือการเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายมาเผา

ประชาไท: แล้วความผิดของนักโทษการเมืองคืออะไร
ศราวุฒิ: จริงๆ  คือมันไม่ควรจะเป็นความผิดไง  คนที่คิดแตกต่างจากรัฐไม่มีความผิดนะ  แต่ว่าถ้ามีความคิดต่างกันไปก็มาสู้กันตามวิถีทางประชาธิปไตยอาจจะลงเลือกตั้งหรือจะสู้ด้วยวิธีอะไรก็ตาม แต่ถ้าไปเผาไปยิง ก็ต้องว่ากันไปเป็นเรื่องๆ  ต้องไปหาข้อเท็จจริง แต่ของเราเวลาเกิดเหตุชุลมุนแล้วก็จับไว้ก่อนไปหาหลักฐานที่หลัง ซึ่งไม่ถูกต้องนะ การฟ้องคดีอาญา คือจุดมุ่งหมายให้เจ้าพนักงานร่วมกันค้นหาข้อเท็จจริง คือถ้าตำรวจตั้งต้นว่าผิด มันไม่ใช่ นี่มันสวนทางกันกับหลักการ ในทางปฏิบัติแล้วละเอียดอ่อนและต้องปฏิรูปการค้นหาความจริง เรายึดหลักนิติธรรมแค่ไหน แล้วรัฐอ้างหลักนิติรัฐ คือรัฐที่ใช้กฎหมาย แต่ไม่มีนิติธรรมได้อย่างไร ถ้าเป็นรัฐที่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ต้องไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

ประชาไท: การมีคณะกรรมการเพื่อหาข้อเท็จจริง ในประเทศอื่นๆ มีตัวอย่างที่ดีบ้างไหม
ศราวุฒิ: อินโดนีเซีย  มีคณะกรรมการคล้ายๆ กับกรรมการสมานฉันท์ตั้งมาจากบุคคลหลายฝ่ายที่ได้รับการยอมรับในสังคม ตั้งขึ้นหลังจากซูฮาร์โตถูกล้มจากอำนาจ  ตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวนกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการปราบปรามการชุมนุม จะบอกว่าได้คณะกรรมการนี้มาแล้วบ้านเมืองเขาสงบเรียบร้อยก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่คณะกรรมการที่มาจากรัฐประชาธิปไตยก็เป็นกระบวนการทีประชาชนยอมรับ แล้วของเราคณะกรรมการตั้งขึ้นมาแล้วไปเชิญอาจารย์คณิต ณ นครมา แล้วก็รัฐบาลบอกว่าจะสร้างความปรองดอง ผมว่ามันปรองดองไม่ได้นะ เพราะอำนาจรัฐชุดนี้ยังอยู่ คนก็ยังกลัว อาจารย์คณิตอาจจะเป็นคนเก่ง มีหลักนิติธรรม แต่จะแสวงหาข้อเท็จจริงได้อย่างไรภายใต้ความหวาดกลัวของประชาชน

ประชาไท: แต่ก็คงมีกรรรมการขึ้นมาแน่ๆ คุณอยากบอกอะไรกับอาจารย์คณิต ณ นคร และกรรมการที่จะเข้ามา
ศราวุฒิ:  ประเด็นแรกต้องหาคณะกรรมการที่ไม่เอนเอียง เป็นอิสระ ไม่รู้สังคมไทยจะเข้าใจหรือเปล่า คือเราต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติ แรงกดดัน ไม่เกรงใจใคร ตรงไปตรงมา รู้หลักการพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน  เข้าใจหลักกฎหมายมหาชน  และเข้าใจกระบวนการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ต้องดูเรื่องปฏิบัติการของทหาร ทำจริงหรือเปล่าที่บอกว่าเบาไปหาหนัก ศพต่างๆ ต้องถูกตรวจสอบโดยนักนิติวิทยาศาสตร์ ประการที่ 2 คือต้องทำงานอย่างรวดเร็วซึ่งผมไม่แน่ใจว่าจะเร็วได้แค่ไหน ภายใต้ภาวะแบบนี้ ต้องหาข้อมูลจากหลายๆ ฝ่าย จาก นปช. จากแกนนำ ขณะที่มีการไล่ล่ามีการประกาศตามไล่ล่า หมายจับ ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลอยากจะให้คณะกรรมการชุดนี้ ทำงานได้อย่างดีก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินก่อน และต้องไม่จับไม่ฟ้อง คนที่ถูกจับในวันที่19 เพราะถือว่าเขาเป็นนักโทษทางการเมือง ต้องเอาการเมืองมาแก้

ประชาไท: คุณเคยบอกว่า  เอ็นจีโอก็ไม่เหมาะที่จะมาเป็นกรรมการชุดนี้

ศราวุฒิ: ผมมองจากตัวเองเป็นตัวตั้ง  ว่าตัวเองก็ไม่เป็นกลาง เราอาจจะเข้าข้างรัฐบาล หรือเราอาจจะเข้าข้างฝ่ายแดง  ไม่มีประโยชน์ที่เราจะไปเป็นผู้ค้นหาความจริง แต่เอ็นจีโอต้องตรวจสอบกรรมการชุดนี้ แต่ถ้ามีเอ็นจีโอคนไหนเข้าไปผมก็ต้องตรวจสอบ และตรวจสอบทั้งคณะ และถ้าเขามีความเชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย ก็ต้องตั้งคำถามกันแรงๆ ว่าหลักการด้านสิทธิมนุษยชนของเขาคืออะไร เพราะว่า ความแตกต่างต้องไม่นำมาสู่การเลือกปฏิบัติ ถ้าคุณเป็นเสื้อเหลือง ก็อย่าเข้ามา หรือเห็นร้ายกับเสื้อแดงก็อย่าเข้ามาเป็นกรรมการชุดนี้ หรือใครบอกให้เอาเหลืองแดงมารวมกันเป็นหลากสี มันไม่จริงหรอก ผมว่าทำงานไม่ได้หรอก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net