แอฟริกาใต้ 2010 : คนหลังฉากฟุตบอลโลก (1) แรงงานทาสในอุตสาหกรรมเย็บลูกฟุตบอล

หลายคนต่างจับจ้องไปที่แอฟริกาใต้เจ้าภาพบอลโลกครั้งล่าสุด ส่วนในอีกซีกโลกอย่างปากีสถาน ที่ซึ่งเคยมีคุณูปการต่อวงการฟุตบอลมาก เพราะครั้งหนึ่งประเทศนี้ได้เย็บลุกหนังลูกกลมกลมๆ นี้ส่งออกให้คนทั่วโลกถึง 80% และปัจจุบันพวกเขาก็ยัง “กินไม่ดีอยู่ไม่ดี” เช่นเดิม

 

1.

 
แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมเย็บลูกฟุตบอลที่ปากีสถาน (ภาพจาก ILO)

จากรายงานของสภาสิทธิแรงงานนานาชาติ (International Labor Rights Forum : ILRF) ชี้ว่ามากกว่าทศวรรษมาแล้วที่อุตสาหกรรมผลิตลูกฟุตบอลได้กดขี่ขูดรีดแรงงานอย่างต่อเนื่อง ในปากีสถาน อินเดีย จีน และประเทศไทย โดย ILRF ระบุว่าแรงงานเย็บลูกฟุตบอลต่างต้องเจอกับความยากลำบากไม่ว่าจะเป็นค่าแรงที่แสนจะต่ำ สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ การละเมิดสิทธิการรวมตัวเจรจาต่อรอง รวมถึงปัญหาการใช้แรงงานเด็ก

ปฏิกิริยาต่อข้อแปดเปื้อนด้านการใช้แรงงานเด็กในห่วงโซ่สายพานการผลิตลูกฟุตบอลนี้ FIFA เองก็ได้เริ่มกำหนด “ความรับผิดชอบทางสังคมขององค์กร (corporate social responsibility)” ในปลายทศวรรษ 1990’s FIFA ปฏิบัติ การสร้างความชอบธรรมต่อคำวิพากษ์วิจารณ์จากการรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมเย็บลูกฟุตบอลที่ปากีสถานที่พบว่าในอุตสาหกรรมผลิตลูกฟุตบอลในปากีสถานนั้นมีการใช้แรงงานเด็ก

ถึงแม้ FIFA ได้ระบุรายละเอียดไว้ในความรับผิดชอบขององค์กรว่า “มีความตระหนักที่จะต่อสู้กับปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และสนับสนุนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รวมถึงโปรแกรมการขจัดการใช้แรงงานเด็ก (IPEC) ในความพยายามที่จะถอนรากถอนโคนการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมผลิตลูกฟุตบอลในปากีสถาน”

และแบรนด์อุปกรณ์กีฬาชั้นนำก็ได้ให้คำมั่นสัญญาร่วมกันว่าจะซื้อลูกฟุตบอลจากซัพพลายเออร์ที่ ILO รับรองเรื่องมาตรฐานสิทธิแรงงานแล้วเท่านั้น

ปัจจุบัน FIFA มีแผนการให้เกมการแข่งขันฟุตบอลเป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งในด้านสุขภาพอนามัยและการศึกษาให้กับชุมชนในแอฟริกา ตามภารกิจฟื้นฟูเด็กพิการและส่งเสริมความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจของสตรี

แต่รายงานของ ILRF ชี้ให้เห็นว่าโครงการการกุศลของ FIFA ถูกบดบังความด้วยความล้มเหลวของการพยายามเอาตัวรอดของอุตสาหกรรมภายใต้พื้นฐานของข้อตกลง Atlanta (Atlanta Agreement) ที่เป็นข้อตกลงระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมืองเซียลคอต (Sialkot) และ UNICEF เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1997 โดยเป้าหมายคือการต่อสู้กับการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมการทำฟุตบอลในประเทศปากีสถาน

ทำไมปากีสถานถึงเป็นประเด็น? ก็เพราะประเทศนี้มีความสำคัญต่อวงการฟุตบอลเป็นอย่างมาก ประมาณการกันว่าในช่วงทศวรรษที่ 1990’s นั้น 80% ของลูกฟุตบอลที่เย็บด้วยมือในโลกนี้เย็บขึ้นในปากีสถาน และสามในสี่ของจำนวนนี้มาจากเมืองเดียวคือ เซียลคอต (Sialkot) ทั้งนี้การเย็บลูกฟุตบอลในเซียลคอตเริ่มมาตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เพื่อป้อนให้กับกองทัพอังกฤษในอินเดีย

 

“แทงโก้” (Tango) ลูกฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1982 ที่สเปน (ภาพจาก soccerballworld.com)

ผลงานก้องโลกจากการขูดรีดแรงงานในเมืองเซียลคอตที่ใครอาจจะไม่ทราบก็คือที่นี่เป็นฐานการผลิตลูกฟุตบอลที่คลาสสิคที่สุดรุ่นหนึ่งของ Adidas คือ “แทงโก้” (Tango) ที่เป็นลูกฟุตบอลที่ใช้ในทัวร์นาเมนท์การแข่งขันฟุตบอลโลก 1982 ที่สเปน

ก่อนการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปที่อังกฤษในปี ค.ศ.1996 จะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งเวลานั้นลูกฟุตบอลที่เย็บด้วยมือจะต้องเย็บ 1,800 ครั้งต่อฟุตบอลหนึ่งลูกและได้ค่าแรงเพียง 27 PKR (ปากีสถานรูปี)  และแรงงานเด็กที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้จะไม่ได้ไปโรงเรียนต้องช่วยพ่อแม่เย็บลูกฟุตบอลอยู่ที่บ้าน องค์กร Save the Children เปิดเผยว่า 81% ของเด็กเย็บลูกฟุตบอลประมาณ 5,000 – 7,000 คน ทำงานเพื่อหาเงินมาเป็นค่าปัจจัยในการดำรงชีพ ซึ่งมันไม่ใช่หน้าที่ของเด็กเลย เหล่าเอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหวทางสังคม องค์กรแรงงาน จึงได้ร่วมกันผลักดันให้มีข้อตกลง Atlanta ดังที่ได้กล่าวไป แต่ผลของมันไม่ได้ทำให้แรงงานเด็กหายไป หากเป็นแค่การเพิ่มค่าแรงในการเย็บลูกฟุตบอลเป็น 40 PKR ต่อลูกฟุตบอลหนึ่งลูก ยังมีการลักลอบใช้แรงงานเด็กอยู่ และแรงงานที่นั่นยังคงแร้นแค้นเหมือนเดิม

สภาพการจ้างในอุตสาหกรรมเย็บลูกฟุตบอลในปากีสถาน

ปัจจุบันปากีสถานเป็นประเทศอันดับสองที่ส่งออกลูกฟุตบอลมากที่สุดรองจากประเทศจีน และแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ก็พบกับความยากลำบาก

ในปี 2008 รัฐบาลปากีสถานได้เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจาก 4,800 PKR เป็น 6,000 PKR (ประมาณ 73.8 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน แต่จากแบบสอบถามของ ILRF ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแรงงานเย็บลูกฟุตบอลไม่ได้รับค่าแรงตามกฎหมายนี้ และยังไม่พอต่อความเป็นจริงของค่าครองชีพค่าใช้จ่ายในปากีสถาน

Bahaar ชายวัย 30 ปี ทำงานให้กับบริษัทซัพพลายเออร์ Vision Technology Corporation โดยเขาเป็นแรงงานชั่วคราวได้รับค่าแรงรายชิ้น ได้รายได้รวมเพียง 3600 PKR (ประมาณ 44.2831 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายถึง 40% และรายได้ของเขาเองนั้นก็ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายของครอบครัว ที่มีค่าใช้จ่าย 13,200 PKR (ประมาณ 162 ดอลลาร์สหรัฐ)

Yalda คุณแม่ลูกสี่ ได้รับค่าจ้างจากการเย็บลูกฟุตบอล 40 PKR ต่อลูก ทำงานสัปดาห์ละ 6 เธอมีรายได้รวมจากการเย็บลูกฟุตบอลนี้ 5000 ถึง 5500 PKR (ประมาณ 61-68) ต่อเดือน ซึ่งมันยากลำบากมากต่อการรับผิดชอบต่อการให้การศึกษาของลูกๆ ซึ่งการศึกษาในปากีสถานดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หรูหราฟุ่มเฟือยเกินไปสำหรับคนจน

ด้านสุขภาพและอนามัย จากรายงานพบว่าพบว่างานที่มีลักษณะซ้ำๆ ทำให้คนงานพบกับปัญหาจากลักษณะงานที่ต้องนั่งยองๆ หรือคุกเข่าเป็นเวลานาน ทำให้มีการปวดเมื่อยตามร่างกายและมีอาการมือและขาบวม มีอาการปวดเมื่อยตาม ขา ท้อง ไหล่และข้อต่อ รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวย น้ำดื่มสะอาดไม่เพียงพอและสถานที่ทำงานไม่มีอากาศถ่ายเท

ด้านสิทธิแรงงานสิทธิในการรวมตัวเจรจาและต่อรองนั้นพบว่า แรงงานมีสิทธิน้อยมากซึ่งเหมือนกับในหลายๆ ที่ ทั้งที่ตามมาตรา 17 แห่งรัฐธรรมนูญปากีสถาน ได้ระบุเรื่องสิทธิที่จะจัดตั้งสมาคมหรือสหภาพแรงงานไว้ "ทุกคนมีสิทธิในการสมาคมหรือสหภาพแรงงาน ที่ไม่ขัดต่อกฎหมายที่กำหนดไว้ หรือขัดต่ออธิปไตยหรือความมั่นคงของปากีสถานสาธารณะหรือศีลธรรมอันดีของประเทศ" แต่จากรายงานของ ILRF แรงงานในอุตสาหกรรมนี้เป็นแรงงานเหมาค่าแรงรายชิ้น รวมถึงมีจำนวนน้อยมากที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งทำให้แรงงานขาดพลังในการต่อรองกับนายจ้าง

 

2.

ลูกฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขันแอฟริกาใต้ 2010 อย่างเป็นทางการ “จาบูลานี” (Jabulani) ใช้ในการแข่งขันรอบแรกถึงรอบรองชนะเลิศ และ “โจบูลานี” (Jo'bulani) ที่จะใช้ในนัดชิงชนะเลิศ (ที่มาภาพ shine2010.co.za)

สำหรับการแข่งขันในปี 2010 นี้ ลูกฟุตบอลที่ใช้ในการแข่งขันในมหกรรมฟุตบอลโลก“จาบูลานี” (Jabulani) และ“โจบูลานี” (Jo'bulani) ที่จะใช้ในนัดชิงชนะเลิศ ได้รับการกล่าวขวัญถึงพอสมควร โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย รวมถึงพิษสงที่ทำให้เมื่อออกจากเท้าผู้เล่นแล้วมีความเร็วและแรง สร้างปัญหาให้กับผู้รักษาประตู และคาดหมายกันว่าจะเกิดการทำประตูที่สวยงามไม่มากก็น้อยในทัวร์นาเมนท์นี้

จากข้อมูลของ Adidas “จาบูลานี” และ “โจบูลานี” นั้นเป็นลูกฟุตบอลที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในประวัติศาสตร์ทำให้เป็นลูกฟุตบอลที่กลม ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกนำมาใช้ก็คือ “GripnGroove” ที่จะเพิ่มเล็ดและร่องบนผิวลูกบอลเพื่อสัมผัสบอลที่แม่นยำ โดยผิวชั้นนอกของลูกฟุตบอลจะมีชิ้นส่วนทั้งหมด 8 ชิ้นที่จะใช้การประกอบกันโดยเทคโนโลยี 3 มิติ ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการอัดด้วยแรงดันความร้อน 3 มิติ ทำให้ลูกฟุตบอลมีความกลมกลึงสมบูรณ์แบบที่สุด ตามการออกแบบและวิจัยโดยมหาวิทยาลัยลาฟโบโร (Loughborough University) ของประเทศอังกฤษ โดยทาง Adidas กล่าวว่าจาบูลานี จะมีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากที่สุดยามลอยกลางอากาศ และยังยึดเกาะเป็นเยี่ยมในทุกสภาพอากาศ และทุกสภาพพื้นผิวของสนาม

ซึ่งในด้านการผลิต “จาบูลานี” และ “โจบูลานี”  ยังคงเป็นที่คลุมเครือ แต่มีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาว่า“จาบูลานี” และ “โจบูลานี” ผลิตจากโรงงานในไต้หวัน และมีการเชื่อมโยงถึงซัพพลายเออร์จากทั้งในประเทศจีนและปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน

ถือว่าเป็นความท้าทายขององค์กรสิทธิแรงงานที่ต้องค้นหาความจริงของสายพานการผลิตลูกฟุตบอลเทคโนโลยีสุดล้ำหน้านี้มาเปิดเผยต่อวงกว้างต่อไป

 

แหล่งข้อมูล:

ฟุตบอล ประเด็นเล็ก สะท้านโลก (ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล แปลจาก Trigger Issue: Football, Cris Brazier, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2552)

คอลัมน์: ฟรีสไตล์จากอังกฤษ: สิ่งละอันพันละน้อยในฟุตบอลโลก 2010 (ณัฐวุฒิ ประเทืองศิลป์, เดลินิวส์, 4-6-2010)

Missed the Goal for Workers: The Reality of Soccer Ball Stitchers in Pakistan, India, China and Thailand (An International Labor Rights Forum report, 7-6-2010)

South Africa’s World Cup Brims with Broken Promises (Michelle Chen, inthesetimes.com, 9-6-2010)

http://en.wikipedia.org/wiki/Adidas_Jabulani (เข้าดูเมื่อ 11-6-2010)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท