Skip to main content
sharethis

อธิบดี DSI เผย ประชุมร่วมพิจารณา ออก กม.พิเศษ “นิรโทษกรรม” เตรียมเสนอให้ รัฐบาล-ศอฉ.ตัดสินใจ ย้ำไม่เอี่ยวกระแสสังคม แจงก่อนประชุม อ้างดู กม.ในกรอบความผิดเล็กน้อย โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ด้านนายกสภาทนาความ ติงพิจารณาให้รอบคอบ ชี้จะทำคนไม่เกรงกลัวกฎหมาย

วันนี้ (14 มิ.ย.) เวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือร่วม 3 หน่วยงาน ซึ่งประกอบด้วย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการออกกฎหมายพิเศษเพื่อนิรโทษกรรมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองว่า ที่ประชุมได้หารือกันว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ก็สามารถทำได้ในรูปแบบกฎหมายพิเศษ และในอดีตเคยมีการออกกฎหมายทำนองนี้ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมานั้นมีหลายฉบับแล้ว รวมทั้งได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการออกกฏหมายดังกล่าว ซึ่งมีทั้งในรูปแบบของพระราชกำหนด และพระราชบัญญัติ 

นายธาริต กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมเห็นว่าสามารถออกกฎหมายในรูปแบบพิเศษได้ และมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน แต่ไม่ได้มีการสุรปว่า ควรจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ ทั้งนี้ จะนำข้อเสนอของ 3 หน่วยงานนี้เข้าที่ประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อให้ ศอฉ.และรัฐบาล ตัดสินใจว่าจะใช้รูปแบบใด ภายใน 1-2 วันนี้ 

อย่างไรก็ตามในการพิจารณาครั้งนี้ไม่ได้นำกระแสสังคมมาพิจารณาด้วย เพราะถ้านำกระแสสังคมมาพิจารณาเกรงว่าการพิจารณาจะไม่ครบถ้วน ดังนั้นขอให้เป็นเรื่องของ ศอฉ. และรัฐบาลตัดสินใจ หากตัดสินใจว่าจะมีกฎหมายดังกล่าวก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกร่างกฎหมายต่อไป

 

แจงก่อนประชุม กม.นิรโทษกรรม ดูเฉพาะกรอบความผิดเล็กน้อย โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี

ก่อนเข้าร่วมประชุม เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า นายธาริต ให้สัมภาษณ์ว่า ทั้ง 3 หน่วยงานจะหารือกันเบื้องต้นเท่านั้น รวมถึงพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสียของการออกกฎหมายดังกล่าวและจะนำเสนอ ศอฉ.ต่อไป ทั้งนี้ อยากให้เข้าใจว่า เรื่องนี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้น ยังไม่ได้มีข้อสรุปใดๆ และกรอบก็มีความชัดเจนว่าจะดูเฉพาะกรอบความผิดเล็กน้อย คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี โดยมุ่งเน้นไปที่คนที่เข้าร่วมชุมนุมโดยฝ่าฝืนกฎหมายเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีเจตนาร้ายหรือกระทำผิดอื่น ส่วนคนที่วางเพลิงเผาทรัพย์ ปล้นสะดม ก่อการจลาจล ก่อการร้าย กระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ ทำร้ายร่างกายนั้นจะไม่อยู่ในกรอบนี้

เมื่อถามว่ากฎหมายฉบับนี้จะรวมไปถึงคนที่ถูกจับกุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนหน้านี้หรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า ถ้าผู้ถูกจุบกุมทำความผิดเฉพาะเรื่องการชุมนุมโดยไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีก็จะอยู่ในกรอบนี้ ซึ่งขณะนี้ลักลั่นกันอยู่ บางคนถูกจำคุก บางคนอยู่ระหว่างสู้คดี บางคนหลบหนีไป หรือบางคนก็กลับบ้านไปเฉยๆ ดังนั้นจะนำมาดูในกรอบเดียวกัน 

“อยากให้สื่อมวลชนช่วยทำความเข้าใจกับสังคมว่ากฎหมายนี้จะครอบคลุมเฉพาะผู้ที่ชุมนุมโดยไม่ถูกต้อง ที่มีความผิดเล็กน้อย โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีเท่านั้น ไม่เกี่ยวไปถึงข้อหาอื่นที่เป็นความผิดฉกรรจ์ทั้งหลาย ซึ่งขณะนี้เสียงตอบรับไม่ดีเลย มีแต่คนคัดค้านเยอะมาก ไม่มีคนสนับสนุน แต่ก็ไม่เป็นไร พวกผมทั้ง 3 หน่วยงานศึกษาเฉพาะแค่ความเป็นไปได้ ส่วนการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นเรื่องของ ศอฉ.และรัฐบาล” นายธาริต กล่าว

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวด้วยว่า หลังจากได้ข้อสรุปแล้วก็จะนำเสนอ ศอฉ.ในอีก 1-2 วัน ถ้า ศอฉ.ไม่เห็นชอบก็ตกไป แต่ถ้าเห็นด้วยก็จะเสนอรัฐบาลต่อไป 

ส่วนตัวกฎหมายที่จะยกร่างขึ้นจะทำในลักษณะใด นายธาริต กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาก็ทำได้ทั้งเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ถ้าหากต้องการใช้เร็วก็ออกเป็น พ.ร.ก. โดยฝ่ายบริหาร ซึ่งก็มีผลบังคับทันที แล้วค่อยไปขอสภาฯ เห็นชอบ แต่ถ้าต้องการความรอบคอบก็ออกเป็น พ.ร.บ. ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะต้องผ่านทั้ง 2 สภาฯ 

เมื่อถามว่ามีคนที่เข้าข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้เท่าไหร่ นายธาริต กล่าวว่า คนที่เข้าร่วมชุมนุมโดยผิดกฎหมายก็มีเป็นหลักหมื่น ส่วนจะครอบคลุมผู้ที่ร่วมชุมนุมตั้งแต่บริเวณสะพานผ่านฟ้าเลยหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของ ศอฉ.กับรัฐบาลที่จะตัดสินใจ

 

“สัก” ติงรัฐฯ พิจารณาให้รอบคอบก่อนออก กม.นิรโทษกรรม ชี้ทำคนไม่เกรงกลัวกฎหมาย

วันเดียวกันนี้ ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า เวลา 10.00 น.นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนาความ ได้นำคณะกรรมการสภาทนายความ จำนวน 11 คน เข้าเยี่ยมคารวะนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา หลังเข้ารับตำแหน่งนายกสภาทนายความคนใหม่ ซึ่งระหว่างการเข้าพบกับประธานวุฒิสภา 

นายสักได้แสดงความเห็นกรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) โดยกล่าวว่า ขอให้พิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากจะทำให้คนไม่เกรงกลัวกฎหมายกระทบหลักนิติรัฐ นิติธรรม การสร้างความปรองดองและสมานฉันท์สามารถทำได้หากทุกคนได้รับความยุติธรรม และเท่าเทียมอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันอยากขอให้เร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม รวมทั้งดำเนินการกับผู้ที่กระทำความผิดอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นอีก

ทางด้าน นายประสพสุข กล่าวถึงประเด็นการนิรโทษกรรมว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและหากมีการนิรโทษกรรมบางส่วน เห็นว่าจะมีคนไม่เกรงกลัวกฎหมาย แต่อีกแง่อาจทำให้เกิดความความสมานฉันท์ จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาถึงความเหมาะสม โดยมองว่าอาจยังไม่จำเป็นถึงขั้นออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม แต่อาจใช้หลักรัฐศาสตร์และใช้กฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งในสมัยของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ก็เคยทำมาแล้วด้วยการสั่งให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าแต่ไม่ฟ้องผู้ต้องหา

 

“ชัย” หนุน กม.นิรโทษกรรม เหตุ ภท.เคยเสนอเข้ามาแล้ว

ขณะที่ แนวหน้า รายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าแผนปรองดองที่เสนอโดยรัฐบาลมีจุดประสงค์เพื่อซื้อเวล ว่า เรายังไม่เห็นการกระทำ หรือผลของการทำงาน ดังนั้นจึงนควรจะรอดูว่าในการดำเนินการมีการทำงานอย่างไร ขณะนี้เพิ่งเริ่มต้นดำเนินการแผนปรองดองเท่านั้นจึงควรรอดูไปก่อนเพราะตอนนี้เหมือนหม้อข้าวต้มที่อยู่ในเตา ข้าวยังไม่เดือดจะมาบอกว่าข้าวจะสุกหรือจะดิบมันเป็นไปไม่ได้ต้องรอดูจังหวะต้องรู้เวลา ตอนนี้แค่เริ่มต้นต้องรอดูก่อน

“ขณะนี้ไม่มีทางใดที่จะแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ มีแต่ทางปรองดองและสมานฉันท์ที่นายกรัฐมนตรีดำเนินการอยู่ แนวทางอื่นๆ ยังมองไม่เห็น” ประธานสภาฯ ย้ำ

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีแนวคิดออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ร่วมชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) บางส่วน จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างความปรองดองได้หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบนโยบายเรื่องนี้ เพียงแต่ได้รับทราบข่าวจากสื่อยังไม่ได้รู้ข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลจะต้องการอย่างไร

ทั้งนี้ กฎหมายทุกฉบับมีอยู่ในสภาอยู่แล้ว ทั้งนี้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย (ภท.)ก็ได้มีบรรจุอยู่ในระเบียบวาระของสภาผู้แทนราษฎรสามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาหรือแปรญัตติใส่ข้อความได้เลย ส่วนการพิจารณาขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาล ฝ่ายค้านจะเอาด้วยไหม ทุกอย่างมีอยู่ในสภาหมดทำได้ทั้งนั้นชึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ในสภากฎหมายมาจากฝ่ายนิติบัญญัติถ้าฝ่ายนิติบัญญัติเสียงส่วนใหญ่เห็นอย่างไรก็เอามาบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ทั้งนั้

 

เพื่อไทยเชื่อรัฐบาลมีวาระซ่อนเร้น ออก กม.นิรโทษกรรม

ส่วนสำนักข่าวไทย รายงานระบุถึงด้านพรรคเพื่อไทย โดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีรัฐบาลมีแนวคิดการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมเสื้อแดง ที่ทำผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า การออกกฎหมายดังกล่าว น่าจะเป็นการสร้างกระแสกลบเกลื่อนความผิดให้กับผู้สั่งการให้มีการสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 89 ราย บาดเจ็บเกือบ 2,000 ราย และสูญหายกว่า 44 ราย นอกจากนี้ ยังน่าจะมีวาระซ่อนเร้น เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดกฎหมาย ในการบังคับใช้กฎหมาย 

“วันนี้ ดีเอสไอกำลังหลงประเด็น เอาผิดแต่กลุ่มประชาชนกลุ่ม นปช. หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง ที่ทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนกลุ่มเสื้อหลากสีที่ทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหมือนกัน แต่ไม่ดำเนินคดี คนกลุ่มนี้มีอภิสิทธิ์อะไร หรือว่า ถ้าเชียร์นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะไม่ผิด ไม่ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าจะดำเนินคดีกลุ่ม นปช. ก็ต้องดำเนินคดีกลุ่มคนหลากสีเหมือนกัน อย่าเลือกปฏิบัติ เหมือนเป็นรัฐ 2 มาตรฐาน” นายพร้อมพงศ์กล่าว

ขณะที่ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เห็นว่า แนวคิดออกกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว ดูแล้วมีผลดี แต่เชื่อว่าจะถูกต่อต้านจากกลุ่มคนเสื้อเหลือง จึงไม่ทราบว่ารัฐบาลจะกล้าผลักดันหรือไม่ และว่าทางออกที่ดีที่สุดในการปรองดอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ควรเชิญทุกฝ่ายทั้งแกนนำเสื้อแดง เสื้อเหลือง ทหาร พรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้านมาคุยกันตรงๆ ว่าจะร่วมแก้ปัญหาประเทศอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net