มองอนาคต ‘ผู้ลี้ภัย’ กับแผ่นดินใหม่ที่เรียกว่า ‘บ้าน’ NGO ยื่น 7 ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย

สัมมนาวันผู้ลี้ภัยโลก ทนายนักสิทธิฯ จวกรัฐฯ ทำตรงกันข้ามหลักการสากล เผยสหรัฐขึ้นทะเบียนไทยเป็นประเทศค้ามนุษย์ เหตุส่งกลับม้งลาวและผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง เตือนหากไม่เร่งแก้ใน 1 ปีถูกคว่ำบาตร ส่วนนักข่าวเรียกร้องเพื่อน “ปฎิรูปสื่อ” ปรับทัศนคติมองคนอื่นให้เป็นมนุษย์

วานนี้ (19 มิ.ย.) ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล สสส.ร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และ Asylum Access Thailand จัดเสวนา ‘มองอนาคตผู้ลี้ภัย กับแผ่นดินใหม่ที่เรียกว่าบ้าน’ และชมภาพยนตร์ ‘บท เพลงของแอ้โด้ะฉิ’ (The Songs of Eh Doh Shi) เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลกในวันที่ 20 มิ.ย.ของทุกปี 

สำหรับสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ปัจจุบันผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มากจากประเทศพม่า และจากรายงานของ TBBC เมื่อเดือนเมษายน 2553 ระบุว่าในค่ายพักพิงริมขอบชายแดน 9 แห่งใน 4 จังหวัดของไทย มีผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กว่า 104,254 คน เมื่อรวมกับผู้ที่ขอลี้ภัยแต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกกว่าสามหมื่น พบว่ามีจำนวนรวมถึง 139,239 คน

สุรพงษ์ กองจันทึก อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติแรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ กล่าวว่า ตามหลักการปฏิบัติสากลเมื่อมีผู้ลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศใดๆ ประเทศนั้นๆ จะต้องดูแลผู้ลี้ภัยในการจัดหาที่อยู่ที่ปลอดภัยและประสานหน่วยงานซึ่งเป็นองค์กรระหว่างปรเทศเข้ามาดูแลความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยเพื่อเตรียมส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 หากแต่รัฐบาลของไทยได้ทำตรงกันข้ามในหลายกรณี โดยพยามผลักดันผู้ลี้ภัยให้กลับไปสู่ความตายในประเทศของเขา ซึ่งเป็นหลักตรงกันข้ามในการปฏิบัติของสากล 

ยกตัวอย่างกรณีของรัฐบาลชุดปัจจุบันเช่น การออกคำสั่งให้ส่งม้งลาวกลับประเทศ และการให้ส่งผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงที่บ้านแม่อูสุกลับ เพราะการส่งผู้ลี้ภัยทั้งสองส่วนนี้กลับประเทศเดิมนั้น เขาไม่ได้รับการดูแลอย่างดี โดยเฉพาะกรณีของ ม้งลาวทำให้เกิดข้อวิพากย์วิจารณ์จากนานาชาติในหลายส่วนโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ขึ้นทะเบียนประเทศไทยเป็นประเทศผู้ค้ามนุษย์ ถ้าเราไม่รีบแก้ไขในระยะเวลา 1 ปีสหรัฐอเมริกาก็จะตัดความช่วยเหลือในหลายส่วนต่อประเทศไทยได้

อย่างไรก็ตาม สุรพงษ์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่ดีขึ้นใน 3 ข้อคือ 1.การมีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่สามารถบังคับใช้ในทุกตารางนิ้วของประเทศ โดยเริ่มเอาไปใช้ในค่ายผู้ลี้ภัยให้มีการบังคับใช้กฎหมายไทยอย่างเสมอภาค 2.มติ ครม.5 พฤษภาคม 2548 เกี่ยวกับการให้การศึกษาแก่บุตรหลานผู้ลี้ภัยในค่าย เพื่อให้มีทัศนคติที่ดีต่อสังคม และประเทศไทย 3.พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรปี 2551 ที่เปิดให้มีการจัดทำทะเบียนประวัติและใบแจ้งเกิดแก่ทุกคนในประเทศไทย รวมทั้งผู้ลี้ภัยและผู้ไม่มีสัญชาติไทยในกรณีต่างๆ

ส่วนกรณีคำพูดที่ว่า “รัฐฯ สามารถทำร้ายคนได้โดยถูกกฎหมาย” สุรพงษ์แสดงความเห็นว่า การกระทำของรัฐฯ ที่จะถูกหรือไม่ถูกกฎหมายนั้นขึ้นอยู่กับการยอมรับ คือ ถ้ารัฐฯ ใช้กฎหมายแล้วคนไม่ยอมรับนั่นคือไม่ถูกต้อง แต่ถ้ารัฐฯ ใช้กฎหมายในทางที่ไม่ถูกแต่คนไม่ทำอะไร สิ่งที่ผิดก็จะกลายเป็นสิ่งที่ถูก ดังนั้นการอ้างว่าใช้กฎหมาย จะต้องมีการต่อสู้ เคลื่อนไหวเพื่อให้การใช้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้อง และไม่ยอมให้กฎหมายผิดๆ มาทำร้ายคนต่อไป 

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ยกตัวอย่างกรณีของลี ยูจง อดีตสายลับ และเข้าร่วมขบวนการเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยได้หนีเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งถูก UNHCR ตัดสินยกเลิกสถานะ"ผู้ลี้ภัย" ส่งผลให้เขา ภรรยา และลูกอีก 2 คน ต้องถูกส่งกลับไปประเทศจีน ซึ่งในปีที่แล้วสภาทนายความได้ยื่นอุทธรณ์จนคำตัดสินดังกล่าวยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน โดยนายลีและครอบครัวยังไม่ต้องถูกส่งกลับ กรณีนายยุทธนา ฝามวัน นักเรียนชั้น ม.6 ใน จ.สกลนคร ที่เอ็นทรานซ์ติดคณะแพทยศาสตร์ แต่ อาจไม่ได้เรียนเพราะไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน แต่ก็ได้ต่อสู้ทางกฎหมายขนสามารถเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ และล่าสุดกรณีของ ด.ช.หม่อง ทองดี เด็กไร้สัญชาติที่ต่อสู้จนได้ไปแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษที่ญี่ปุ่น

 

นักข่าวเรียกร้องเพื่อน “ปฎิรูปสื่อ” ปรับทัศนคติมองคนอื่นให้เป็นมนุษย์

ขณะที่ชวิดา วาทินชัย ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาของผู้ลี้ภัยจะได้รับความสนใจและได้รับการแก้ไขก็ต่อเมื่อมีการนำเสนอเป็นข่าวใหญ่ แต่อุปสรรค์ในการรายงานข่าวผู้ลี้ภัยคือความเสี่ยงและซับซ้อนของข้อมูล เพราะการจะได้ข้อมูลจะต้องเข้าถึงตัวผู้บังคับบัญชาของทหารซึ่งเป็นผู้ดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ อีกทั้ง แม้ว่าทางทหารจะยืนยันถึงความปลอดภัยหรือความสมัครใจในกรณีการส่งกลับผู้ลี้ภัย และเชิญชวนให้นักข่าวลงพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหากไปแล้วนักข่าวจะได้ความจริง เนื่องจากอาจมีการจัดเตรียมการให้ข้อมูลต่อสื่อ และในส่วนตัวของผู้ลี้ภัยเองหากมีการเข้าไปของข้อมูลโดยมีทหารอยู่ด้วยก็จะเกิดความกลัว ไม่กล้าพูด นอกจากนี้ยังมีกรณีของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่การทำงานและการดูแลผู้ลี้ภัยมักไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ นักข่าวไม่สามารถเข้าถึงได้

ชวิดากล่าวต่อมาถึงอุปสรรค์ในส่วนของทัศนคติของคนทำงานสื่อว่า ทัศนคติในเรื่องการมองคนทุกคนในฐานะที่เป็นมนุษย์คือสิ่งที่สื่อต้องมีการปฎิรูป ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในกรณีผู้ลี้ภัย แต่รวมถึงกรณีความขัดแย่งทางการเมืองของสีเหลืองสีแดง เพราะสีทุกสีก็เป็นมนุษย์ โดยจะต้องทำความเข้าใจถึงเหตุและผลในการกระทำของเขา อย่างไรก็ตาม แม้แต่ทัศนคติของรัฐฯ ที่ยังไม่ยอมรับการใช้คำว่า “ผู้ลี้ภัย” และไม่ยอมรับสถานะของพวกเขาก็เป็นส่วนสำคัญ ทั้งนี้ เธอได้เรียกร้องไปถึงสื่อมวลชนที่ยังมีพลัง มีความใกล้ชิดติดตามทำข่าวนายกทุกวัน ให้ค่อยๆ ทบทวนตัวเองในเรื่องดังกล่าว และช่วยสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ด้วย 

“หากไปถามเขาว่ามนุษยธรรมคืออะไร เขาอาจจะไม่รู้ แต่สางสำคัญมันขึ้นอยู่กับเราว่าจะปฎิบัติต่อเขาอย่างมีมนุษยธรรมได้อย่างไร” ชวิดากล่าว

 

เตือนอย่ายึดติดกับการเลือกตั้งพม่า หวั่นเป็นปัญหาอีกในอนาคต

ส่วนอดิศร เกิดมงคล ผู้จัดการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล สสส.กล่าวแสดงความเห็นถึงการเลือกตั้งในประเทศพม่าที่กำหนดให้มีขึ้นในปลายปีนี้ว่า การเลือกตั้งจะทำให้ปัญหาไม่สิ้นสุด เพราะสาเหตุของปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข นโยบายของรัฐบาลพม่าไม่ได้เปลี่ยน การสู้รบในประเทศยังคงมีอยู่ ดังนั้น อย่างเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นคำตอบทุกอย่าง และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของพม่าเองการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกเลย 

อดิศร กล่าวย้ำว่าอย่าได้ยึดติดกับการเลือกตั้งในพม่า เพราะมันจะส่งผลกระทบกับสถานภาพและความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐที่อาจใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการเพิกเฉยต่อการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย 

อดิศรกล่าวด้วยว่า สิ่งที่เป็นความจริงในทุกวันนี้คือความรู้สึกของผู้ลี้ภัยที่รู้สึกว่า ถึงแม้จะมีคนเอาบ้านไปจากเขาได้ แต่ก็ไม่สามารถมีใครเอาความหวังไปจากเขาได้ เพราะสิ่งที่สำคัญที่ผู้ลี้ภัยต้องการคือบ้านในการลงหลักปักฐานและบ้านที่ให้ความปลอดภัยกับอนาคตของเขาได้ เพราะบางคนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็น 10-20 ปี หรือบางคนเกิดในประเทศไทยตั้งแต่เด็กด้วยซ้ำ ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องการพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นบ้านและต้องการเห็นความหวังและอนาคต

“สังคมไทยยังตระหนักในเรื่องนี้น้อยและเรายังมองเขาเป็นผู้อยู่อาศัยแบบชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งเราในฐานะที่เป็นประเทศแม่จะต้องทำใจเปิดกว้างในเรื่องนี้ แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือรัฐไทยต้องมองผู้ลี้ภัยในมิติที่เข้าใจเขามากขึ้นและควรมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้เพื่อให้เขามีบ้านและอนาคตที่ดีในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง” นายอดิศรแสดงมุมมองของคนทำงานด้านผู้ลี้ภัย

 

เพื่อนไร้พรมแดนเปิดข้อมูลผู้ลี้ภัยค่ายแม่ละไร้สถานะนับพันเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิ

พรสุข เกิดสว่าง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนกล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยว่า ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยอยู่ค่ายพักพิงจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการลงทะเบียน ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเข้าถึงสิทธิต่างๆ ไม่ได้โดยสมบูรณ์ หากเกิดปัญหาขึ้นนอกแคมป์ก็ไม่สามารถต่อสู้ในทางกฎหมายได้เนื่องจากไม่มีสถานะบุคคล โดยจำนวนตัวเลขของผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้สะสมมาตั้งแต่ปี 2548-2552 ในค่ายพักพิงแม่หละ (จ.ตาก) มีมากกว่าหนึ่งพันคน 

“ขั้นพื้นฐานผู้ลี้ภัยก็ได้รับการดูแลตามปกติ แต่การคุ้มครองทางด้านกฎหมายไม่สามารถคุ้มครองผู้ลี้ภัยได้ โดยรัฐบาลไทยใช้เรื่องความมั่นคงมาเป็นประเด็นหลักในการกีดกันผู้ลี้ภัย” พรสุข กล่าว

 

เอ็นจีโอต่างประเทศ เผยกลุ่มผู้ลี้ภัยผุดใหม่ อิรัก อัฟกานิสถาน ซบไทยนับแสน

ด้านพรหมลักษณ์ ศักดิ์พิชัยมงคล รักษาการแทนผู้อำนวยการงานด้านนโยบายฝ่ายองค์กร Asylum Access กล่าวว่า งานที่องค์กรทำอยู่นั้นเป็นการทำผู้ลี้ภัยนอกค่าย ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น โดยคนเหล่านี้จะมีปัญหาที่แตกต่างกัน เช่น เรื่องศาสนา เรื่องการแสดงความคิดเห็นทางด้านการเมือง และจะไม่ได้รับสิทธิใดๆ เลยจากภาครัฐ มีทั้งที่เข้ามาแบบถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายซึ่งจะมีความแตกต่างกับผู้ลี้ภัยในค่าย

ในประเทศไทยกลุ่มคนเหล่านี้มาจากประเทศที่หลากหลาย เช่น แอฟฟริกา อิรัก ปากีสถาน กัมพูชา ลาว จีน เวียดนาม ฯลฯ โดยจะเข้ามาเป็นในลักษณะขอวีซ่านักท่องเที่ยว เมื่อวีซ่าหมดอายุกลับไม่ต่ออายุ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง และจะถูกปรับวันละ 500 บาท โดยไม่มีสิทธิในการทำงาน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ซึ่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คืออยู่แบบหลบๆ ซ่อน และอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม รวมแล้วราวหนึ่งแสนคน

ยื่น 7 ข้อเสนอต่อรัฐฯ วันผู้ลี้ภัยโลก ย้ำงดส่งกลับถ้าสันติยังไม่เกิด

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ได้มีการเผยแพร่เอกสารระบุข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย 7 ข้อ คือ 1.รัฐจะต้องไม่ส่งผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการประหัตประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลับ ตราบใดที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ว่าสันติภาพและการเคารพสิทธิมนุษยชนได้กลับคืนสู่ประเทศพม่า 2.รัฐควรเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้กว้างกว่า “ผู้หลบหนีการสู้รบ” หากรวมถึงผู้หลบหนีการประหัตประหารจากประเทศพม่าตามหลักการสากล โดยให้ UNHCR เข้ามาแบ่งเบาภาระในการให้ความคุ้มครองอย่างเต็มตัว

3.คณะกรรมการจังหวัดซึ่งมีหน้าที่พิจารณารับผู้ลี้ภัย ควรประกอบไปด้วยภาคี 3 ฝ่าย คือ รัฐ องค์กรระหว่างประเทศ (UNHCR) และภาคประชาชนหรือองค์กรเอกชนในพื้นที่ และควรมีกระบวนการตัดสินใจที่โปร่งใสเปิดเผยได้ต่อสาธารณชน 4.การดำเนินการเตรียมพร้อมให้ผู้ลี้ภัยกลับถิ่นฐานเป็นขั้นตอนสำคัญยิ่งที่ควรเริ่มต้นดำเนินการอย่างจริงจังนับแต่บัดนี้ โดยรัฐจะต้องเปิดโอกาสให้องค์กรเอกชนทำงานพัฒนากับผู้ลี้ภัยได้มากขึ้น 5.รัฐควรสนับสนุนผลักดันให้องค์กรเอกชนที่ทำงานกับผู้ลี้ภัยและองค์กรอื่น ๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนชายแดนไทยอย่างจริงจัง และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนชายแดน กับผู้ลี้ภัย ซึ่งจะส่งผลดีต่อความมั่นคงของชาติในระยะยาว 

6.ในด้านนโยบายระยะยาว รัฐควรจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติที่มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะนโยบายทั้งระยะสั้นและยาวเกี่ยวกับผู้พลัดถิ่น ซึ่งรวมทั้งแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย โดยคณะกรรมการจะต้องมีสัดส่วนที่เท่าเทียมกันระหว่างภาคประชาชน นักวิชาการ และฝ่ายรัฐ และ 7.รัฐควรมุ่งหาความร่วมมือจากนานาชาติ ในการช่วยเหลือฟื้นฟูการเมืองและสันติภาพในประเทศพม่า หากรัฐจะสนับสนุนการเจรจาทางการเมืองในพม่า ก็ควรทำให้แน่ใจว่า ชนกลุ่มน้อยจะได้มีโอกาสอยู่ในการเจรจาดังกล่าว และเป็นการคลี่คลายปัญหาทางการเมืองระยะยาว ไม่ใช่เพียงการหยุดยิงชั่วคราวเท่านั้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังการเสวนา ได้มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง “บทเพลงของแอ้โด้ะฉิ” (The Songs of Eh Doh Shi) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำโดยชาวกะเหรี่ยง และได้รับความช่วยเหลือจากทีมงานผู้กำกับชาวไทย เนื้อหาของภาพยนตร์ เล่าถึงการต่อสู้หลากวิถีของคนตัวเล็กๆ จากดินแดนที่ถูกโลกหลงลืม ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงของผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงและชาวบ้านกะเหรี่ยงไทย โดยนักแสดงหลายคนในเรื่อง คือชาวบ้านเล่อป่อเฮอที่ข้ามน้ำเมยเข้ามาลี้ภัยในเขตไทย

ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้รับคัดเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย พนมเปญ พ.ศ.2549 และในเทศกาลภาพยนตร์สิทธิมนุษยชนกรุงโซล เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ พ.ศ.2550 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท