Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
เมื่อถูกถามว่า เป้าหมายของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย คือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คิดว่าจะลดช่องว่างระหว่างคำว่า “ไพร่” กับ “อำมาตย์” ที่ถูกบัญญัติขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้หรือไม่อย่างไร นายอานันท์ ปันยารชุน กล่าวว่า
 
 คณะกรรมการผมจะไม่สนใจเรื่องแบบนี้ ถ้ายกคำว่าไพร่ หรืออำมาตย์ขึ้นมา ผมคิดว่าเป็นศัพท์ที่ไม่มีความหมาย คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้จะไม่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นปัญหาในอดีต แต่แน่นอนความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเงินทอง เรื่องสิทธิ เรื่องโอกาส อันนั้นต้องทำแน่ แต่เราจะไม่ทำในบริบทของสิ่งที่คุณพูด มันคนละเรื่องกัน”
(มติชนออนไลน์,18 มิถุนายน 2553)
 
โดยปกติ “คำ” หรือ “ศัพท์” ที่ไม่มีความหมาย คือคำหรือศัพท์ที่ไม่ได้สื่อถึง “ความจริง” (truth) หรือ “ข้อเท็จจริง” (fact) อะไรเลย แต่คำว่า “อำมาตย์” และ “ไพร่” เป็นคำที่สื่อถึงความจริงและข้อเท็จจริงบางอย่างชัดแจ้งเกินกว่าที่ใครจะบอกว่า “ไม่สนใจ” รับรู้ หากมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทยจริงๆ
 
ผมคงไม่อธิบายประวัติความเป็นมาของคำสองคำนี้ (เพราะเห็นอธิบายกันไว้มากแล้ว) ขออธิบาย (ตามความเข้าใจของตนเอง) ว่า คำว่า “อำมาตย์-ไพร่” ที่ นปช.นำมาใช้กันในปัจจุบันนั้นเป็นคำที่สื่อถึงความจริงที่ว่า ในสังคมประชาธิปไตยของไทยนั้นมีสถานะแห่ง “ความเป็นมนุษย์” ที่ไม่เท่าเทียมกัน
 
เราต้องเข้าใจก่อนว่า “ความเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่าเทียม” ไม่ใช่ “ข้อเท็จจริง” ในธรรมชาติ แต่เป็น “ความจริง” ที่ถูกสร้างขึ้นในจารีตของสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วก็ตกทอดมาถึงปัจจุบันที่เป็นสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่
 
กล่าวคือ ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับหลัก “เสรีภาพ” และ “ความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์” นั้น สังคมไทยยังยึดถือความจริง (สมัยเก่า)ที่ว่า “ความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน” โดยชาติกำเนิดและฐานันดร
 
ซึ่งความแตกต่างทางชาติกำเนิดและฐานันดรนั้นเป็นผลแห่ง “ศีลธรรมที่แตกต่างกัน” ในความหมายที่ว่า คนที่มีชาติกำเนิดสูงและฐานันดรสูงนั้นคือคนที่บำเพ็ญบุญบารมีมามากแต่ชาติปางก่อน ฉะนั้น สมุฏฐานของการจำแนกความแตกต่างทางชนชั้นจึงมาจากการจำแนกความแตกต่างทางศีลธรรม คือการทำความดีมาไม่เท่ากันจึงทำให้สถานะความเป็นมนุษย์ไม่เท่ากัน
 
การยึดถือความจริงดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิด “ข้อเท็จจริง” ในสังคมไทยคือการมีชนชั้น “อภิสิทธิชน” หรือที่ นปช.เรียกรวมๆว่า “อำมาตย์” และชนชั้นสามัญชนที่เรียกรวมๆว่า “ไพร่”
 
ซึ่งชนนั้นแรกอยู่ในสถานะที่ตั้งคำถาม วิพากษ์ วิจารณ์ ตรวจสอบการกระทำหรือการใช้อำนาจใดๆ อย่างตรงไปตรงมาไม่ได้เลย และเครือข่ายบริวารก็พลอยได้รับสิทธิพิเศษนั้นโดยปริยาย ส่วนชนชั้นหลังที่เป็นสามัญชน (ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางระดับสูง ระดับกลาง ระดับล่าง และชนชั้นล่าง) คือ “ไพร่” ที่ไม่อาจมีอภิสิทธิ์เช่นนั้นไม่ว่าในทางจารีตหรือทางกฎหมายก็ตาม
 
ฉะนั้น การจะตัดสินว่า “อำมาตย์-ไพร่” เป็นคำที่มีความหมายหรือไม่ วิธีที่ต้องทำอย่างตรงไปตรงมาคือ
 
1. ต้องตรวจสอบดูว่าสังคมไทยปัจจุบันยังยึดถือความจริงที่ว่า “ความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน” อยู่จริงหรือไม่?
 
2. ต้องไปดูข้อเท็จจริงว่า สังคมไทยมีระบบอภิสิทธิชนที่ตรวจสอบไม่ได้อยู่จริงหรือไม่? มีระบบอภิสิทธิชนที่พยายามผูกขาดอำนาจการคิดแทน การตัดสินใจแทนประชาชนในเรื่องการเมืองการปกครอง รวมถึงการตัดสินว่าใครเป็นคนดี คนไม่ดี การกำหนดความถูก-ผิดทางศีลธรรม ฯลฯ อยู่จริงหรือไม่?
 
ถ้าพบว่า 1 และ 2 มีอยู่จริง ก็ต้องถามต่อไปว่า 1 และ 2 สอดคล้องหรือขัดแย้งกับ “อุดมการณ์รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่” ที่ถือว่าเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์คือคุณค่าสูงสุด
 
หรือถามตรงๆว่า 1 และ 2 เป็นสาเหตุของ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่มีอยู่จริงต่อไปนี้หรือไม่?
 
1. ความเหลื่อมล้ำในการมีเสรีภาพ ฝ่ายอภิสิทธิชนและเครือข่ายสนับสนุน เช่น รัฐบาล สื่อ นักวิชาการ ชนชั้นกลางในเมืองที่ประกาศตัวปกป้องระบบอภิสิทธิชนมีเสรีภาพเหนือกว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่? (เช่น สื่อของคนส่วนใหญ่ถูกปิด และพวกเขาเหล่านั้นก็ถูกจำกัดเสรีภาพในการพูดความจริง การแสดงออกทางการเมือง ด้วย กฎหมายหมิ่นฯ พรก.ฉุกเฉิน ฯลฯ)
 
2. เสรีภาพที่สำคัญคือ “เสรีภาพที่จะเป็นมนุษย์” (ความคิดของเปาโล แฟร์) ความหมายง่ายๆ คือมนุษย์ควรมีเสรีภาพจากความโง่ จน เจ็บ เขาจึงจะสามารถพัฒนาความเป็นมนุษย์ เช่น ความสามารถในการใช้เหตุผล การเข้าใจความจริง สัมผัสความดี ความงาม และใช้ศักยภาพสร้างสรรค์สิ่งที่เขารัก หรือที่เขาเห็นว่ามีคุณค่าแก่ชีวิตและโลก สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นอภิสิทธิชน-ไพร่ เอื้อต่อเสรีภาพที่จะเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมหรือไม่?
 
3. ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจต่อรองในทางการเมือง เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสการศึกษา การมีงานทำ การได้รับบริการทางสาธารณสุข การได้รับการปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ฯลฯ เกี่ยวข้องกับการผูกขาดอำนาจทางการเมืองการปกครอง อำนาจทางศีลธรรม ฯลฯ ของระบบอภิสิทธิชนหรือไม่?
 
หากสามารถอธิบายได้อย่าง “แจ่มกระจ่างหมดจด” ว่า สังคมไทยปัจจุบันไม่ได้ยึดถือความจริงที่ว่า “ความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน” และไม่มีข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมไทยปัจจุบันมีระบบอภิสิทธิชนที่เป็นสาเหตุของ “ความเหลื่อมล้ำ” ต่างๆจริง จึงจะสรุปได้ว่า “อำมาตย์-ไพร่” เป็นเพียงศัพท์ที่ไร้ความหมาย!
 
แต่หากยังมีความจริงและข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ แล้วไม่สนใจ ไม่พูดถึง การปฏิรูปประเทศที่ต้องการให้เกิดประชาธิปไตยที่ประชาชนมีเสรีภาพอย่างเท่าเทียม และมีความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ เพื่อเป็นฐานของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาอื่นๆก็เป็นเพียง “ละครฉากสุดท้าย” ของระบบอภิสิทธิชนเท่านั้นเอง!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net