Skip to main content
sharethis

วันที่ 21 มิ.ย. 2553 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษย์ชนและการพัฒนา (มสพ.) เตือนรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าการตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลับลอบทำงาน อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อแรงงานข้ามชาติกว่า 1 ล้านคน

นอกจากนี้ มสพ. ได้เรียกร้องไปยังผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแห่งองค์การสหประชาชาติ เพื่อสอบถามความชัดเจนจากรัฐบาลไทย ถึงความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของนโยบายการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกใหม่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 


ประเทศไทยคุกคามแรงงานข้ามชาติโดยการกวาดล้างและก่อให้เกิดการเผชิญหน้าและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
 

 

       เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน โดยศูนย์นี้จะทำหน้าที่กวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า โดยได้มีการตั้งหน่วยเฉพาะกิจป้องกันและปราบปราม 5 ชุด แบ่งพื้นที่การรับผิดชอบเป็นภูมิภาคและมีการสนธิกำลังของตำรวจ ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คำสั่งดังกล่าวมีเป้าหมายในการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติกว่า 300,000 คน ที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติในช่วงของการต่อใบอนุญาตทำงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดว่าแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้จดทะเบียนมากกว่า 1 ล้านคนซึ่งไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ อาจตกเป็นเป้าหมายในการกวาดล้างครั้งนี้ด้วย 

      มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ขอเตือนรัฐบาลให้ระวังว่านโยบายกวาดล้างแรงงานขามชาติครั้งนี้ อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อแรงงานข้ามชาติกว่าหนึ่งล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานข้ามชาติที่เป็นชนกลุ่มน้อยจากประเทศพม่า ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติได้นำไปสู่การเพิ่มจำนวนการจับกุม คุมขัง และการบังคับขู่เข็ญ รีดไถแรงงานข้ามชาติโดยเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต ทั้งยังนำไปสู่ความรุนแรงและการเสียชีวิต มสพ. จึงเห็นนโยบายการกวาดล้างนี้เป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสมไม่สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจอีกทั้งยังไม่สามารถเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศได้

      มสพ. ได้เรียกร้องไปยังผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแห่งองค์การสหประชาชาติ เพื่อสอบถามความชัดเจนจากรัฐบาลไทย ถึงความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของนโยบายการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกใหม่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งในการหาเสียงสนับสนุนการเลือกตั้ง ตัวแทนของรัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยและแรงงานข้ามชาติด้วย มสพ. จึงเห็นว่านโยบายนี้เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังสำหรับการเริ่มต้นของประเทศไทยในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อยและแรงงานข้ามชาติ 

ที่มา

      ในปี  2552 แรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนกว่าร้อยละ 80 ในประเทศไทย (หรือประมาณ 1.1 ล้านคน) เป็นแรงงานข้ามชาติที่มาจากประเทศพม่า แรงงานเหล่านี้ต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางเชื้อชาติและการเมือง รวมทั้งปัญหาสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร อนึ่งในปี 2546 ประเทศไทยและพม่าได้ตกลงที่จะดำเนินกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่เดินทางออกจากประเทศพม่าอย่าง“ผิดกฎหมาย” และเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยอย่าง “ผิดกฎหมาย” แต่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว โดยให้แรงงานเหล่านี้จะต้องเดินทางกลับประเทศพม่าเพื่อพิสูจน์สัญชาติ เมื่อผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว และสามารถเดินทางกลับมาทำงานในประเทศไทยได้อย่าง “ถูกต้องตามกฎหมาย” ซึ่งทางรัฐบาลไทยได้กำหนดเส้นตายสำหรับแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนในการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติไว้ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 หลังจากนั้นได้มีคำสั่งว่าจะไม่มีการเปิดรับการจดทะเบียนรอบใหม่อีกต่อไป และแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจะต้องออกจากประเทศไทยหรือถูกจับกุมและส่งกลับ 

    * จนบัดนี้มีแรงงานข้ามชาติเพียง 90,000 คนที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเรียบร้อยแล้ว
    * ยังคงมีแรงงานข้ามชาติกว่า 800,000 คน ที่ได้ยื่นแบบแสดงความจำนงขอพิสูจน์สัญชาติไว้แล้วและมีเวลาถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ที่จะต้องดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จสิ้น
    * มีแรงงานข้ามชาติกว่า 300,000 คนที่ไม่ไปต่อใบอนุญาตทำงานและยื่นแบบแสดงความจำนงขอพิสูจน์สัญชาติตามกำหนดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ทำให้ตอนนี้กลายเป็นแรงงานที่มีสถานะที่ผิดกฎหมาย
    * ประมาณการณ์ว่าแรงงานข้ามชาติกว่า 1 ล้านคน ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ เนื่องจากเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน
    * เศรษฐกิจของประเทศไทยยังต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือประมาณ 2-3 ล้านคนเหล่านี้

      ถึงแม้ว่า นโยบายการพิสูจน์สัญชาติของรัฐบาลไทยจะเป็นสิ่งที่ควรยกย่องในความพยายามที่จะจัดการให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้าอยู่ในระเบียบ แต่กลับไม่ได้มีการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง และเป็นการคุกคามแรงงานข้ามชาติโดยจะมีการส่งกลับครั้งใหญ่ซึ่งเริ่มมีปรากฏให้เห็นได้ชัดขึ้น อีกทั้ง การพิสูจน์สัญชาตินี้อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติที่เคยขึ้นทะเบียนไว้แล้วเท่านั้นที่ได้รับสิทธิในการพิสูจน์สัญชาติ และนายหน้าที่ไม่ได้รับการควบคุมยังคงเรียกเก็บค่าบริการที่สูงเกินจริง โดยที่ภาครัฐยังมิได้สร้างความตระหนักในเรื่องนี้สู่สาธารณะอย่างจริงจัง แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าทำผิดกฎหมาย เนื่องจากเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศพม่า แต่กลับต้องถูกกดดันจากการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติโดยต้องยื่นข้อมูลส่วนตัวให้กับรัฐบาลทหารพม่า สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นความหวั่นเกรงของชุมชนแรงงานข้ามชาติว่าพวกเขาและครอบครัวอาจจะต้องเผชิญกับการคุกคามโดยรัฐบาลทหารพม่า

      ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นแห่งองค์การสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อนโยบายการพิสูจน์สัญชาติของประเทศไทยและกระตุ้นให้มีการชะลอการส่งกลับแรงงานข้ามชาติครั้งใหญ่ไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพม่าหลังจากเส้นตายวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 

      แรงงานข้ามชาติซึ่งต้องทำงานที่เสี่ยงอันตรายและได้รับอัตราค่าจ้างต่ำเหล่านี้ มีส่วนในการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในประเทศไทยถึงร้อยละ 6-7 อีกทั้งยังคิดเป็นแรงงานร้อยละ 5-10 ของกำลังแรงงานในตลาดแรงงานของประเทศไทย แต่ประเทศไทยก็ยังคงขาดยุทธศาสตร์การจัดการเกี่ยวกับการย้ายถิ่นนี้ในระยะยาวที่มีประสิทธิภาพ ความมั่นคงของชาติและนโยบายด้านเศรษฐกิจกลับได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกเหนือการเคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ แม้การกวาดล้างแรงงานข้ามชาตินี้จะเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ ในแง่นโยบายด้านความมั่นคง แต่ในแง่เศรษฐศาสตร์ การกวาดล้างเช่นนี้จะนำไปสู่การขาดแคลนแรงงานอย่างหนักในสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของไทย

      รัฐบาลไทยได้แถลงว่านโยบายการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติครั้งนี้เป็นความตั้งใจที่จะนำแรงงานข้ามชาติที่ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติหรือคนที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้ออกไปจากประเทศไทยและอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสองประเภทเท่านั้นที่สามารถทำงานในประเทศไทยได้ คือ 1) แรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่ประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายแต่ได้ผ่านหรือต้องการพิสูจน์สัญชาติซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการแล้วจะเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย และ 2) แรงงานข้ามชาติที่จะนำเข้ามาใหม่จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

      อย่างไรก็ดี เป็นที่กังวลว่า การกวาดล้างครั้งนี้จะ เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากยังคงมีแรงงานข้ามชาติกว่า 1-1.4 ล้านคน ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้นั้น กำลังตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวว่าจะถูกผลักดันกลับ อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระบบการนำเข้าแรงงานชุดใหม่จากประเทศพม่าที่จะมาทดแทนแรงงานกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ การนำเข้าและส่งออกแรงงานในอนาคตของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่มีการเอาประโยชน์จากแรงงานโดยนายหน้าที่ไม่ได้มีการควบคุมและการจัดการแรงงานโดยรัฐบาลพม่าซึ่งยังเป็นรัฐบาลที่มีปัญหาการบังคับใช้แรงงานอยู่นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งระบบ การตรวจสอบและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างได้ผลซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแต่อย่างใด

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย

มสพ. ใคร่ขอเสนอข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้ต่อรัฐบาลไทย:

   1. รัฐบาลไทยควรยกเลิกนโยบายการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
   2. รัฐบาลไทยควรเปิดให้มีการจดทะเบียนรอบใหม่เพื่อให้แรงงานข้ามชาติประมาณ 1-1.4 ล้านคนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและทำงานอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ ได้มีโอกาสจดทะเบียนและเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ
   3. กระทรวงแรงงานควรทบทวนอย่างจริงจังถึงวิธีการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในการส่งเสริมการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ประเทศไทยอย่างถูกต้องในอนาคต เพื่อให้เป็นกระบวนการที่สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานได้รับการเคารพและป้องกันการขูดรีดอย่างรุนแรงต่อแรงงานทั้งในทางเศรษฐกิจและในด้านอื่นๆ
   4. กระทรวงแรงงานควรควบคุมกิจการเกี่ยวกับการบริการพิสูจน์สัญชาติของบรรดาบริษัทนายหน้าที่มีอยู่ เนื่องจากกฎระเบียบที่ใช้อยู่ตอนนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพและยังเรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่สูง
   5. รัฐบาลไทยควรจัดให้มีการหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขอย่างถาวรสำหรับปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้
   6. รัฐบาลไทยควรเริ่มการหารือถึงวิธีการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติที่ยั่งยืน โดยตั้งอยู่ในแนวทางที่สร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนกับการเคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ และการหารือนี้จะต้องนำมาสู่แผนยุทธศาสตร์ในระยะยาว ด้านการจัดการการประชากรย้ายถิ่นสำหรับประเทศไทย
 

      มสพ. เชื่อว่าการกระทำข้างต้นจะทำให้รัฐบาลไทยสามารถจัดการกับความท้าทายด้านการย้ายถิ่นอย่างผิดปกตินี้ได้ ทั้งในแง่การเคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ และในขณะเดียวกันก็ไม่ส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ในทางตรงกันข้าม นโยบายการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่กำลังจะดำเนินอยู่ในขณะนี้กลับจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งยังคงต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติอย่างมาก รวมทั้งส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย สิ่งที่สำคัญกว่านั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การกวาดล้างเช่นนี้ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องตกเป็นเหยื่อของการแสวงประโยชน์อย่างกว้างขวางและรุนแรง เนื่องจากต้องถูกบังคับให้กลับไปเป็นแรงงานใต้ดิน ซึ่งเอื้อต่อการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งจะ เป็นการทำลายความมั่นคงของประเทศในระยะยาว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net