Skip to main content
sharethis

"คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า" เผยแพร่ถ้อยแถลงเนื่องในวันเกิดปีที่ 65 ของนางออง ซาน ซูจี ชี้การแสดงความเห็นทางการเมืองของผู้หญิงพม่ายังถูกปิดกั้น มีการลิดรอนสิทธิของคนในประเทศ และขอรำลึกถึงผู้หญิงที่ต้องสูญเสียชีวิตจากการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลเผด็จการตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพม่า ออกถ้อยแถลงในโอกาสครบรอบวันเกิด 65 ปีของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในพม่า ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งปัจจุบันถูกรัฐบาลทหารพม่ากักบริเวณ โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

 

000

คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)
Thai Action Committe for Democracy in Burma (TACDB)

ถ้อยแถลงเนื่องในโอกาส
ครบรอบวันเกิดครบรอบ 65 ปี ของนางออง ซาน ซูจี
17 มิถุนายน 2553

วันที่ 19 มิถุนายน 2553 นี้จะเป็นวันที่นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านพม่าหรือ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จะมีอายุครบรอบ 65 ปี ในขณะที่เธอยังถูกคุมขังอยู่ภายในบ้านพักบริเวณทะเลสาปอินยา กรุงร่างกุ้ง เป็นเวลากว่า 14 ปีจากช่วง 20 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2532

กิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ที่เธอเข้ามามีส่วนร่วมตลอดชีวิตที่ผ่านมามี่ส่วนสำคัญที่ทำให้เธอต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะการถูกจองจำ เธอถูกตัดสินจำคุกครั้งแรกเป็นเวลา 6 ปี ระหว่างปี 2532 ถึงปี 2538 ในช่วงเวลาที่เธอก่อตั้งพรรค NLD และเดินทางไปปราศรัยในประเทศพม่าเพื่อกระตุ้นให้มหาชนลุกขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองหลังจากเกิดการเดินขบวนประท้วงโดยประชาชนครั้งใหญ่ในเหตุการณ์วันที่ 8 สิงหาคม 1988 (หรือที่ประชาคมโลกเรียกว่า เหตุการณ์ 8-8-88) ภายหลังเผด็จการทหารได้แก้ไขกฎหมายให้ขยายเวลาการควบคุมตัวเธอโดยไม่ต้องมีการไต่สวนในระหว่างเวลานั้น

ครั้งที่สองเมื่อเธอเดินทางไปพบตัวแทนพรรคและสมาชิกพรรค NLD และเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกเมืองร่างกุ้งท้าทายอำนาจรัฐ เธอถูกจำกัดบริเวณเป็นเวลา 19 เดือนระหว่างปี 2543-2545

เหตุการณ์สุดท้ายที่ทำให้เธอถูกจองจำจนถึงบัดนี้ คือตอนปี 2546 ที่ขบวนรถและผู้สนับสนุนของเธอถูกรุมทำร้ายโดยกลุ่มมวลชนจัดตั้งของรัฐบาลทหาร การจับกุมคุมขังครั้งนี้ รัฐบาลเผด็จการอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของตัวเธอเองที่มีผลต่อความมั่นคงของรัฐจึงต้องถูกกักกันตัวในคุกอินเส่งก่อนถูกส่งไปกักบริเวณภายในบ้านพักของเธอเอง ที่แย่ไปกว่านั้นคือสองสัปดาห์ก่อนครบกำหนดการปล่อยตัวในเดือน พฤษภาคม 2552 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าอ้างเหตุการณ์ที่มีชาวอเมริกันลักลอบว่ายน้ำข้ามทะเลสาปมายังที่พักของเธอ โดยศาลพิจารณาลงโทษให้มีการกักกันนางอองซาน ซูจี ต่ออีกเป็นเวลา 18 เดือน

ตลอดเวลาที่เธอถูกคุมขังแม้ซูจีจะไม่สามารถออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ ได้ แต่พวกเรามักได้ยินถ้อยแถลงของเธอผ่านทางสื่อต่างๆ ที่มักกระตุ้นให้คนภายนอกประเทศสนใจและพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่า

“ดิฉันมิได้เป็นนักโทษการเมืองสตรีเพียงคนเดียวในประเทศพม่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังคงมีสตรี จำนวนมาก ที่ถูกจำขัง เนื่องจากความเชื่อทางการเมืองของพวกเธอ สตรีบางท่านมีลูกเล็ก ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของพ่อ ผู้ซึ่งมัวแต่ห่วงกังวล กับภรรยาของตัวเอง และไม่คุ้นเคย กับการทำงานบ้านเอาเสียเลย เด็กส่วนมากยกเว้นผู้ที่ยังไม่โตพอจะรู้ความ มักจะเป็นทุกข์ กับความกดดันในระดับต่างๆ กัน”

คำพูดนี้น่าจะสะท้อนเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองพม่าในปัจจุบันได้ดีที่สุด โดยถอดมาจากตอนที่ซูจีให้สัมภาษณ์ Michele Manceaux นิตยสาร Marie Claire-Singapore Edition เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2539

ซึ่งนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงภาพของการต่อสู้ทางการเมืองของนางอองซาน ซูจี เพื่อประชาธิปไตยภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ยังแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ทางการเมืองของผู้หญิงพม่า ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมืองของพวกเธอยังคงถูกปิดกั้นในประเทศพม่าอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เผด็จการทหารยึดอำนาจ จวบจนปัจจุบัน

ในขณะที่รัฐบาลทหารมีความตั้งใจที่จะนำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้แผนแม่แบบที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย หรือ Roadmap to Democracy โดยร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ ทำประชามติรัฐธรรมนูญ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 10 เดือน 10 ปี 2010 (10 ตุลาคม 2553) แต่ในอีกด้านหนึ่ง เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของประชาธิปไตยกลับถูกลิดรอนไป ปัจจุบันองค์กรช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองในพม่า หรือ AAPPB ระบุว่าในประเทศพม่ามีนักโทษทางการเมือง จำนวน 2157 คน โดยในจำนวนนั้นเป็นผู้หญิงกว่า 177 คน [1] หนึ่งในนั้น คือ อองซาน ซู จี ซึ่งพวกเธอต่างถูกจับกุมเพราะความเห็นต่างทางการเมือง

นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญพม่ายังเต็มไปด้วยช่องโหว่ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเท่าเทียมกันของหญิง-ชาย ตัดสิทธิผู้หญิงจากการเข้ารับตำแหน่งสำคัญๆ โดยจัดสรรเพียงบางตำแหน่งไว้สำหรับผู้หญิงที่มีประสบการณ์ด้านทหารเท่านั้น และสำหรับบางตำแหน่งก็มีการระบุคุณสมบัติว่า “เหมาะกับผู้ชายเท่านั้น” [2] รัฐธรรมนูญยังมีประสิทธิภาพในการขัดขวางไม่ให้นางออง ซาน ซูจี เป็นประธานาธิบดี

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ในฐานะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพม่า มีความเป็นห่วงในสถานการณ์ทางการเมืองพม่าที่นอกจากจะไม่ก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มาจากประชาชนโดยแท้จริงแล้ว ยังมีการลิดรอนสิทธิของคนในประเทศพม่าอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสิทธิของผู้หญิงซึ่งขัดแย้งชัดเจนกับ หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบที่รัฐบาลทหารพม่าลงนามให้สัตยาบันและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม วันครบรอบวันเกิดของนางออง ซาน  ซูจี ในปีนี้ เราขอรำลึกถึงผู้หญิงที่ต้องสูญเสียชีวิตจากการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาลเผด็จการตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมาและขอยืนเคียงข้างผู้หญิงชาวพม่าทุกคนที่ยังคงต่อสู้เพื่อให้ได้มาเพื่อสิทธิเสรีภาพของตน

คณะกรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)

 

หมายเหตุโดย กรพ.

[1] http://www.aappb.org/female.html
[2] อ้างอิงจากรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ฉบับปี พ.ศ. 2551 หมวดที่ 7 ว่าด้วยเรื่องการป้องกันประเทศ ในมาตรา 352 ที่กล่าวว่า สหภาพมีสิทธิ์ในการแต่งตั้งหรือมอบหมายหน้าที่ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนคนใดในพม่าที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ เพศ หรือ ศาสนา อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดในมาตรานี้ที่จะป้องกันการแต่งตั้งผู้ชายในตำแหน่งที่ “เหมาะสมกับผู้ชายเท่านั้น”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net