Skip to main content
sharethis
2 ก.ค. 53 เวลา 14.00น. เรือนจำพิเศษ กทม. นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พร้อมคณะอนุกรรมการ ได้แก่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องหาที่มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวม 60 ราย ซึ่งเป็นเหตุต่อเนื่องจากคำร้องเรียนกรณีนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ เข้ามาดูแลการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
 
โดย นพ.นิรันดร์ระบุว่า การมาครั้งนี้เพื่อจะมาดูสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องหา ดูมาตรการในเรือนจำ รวมถึงการรับฟังปัญหาเรื่องความเหมาะสมในการจับกุมด้วย
 
เวลาประมาณ 16.00 น. คณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นายแพทย์นิรันดร์ ให้สัมภาษณ์ว่า มีผู้ต้องหามาให้ข้อมูลกับอนุกรรมการฯ ประมาณ 40 คน จากจำนวนทั้งหมดราว 60 คน และทราบมาว่าที่เรือนจำคลองเปรมยังมีผู้ต้องขังอยู่ที่นั่นอีก 40 กว่าคน ซึ่งคงต้องมีการตรวจสอบตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกตั้งข้อกล่าวหาแตกต่างกัน บางคนมีข้อกล่าวหาค่อนข้างร้ายแรง บางคนผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
น.พ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่สำคัญที่พบคือ ผู้ต้องหายังไม่มีทนายความมาดูแล 28 ราย ผู้ที่มีทนายความแล้วมี 13 ราย โดยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย เมื่อไม่มีทนายความก็ไม่มีผู้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือประเด็นด้านกฎหมายซึ่งเชื่อมโยงกับการรับรู้สิทธิในการประกันตัวด้วย รวมไปถึงประเภทที่ญาติพี่น้องอยู่ต่างจังหวัด ไม่มีใครมาเยี่ยมเลย คณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ผู้ต้องหากรอกรายละเอียด ที่อยู่ที่สามารถติดต่อญาติได้เพื่อช่วยประสานงานติดต่อญาติให้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีชาวต่างประเทศ 3 คน เป็นชาวออสเตรเลีย และชาวอังกฤษ ดังที่ปรากฏเป็นข่าว และสถานทูตทั้งสองแห่งก็มาเยี่ยมดูแล ขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นชาวกัมพูชา ซึ่งให้ข้อมูลว่าเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาทั้งที่เขาไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยในการชุมนุม อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาส่วนหนึ่งในจำนวนทั้งหมดต่างก็ให้ข้อมูลว่าเขาไม่รู้เห็นในการชุมนุม เป็นแค่คนเดินผ่าน หรือกรณีที่มาร่วมการชุมนุมก็ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งทางคณะอนุกรรมการฯ จะตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ต่อไป
น.พ.นิรันดร์ กล่าวว่า ยังมีนักศึกษาที่ถูกจับประมาณวันที่ 6 มี.ค. ก่อนการชุมนุม ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีอาวุธร้ายแรงคือ ระเบิด ซึ่งต้องทำการตรวจสอบต่อไป ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องคนป่วยที่มีปัญหาเรื่องของยา แม้เรือนจำมีสถานพยาบาลอยู่ แต่ถ้าเป็นคนไข้ที่มีโรคประจำตัวต้องทานยาประจำก็ค่อนข้างลำบาก เรื่องนี้คงต้องดูรายละเอียดของแต่ละราย
น.พ.นิรัดร์ กล่าวสรุปว่า ในเบื้องต้นคณะอนุกรรมการฯ จะรวบรวมข้อมูลและประชุมหารือกันในอนุกรรมการฯ ในวันพุธหน้า โดยจะสรุปเป็นประเด็นให้ผู้บัญชาการชี้แจงอีกทีว่าแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการตรวจสอบทั้งสองทาง แล้วจึงสรุปอีกครั้งว่าจะทำอะไรบ้างก่อนที่คณะอนุกรรมการฯ จะออกไปเยี่ยมผู้ต้องหารในเรือนจำในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสาน เช่น อุบลฯ อุดรฯ มุดาหาร
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net