Skip to main content
sharethis

เป็นทีมที่เหนือความคาดหมายเสมอสำหรับทีมชาติอิตาลี สำหรับในการแข่งขันครั้งนี้ถึงแม้เป็นจะเคยเป็นแชมป์เก่าเมื่อปี 2006 พวกเขากลับไม่ได้ถูกจับตามองว่าเป็นตัวเต็งอย่างสเปนหรืออังกฤษ .. แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าพวกเขาจะทำพลาดถึงกับตกรอบแรก

อิตาลีเป็นชาติแรกที่ได้แชมป์นอกบ้านตนเอง และเป็นชาติแรกที่ได้แชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกัน รวมถึงเป็นชาติที่ขึ้นชื่อกับสไตล์การเล่นแบบ “คาเตนัคโช่” (Catenaccio) หรือตามคำพังเพยของไทยคำว่า “ตีหัวเข้าบ้าน” ที่หลายคนมองว่ามันแสนจะน่าเบื่อเหลือเกิน

Catenaccio มนต์เสน่ห์ที่แสนจะอึดอัด

อะไรที่บ้างที่อาจทำให้เราหัวใจวายได้หากเป็นแฟนฟุตบอลทีมในอิตาลี? คำตอบก็คือการพยายามชนะคู่แข่งลูกเดียวตามแบบฉบับ Catenaccio 

Catenaccio มีความหมายว่าเป็นการลงกลอนประตู มีรูปแบบการจัดวางตัวผู้เล่นในสนามฟุตบอลอย่างรัดกุมที่พัฒนามาจากแผนการเล่นของ Karl Rappan โค้ชของทีมชาติ Switzerland ในช่วงทศวรรษ 1930s -1940s จากนั้นโค้ชของทีมในอิตาลีก็นำมาพัฒนา มีลักษณะพิเศษคือมีตัวกวาด (Sweeper) ห้อยไว้เป็นตัวสุดท้าย ด้วยการจัดผังไลน์ผู้เล่นแบบ 1-4-4-1 หรือ 1-4-3-2 รูปแบบการเล่นของระบบนี้ก็คือการอดทนตั้งรับแล้วใช้วิธีการสวนกลับ บ่อยครั้งเอาชนะทีมคู่ต่อสู้เพียง 1-0 โค้ชที่ใช้ระบบนี้จนโด่งดังก็คือ Helenio Herrera โค้ชชาวอาเจนไตน์ที่พาทีม F.C. Internazionale Milano หรือ อินเตอร์มิลานยิ่งใหญ่ทั้งในระดับประเทศและระดับยุโรปในยุคทศวรรษ 1960s

ส่วนผู้เล่นที่เป็นตำนานของอิตาลีในการเล่นตัวกวาดตัวสุดท้ายก็มีอาทิเช่น Claudio Gentile และ Gaetano Scirea ในยุค 1970s, Giuseppe Bergomi และ Franco Baresi ในยุค 1980s

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเล็กน้อยที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ “ฟุตบอล-การเมือง” เมื่อนักเตะอิตาเลียนเคย “เตะแบบไม่คิดชีวิต” จนได้แชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัยเป็นทีมแรก ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ที่การเมืองแบบเผด็จการฟาสซิสต์กดดันให้พวกเขาต้อง “เตะหนีตาย”

ชนะหรือตาย? ย้อนดูความยิ่งใหญ่และลำเค็ญของทีมชาติอิตาลีในยุคเผด็จการครองเมือง 

 

"Vincere o morire!" (ชนะหรือตาย!) คาถาของ Benito Mussolini ที่ให้กับนักฟุตบอลอิตาลีในยุคฟาสซิสต์ครองเมือง, ในภาพท่านผู้นำกับบันดานักฟุตบอลทีมชาติในยุค 1930’s อันรุ่งเรืองของอิตาลี (ที่มาภาพ: ปกหนังสือ Football and Fascism The National Game under Mussolini)

ในช่วงทศวรรษ 1930’s ภายใต้ระบบการเมืองเผด็จการและกลิ่นโชยของสงครามครั้งใหญ่ เกมส์กีฬาถูกใช้เป็นเครื่องมือ “โฆษณาชวนเชื่อ” ให้กับลัทธิการเมืองฝ่ายขวาจัดของ 2 มหาอำนาจอย่างเยอมันและอิตาลี

เช่นเดียวกับกีฬาโอลิมปิกที่เบอร์ลิน, เยอรมัน ในปี 1932 อิตาลีพยายามทำให้ทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลโลกปี 1934 ที่ตนรับหน้าที่เจ้าภาพ เป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ของลัทธิฟาสซิสต์ที่นำโดย Benito Mussolini ซึ่งมีความมุ่งหวังว่าทีมจะต้องได้แชมป์ในบ้านตัวเองให้ได้สถานเดียว

การเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ Vittorio Pozzoโค้ชของทีมถูกส่งไปยังอังกฤษเพื่อศึกษาเรื่องแท็คติคต่างๆ รวมถึงการนำเข้านักเตะฝีเท้าดีๆ จากนอกประเทศ โดยผู้เล่นฝีเท้าดีเทคนิคแพรวพราว 5 คนของทีมแชมป์ชุดนี้ไม่ใช่อิตาเลี่ยนแท้ๆ Raimundo Orsi, Enrique Guaita, Luis Monti และ Demaria เป็นอาเจนไตน์ ส่วน Guarisi เป็นบราซิเลียน

นัดชิงชนะเลิศในสนามที่กรุงโรม Mussolini นั่งเป็นประธานเยี่ยงซีซาร์ชมการแข่งขันนักสู้กลาดิเอเตอร์ แน่นอนเขาไม่อยากเห็นทีมอิตาลีแพ้ จึงได้กดดันด้วยการส่งจดหมายถึงทีมโดยมีข้อความสั้นๆ ธรรมดาๆ ที่จะแสนตรงไปตรงมาว่า "Vincere o morire!" (ชนะหรือตาย!) รวมถึงโน้ตสั้นๆ ถึงโค้ช Pozzo ว่า “หวังว่าพระเจ้าจะอยู่ข้างคุณ หากคุณไม่ได้เป็นผู้ชนะ”

Ivan Eklind กรรมการชาวสวีดิชผู้ตัดสินในนัดชิงชนะเลิศวันนั้นก็กัดดันไม่น้อยหน้านักเตะทีมชาติอิตาลี เมื่อเขาได้รับเกียรติให้ทานอาหารค่ำกับท่านผู้นำ เขาจึงมีส่วนรักษาชีวิตนักเตะทีมชาติอิตาลี โดยไม่ให้จุดโทษแก่ทีมเชคโกสโลวาเกีย และไม่ให้ใบแดงแก่ผู้เล่นอิตาลี ซึ่งท้ายสุดอิตาลียิงประตูแซงนำเชคโกสโลวาเกียไป 2-1 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ – ทั้งทีมรอดตายและคว้าแชมป์สมใจ Mussolini

จากนั้นอีก 4 ปีฟุตบอลโลก 1938 ที่ฝรั่งเศส ก่อนการระเบิดอย่างเต็มตัวของสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องของการเมืองเริ่มส่งผลกระทบกับการแข่งขัน เมื่อสเปนต้องถอนตัวเพราะสงครามกลางเมือง ออสเตรียถูกยุบทีมหลังกองทัพนาซีบุกและผนวกเอาเข้าไปเป็นของเยอรมัน ทำให้สวีเดนคู่แข่งในรอบแรกชนะผ่านไปไม่ต้องออกแรง

ในนัดชิงชนะเลิศ อิตาลีโคจรมาพบโคตรทีมในขณะนั้นอย่างฮังการี นักเตะอิตาลีเองก็ยังคงโดนคำสั่งท่านผู้นำตามมาหลอกหลอนอีก เมื่อ Mussolini ส่งข้อความ "Vincere o morire!" (ชนะหรือตาย!) ผ่านโทรเลขมาถึงทีมอีกครั้งหนึ่ง

ผลการแข่งขันอิตาลีเป็นที่ชนะไป 4-2 สร้างประวัติศาสตร์เป็นทีมแรกที่ป้องกันแชมป์ได้ หลังจากนั้นโลกก็เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง Mussolini นำอิตาลีเข้ากับฝ่ายฮิตเลอร์และญี่ปุ่น ท้ายสุดพวกเขาแพ้สงคราม ฟุตบอลโลกหายไป 12 ปี โดย Ottorino Barassi รองประธาน FIFA ชาวอิตาเลียน ได้เก็บถ้วยแชมป์โลกไว้ในกล่องรองเท้าซุกไว้ใต้เตียงตลอดช่วงเวลาโหดร้ายของสงครามนั้น

ทีมชาติอิตาลีในยุคนั้นถือว่าเป็นทีมที่ดีที่สุดอย่างไม่มีข้อสงสัย (แชมป์ฟุตบอลโลก 2 ครั้งซ้อน) และวลีที่ว่า “ชนะหรือตาย” ของ Mussolini ก็ถูกตีความว่าเป็นเพียงการปลุกใจจากผู้นำประเทศในระบบการเมืองอันแสนจะเด็ดขาดแบบฉบับฟาสซิสต์

แต่หากมองอีกด้านก็กลับกลายเป็นเรื่องโจ๊กของวงการฟุตบอล เมื่อผู้นำทางการเมืองพยายามสร้างความกดดันเหล่านักเตะของตนเองจนเกินไป การนำกีฬามารับใช้การเมืองจนน่าเกลียด -- Antal Szabó ผู้รักษาประตูของฮังการีนัดชิงกับอิตาลีในปี 1938 ได้กล่าวเชิงสมเพชหลังจบเกมส์ไว้ว่า “ถึงแม้ผมจะเสียไปถึง 4 ประตู แต่อย่างน้อยผมก็ได้ช่วยรักษาชีวิตพวกเขาเอาไว้”

ที่มาข้อมูล:

Greatest World Cup matches: Italy-Czechoslovakia (1934) (footballfanaticos.blogspot.com, 8-9-2009)
http://en.wikipedia.org/wiki/Catenaccio (เข้าดูเมื่อ 25-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/1934_FIFA_World_Cup (เข้าดูเมื่อ 25-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/1938_FIFA_World_Cup (เข้าดูเมื่อ 25-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Antal_Szabo (เข้าดูเมื่อ 25-6-2010)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net