"ถาวร" เล็งเพิกถอนสิทธิที่รกร้าง 766 ไร่ ในลำพูน เข้านำร่อง "โครงการธนาคารที่ดิน" "กรณ์" ชี้ใช้ "ภาษีที่ดิน" หนุน

"ถาวร" ตีปี๊บเล็งเพิกถอนสิทธิที่รกร้าง 766 ไร่ ใน จ.ลำพูนของ "อดีตรมต." ส่อออกเอกสารไม่ชอบกม. เผยเจ้าตัวดิ้นติดต่อขอความเป็นธรรม อ้างนำร่องโครงการธนาคารที่ดินเป็นองค์กรมหาชนนายกฯ ดูแล "มาร์ค"เดินหน้าแก้ 4 ปมที่ทำกิน "กรณ์" เผยใช้ภาษีที่ดินสนับสนุน เร่งดันกม.ภาษีที่ดินฯ-2ปีได้ใช้

"มาร์ค"เดินหน้าแก้ 4 ปมที่ทำกิน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานเสวนาเรื่องการจัดการที่ดินเพื่อการทำกิน : ปัญหาและทางออก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนว่า ปัญหาการแก้ไขที่ดินทำกินเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลแก้ไข และป้องกันไม่ให้ปัญหาขยายวงกว้างออกไป ซึ่งปัญหาการถือครองที่ดินในประเทศถือว่ามีความเลื่อมล้ำ ทำให้ใช้ที่ดินไม่สมประโยชน์หรือขาดประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลมีหลักคิดการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน 4 ด้าน ดังนี้ 1.โฉนดชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน ให้ประชาชนตรวจสอบกันเองว่าแต่ละคนอยู่ในสถานะใด ควรจะมีสิทธิมากน้อยเพียงใด เพื่อป้องกันไม่ให้เอกสารสิทธิเปลี่ยนมือ ซึ่งขณะนี้ระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีพื้นที่นำร่องประมาณ 30 พื้นที่ ซึ่งดำเนินการได้ภายใน 2 – 3 เดือนข้างหน้า 

"2.ระบบภาษีทรัพย์และที่ดิน 3.ธนาคารที่ดิน ซึ่งจะกันรายได้จากภาษีที่ดินมาเป็นกองทุน โดยนายถาวร เสนเนียม รับหน้าที่ทำพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กรมหาชน 4.โครงการสำรวจที่ดิน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังไป 50 ปี เพื่อสำรวจพื้นที่ให้ได้ข้อสรุปว่าที่สาธารณะอยู่ตรงไหน โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี"นายกฯกล่าว 

 

"ถาวร"เล็งถอนสิทธิที่อดีต รมต.

ขณะที่ นายถาวร เสนเนียม กล่าวในงานเดียวกันว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบรายละเอียด เกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิถือครองที่ดิน จำนวน 766 ไร่ ที่ถูกปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่า ในจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นของอดีตรัฐมนตรีรายหนึ่งในกลุ่มการเมืองเก่า หลังจากพบว่า การออกเอกสารดังกล่าว ที่ส่อว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อนำที่ดินส่วนนี้มาให้เกษตรกร เช่า หรือ เช่าซื้อ ในราคาถูก เพื่อนำร่องโครงการธนาคารที่ดิน ตามนโยบายของรัฐบาล นอกจากที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 889 ไร่ ที่จะเข้าไปติดต่อขอซื้อจากเอกชนรายหนึ่ง ที่ถูกปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่า เพื่อนำมาใช้ในโครงการนำร่องเช่นกัน

“คงบอกไม่ได้ว่า ที่ดินในจังหวัดลำพูน เป็นของอดีตรัฐมนตรีคนไหน แต่ขณะนี้เจ้าตัวเขารู้เรื่องแล้ว และที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะเข้ามาติดต่อขอพบผม เพื่อขอความเป็นธรรมเรื่องนี้”นายถาวรกล่าว

 

อ้างมาร์คเร่งนำร่องธนาคารที่ดิน

นายถาวรกล่าวว่า การดำเนินงานโครงการธนาคารที่ดินนำร่องดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่นายกฯ ต้องการเร่งรัดให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว หากจะรอให้ดำเนินงานเต็มรูปแบบ คาดว่าจะต้องใช้เวลาหลายปี ไม่ทันอายุรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้น การจัดตั้งธนาคารที่ดิน เบื้องต้นจะเป็นรูปแบบองค์การมหาชน จะใช้วิธีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ใช้อำนาจตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.องค์การมหาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตรวจสอบ เมื่อเสร็จแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้ธนาคารที่ดินเดินหน้าต่อไปได้ทันที ก่อนจะมีการออก พ.ร.บ.จัดตั้งอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และถ่ายโอนงานทั้งหมดภายในระยะเวลา 5 ปี

“ราคาที่ดินในจังหวัดลำพูน และเชียงใหม่ อยู่ที่แห่งละ 100 ล้านบาท รวมแล้วประมาณ 200 กว่าล้านบาท แต่ในส่วนของลำพูน หากตรวจสอบพบว่า มีการออกเอกสารที่ไม่ชอบจริง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณ แต่ในส่วนที่ดินที่เชียงใหม่ คงจะมีการทำเรื่องขอสนับสนุนงบกลางมาดำเนินการจัดซื้อให้เรียบร้อยก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2553”นายถาวรกล่าว

 

ตั้งธนาคารที่ดินเป็นองค์กรมหาชนนายกฯ ดูแล 

นายถาวรกล่าวว่า ธนาคารที่ดิน ในรูปแบบองค์การมหาชน จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาดูแล ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (สบธ.) และมีผู้อำนวยการสถาบัน ซึ่งองค์กรแห่งนี้ ทำหน้าที่ในการจัดหาและจัดซื้อที่ดินที่ถูกปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่า ทั้งในส่วนของเอกชน และหน่วยงานราชการ มาให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในราคาถูก 

นายถาวรกล่าวว่า ในส่วนที่ดินเอกชน กำหนดให้เกษตรกร เช่า หรือ ซื้อ หรือเช่าซื้อ ส่วนที่ดินของหน่วยงานราชการ กำหนดให้เช่าเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดอัตราค่าเช่า และซื้ออีกครั้ง ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินงาน จะนำมาจากการหักรายได้ 2% ที่รัฐบาลจัดเก็บมาได้จากการถือครองที่ดิน ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของผู้ที่ถือครองที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้

 

"กรณ์"เผยใช้ภาษีที่ดินสนับสนุน

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า สนับสนุนแนวคิดที่จะให้มีการหักรายได้ 2%ที่รัฐบาลจัดเก็บมาได้ จากการดำเนินงานตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือประมาณปีละ 500 ล้านบาท มาสนับสนุนธนาคารที่ดิน ที่จะเข้าไปรับซื้อหรือบริหารจัดการที่ดินต่อไปจากประชาชนที่ไม่ต้องการเป็นเจ้าของที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกต่อไป ธนาคารที่ดินจะเป็นกลไกสำคัญรองรับกรณีที่เจ้าของที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วนำมาขายให้กับธนาคารที่ดิน เพราะพิจารณาแล้วไม่คุ้มค่า หากจะเก็บที่ดินไว้โดยไม่ทำประโยชน์แล้วถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่แพง

ส่วนความคืบหน้าการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น นายกรณ์กล่าวว่ากระทรวงการคลังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้เร่งพิจารณารายละเอียดให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด หรืออย่างน้อยต้องส่งกลับมาให้ ครม.ในรัฐบาลชุดนี้ได้พิจารณาบรรจุเป็นวาระแรกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

เร่งดันกม.ภาษีที่ดินฯ-2ปีได้ใช้

“ยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้จะเดินหน้าจัดทำเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เกิดขึ้นจริงแน่นอน แม้ในช่วงการศึกษาข้อมูล ได้รับการยืนยันจากข้าราชการว่า รัฐบาลไหนที่ทำเรื่องนี้ มักจะอยู่ไม่ได้ แต่เมื่อนายกฯ สั่งผมไม่มีทางเลือก ต้องเดินหน้าผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าไม่เกิน 2 ปี กฎหมายนี้จะบังคับใช้ได้อย่างแน่นอน”นายกรณ์กล่าวและว่าหากมีผลบังคับใช้แล้ว จะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำถือครองที่ดินของคนในสังคม เพราะที่ดินส่วนใหญ่ในขณะนี้ ไปกระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม และไม่ได้มีการใช้ทำประโยชน์อะไร ท้องถิ่นจะจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น

 

ยอมรับไม่อายทำเพื่อหาเสียง

"ยอมรับว่าผมมีที่ดินในต่างจังหวัด ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ทำประโยชน์เหมือนกัน แต่หลังจากเข้ามาดูแลเรื่องการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ แล้ว เริ่มคิดจะทำประโยชน์มากขึ้น เพราะกฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ที่ดินจะต้องถูกใช้ประโยชน์ ปล่อยทิ้งรกร้างไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกเก็บภาษีสูงมาก ถ้าทำประโยชน์เรื่องการเกษตรบางชนิด อาจไม่ต้องเสียภาษี หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ คนที่ครอบครองที่ดินไว้จำนวนมาก จะมีทางเลือกเพียงสองอย่างเท่านั้น คือ หันกลับมาใช้ประโยชน์ที่ดินของตนเอง จะทำเองหรือเช่าก็ได้ ส่วนอีกทางหนึ่ง ปล่อยขายไปดีกว่า"นายกรณ์กล่าว 

นายกรณ์กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งจัดทำโครงการต่างๆที่มีประโยชน์ให้ออกมาเป็นรูปธรรมให้ประชาชนได้เห็นมากที่สุด เพราะขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไหร่ งานอะไรที่ทำแล้วได้คะแนนเสียงจากประชาชนกลับมา ก็ต้องรีบทำ ซึ่งตนคิดว่า เราไม่ควรจะเขินหรืออาย หากจะพูดเรื่องแบบนี้กันในเวลานี้ 

ที่มา: มติชนออนไลน์

ทั้งนี้ในส่วนของเครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยก็ได้ทำหนังสือประกอบการประชุม ระบุเนื้อหาดังนี้

 

 

 
สรุปภาพรวมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
 
ตามที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้มีกลไกการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยร่วมกับรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ สามารถประมวลภาพรวมและบทเรียนได้ดังต่อไปนี้
 
1.             ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนราชการภายใต้การกำกับดูแลของนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น
 
·                     การมีคำสั่งตัดฟันทำลายพืชผลการเกษตรชาวบ้านในพื้นที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง โดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
·                     การฟ้องร้องคดีความเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ข้อหาทำให้โลกร้อน กับชาวบ้านในพื้นที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน จังหวัดเพชรบูรณ์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ จังหวัดตาก และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
·                     การฟ้องคดีความขับไล่ ชาวบ้านในพื้นที่สวนป่าคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ โดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้
·                     การสั่งให้เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพย์ฯ ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด ในการจับกุมชาวบ้านในพื้นที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยอธิบดีกรมป่าไม้ ภายใต้การบัญชาการของ รัฐมนตรีสุวิทย์ คุณกิตติ
·                      
2.             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และส่วนราชการภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ยอมรับนโยบายโฉนดชุมชนของรัฐบาลชุดนี้ และไม่ได้อนุญาตให้มีการนำพื้นที่ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มาดำเนินการโฉนดชุมชนแต่อย่างใด ซึ่งจะส่งผลให้นโยบายโฉนดชุมชน ของรัฐบาลชุดนี้ ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้
 
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดกระบวนการปรองดอง และเข้าสู่แนวทางการปฏิรูปประเทศไทยอย่างแท้จริง รัฐบาลจึงควรมีมาตรการที่เด็ดขาด เพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ เนื่องจาก ปัญหาคดีความการฟ้องร้องชาวบ้าน และคำสั่งทำลายพืชผลการผลิตของชาวบ้าน คือ รูปธรรมความขัดแย้งที่สร้างขึ้นจากหน่วยงานภาครัฐ อันส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนกับเกษตรกร และคนจนซึ่งไร้ที่ดินและที่อยู่อาศัยในเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ
 
ประการสุดท้าย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า การเตรียมการในการออกกฎหมายชุมนุมในที่สาธารณะ จะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของภาคประชาชน เนื่องจากการชุมนุมคือช่องทางของภาคประชาชนที่จะแสดงออก และสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดขึ้นจริงของภาคประชาชนต่อรัฐบาลโดยตรง ทั้งนี้เนื่องจากกลไกการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานราชการตามปกติ ไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จึงมีความเห็นว่า รัฐบาลควรทบทวนและยกเลิกการออก พ.ร.บ.ชุมนุมฯดังกล่าว
 
ด้วยความสมานฉันท์และหวังในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยที่แท้จริง
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
24 มิถุนายน 2553
 
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท