Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“This time for Africa” เนื้อหาตอนหนึ่งของบทเพลงในมหกรรมฟุตบอลโลกปี 2010 ที่จัดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ เริ่มคุ้นหูเราขึ้นเรื่อยๆ เพราะถูกนำเสนอซ้ำอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นการกระตุ้นเตือนให้เราหันมาให้ความสนใจกับกีฬาชนิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ฟุตบอลจัดเป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่เป็นปรากฎการณ์สำคัญอย่างที่กีฬาชนิดอื่นๆ ยังไม่สามารถทะยานขึ้นมาเทียบได้ โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญทั้งจำนวนของผู้ชมทั่วโลก ความถี่ของการถ่ายทอดสด และการถูกพูดถึงทั้งจากสื่อและจากสังคมแวดล้อม นี่ยังไม่รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและในช่วงการแข่งขัน นั่นหมายความว่าฟุตบอลโลกไม่ได้มีมิติทางด้านกีฬาเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีมิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านวัฒนธรรม และมิติทางการเมืองว่าด้วยเรื่องต่างๆ ให้มองได้อีกมากมาย

เพียงแต่มิติมุมมองอื่นๆเหล่านั้นถูกกลบทับ ละเลย และถูกทำให้ลืมเลือนด้วยการนำเสนอเพียงมุมมองของกีฬาเพียงอย่างเดียว กีฬา ซึ่งโดยตัวของมันเองถูกสร้างให้เป็นภาพเชิงบวก ด้วยคำสำคัญเรื่องของสุขภาพความแข็งแรง ความมีน้ำใจ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีในหมู่มวลมนุษย์ ทุกเหตุผลที่ยกมากล่าวนี้ล้วนเป็นความจริง แต่ไม่ใช่กับฟุตบอลโลกซึ่งยังซ่อนความจริงอีกหลายอย่างไว้มากมาย และนี่เป็นเหตุผลที่ผมพยายามจะเสนอว่าความจริงต่างๆ ที่เรายอมรับกันอยู่นั้นเป็นความจริงที่กำลังกลบเกลื่อนความจริงอีกหลายๆชุดไว้อย่างแนบเนียน..หรือไม่

ในคอลัมน์ทัศนะวิจารณ์ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 มิถุนายน 2545 ระบุว่าจากข้อมูลของ The Globalist ที่สำรวจทวีปแอฟริกา(ไม่นับรวมประเทศแอฟริกาใต้)พบว่ามีประชากรทั้งสิ้น 530 ล้านคน แต่มีจำนวนโทรทัศน์เพียง 67 ล้านเครื่อง คนแอฟริกาส่วนใหญ่หากจะเชียร์ทีมตัวแทนทั้งห้าของตน ก็ต้องฟังจากวิทยุ ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แทบทุกครัวเรือนมีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง และ 74% ของครัวเรือนทั้งหมดมีโทรทัศน์อย่างต่ำสองเครื่อง ที่ตลกร้ายก็คือ คนอเมริกันไม่ชอบดูฟุตบอล (Soccer)

กีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่ดูได้ทุกเพศทุกวัย แต่เป็นที่นิยมเล่นหรือเล่นแล้วเป็นที่นิยมได้ทุกเพศทุกวัยหรือไม่ยังคงเป็นคำถาม ผู้หญิงมากมายก็นิยมเล่นฟุตบอลและมีการจัดการแข่งขันสำคัญๆหลายครั้งและมีถึงระดับโลกด้วย แต่หาได้รับความสนใจจากประชาคมโลกเทียบเท่ากับผู้ชายไม่ ฟุตบอลจึงดูเหมือนเป็นกีฬาที่สังกัดอยู่กับผู้ชายและความเป็นชายอย่างแยกไม่ออก และความเป็นชายที่สอดคล้องกับยุคสมัยนั้นต้องมีลักษณะปรากฎทางด้านร่างกายที่สมส่วน สูงสง่า อุดมไปด้วยมัดกล้ามและมีบุคลิกลักษณะที่สามารถสะกิดความรู้สึกของเพศตรงข้ามได้ ความเก่งกาจอย่างเดียวจึงไม่สามารถจะยืนยันว่าจะประสบความสำเร็จจากการเล่นฟุตบอล การมีบุคลิกลักษณะและสรีระแบบ sport man ดูเหมือนจะนำไปสู่ความสำเร็จทางด้านธุรกิจการกีฬาได้มากกว่า เพราะสามารถเป็นภาพลักษณ์ตัวแทนของสินค้านานาชนิดได้ หน้าตาและร่างกายของนักกีฬาหากมองให้ดีจะพบว่าเป็นร่างกายที่ผูกพันเชื่อมโยงกับธุรกิจชนิดต่างๆ อย่างแนบแน่น ร่างกายของพวกเขาถูกแปรสภาพให้เป็น “พื้นที่” ทางธุรกิจและสามารถจับจองได้ไม่ต่างกับพื้นที่ธรรมดาทั่วไปแถวสีลม จะมีสิ่งที่แตกต่างกันอยู่บ้างก็คือร่างกายเป็นพื้นที่ที่เคลื่อนไหวได้ และเป็นพื้นที่ที่ “พูดแทน” เจ้าของสินค้านั้นๆได้

เมื่อถึงตรงนี้เราจึงพบว่าร่างกายของพวกเขาไม่เป็นของพวกเขาอีกต่อไป ร่างกายของไทเกอร์ วูด เป็นร่างกายของไนกี้ ร่างกายของ เบ็คแฮม ไม่ใช่ของเขาหรือของคุณวิคตอเรีย ที่สามารถทำอะไรกับมันได้ตามอำเภอใจแต่ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของร่างที่แท้จริงในนามของ sponsor ที่มีความช่ำชองในการเปลี่ยนร่างกายมนุษย์ให้กลายมาเป็น “พื้นที่ทางการค้า” ของพวกเขา และมีอำนาจเหนือร่างกายของเราอย่างไม่น่าเชื่อ แม้กระทั่งเรื่องง่ายๆอย่างเช่นการเลือกใส่เสื้อผ้า นักกีฬาเหล่านี้มีสิทธิเลือกเสื้อผ้ารองเท้า หรือของใช้ตามอำเภอใจได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ได้ หากมันไม่ใช่คู่แข่งของสินค้าเรา แต่ความจริงที่โหดร้ายในโลกของธุรกิจกีฬาก็คือ สินค้าทุกยี่ห้อในโลกนี้ เป็นคู่แข่งกันหมด

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นการทำให้มนุษย์กลายเป็นสินค้าอย่างถูกต้องตามกฏหมายในตลาดซื้อขายนักเตะนะครับ

อีกด้านหนึ่งของฟุตบอลโลกก็คือมันทำให้ยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอร์และตัวเลขการพนันพุ่งสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับความสามารถในการทำงานของบุคคลที่ลดต่ำลงเมื่อมีฤดูกาลฟุตบอลโลก

มีหลายประเทศในโลกนี้ที่พยายามขอจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกเพราะมีการคาดการณ์ถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการคาดการณ์ถึงจำนวนของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้จ่ายในช่วงการแข่งขัน แต่ที่สำคัญก็คือ ความพยายามในการส่งผ่านวัฒนธรรมของประเทศตนสู่สายตาชาวโลกด้วยความคาดหวังว่าวัฒนธรรมที่ตนเองมีเหล่านั้นจะผันสภาพกลายมาเป็นสินค้าได้ และหากสามารถสร้างปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมได้จริงแล้ว มูลค่าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลจะไหลบ่าสู่ประเทศเจ้าของวัฒนธรรมนั้น (เหมือนอังกฤษที่สามารถสร้างและส่งออกกีฬาฟุตบอลจนนิยมไปทั่วโลก และกีฬาชนิดนี้ก็ทำเงินให้กับระบบเศรษฐกิจของอังกฤษปีละมหาศาล)

ตัวอย่างที่น่าศึกษาจากความสำเร็จด้านการส่งออกวัฒนธรรมอีกประเทศหนึ่งก็คือเกาหลี เกาหลีส่งออกวัฒนธรรมตนผ่านละครโทรทัศน์ที่สามารถเจาะผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย ส่งผ่านวัฒนธรรมผ่านดนตรีและนักร้องชายหญิง เกาหลีไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เม็ดเงินจากการขายละครหรือเพลง เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถหาดาวน์โหลดได้ง่ายในโลกไซเบอร์ แล้วเกาหลีหวังอะไร..รัฐบาลเกาหลีหวังว่าผลตอบแทนที่กลับมาคือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมตามสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หรือละครต่างๆเกาหลีหวังว่าจะดึงดูดผู้คนในประเทศแถบเอเซียให้เข้าไปทำศัลยกรรมความงามเพื่อที่จะงามแบบดาราหรือนักร้องเกาหลี และเขาก็ประสบความสำเร็จจนกระทั่งสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดด้านศัลยกรรมจากประเทศไทยไปได้อย่างน่าตกใจ พร้อมกันนี้อุตสาหกรรมความงามที่มีมูลค่ามหาศาล เช่น เครื่องสำอางต่างๆของเกาหลีก็กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและทะลุทะลวงไปทำตลาดในประเทศที่เสพวัฒนธรรมเกาหลีเช่นกัน นั่นแหละสิ่งที่เกาหลีต้องการจากการส่งออกวัฒนธรรม และหากแอฟริกาใต้สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้ ความสำเร็จที่รอคอยก็ “อาจ” เป็นไปได้

วัฒนธรรมเป็นต้นทุนที่มีอยู่แล้วในสังคมไม่ต้องผลิตใหม่ เพียงแค่ผลิตซ้ำก็ฉวยใช้ได้ตลอดเวลาสินค้าทางวัฒนธรรมจึงมีต้นทุนต่ำกว่าสินค้าทางอุตสาหกรรม เมื่อต้นทุนต่ำกว่ากำไรก็ต้องมากกว่า

การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกของแอฟริกาใต้มีการคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศประมาณ 450,000 คน แต่เมื่อการแข่งขันผ่านไปได้เพียง 3 วัน รัฐบาลก็ปรับตัวเลขประมาณการลงเหลือเพียง 350,000 คน อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการชมฟุตบอลสูงมากเกินไปแต่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีต่ำเกินไป ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามคาด เพราะพวกเขาเกิดความลังเลที่จะเดินทางไปแอฟริกาใต้

อีกด้านหนึ่ง การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ยังมีผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแอฟริกาใต้ เพราะการลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคและสนามกีฬา จำเป็นต้องใช้เงินมหาศาล (แอฟริกาใต้ใช้งบไปประมาณ 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเยอรมนีใช้ไป 7,700 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2006) การทุ่มเม็ดเงินลงไปในระบบก่อให้เกิดการลงทุนก่อสร้างและการจ้างงานภายในประเทศ แต่สิ่งเหล่านี้จะยั่งยืนได้หรือ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างจบสิ้นลง นักท่องเที่ยวหายกลับไป สิ่งปลูกสร้างเช่นสนามกีฬาจะทำอย่างไรต่อไป อาชญากรรมและโจรกรรมที่มีอยู่จะหายไปพร้อมฟุตบอลโลกได้หรือไม่ 4,300 ล้านเหรียญหากนำไปใช้แก้ปัญหาความยากจนหรือนำไปใช้เพิ่มศักยภาพให้กับระบบการศึกษาของประเทศจะดีกว่าหรือไม่ ทุกอย่างล้วนมีแต่คำถาม แต่คำตอบจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องรอให้แอฟริกาใต้ตอบคำถามนี้กับเรา เพราะ “This time for Africa”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net