Skip to main content
sharethis

เสวนาขบวนการประชาธิปไตย 24 มิถุนาฯ ที่รัฐศาสตร์ฯ ม.เชียงใหม่ “คณิน บุญสุวรรณ” ถล่มนักวิชาการ นักกฎหมาย ระบบศาลเอื้อให้เกิดรัฐประหารบ่อย “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” ชวนย้อนพินิจ 2475 เพื่อดูสถานการณ์ปัจจุบัน “ประจักษ์ ก้องกีรติ” อธิบายความพ่ายแพ้ของคณะราษฎร เปิดประเด็น “ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้ง” ทำลายระบบเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 53 ที่คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มีการเสวนาหัวข้อ “ชักตื้น.. ติดกึก.. ชักลึก.. ติดกัก..: ขบวนประชาธิปไตย 24 มิถุนาฯ" จัดโดย สำนักวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยวิทยากรร่วมการเสวนาได้แก่ ดร.คณิน บุญสุวรรณ นักวิชาการอิสระ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ดร.จันทนา สุทธิจารี คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสนตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ และ อาจารย์ภูมิอินทร์ สิงหชวาลา สำนักกระจายอำนาจและปกครองตนเอง เป็นผู้ดำเนินรายการ นอกจากนี้ในงานมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาด้วย

 บรรยากาศเสวนา

นิทรรศการภายนอก

 

คณิณจวก 78 ปี 2475 ประชาธิปไตยไม่ไปไหน เหตุรัฐประหารบ่อยครั้ง

คณิน บุญสุวรรณ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ผ่านมา 78 ปีของการเมืองไทยสัมพันธ์ต่อมิติการเมือง ดังนี้

ข้อที่ 1. จะต้องเป็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ซึ่งน่าสรุปได้ว่า ถ้าเราพิจารณา “อำนาจ” ว่าควรเป็นของราษฎรที่แท้จริง จะต้องเท่าเทียมกัน และสิทธิคุ้มครองก็ต้องไม่เลือกปฏิบัติ เมื่อเริ่มต้นด้วยศัพท์ทางการ ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอย่างแท้จริงหรือเปล่า ซึ่งเป็นแค่แบรนด์เนม และศัพท์ไม่ทางการเท่านั้น

แต่ว่าสิ่งที่ตรงตามสภาพความเป็นจริง คือ ระบอบอำนาจอันแท้จริง ศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่กองทัพเป็นหลัก และอำนาจอยู่ที่ระบบราชการเป็นกองหนุนหรืออำมาตย์ ก็สัมพันธ์อยู่ที่ศาลปกครองรองรับอำนาจนั้น ทำให้ในบางครั้งดูเหมือนประเทศเราเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว

คณิน กล่าวต่อว่า ในข้อที่ 2. อำนาจต้องเป็นของราษฎรอย่างแท้จริงจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะอยู่ก็เพียงธรรมนูญชั่วคราวและพระราชบัญญัติก็ใช้ไม่กี่เดือน หลังจากนั้นก็เปลี่ยนแปลงไป และอำนาจเป็นของราษฎร รวมทั้งคณะราษฎร ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะความขัดแย้งทางการเมืองของไทย จนกระทั่งนายปรีดี พนมยงค์ ในส่วนหนึ่งของคณะราษฎร ก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย และคณะปฏิวัติทำการยึดอำนาจ

โดยสมัยปัจจุบัน หลังรัฐประหารก็เป็นกลุ่ม คมช. ต่อมาจากนั้นไม่ยอมรับอำนาจของการเลือกตั้งโดยราษฎร ก็เห็นได้ชัดว่า กองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง และศาล เข้ามาเป็นผู้ตัดสินความขัดแย้งทางการเมือง และเกือบจะเรียกได้ว่าที่เดียวในโลก ใช้ศาลล้มนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผลจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยสรุปข้อที่ 2 ไม่มีวิธีใดที่จะทำให้อำนาจเป็นของราษฎรอย่างแท้จริง นอกจากการเลือกตั้ง โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ส่วนข้อที่ 3. หลักนิติรัฐ ต้องมีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยอย่างชัดเจนและต้องเป็นอิสระและถ่วงดุลกันได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าอำนาจของฝ่ายตุลาการเป็นอำนาจหนึ่ง และยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดปรากฏการณ์อำนาจขององค์กรอิสระ ก็ร่วมกันมีกระบวนการที่จะจัดการอำนาจ ดัดแปลง แก้ไข มติของประชาชน จนเป็นการล้มล้างมติเดิม

คณิน อภิปรายต่อไปว่า หลักนิติรัฐ คือ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน และตราบใดที่ยังมีการตัดสิน 2 มาตรฐานก็ย้อนศรสวนทางเจตนารมณ์ประชาธิปไตย โดยข้อที่ 4 เราต้องมีหลักมาตรฐานประชาธิปไตย ที่ผ่านมาไทยมีรัฐธรรมนูญตั้ง 18 ฉบับ ถ้ารัฐธรรมนูญมีมาตรฐานสากล ในจำนวนรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ มี 15 ฉบับเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐประหารทั้งนั้น แต่ว่าเรามีรัฐธรรมนูญอีกสามฉบับ ไม่ได้เป็นผลจากรัฐธรรมนูญของรัฐประหาร คือรัฐธรรมนูญปี 2487 ปี 2517 และปี 2540 ซึ่งเราไม่สามารถคุ้มครองรัฐธรรมนูญได้

และข้อที่ 5 ไม่ว่าใครก็ได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ แต่ว่าเราก็โดนผลกระทบของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งภายใต้ พ.ร.ก. ทำให้บรรดาสิทธิเสรีภาพ ถูกล้มล้างไปโดยสิ้นเชิง

คณิณกล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อสุดท้าย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 78 ปี ไม่ได้ไปไหนเลย จำเป็นต้องพูดว่า สาเหตุที่มีการรัฐประหารมีบ่อยครั้ง ทั้งที่การรัฐประหาร ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพมานาน และตัวการก็คือ นักวิชาการ นักกฎหมาย และศาลสถิตยุติธรรมของไทยเอง

 

ศิโรตม์ชวนย้อนพินิจ 2475 เพื่อดูสถานการณ์ปัจจุบัน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ กล่าวถึงงานของนักวิชาการที่อธิบายเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ว่ามีวิธีการอธิบายไม่กี่แบบ ซึ่งแบบหนึ่ง อธิบายว่าเกิดจากการพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การอธิบายแบบที่สอง ก็ตรงกันข้ามคือ ราษฎรต้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบใหม่ ก็ยึดอำนาจ 2475 ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งเวอร์ชันสองแบบ คือ ชิงสุกก่อนห่าม และเวอร์ชัน ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแบบที่สอง

จนกระทั่งเกิดการอธิบายการเมืองแบบที่สาม คือ การพระราชทานรัฐธรรมนูญ คือ ชนชั้นนำนั้นปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงและหาทางอยู่ร่วมกับราษฎรได้ ในที่สุดชนชั้นนำก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงถึงสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ว่า เกิดข้อที่หนึ่ง คือ เกิดคนกลุ่มใหม่ ซึ่งในเหตุการณ์ 24 มิถุนา 14 ตุลา 6 ตุลา 17 พฤษภา ก็เกิดคนกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างเช่น กลุ่มคนในเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ก็คือคนที่อยากเปลี่ยนระบบ เริ่มจากกลุ่มคนที่เป็นคนชั้นกลาง นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาชน ซึ่งนับตั้งแต่ก่อน 24 มิถุนายน 2475 ก็ได้เกิดคนเหล่านี้ขึ้นมาแล้ว

ศิโรตม์ กล่าวต่อว่า แล้วคนสำคัญของการต่อสู้ใหม่และเผยแพร่ความคิดแบบใหม่ อย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง October sonata ก็มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในปี 2475 ภาพยนตร์นี้มีเค้าโครงมาจากวรรณกรรมเรื่อง "สงครามชีวิต" ของ ศรีบูรพา ซึ่งเป็นนักเขียนสำคัญจาก ร.ร.เทพศิรินทร์ ศรีบูรพาทำงานเป็นล่ามและนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งพูดถึงความเท่าเทียมของคน

ในนิยายเรื่องสงครามชีวิต พูดเรื่องความเท่าเทียมของคนว่า คนเราไม่ว่าจะเกิดจากชาติตระกูลไหน คนเราก็เท่าเทียมกัน แต่ว่าการพูดแบบนี้ในช่วง 2475 ซึ่งอยู่ในการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยผู้นำของประเทศขึ้นอยู่กับการสืบทอดจากชาติตระกูล ศักดิ์ศรี ซึ่งคนที่เกิดในชาติตระกูลต่ำ พวกไพร่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น กรณีศรีบูรพา ซึ่งมีการเชิดชูว่า คนเราเท่ากันโดยกำเนิดไม่ว่ามีทรัพย์สินเท่าไหร่ ความคิดว่า คือ คนเราเท่ากัน ไม่ว่าจะมีศักดิ์ศรี หรือชาติตระกูลแบบใดแล้ว ในที่สุดก็เป็นคนเท่ากัน และศรีบูรพาก็เผยแพร่เรื่องราวนี้ในสังคมไทย

ศิโรตม์ กล่าวด้วยว่า สิทธิไม่ได้อยู่กับอำนาจโดยกำเนิด และความคิดแบบใหม่ในระบบการเมืองที่ดีอยู่ได้โดยการช่วงชิงไปสู่สังคมแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งควรเป็นสังคมที่ควรเท่าเทียมกัน และความเชื่อคนเราไม่เท่ากัน ก็นำไปสู่เรื่องสังคมแบบใหม่ ซึ่งนำไปสู่เรื่อง 24 มิถุนา ทำให้ความคิดเรื่องนี้ กระจายไปในหัวของคน และกลุ่มก้อนการเมือง มันเป็นแค่รากฐาน เป็นมวลเป้าหมายการเมืองจากรัฐ คือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ว่า 24 มิถุนายน 2475 เป็นตัวอย่างบทเรียนของสังคม และความสามารถของการปรับตัว โดยฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงกับฝ่ายไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันมีอยู่จำนวนมาก

แล้วในปัจจุบัน ก็มีคณะที่ล้มรัฐธรรมนูญ คือ ฝ่ายไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง กับฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง และความสามารถของการปรับตัวของกรณี 2475 ทำให้เราคิดถึงเรื่องปัจจุบันได้

 

ประจักษ์อธิบายคณะราษฎรแพ้เพราะโครงสร้างทางการเมืองบิดเบี้ยว

ประจักษ์ ก้องกีรติ กล่าวว่า ความพ่ายแพ้ของคณะราษฎรมาจากปัญหาของโครงสร้างทางการเมืองที่บิดเบี้ยว ตราบใดที่ไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างการเมืองที่บิดเบี้ยว ก็ไม่สามารถพาเราออกไปได้ ซึ่งใน 2 ประเด็นใหญ่ที่จะพูดต่อจาก ศิโรตม์ ก็คือ เรื่องความพ่ายแพ้ทางการเมือง และคณะราษฎร ซึ่งเทียบกับคณะปฏิวัติในทั่วโลก แล้วการรัฐประหาร 2490 ก็ทำให้หมดยุคของคณะราษฎร ก็เป็นจุดจบของคณะราษฎร

โดยคณะราษฎรหมดอำนาจ เพราะความพ่ายแพ้ของคณะราษฎรไม่สามารถสถาปนาอำนาจของประชาชนและระบบรัฐสภาที่เข้มแข็ง ก็โยงหลายประเด็นที่อาจารย์คณินก็ได้ชี้ให้เห็น ซึ่งก็โยงให้หลายคนได้รับรู้ถึงจุดเปลี่ยนของทางรัฐสภา

และคณะราษฎรพ่ายแพ้ทางอุดมการณ์ ซึ่งการพ่ายแพ้นี้เกิดก่อนการพ่ายแพ้ทางการเมืองด้วยซ้ำ โดยในแง่อุดมการณ์คณะราษฎรไม่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาอุดมการณ์ทางการเมือง และพ่ายแพ้ในการเขียนประวัติศาสตร์ โดยความทรงจำของเราเขียนเรื่อง 2475 จากนักเขียนคณะราษฎร และในนิทรรศการของนักศึกษาซึ่งมีการจัดไม่มีเอกสารของคณะราษฎร ซึ่งในตอนบ่ายของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีการอ่านประกาศที่ว่า ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่าประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง นี่เป็นเอกสารของคณะราษฎร ซึ่งต้องมีแอบซ่อนอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า เอกสารของคณะราษฎร ก็ไม่ได้ถูกอ้างอิงมาก และที่น่าสนใจมากก็คือ เอกสารที่ถูกอ้างอิงมากกลับเป็นเอกสารในปี 2477 เป็นเอกสารของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยผมเคยเขียนบทความในเรื่องนี้ (คลิกเพื่อดูบทความ) ที่มีข้อความว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่สละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎร โดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”

ซึ่งประจักษ์ กล่าวย้ำว่า วรรคทองดังกล่าว ถ้าไปนับสถิติแทบจะเป็นยอดฮิต และกำหนดความคิดคนรุ่นหลัง เพราะนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 นัยยะของคณะราษฎร ในทางการเมืองถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ โดยไม่มีมิติอะไร และละเลยมิติทางการปฏิวัติ เหลือแค่รัฐประหาร จนคนรุ่นหลัง ก็นำการปฏิวัติ มาเปรียบเทียบกับกรณี 14 ตุลา ที่ผิดฝาผิดตัว เพราะว่า นำข้อความของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มาใช้ต่อสู้กับจอมพลถนอม ที่มาจากคณะรัฐประหารทำการยึดอำนาจโดยทหาร และทำให้เกิดเรื่องว่า 2475 คือ วาทกรรมชิงสุกก่อนห่าม ลดทอนเหลือแค่นี้ ซึ่งในแง่นี้ 2475 ก็กลายเป็นความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ และอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ก็เคยเขียนเรื่อง 2475 ว่า คือ ความจำเป็นของประวัติศาสตร์ ทั้งไม่มีประสิทธิภาพ ไม่รับฟังเสียงของประชาชน และมันเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยทั้งโลกเหลือไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันน่าเสียดาย เพราะว่า 2475 มันถูกยึดกุมโดยฝ่ายชนชั้นนำ อนุรักษ์นิยม แล้วพ่ายแพ้ทางอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์

ประจักษ์ อภิปรายถึงความพ่ายแพ้ทางอุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงกับโครงสร้างการเมืองที่บิดเบี้ยว และมีที่มาจากปมปัญหาใหญ่ที่สุดที่เราเผชิญอยู่ คือ ปมปัญหาทางการเมือง มากกว่าปมเศรษฐกิจสังคมเป็นบริบทแวดล้อมไม่ใช่สาเหตุโดยตรง

และปมปัญหาทางการเมืองที่ว่า คือ โครงสร้างการเมืองไทยอยู่ในสภาพบิดเบี้ยว และสภาพบิดเบี้ยว ที่ศูนย์อำนาจหนึ่งอยู่กับการเลือกตั้ง อีกศูนย์อำนาจอยู่นอกการเลือกตั้ง และไม่สามารถสร้างการยอมรับผิดได้ เพราะว่า ปัญหาของระบอบเผด็จการคือการไม่ยอมรับผิด

และตัวอย่างของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มีผลจากศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้ง เช่น การไม่สามารถตั้ง ผบ.ตร.ได้ โดยกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และวาทกรรมซื้อเสียง ขายสิทธิ และผู้เลือกตั้งชนบท โง่ จน เจ็บ ถูกถักทอ และเผยแพร่อย่างต่อเนื่องทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้ง และการปกครองบ้านเมืองโดยคนดี มีศีลธรรม ก็คนดีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้

ทั้งนี้ ประจักษ์ กล่าวตอนท้ายว่า ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งได้โจมตีการเลือกตั้ง ว่ามีปัญหาที่มาจากการคอรัปชั่นของนักการเมือง แล้วศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งได้ปัญญาชน สื่อมวลชน และเอ็นจีโอ จำนวนหนึ่งเป็นพันธมิตรไม่ไว้ใจอำนาจเลือกตั้ง และพรรคการเมืองไม่สามารถควบคุมกลไกรัฐด้วยความมั่นคงได้ ตราบใดที่ไม่สามารถทำให้ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้งยอมรับโครงสร้างการเมืองแล้วโครงสร้างการเมืองก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

 

จันทนาชี้การเมืองไทยมีไอ้โม่ง การเปลี่ยนแปลงมีการสะสมของรอยแผล

จันทนา สุทธิจารี กล่าวว่า ศูนย์อำนาจนอกการเลือกตั้ง ที่ซับซ้อนในการเมืองไทย คือ ไอ้โม่ง หรือ อำนาจที่มองไม่เห็น ซึ่งปรากฏการณ์ทำให้เกิดมือที่มองไม่เห็นอีกประเด็น คือ ความพยายามเปลี่ยนศูนย์อำนาจ โดยการสถาปนาทางการเมืองที่มาจากอำนาจนอกการเลือกตั้ง ซึ่งปฏิบัติการนอกการเลือกตั้ง และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็ปฏิเสธไม่ได้เมื่อเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่ไม่ขาดสายก็คือ วัฒนธรรมของผู้ปกครอง แปลว่าบนวิวัฒนาการของประชาธิปไตยไทยก็มีรอยบาดแผลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่หลายประการและที่ดูเหมือนราบรื่น นับตั้งแต่จาก 19 กันยายน 2549 ก็แปลว่า มันมีการสะสมของรอยบาลแผล

โดยจันทนายกตัวอย่างว่า สมมติตัวเองที่มีอายุ 50 ปี ไม่ได้มาพรวดๆ เป็นอยู่ขึ้นมาได้ โดยไม่อาจละเลย จากมุมมองของความสืบเนื่องของรอยต่อของประวัติศาสตร์ เหมือนกับในปัจจุบันซึ่งชนชั้นนำบางคนที่อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ก็ดำรงอยู่ในทุกวันนี้ เช่น ผู้นำก็อยู่บนพื้นที่ และ position การปะทะกันของวาทกรรมอำมาตย์ และไพร่ ของชนชั้นนำใหม่ ซึ่งประชาธิปไตยที่มีอยู่ต้องมีการชี้นำและอารักขาจากใครก็ไม่รู้ ซึ่งภาวะของจำนนอำนาจ ถูกปกครอง และชนชั้นนำ เป็นปรากฏการณ์ของเหตุการณ์ 19 กันยา

ทั้งนี้ ดร.จันทนา กล่าวต่อว่า ปัญหาของการเมืองเชิงพื้นที่ ตั้งแต่การอธิบายว่าเมืองกับชนบทคือปัญหาทางพื้นที่การเมือง วาทกรรมปรองดอง ปฏิรูปประเทศไทยที่ทำลายบรรยากาศประชาธิปไตย หรือเปล่า

และปรากฏการณ์นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาจนเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม จนถึงปัญหาสถาบันตัวแทน กลไกของรัฐเป็นตัวหลัก ที่ดูแลสื่อ พรรคร่วมรัฐบาล แล้วสังคมตั้งคำถาม ก็ต้องดูกัน ในเรื่องความซับซ้อนไปสู่ความแตกต่างให้กลับมาหาการเมืองปกติ รวมทั้งพื้นที่การเมืองภาคประชาชน

เพราะฉะนั้น สังคมไทยจะเรียนรู้แบบสะสมอย่างดิฉันที่อายุ 50 ปี ส่วน 24 มิถุนายน เป็นการสรุปบทเรียนที่น่าสนใจ คือ ภาวะความเป็นอื่นของมิติของบาดแผลที่สะสมมาตลอด จึงต้องหาทางออกจากความเป็นอื่น จันทนา กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net