นักวิชาการชี้ HIA ช่วยหนุนวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่ตัวฉุดการพัฒนา

สัมมนาวิชาการ “การกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Public Scoping) : ปัญหาหรือความท้าทายของสังคมไทย” HIA ไม่ใช่ฉุดการพัฒนา แต่เป็นกระบวนการที่ร่วมกันพัฒนาให้โครงการหรือกิจกรรมนั้นๆ ส่งผลดีต่อสุขภาวะ กระตุ้นทำให้เกิดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม

วานนี้ (24 มิถุนายน 2553) ศูนย์ประสานงานพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA-Co Unit) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการสัมมนาวิชาการ “การกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Public Scoping) : ปัญหาหรือความท้าทายของสังคมไทย” เปิดการสัมมนาโดย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไก 

จากนั้นมีการเสวนาเรื่อง บทเรียนของสังคมไทยในการทำ Public Scoping โดยผู้ที่มีประสบการณ์และเกี่ยวข้อง ได้แก่ รศ.ดร.สุเทพ ศิลปานันทกุล ศูนย์วิจัยและปฏิบัติการอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายเสขสิริ ปิยะเวช ผู้จัดการฝ่ายคุณภาพความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด มหาชน นางสุชญา อัมราลิขิต ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางสิริวรรณ จันทนจุลกะ ผอ.กองประเมินผลกระทบทางสุขภาพ กรมอนามัย อ.ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไก HIA สช. นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก 

อ.ดร.เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวว่า หลังจากที่ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้บัญญัติให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ในประเทศไทย โดยมุ่งให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม ในการตัดสินใจทางนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพที่ดีต่อสุขภาวะของทุกคน ประกอบกับเรื่อง HIA ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา 67 เพื่อปกป้อง คุ้มครอง สุขภาพของประชาชนจากผลกระทบทางลบที่อาจเกิดจากโครงการและกิจกรรมต่างๆ

ที่ผ่านมามีหน่วยงาน องค์กร นักวิชาการ และภาคประชาชน ได้มีประสบการณ์ในการเข้าร่วมการทำ HIA มาบ้างแล้ว ดังนั้นเวทีวันนี้จึงจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเน้นในขั้นตอน “การกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบ (Public Scoping)” เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความเห็นว่าจะให้ศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมในทุกๆ ประเด็นที่มีความกังวลและห่วงใยว่าอาจจะเกิดผลกระทบขึ้นได้หากมีโครงการหรือกิจกรรมใดๆ เข้ามาดำเนินการ 

แต่ที่ผ่านมาอาจจะยังมี องค์ความรู้ในเรื่องนี้ยังไม่เพียงพอนักในสังคมไทยที่เพิ่งเริ่มมีการทำ HIA ดังนั้นคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไก HIA ซึ่งมีนายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ทางศูนย์ประสานงานพัฒนาระบบและกลไก HIA จัดการสัมมนาวิชาการนี้ขึ้นมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำ Public Scoping จากทั้งบริษัทที่ปรึกษา ผู้ประกอบการ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งนักวิชาการด้วย เพื่อช่วยกันสร้างองค์ความรู้ด้านนี้ให้มากขึ้น และเหมาะกับบริบทของสังคมไทย 

ในส่วนของ ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รายงานข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยศึกษาจากบทเรียนทั้งของไทยและต่างประเทศ การเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการทำ Public Scoping ในพื้นที่ต่างๆ พบว่า เจตนารมณ์ของการทำ Public Scoping เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงถึงความห่วงใยที่มีต่อโครงการที่เกิดขึ้น โดยช่วยกันมองอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด รวมทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการดำเนินโครงการที่ต้องให้เวลากับการทำ Public Scoping คำนึงถึงผู้คนหลากหลายกลุ่ม ทั้งผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ บุคลากรสาธารณสุข ประชาชนในพื้นที่ และที่สำคัญการทำเวที Public Scoping เพียงครั้งเดียวอาจไม่เพียงพอ 

หลายๆ โครงการในต่างประเทศจะทำจนมั่นใจว่าไม่มีประเด็นใหม่แล้ว โดยจัดกระบวนการรับฟังความเห็นหลายครั้งและทั่วถึง จึงจะลงมือศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ นอกจากนี้เจ้าของโครงการไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน จะทำงานร่วมกับชุมชนตั้งแต่เริ่มคิดโครงการ จนกระทั่งโครงการสร้างเสร็จแล้วและร่วมกันตรวจสอบผลกระทบ (Monitor) หลังจากนั้นอีก บางโครงการวางแผนการทำงานร่วมกับชุมชนยาวถึง 40 ปี ดังนั้นจะเห็นได้ว่า HIA ไม่ใช่ฉุดการพัฒนา แต่เป็นกระบวนการที่ร่วมกันพัฒนาให้โครงการหรือกิจกรรมนั้นๆ ส่งผลดีต่อสุขภาวะ

“ผมมองว่าการทำ HIA เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากจะช่วยกันดูผลกระทบอย่างรอบด้านแล้ว กระบวนการนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนรู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมประชาธิปไตยของสังคมไทยให้ดีขึ้น เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเกิดปัญญาภาคพลเมืองขึ้น” ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าว 

นายสุทธิ อัชฌาศัย นำเสนอให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ และกล่าวถึงกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ที่ผ่านมาว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ร่วมกันในการทำ HIA ของ คือ ประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง HIA อย่างถูกต้อง การให้ข้อมูลของผู้ประกอบการต่อชุมชนไม่ละเอียดและไม่ครบถ้วน การประชาสัมพันธ์โครงการไม่ทั่วถึงและประชาชนชนไม่สามารถเข้าถึงได้ การทำ HIA แต่ละครั้งยังเป็นกลุ่มเป้าหมายเดิม เวลาในการแสดงความเห็นในเวทียังน้อย ไม่มีการบันทึกข้อสงสัยที่ประชาชนสะท้อนไว้เป็นลายลักษณ์ ทั้งยังไม่สรุปผลการจัด Public Scoping และเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ การจัดทำ HIA ของผู้ประกอบการและบริษัทที่ปรึกษาทำแบบเร่งรีบ หรือเพียงเพื่อต้องการให้โครงการสามารถดำเนินการได้เท่านั้น และตัดพ้อว่า อยากได้ HIA เพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อโรงงาน” 

ด้าน นายเสขสิริ ปิยะเวช เปิดเผยว่า การทำ HIA ที่ผ่านมาก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ประกอบการกับชุมชน จากอุปสรรคที่เป็นปัญหานำมาสู่โอกาสในการศึกษาร่วมกัน โดยลดช่องว่างระหว่างผู้ประกอบการกับชุมชน ทำงานบนความท้าทายด้านสุขภาพทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิต สังคม ปัญญา และคาดว่าจะเกิดระบบฐานข้อมูลสุขภาพและระบบการเฝ้าระวังเชิงพื้นที่ที่ดีที่สุดต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท