Skip to main content
sharethis

การล่มสลายกลายเป็นซากของห้างสรรพสินค้าและโรงภาพยนตร์เก่าแก่ได้กลายเป็นเรื่องสะเทือนใจของคนเมืองจำนวนมาก แต่ชีวิตที่เสียไปของมนุษย์หน้าดำตีนหนากลับไม่สามารถกระชากความรู้สึกให้พวกเขาฉุกคิดได้ว่าบางทีพวกเขาจะได้สูญเสียสิ่งที่สูงค่าที่สุดในตัวของพวกเขาไปโดยมิรู้ตัว

 

 
 
 
เรือนหลังน้อยดูเงียบเหงาอยู่ท่ามกลางบ้านเรือนที่รายล้อม จากถนนซอยหน้าบ้านมองเข้าไปเห็นประตูบ้านที่ปิดอยู่ ชานหน้าบ้านโล่งปราศจากร่องรอยว่ามีผู้อยู่อาศัย ใต้ถุนที่ยกสูงขึ้นตามแบบเรือนไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามชนบทอีสานมีร่องรอยว่าเป็นเพียงที่พำนักในยามค่ำคืนของฝูงวัวควาย
 
“หลังจากอ๊อฟเสียแล้ว บ้านหลังนี้ก็ไม่มีคนอยู่ ป้าก็เลยมานอนเฝ้าทุกคืน” เป็นคำบอกเล่าของป้า....... พี่สาวแท้ๆ ของแม่อ๊อฟ หรืออัครเดช ขันแก้ว ซึ่งมีบ้านอยู่ติดกันถัดไปทางขวามือ
“แปลว่าก่อนจะไปเสียชีวิตที่กรุงเทพฯ อ๊อฟอยู่ที่บ้านนี้คนเดียวงั้นหรือครับ”
“อ๊อฟอยู่ที่ระยองกับพ่อ แม่ และมีพี่ชายคนละพ่ออีกคนหนึ่ง แต่พอพ่อกับแม่เลิกกัน แม่พาอ๊อฟ กลับมาอยู่กับยายที่บ้านหลังนี้ อยู่ได้ไม่นานแม่ก็เสียชีวิตจากโรคเอดส์ ตอนนั้นอ๊อฟอายุราวๆ 12 ปี หลังจากนั้น อ๊อฟก็อยู่กับยายสองคน จนเมื่อ 2 ปีก่อน ยายเสีย อ๊อฟก็เลยอยู่บ้านยายหลังนี้คนเดียว แต่กับข้าวกับปลาป้ากับลุงก็เป็นคนหามาสู่กันกิน มีงานไร่งานนาอ๊อฟก็ไปช่วยป้าทำ อยู่กันแบบนี้แหละ”
 
เมื่อถามถึงชีวิตวัยเด็กจากหลายคนในชุมชน พบว่าอ๊อฟเป็นคนที่ไม่มีเพื่อนมากนัก ซึ่งก็พอเข้าใจได้เนื่องจากการเป็นลูกของผู้ติดเชื้อเอดส์ก็คงจะกลายเป็นปมด้อยแลถูกปฏิเสธการสัมพันธ์คบหาจากคนรอบข้างซึ่งก็น่าจะเป็นที่มาของบุคลิกเงียบขรึมของเขา
 
จากคำบอกเล่าของเก่ง หรือ วสันต์ สายรัศมี เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพศูนย์วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งอ๊อฟไปช่วยงานอยู่ที่เต็นท์พยาบาลของศูนย์ฯ ในช่วงที่ไปร่วมชุมนุมกับ นปช.ในกรุงเทพฯ ดูเหมือนว่าอ๊อฟจะเป็นที่รักใคร่ของเจ้าหน้าที่ ใครให้ช่วยทำอะไรก็ทำเต็มที่เสมอมา
 
“อ๊อฟเขาเป็นคนแบบนี้แหละ ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก แต่ถ้าใครมีงานอะไรอ๊อฟก็จะไปช่วยตลอด ไม่ว่าจะเป็นงานบุญหรืองานของหมู่บ้าน” ผู้เป็นป้าบอกเล่าถึงอุปนิสัยของอ๊อฟ
 
“ตอนไปอยู่ที่เต็นท์กาฬสินธุ์ อ๊อฟก็ช่วยพี่น้องในเต็นท์ทำงานเสี้ยมไม้ไผ่ทำแนวกั้น อ๊อฟโดนไม้ไผ่บาดมือ ก็เอาผ้าพันปล่อยทิ้งไว้สองวัน อาสาสมัครที่เต็นท์พยาบาลเห็นเข้า ก็เรียกให้ไปทำแผล จากนั้นมาอ๊อฟก็ไปช่วยงานที่เต็นท์พยาบาล ช่วยหยิบยา หยิบอุปกรณ์ให้บ้าง ไปช่วยแจกยาให้ผู้ชุมนุมบ้าง” ผู้ใหญ่ประสาทถ่ายทอดคำบอกเล่าที่ได้รับฟังมาจากคนเสื้อแดงที่เต็นท์กาฬสินธุ์
 
ย้อนกลับไปก่อนหน้าการชุมนุมของ นปก.ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม 2553 มีบางหลังคาในบ้านหนองผือที่ติดจานดาวเทียมเพื่อรับสัญญาณจากพีเพิล แชนแนล ซึ่งจะมีเพื่อนบ้านไปนั่งดูด้วยเป็นจำนวนมาก ในจำนวนแฟนประจำมีอ๊อฟเป็นหนึ่งในนั้นด้วย เขามักมานั่งดูเงียบๆ ร่วมกับเพื่อนบ้านซึ่งส่วนใหญ่จะพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่างๆ ที่รับฟังมาอย่างมีรสชาติ ไม่มีใครรู้หรืออาจไม่มีใครสนใจที่จะรู้ว่าเด็กหนุ่มผู้โดดเดี่ยว และเงียบขรึมเช่นเขาคิดอย่างไรกับสิ่งที่เขาได้รับฟัง ทั้งจากพีเพิล แชนแนล และการพูดคุยถกเถียงของเพื่อนร่วมวงสนทนา
 
17 มีนาคม หลังจากการชุมนุมไม่ได้ยุติลงในเร็ววันอย่างที่ทุกคนคาดไว้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ตอบรับข้อเรียกร้องให้ยุบสภา จึงมีชาวบ้านจากจังหวัดต่างๆ เดินทางเข้าไปสมทบที่สะพานผ่านฟ้า บ้านหนองผือเองก็มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งเดินทางลงไปกรุงเทพฯ หนึ่งในนั้นคือ ป้า.... และอ๊อฟซึ่งขอตามไปด้วย
 
ป้า...อยู่ชุมนุมได้ 4 วัน ก็ต้องเดินทางกลับเนื่องจากมีภารกิจที่บ้าน คราวนั้น อ๊อฟได้กลับมาด้วย และเมื่อมีคนลงไปกรุงเทพฯ อีกในวันที่ 3 เมษายน อ๊อฟก็ขอมาด้วยอีก แต่คราวนี้เขาไม่ยอมกลับเช่นเพื่อนบ้านคนอื่น
 
“เราจะเจอกันก็ตอนกลับเต็นท์มาอาบน้ำ ได้คุยกันนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ต่างคนต่างไป ผมจะไปอยู่แถวศาลาแดง ไม่ได้เป็นการ์ดกับเขาหรอก แต่ชอบไปดู ไปคุยกับการ์ดมั่ง ส่วนอ๊อฟเขาก็จะไปแจกยา แจกแอมโมเนีย ช่วยงานที่เต็นท์พยาบาล เขาสนิทกับพยาบาลในเต็นท์ หรือบางทีก็ไปดูเขาร้องเพลงอยู่หน้าเวที อ๊อฟเขาเป็นคนชอบสนุก” เสียงซื่อๆ ของอู๊ด(นามสมมติ) เพื่อนบ้านที่มาสนิทกันตอนทำงานรับจ้างลากสายไฟแรงสูงที่อยุธยาเมื่อ 3-4 เดือนก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุม ทำให้เรามองเห็นภาพวิถีชีวิตประจำวันของอ๊อฟในที่ชุมนุมได้อย่างแจ่มชัด
 
“ช่วงวันท้ายๆ การ์ดก็เริ่มคุยกันแล้วว่าคราวนี้ทหารเอาจริง เพื่อนคนหนึ่งที่เป็นการ์ด แต่เขาเข้าๆ ออกๆ ไปทำงานบ้าง ก็โทรมาจากข้างนอกบอกให้ผมกลับออกไป แต่ผมยังไม่อยากกลับ วันที่ 17 น้องสาวก็โทรมาจากบ้าน บอกว่าแม่ป่วยให้กลับบ้าน ผมก็เลยจำใจต้องกลับ ผมไปที่เต็นท์ตามหาอ๊อฟ ชวนให้กลับด้วยกัน อ๊อฟไม่พูดอะไร แต่ไม่มีท่าทีว่าจะกลับด้วย ผมเลยบอกเขาว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นให้เข้าไปที่วัดนะ” อู๊ดคงไม่ทันคิดว่านั่นเป็นคำพูดกับอ๊อฟเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นก็ไม่มีใครทางบ้านได้ติดต่อกับอ๊อฟอีก เพราะเขาไม่มีโทรศัพท์มือถือ
 
บ่ายวันที่ 19 หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุม เสียงปืนและระเบิดก็ดังขึ้นอย่างน่าตระหนก ผู้ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งพากันหนีเข้าวัดปทุมฯ ซึ่งประกาศเป็นเขตอภัยทานด้วยความหวาดกลัว มีคนอยู่ในวัดปทุมฯ นับพันคน ภายนอกวัดมีเสียงปืนดังขึ้นอยู่ตลอดเวลา
 
"ตอนนั้นมีประชาชนหลบกระสุนอยู่รอบอุโบสถของวัดเป็นจำนวนมาก และต่างกลัวว่าจะมีการยิงมาจากที่สูงด้วยชุดสไนเปอร์ด้วย จนกระทั่งเวลา 17.30 น.เป็นต้นมา ที่ข้างนอกวัดก็เริ่มยิงกันหนักขึ้น ผมจึงบอกให้ผู้ชุมนุมหลบเข้าไปอยู่ที่สวนป่าภายในวัดเพราะจะปลอดภัยกว่า ระหว่างนั้นได้ยินเสียงปืนชุดใหญ่ยิงดังอยู่ตรงบริเวณนอกรั้วหน้าวัด และมาทราบข่าวว่ามีอาสาพยาบาลที่อยู่บริเวณเต็นท์หน้าวัดถูกยิงบาดเจ็บและ เสียชีวิตหลายราย " เป็นปากคำของนายโทนทอง สุขแก่น ประธานศูนย์มูลนิธิสยามรวมใจ (ปู่อินทร์) ประจําสาขาจังหวัดนนทบุรี
 
เก่งหรือวสันต์ ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า “น.ส.กมนเกด พยาบาลอาสาประจำเต็นท์ พยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บถูกยิงรายหนึ่ง ก่อนตัวเองจะโดนกระสุนยิงจนพรุนทั้งร่าง นอนดิ้นทุรนทุรายอยู่ ซึ่งอยู่ติดกับประตูทางออกของวัดปทุมฯ และ จนนายอัครเดช (อ๊อฟ) วิ่งเข้าไปช่วยกมลเกด แต่ก็โดนยิงเข้าที่ไหล่ขวา กระพุ้งแก้ม ท้องและที่ก้นกบ ล้มนอกชักอยู่ที่เต็นท์พยาบาลอยู่อีกเป็นเวลานาน ขณะช่วยชีวิตปลั๊ก ผมต้องนำเชือกมามัดมือไว้เพราะเขาดิ้นมาก พยายามช่วยเหลือชีวิตนานกว่า 30 นาที แต่เขาก็เสียชีวิตลงต่อหน้าต่อตา”
 
“สายๆ วันที่ 20 ป้าได้รับโทรศัพท์จากแกนนำกาฬสินธุ์ว่าอ๊อฟเสียแล้ว ความรู้สึกตอนนั้นก็เสียใจมาก ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนจัดการหารถและพาพี่น้องไปรับอ๊อฟกลับมาบ้านเรา” เสียงของป้ายังเจือแววสั่นเครือให้เรารู้สึกได้
 
อัครเดช ขันแก้ว เด็กหนุ่มเงียบขรึมวัย 22 ปี ที่ไม่มีพ่อแม่พี่น้อง พ่อทิ้งไป แม่เสียชีวิตจากโรคติดต่อ พี่ชายคนเดียวก็พลัดพรากกัน มีชีวิตเติบโตมากับยายอย่างยากไร้ สุดท้ายโลกที่โหดร้ายใบนี้ก็ยังยัดเยียดความตายให้กับเขา พร้อมกับดับความใฝ่ฝันบางอย่างที่อาจจะไม่มีใครได้รับรู้ และเขาก็คงไม่อาจจะเข้าใจได้เลยกับเหตุผลของความตายที่ถูกส่งลงมาจากเบื้องบน
 
ร่างของอัครเดช ขันแก้ว มอดไหม้เป็นเถ้าธุลีแล้ว ท่ามกลางความอาลัย ความโกรธเกรี้ยว ความไม่รับผิดชอบของผู้เป็นรัฐบาล และคำสัญญาถึงการต่อสู้ต่อไปของพี่น้องประชาชน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net