Skip to main content
sharethis

 

 

“ฟุตบอลเป็นเกมง่ายๆ: ผู้เล่น 22 คนวิ่งไล่ลูกบอลกัน 90 นาที, และท้ายที่สุดเยอรมันเป็นฝ่ายชนะ”
Gary Lineker, อดีตกองหน้าทีมชาติอังกฤษ
 
 
“เข้าไม่ได้แต่ไม่เข้ากลับได้” อีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ของเกมลูกหนังที่ทีมชาติอังกฤษและเยอรมันได้เปลี่ยนกันลิ้มรสความ “ขมและหวาน” สลับกันมาแล้ว
ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2006 ที่เยอรมัน เว็บไซต์ myfootballforum.com (ปัจจุบันเข้าหน้าเว็บนี้ได้ที่ http://www.myfootballforum.com/forum.php) ได้ทำแบบสำรวจเล็กๆ ถามแฟนบอลเมืองผู้ดีว่า ทีมฟุตบอลชาติไหนที่เป็นคู่อริที่ทรงเกียรติที่สุดของทีมชาติอังกฤษ ผู้ตอบแบบสอบถามให้เยอรมันเป็นอริอันดับแรก 78% ตามมาด้วย อาร์เจนตินา 16% และฝรั่งเศส 8% (ไม่มีสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์?)
ภาพที่ถูกฉายซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าในวงการฟุตบอลเหตุการณ์หนึ่ง ก็คือประตูปริศนาในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 1966 ของ Geoff Hurst ที่ยิงกระแทกคานลงมาบนเส้นประตู โดยมีผู้กำกับเส้นที่มีชื่อที่สุดอย่าง Tofik Bakhramov ให้เป็นลูกได้ประตู และอังกฤษชนะเยอรมันตะวันตกไป 4-2 ซึ่งเป็นถ้วยแชมป์โลกครั้งแรกครั้งเดียวของอังกฤษ -- เยอรมันผู้พ่ายแพ้ในวันนั้น กลับฟื้นคืนชีพในวงการฟุตบอลกลายเป็นมหาอำนาจลูกหนัง และได้แก้แค้นอังกฤษไปมากมายหลายหน
มาครั้งนี้ในรอบ 16 ทีมของการแข่งขันฟุตบอลโลกแอฟริกาใต้ 2010 เยอรมันชำระแค้นได้อีกครั้ง บาปจากลูกยิงของ Hurst นั้นนักเตะรุ่นลูกอย่าง Frank Lampard กลับต้องมาชดใช้เมื่อผู้กำกับเส้นและกรรมการปฏิเสธลูกยิงชนคานตกผ่านเส้นประตูไปทั้งใบไปแล้ว – อังกฤษแพ้เยอรมัน (แบบซ้ำซาก) ไป 1-4
หลังเกมการแข่งขันนอกจากการวิจารณ์เรื่องการตัดสินแล้ว Fabio Capello ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษชาวอิตาเลี่ยน ยังได้ระบุถึงปัจจัยที่เป็นสาเหตุของความพ่ายแพ้ของอังกฤษว่ามาจากระบบการแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศที่มีแมตซ์การแข่งขันเยอะเกินไป รวมถึงไม่มีการพักเบรกหนีหนาวเช่นเดียวกับลีกต่างๆ ในยุโรป ทำให้นักเตะอ่อนล้า
นอกจากนี้บรรดานักวิจารณ์เกมลูกหนังยังออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับนักเตะของอังกฤษว่าเป็นของแท้จริงหรือไม่ เพราะทีมดังๆ ในพรีเมียร์ลีกล้วนแล้วมีแต่นักเตะอังกฤษเป็นตัวประกอบของดารานักเตะต่างชาติ (จากข้อมูลของพรีเมียร์ลีกพบว่า ในฤดูกาลแข่งขัน 2008/09 พบว่ามีนักเตะต่างชาติ 337 คน จาก 66 ประเทศ)
โดยก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกหนนี้ เยอรมันถูกบริษัทพนัน Ladbroke จัดวางไว้เป็นเต็งแชมป์ในอันดับที่ 7 ส่วนอังกฤษเป็นเต็ง 3 ต่อจากสเปนเต็ง 1 และบราซิลเต็ง 2
สำหรับวัฒนธรรมและธุรกิจการสื่อสารด้านกีฬาที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แฟนฟุตบอลทั่วโลกจะรับรู้เรื่องราวของฟุตบอลอังกฤษเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมบันเทิงจากฮอลลีวูด ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเป็นลีกที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งของโลก และไม่มีครั้งไหนที่อังกฤษเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกแล้วไม่ได้รับการจับตามอง เช่นเดียวกับข่าวฉาวโฉ่ของบรรดาแม่บ้านนักฟุตบอล (WAGs) ในพรีเมียร์ลีก
การโฟกัสไปยังที่นั่นที่เดียว อาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้พวกเขาถูกตีราคาเกินจริงในเกมระดับนานาชาติ เพราะในความเป็นจริงสำหรับชาติอย่างอังกฤษแล้ว นอกจากจะเป็นประเทศแม่แบบของเกมลูกหนังสมัยใหม่ พวกเขาอาจเป็นประเทศที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลได้ดีที่สุด – แต่ไม่ใช่ชนชาติที่เล่นฟุตบอลได้เก่งที่สุด
“อังกฤษ” ที่หยิ่งผยอง
ทีมจากสหราชอาณาจักรอย่าง อังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์ ปฎิเสธที่จะร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกหนแรกๆ (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) โดยให้เหตุผลว่ามาตรฐานการแข่งขันระดับโลกก็คือการแข่งขันที่พวกเขาเตะกันอยู่ในบ้านแล้วไง?
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในด้านการเมือง-เศรษฐกิจ พวกเขาสูญเสียการเป็นมหาอำนาจโลกให้กับสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ดังนั้นสังเวียนฟุตบอลระดับโลกอาจเป็นที่สุดท้ายที่รำลึกถึงความยิ่งใหญ่ ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1950 พวกเขาขออภิสิทธิ์ไม่ลงเล่นรอบคัดเลือกแบบปกติ แต่ขอใช้ศึก British Home Championship เป็นรอบคัดเลือกของทีมจากสหราชอาณาจักรเอง อังกฤษบุกไปชนะสก็อตแลนด์ถึงในบ้าน ได้อันดับ 1 สก็อตแลนด์ที่ได้อันดับ 2 ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทั้งๆ ที่มีสิทธิ์ ด้วยความหยิ่งในศักดิ์ศรีที่ไม่สามารถพิชิตอังกฤษได้
สำหรับความสำเร็จในการแข่งขันในระดับนานาชาติ พวกเขาเคยได้เหรียญทองกีฬาโอลิมปิกในนามของทีมสหราชอาณาจักร ปี 1990 (ปารีส), ปี 1908 (ลอนดอน) ปี 1912 (สต็อคโฮม) แชมป์ฟุตบอลโลกปี 1966 (เป็นเจ้าภาพเอง) อันดับที่ 4 ปี 1990 (ที่อิตาลี) อันดับสามฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปปี 1968 (ที่อิตาลี) และเข้ารอบรองชนะเลิศปี 1996 (เป็นเจ้าภาพเอง)

 
 
 
 
แฟนบอลอังกฤษสวมเสื้อ "Bəhramov 66" ล้อมรอบลูกชายของ Tofik Bakhramov ผู้กำกับเส้นชาวอาเซอร์ไบจานที่ให้ประตูยิงชนคานกระเด้งลงมาบนเส้นของ Geoff Hurst ในนัดชิงฟุตบอลโลก 1966 เป็นประตู ส่งผลให้อังกฤษได้แชมป์ครั้งแรกและครั้งเดียว ส่วนเขาเป็นตำนานของประเทศถึงกับมีการนำชื่อของเขาไปตั้งชื่อเป็นสนามฟุตบอล
 
Tofik Bakhramov ผู้กำกับเส้นชาวอาเซอร์ไบจาน (ซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) กลายเป็นบุคคลที่โด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน จากการให้ลูกยิงปัญหาของ Geoff Hurst เป็นประตู ภายหลังมีข่าวลือว่าเขาได้รับพระราชทานนกหวีดทองคำจากสมเด็จพระราชินีอะลิซซาเบทที่ 2 จากความดีความชอบที่ได้ช่วย “บริการแก่อังกฤษ” นอกจากนี้ชื่อของเขาได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของสนามกีฬาแห่งชาติของอาเซอร์ไบจานอีกด้วย
 
 “เยอรมัน” จากลูกไล่สู่มหาอำนาจลูกหนัง
เยอรมันถือว่าเป็นประเทศลูกไล่ของอังกฤษมาตลอดจวบจนทศวรรษที่ 1970’s โดยในช่วงเริ่มต้นของกีฬาฟุตบอลในประเทศ พวกเขาลงเตะกับทีมจากอังกฤษเมื่อไรเป็นเละเทะเสียทุกที
ในช่วงทศวรรษที่ 1880s ปัญญาชนและนักธุรกิจอังกฤษนำกีฬาฟุตบอล, รักบี้และคริกเก็ต พร้อมกับการศึกษาแบบอังกฤษ เข้าไปอบรมให้แก่ลูกหลานชนชั้นนำของเยอรมัน ปี 1899 ทีมฟุตบอลอังกฤษออกทัวร์ไปยังเยอรมันและออสเตรีย สองนัดแรกอังกฤษยำใหญ่เยอรมันไป 13–2 และ 10–2 นัดที่สามเยอรมันเอานักเตะออสเตรียมาร่วมทีมด้วยแต่ก็ยังต้านอังกฤษไม่อยู่ โดนถลุงไปอีก 8–0 ปี 1901 เยอรมันนำทีมไปทัวร์อังกฤษบ้าง นัดแรกพวกเขาโดนทีมสมัครเล่นของอังกฤษถล่มไป 12–0 ที่ White Hart Lane และที่ West Bromwich พวกเขาโดนยำไปอีก 10–0 (ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังมีตำนานเล่าขานกันสืบต่อมาว่าทหารของทั้งสองฝ่ายเคยพักรบและเตะฟุตบอลกัน)
การแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการของทั้งคู่เริ่มต้นในปี 1930 เยอรมันไม่เคยชนะอังกฤษเลยจนถึงปี 1970 ในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่เม็กซิโก
เยอรมันถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของเกมลูกหนัง โดยมีเกียรติประวัติเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1954 (ที่สวิสเซอร์แลนด์), ปี 1974 (เป็นเจ้าภาพเอง), ปี 1990 (ที่อิตาลี) รองแชมป์ในปี 1966 (ที่อังกฤษ), ปี 1982 (ที่สเปน), ปี 1986 (ที่เม็กซิโก), ปี 2002 (ที่ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้) อันดับ 3 ในปี 1934 (ที่อิตาลี), ปี 1970 (ที่เม็กซิโก), ปี 2006 (ที่เยอรมัน)
ส่วนการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ได้แชมป์ในปี 1972 (ที่เบลเยียม), ปี 1980 (ที่อิตาลี), ปี 1996 (ที่อังกฤษ) รองแชมป์ในปี 1976 (ที่ยูโกสลาเวีย), ปี 1992 (ที่สวีเดน), ปี 2008 (ที่สวิสเซอร์แลนด์-ฮังการี) เข้ารอบรองชนะเลิศปี 1988 (เป็นเจ้าภาพเอง) ส่วนกีฬาโอลิมปิกพวกเขาเคยได้เหรียญทองแดงในปี 1988 (ที่โซล)
ผลการแข่งขันระหว่าง “อังกฤษ-เยอรมัน”
วันที่แข่งขัน
สนาม / เมือง
ผลการแข่งขัน
รายการ
ผู้ชนะ
10-05-1930
Deutsches Stadion, Berlin
3-3
อุ่นเครื่อง
เสมอ
04-12-1935
White Hart Lane, London
3-0
อุ่นเครื่อง
อังกฤษ
14-05-1938
Olympic Stadium, Berlin
6-3
อุ่นเครื่อง
อังกฤษ
01-12-1954
Wembley Stadium, London
3-1
อุ่นเครื่อง
อังกฤษ
26-05-1956
Olympic Stadium, Berlin
3-1
อุ่นเครื่อง
อังกฤษ
12-05-1965
Frankenstadion, Nuremberg
1-0
อุ่นเครื่อง
อังกฤษ
23-02-1966
Wembley Stadium, London
1-0
อุ่นเครื่อง
อังกฤษ
30-07-1966
Wembley Stadium, London
4-2 (ต่อเวลาพิเศษ)
ฟุตบอลโลก 1966
อังกฤษ
01-06-1968
Niedersachsen, Hanover
0-1
อุ่นเครื่อง
เยอรมัน
14-06-1970
Estadio Nou Camp, León
2-3
ฟุตบอลโลก 1970
เยอรมัน
29-04-1972
Wembley Stadium, London
1-3
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1972 รอบคัดเลือก
เยอรมัน
13-05-1972
Olympic Stadium, Berlin
0-0
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1972 รอบคัดเลือก
เสมอ
12-03-1975
Wembley Stadium, London
2-0
อุ่นเครื่อง
อังกฤษ
22-02-1978
Olympic Stadium, Munich
1-2
อุ่นเครื่อง
เยอรมัน
13-05-1982
Estadio Santiago Bernabéu, Madrid
0-0
ฟุตบอลโลก 1982
เสมอ
13-10-1982
Wembley Stadium, London
1-2
อุ่นเครื่อง
เยอรมัน
12-06-1985
Estadio Azteca, Mexico City
3-0
อัซเทก้า คัพ (เตรียมความพร้อมฟุตบอลโลก 1986)
อังกฤษ
09-09-1987
Rheinstadion, Düsseldorf
1-3
อุ่นเครื่อง
เยอรมัน
04-06-1990
Stadio delle Alpi, Turin
1-1
(จุดโทษ 3-4)
ฟุตบอลโลก 1990
เยอรมัน
11-09-1991
Wembley Stadium, London
0-1
อุ่นเครื่อง
เยอรมัน
19-06-1993
Pontiac Silverdome, Detroit
1-2
ยูเอสคัพ (เตรียมความพร้อมฟุตบอลโลก 1994)
เยอรมัน
26-06-1996
Wembley Stadium, London
1-1
(จุดโทษ 5-6)
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1996
เยอรมัน
17-06-2000
Stade du Pays de Charleroi, Charleroi
1-0
ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2000
อังกฤษ
07-10-2000
Wembley Stadium, London
0-1
ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
เยอรมัน
01-09-2001
Olympic Stadium, Munich
5-1
ฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก
อังกฤษ
22-08-2007
Wembley Stadium, London
1-2
อุ่นเครื่อง
เยอรมัน
19-11-2008
Olympic Stadium, Berlin
2-1
อุ่นเครื่อง
อังกฤษ
27-06-2010
Free State Stadium, Bloemfontein
1-4
ฟุตบอลโลก 2010
เยอรมัน
  
แหล่งข้อมูล:
Don't Mention the World Cup: A History of England-Germany Rivalry from the War to the World Cup (Ed West, Summersdale Publishers Ltd, West Sussex, 2006)
England vs. Germany: Rivalry For the Ages (Bruce Jenkins, sfgate.com, 26-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/England_and_Germany_football_rivalry (เข้าดูเมื่อ 28-06-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/British_Home_Championship (เข้าดูเมื่อ 28-06-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Tofik_Bakhramov (เข้าดูเมื่อ 30-06-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Germany_national_football_team (เข้าดูเมื่อ 30-06-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/England_national_football_team(เข้าดูเมื่อ 30-06-2010)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net