Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติเป็นเวลา 1 ปี (2510 ถึง 2511) จากผลการประชุมประจำปีครั้งที่ 15 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2553 โดยท่านสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ทูตถาวรประเทศไทย ประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา จะเป็นตัวแทนประเทศไทย ในการดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติครั้งนี้ แม้วาระการเป็นประธานจะสิ้นสุดในเวลาหนึ่งปี แต่การเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนมีวาระถึง 3 ปี นัยสำคัญต่อประเทศไทยที่ดำรงตำแหน่งประธานครั้งนี้มองว่าเป็นทั้งวิกฤตและโอกาส

โอกาสที่ปีนี้ประธานฯ ต้องเป็นประเทศสมาชิกในเอเชีย และบทบาทของท่านทูตสีหศักดิ์เป็นที่เป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก ประเทศที่เข้าชิงตำแหน่งคือ เคอร์กิสถาน บังคลาเทศ มัลดีฟ และประเทศไทย บังคลาเทศถอนตัวให้ประเทศจากอาเซียน สถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในเคอร์กิสถานไม่เอื้อให้เคอร์กิสสถานจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ ในขณะที่มัลดีฟเป็นประเทศเล็กและยังไม่มีบทบาทโดดเด่นในด้านสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด การที่ไทยได้รับตำแหน่งสำคัญนี้ไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยดีแล้ว เป็นที่ยอมรับแล้ว

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีสิทธิมนุษยชนสมบูรณ์ แม้แต่ประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆ ยังมีประวัติสิทธิมนุษยชนที่ยังต้องถูกตรวจสอบอยู่ การพัฒนาสิทธิมนุษยชนในทุกประเทศยังต้องทำต่อไป ต้องใช้เวลาและความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมที่จะต้องทำงานร่วมกัน พัฒนายกระดับสิทธิมนุษยชน ประคับประคองสิทธิมนุษยชนไปด้วยกัน

โอกาสที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นไปมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ไปกำกับดูแลปัญหาสิทธิมนุษยชนทั่วโลก วิกฤตคือเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเราเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา ที่เราจะต้องก้าวผ่านการพิสูจน์จากประชาคมโลก ที่กำลังจับตาดูว่าประเทศไทยจะพัฒนาสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยไปในทิศทางไหน

ในฐานะประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ มาตรฐานอย่างต่ำๆ ประเทศไทยไม่ควรอยู่ใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ถือเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง สถานการณ์คลี่คลายไปมากแล้วรัฐบาลควรยกเลิกได้แล้ว และในฐานะที่เป็นประธานฯ ควรแสดงสปิริตทางสิทธิมนุษยชนให้มีการเปิดเผย ตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่ยังมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และยังเป็นคำถามอยู่ หากรัฐบาลแน่ใจในขั้นตอนปฏิบัติการ “การยึดพื้นที่” “ การกระชับพื้นที่” ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล ก็ควรเปิดให้ผู้รายงานพิเศษ องค์การสหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบ จัดทำรายงานเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนได้ เพื่อสร้างมาตรฐานในกับสิทธิมนุษยชนในระดับสากลต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net