เนินมะปรางฮึดสู้ ยันเหมืองทองอัคราฯ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชาวบ้าน 7 ตำบลใน อ.เนินประปรางรวมกันระดมความเห็น พบว่าพื้นที่ร้อยละ 90 ของชุมชนคือพื้นที่ป่าในการควบคุมครองรัฐ ซึ่งเป็นการง่ายหากมีการเวนคืนที่ดินและนำไปทำเหมืองทองคำ

จากการรวมตัวระดมความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ 7 ตำบล คือ เนินมะปราง บ้านมุง ชมพู บ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก วังยาง ไทรย้อย และวังโพรงของอำเภอเนินมะปราง จำนวน 26 คน ที่ จ.พิษณุโลกเมื่อเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปอันน่าเป็นห่วงว่าพื้นที่กว่าร้อยละ 90 เป็นพื้นที่ป่าซึ่งอยู่ในการควบคุมของหน่วยงานรัฐชาวบ้านมีเพียงสิทธิครอบครองทำมาหากินเท่านั้น จึงเป็นการง่ายหากหน่วยงานรัฐเวนคืนที่ดินและนำไปให้บริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด ใช้ทำเหมืองทองคำ

โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านทุ่งนาดี บ้านห้วยบ่อทอง ตำบลวังยาง ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายอย่างแน่นอนของบริษัทฯ เนื่องจากว่ามีการเข้าไปเจาะสำรวจรวมทั้งได้ซื้อที่ดินชาวบ้านไปแล้วกว่า 15 รายเป็นพื้นที่กว่า 400 ไร่ แต่ปัจจุบันกระบวนการซื้อที่ดินได้เงียบหายไปแต่คิดว่าเร็วๆนี้คงจะมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากว่าอาชญาบัตรสำรวจแร่ของบริษัทฯ จะหมดอายุในกลางปีหน้า (สิงหาคม 2554) ทางบริษัทฯ จะต้องรีบของประทานบัตร

การระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ชาวบ้านที่เข้าร่วมมีทั้งกลุ่มชาวบ้านหน้าเดิมๆซึ่งเคยต่อสู้เรื่องโรงโม่หินมาก่อนและได้เคยเสนอให้พื้นที่ริมขอบเทือกเขาเพชรบูรณ์ตะวันตกนี้เป็นแหล่งคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเนื่องจากพื้นที่มีหินปูนซึ่งถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ของการพัฒนาพื้นที่อินโดจีน แต่เรื่องก็ได้เงียบหายไป รวมทั้งชาวบ้านหน้าใหม่ๆ ซึ่งมีใจรักถิ่นที่อยู่ของตน มารวมใจในครั้งนี้เนื่องจากพวกเขาอาจจะได้รับการละเมิดสิทธิหากเกิดเหมืองทองขึ้นจริงพวกเขาจะอยู่กันอย่างไรเพราะเห็นตัวอย่างความล่มสลายที่บ้านเขาหม้อ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จ.พิจิตร มาแล้วว่า น้ำไม่มีจะกินจะใช้ ไม่มีน้ำทำนา ทำสวนมะม่วงก็ไม่ติดช่อดอก หรือบางส่วนก็รู้สึกเปรียบเทียบว่าตนขึ้นไปปลูกพริกบนเขาแต่ถูกเจ้าหน้าที่ไล่และสั่งห้ามกลับกันเมื่อบริษัทฯ ขอเข้าไปสำรวจกลับได้รับความร่วมมืออย่างดี

ชาวบ้านเห็นว่าการทำเหมืองทองในพื้นที่นี้ยังไม่พร้อม เนื่องจากชาวบ้านยังไม่ได้รับทราบข้อมูลใดๆทั้งยังเห็นผลจากการประกอบการของบริษัทฯ ซึ่งล้มเหลวในพื้นที่บ้านเขาหม้อมาก่อนทำให้ไม่แน่ใจว่าการมีเหมืองแล้วจะดีจริง ผลดีประเทศและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ค่าภาคหลวง ชุมชนได้รับการพัฒนา แต่หากเกิดผลเสียเกิดขึ้นจะมีใครหันหน้ามาใส่ใจหรือไม่ ส่วนใหญ่ชาวบ้านทำนาและสวนมะม่วง ทำนาก็ต้องใช้น้ำหากระบบน้ำมีปัญหาเนื่องจากจะมีการขึ้นไปทำเหมืองบนเขาซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของพื้นที่นั้นชาวบ้านจะใช้น้ำที่ไหน หรือแม้แต่สวนมะม่วงหากมีการระเบิดหินฝุ่นควันคละคลุ้งไปจับยอดจับปากใบก็ไม่ทำให้มะม่วงติดดอกเช่นกันแล้วชาวบ้านจะไปประกอบอาชีพอะไรกัน คำถามเหล่านี้ยังเป็นที่ข้องใจ

ด้วยเหตุหลากหลายอย่างชาวบ้านจึงได้ตระหนักถึง “สิทธิทำมาหากิน” ของตนที่ควรจะมีอยู่ตามปกติไม่ให้ผู้ใดมารบกวน จึงร่วมมือร่วมใจสร้างเครือข่ายกันขึ้นมาโดยจุดประสงค์แรกคือ เรียกร้องเอกสารสิทธิ์ ไม่ว่าจะหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หรือ โฉนดที่ดิน (น.ส.4) เพื่อเป็นบันไดก้าวต่อไปเพื่อต่อสู้กับการมีเหมืองทองคำนั่นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท