Skip to main content
sharethis

นายอานท์ ปันยารชุน และน.พ.ประเวศ วะสีร่วมกันแถลงรับเป็นประธานปฏิรูปประเทศไทย เผย 6 เดือนเห็นรูปธรรม ด้านอดีตรองนายกฯ ในรัฐบาลไทยรักไทย สมคิด จาตศรีพิทักษ์ ระบุ จะปรองดองได้ ประเทศต้องมีรัฐบุรุษ พร้อมชี้โมเดลอินโดนีเซีย รื้อระบเศรษฐกิจ การศึกษาและราชการ ฟื้นได้ภายใน 10 ปีหลังวิกฤตโค่นซูฮาร์โต

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 18 มิถุนายน ที่บ้านพิษณุโลก นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนพ. ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังเข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่านายกฯ ได้เชิญนพ. ประเวศและตนมาพูดคุยเพื่อแจ้งผลการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย พร้อมรับฟังความรู้สึกของนพ. ประเวศและตนที่ได้รับการเสนอชื่อจากภาคประชาชนให้เข้ามาทำงาน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการของรัฐบาล แต่สอดคล้องกับแผนการสร้างความปรองดองของรัฐบาล ดังนั้นการทำงานของตนและนพ. ประเวศจะเน้นสร้างกระบวนการและกลไกไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาล มีความเป็นอิสระต่อความคิดและความครอบงำของรัฐบาล มีอิสระต่อผู้มีอิทธิพล ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับจากภาคประชาชน ซึ่งนายอภิสิทธิ์บอกว่าเข้าใจและไม่ขัดข้อง

นายอานันท์กล่าวต่อว่า สำหรับกลไกการทำงานในเบื้องต้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดคือ 1. คณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศมีตนเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์และจัดลำดับความสำคัญเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งตนจะไปหาผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมเป็นกรรมอีก 15-20 คน โดยไม่มีนักการเมืองเข้ามาร่วม ทั้งนี้จะพยายามตั้งคณะกรรมการให้ได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และ 2. คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศมีนพ. ประเวศเป็นประธาน ซึ่งคาดว่าในช่วงปลายสัปดาห์หน้าจะมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดกลไกการทำงานต่างๆ ออกมา

อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า งานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของคณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ นโยบายและมาตรการระยะสั้น ซึ้งสามารถอาศัยวิธีการงบประมาณ และมาตรการในทางบริหารดำเนินการได้ทันที โดยใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน และนโยบายและมาตรการระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากสภา หรือองค์กรอื่นๆ ที่นอกเหนืออำนาจของฝ่ายบริหาร จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ซึ่งมีการคุยกันว่าอาจจะต้องทำงานกัน 1-3 ปี แม้รัฐบาลชุดนี้จะไม่อยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องที่ต้องวางรากฐานต่อไป ซึ่งนายกฯ บอกว่าคณะกรรมการอาจต้องทำงานเลยรัฐบาลชุดนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเป็นรูปธรรมที่จะเห็นในระยะสั้น 6 เดือนคืออะไร นายอานันท์กล่าวว่า ยังไม่ได้นำเรื่องเข้าคณะกรรมการ ยังตอบไม่ได้ อย่างไรก็ตามมีหลักในใจแล้ว อีกทั้ง นพ.ประเวศก็ทำงานมาปีเศษ แต่ทุกอย่างต้องนำไปถกเถียงกันในคณะกรรมการก่อน

เมื่อถามว่า เป้าหมายของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คิดว่าจะลดช่องว่างระหว่างคำว่า “ไพร่” กับ “อำมาตย์” ที่ถูกบัญญัติขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้หรือไม่อย่างไร นายอานันท์กล่าวว่า “คณะกรรมการผมจะไม่สนใจเรื่องแบบนี้ ถ้ายกคำว่าไพร่ หรืออำมาตย์ขึ้นมา ผมคิดว่าเป็นศัพท์ที่ไม่มีความหมาย คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้จะไม่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นปัญหาในอดีต แต่แน่นอนความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเงินทอง เรื่องสิทธิ เรื่องโอกาส อันนั้นต้องทำแน่ แต่เราจะไม่ทำในบริบทของสิ่งที่คุณพูด มันคนละเรื่องกัน”

ด้าน นพ.ประเวศกล่าวว่า นายกฯ ให้อิสระในการคัดเลือกกรรมการมาร่วมงานอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของภาคสังคม ภาคประชาชน และภาควิชาการ แต่ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการรับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไปปฏิบัติ ขอย้ำว่าคณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งต้องมองไปข้างหน้า ไม่เกี่ยวกับเรื่องความปรองดองซึ่งเป็นเรื่องอดีต โดยคณะกรรมการจะเดินหน้าปฏิรูประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ระบุ ประเทศจะปรองดองได้ต้องมีรัฐบุรุษ
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 18 มิถุนายน ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ถึงเวลาปฏิรูปประเทศไทย" เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี นสพ.สยามรัฐ โดยนายสมคิด กล่าวว่า ตนเคยคิดว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ร้ายแรงที่สุดแล้ว แต่วิกฤตในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกว่าคิดผิด เพราะมันทำลายคุณค่าที่เคยเป็นรากฐานของประเทศไทย วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงจากความล้มเหลวการพัฒนาประเทศหลายสิบปีที่ผ่านมา นิตยสารนิวสวีคฉบับล่าสุดยังเขียนว่า สิ่งที่ประเทศไทยผิดพลาดที่สุด คือละเลยการปฏิรูปอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นความจริง เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยมีแผนจะปฏิรูปเลย มีเพียงลมปากไปเรื่อยๆ

นายสมคิด กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศครั้งนี้ ตนอยากให้ดูตัวอย่างประเทศอินโดนีเซีย ที่เกือบล้มละลายเมื่อปี 1997 แต่พอประธานาธิบดีคนใหม่ขึ้นมา ใช้เวลาเพียง 10 ปี ทำให้ประเทศที่เคยไม่มีอนาคต กลายเป็นยักษ์ใหญ่ การเมืองมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจมั่นคง และการต่างประเทศแข็งแรงมาก เพราะ 1.ผู้นำอินโดนีเซียเขาหาคนเก่งและดีที่สุดมาช่วยกัน 2.เขาปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง ร่วมมือกับยูเอ็นดีพี ขจัดการทุจริตในการเลือกตั้ง แต่กลับกันมาดูในประเทศไทย เรามัวแต่เถียงกันเรื่องเขตเล็กเขตใหญ่ ที่สำคัญการจะปฏิรูปการเมืองจะต้องให้ประชาชนได้ข้อมูลอย่างเพียงพอ จึงต้องทำให้สื่อมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ สื่อเล็กๆมีปากเสียง  3.อินโดนีเซียปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ตอนเกิดวิกฤตมีหนี้สาธารณะเกิน 100% ของจีดีพี แต่รมว.คลังเขาทำงานอย่างเข้มข้น ตัดงบที่ไม่จำเป็นออก ถึงวันนี้ฐานะการคลังของอินโดนีเซียเข้มแข็งที่สุดประเทศหนึ่งในโลก สำหรับประเทศไทย จะต้องนำภาคเอกชนมาร่วม และมีการปฏิรูปการคลัง ไม่เช่นนั้นจะไม่งบไปลงทุนรัฐสวัสดิการ การทรวงการคลังรู้ดีว่าจะทำอย่างไร เพราะคุยกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกันมานานแล้ว อยู่ที่มีความกล้าหรือไม่ ที่สำคัญจะต้องพัฒนาด้านนวัตกรรม ต้องรื้อระบบการศึกษาของไทยใหม่ หยุดพูดเรื่องเรียนฟรี ต้องหันมาพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมด้วย

4.สำคัญที่สุด คือจะต้องปฏิรูประบบราชการ อย่างคิดว่าข้าราชการจะประคองนักการเมืองเลวได้ตลอดไป ในอินโดนีเซียเริ่มมีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจ และเริ่มมีกาปฏิรูปกฎหมาย เพื่อให้ต่างชาติเกิดความมั่นคง ทั้งนี้นิตยสารนิวสวีคได้บอกว่าประเทศไทยยังมีความหวัง แต่สิ่งที่ยังขาดคือการมีผู้นำที่เป็นรัฐบุรุษซึ่งอุทิศทุกสิ่งทุกอย่างให้กับบ้านเมือง ไม่เอาแต่ประโยชน์ของพวกพ้อง เพราะคนไทยจะกลับมาหันหน้าเข้าหากันได้ ต้องมีผู้นำที่เป็นรัฐบาล วันนี้ถึงจุดเสื่อมของประเทศไทยอย่างจริงจัง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ประเทศไทยถึงจุดที่ต้องปฏิรูปอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นพวกเราก็จะตอบคำถามลูกไม่ได้ว่า ทำไมถึงไม่เริ่มปฏิรูปตอนนั้น

 ที่มา: เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net