Skip to main content
sharethis

คบท. ติง กทช. อย่ารวบรัดออกร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรคลื่น 3G  ชี้ การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรืองสำคัญ ต้องกำหนดเป็นเงื่อนไขหนึ่งของผู้รับใบอนุญาต แนะประเด็นหลักต้องดูแล ทั้งเรื่องการสนับสนุนผู้ให้บริการรายใหม่ ไม่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค

ตามที่ กทช. ได้เตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่ IMT หรือ 3G and beyond เพื่อผลักดันให้คนไทยได้ใช้บริการ 3G ภายในเร็ววัน และในวันนี้ (3 กรกฏาคม 2553) จะมีการประชุม บอร์ด กทช. วาระพิเศษ เพื่อรับร่างประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน ๒.๑ GHz นั้น 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง  กรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (กบท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (คบท.) ในฐานะผู้มีหน้าที่ในการเสนอแนะแนวทางและให้ความเห็นแก่ กทช. เพื่อพิจารณาออกประกาศ หลักเกณฑ์ และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมให้มีประสิทธิผล มีความเห็นว่า ที่ผ่านมา แม้ กทช. จะได้ปรับปรุงรายละเอียดและหลักเกณฑ์ในการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน  แต่ คบท. เห็นว่า ในร่างดังกล่าวยังมีประเด็นสิทธิผู้บริโภคที่ยังมิได้รับการคุ้มครองอีกมาก  ซึ่ง กทช. ควรให้ความสำคัญ และกำหนดให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งของผู้รับใบอนุญาต รวมถึงเรื่องราคาการประมูลที่ยังต่ำเกินไป

“การประมูล 3G ครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งที่ 2  ของ กทช.  เพราะฉะนั้นควรทำให้ดีที่สุด ไม่ต้องรีบ เพื่อให้ร่างหลักเกณฑ์นี้มีความสมบูรณ์ มีมิติในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค  เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในกิจการโทรคมนาคม  กทช. ต้องให้ความสำคัญและต้องเอาเงื่อนไขการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขหนึ่งของผู้รับใบอนุญาต นอกจากนี้ราคาการประมูลยังต่ำเกินไป รับไม่ได้เพราะหากคำนวณส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาร่วมการงานเดิมเพียงระยะเวลารับใบอนุญาตสั้นที่สุดคือ 3 ปี รัฐก็จะได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 118,200 ล้านบาท ขณะที่ครั้งนี้ระยะเวลาได้รับใบอนุญาตคือ 15  ปี แต่กำหนดราคาเริ่มต้นที่ หมื่นกว่าล้านบาท” นางสาวสารีกล่าว

นอกจากนี้ประเด็นสำคัญในข้อเสนอของ คบท. คือ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมอยู่เพียงไม่กี่ราย และเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 3 ราย ซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันประมาณ ร้อยละ 98  ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการไม่มาก ถูกบีบรัดจากระบบการตลาดที่เกือบจะผูกขาด  ทั้งที่ โทรคมนาคมมีความสำคัญกับชีวิตคนไทยมากขึ้น ในฐานะที่เป็นสาธารณูปโภคประเภทหนึ่ง  ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือ การกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การประมูลที่เปิดโอกาสและสนับสนุน ให้มีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้น ด้วยวิธีการกำหนดจำนวนใบอนุญาตและระยะเวลาขอรับใบอนุญาต

“คบท. เห็นว่า หากจำนวนใบอนุญาตคือ 3 ใบ โดยยึดหลัก n-1 คือพร้อมลดใบอนุญาตลงน้อยกว่าจำนวนผู้ประมูล 1 ใบในกรณีมีผู้เข้าประมูลน้อย กติกานี้ก็นับว่าดี แต่อาจจะเพิ่มเติมเงื่อนไขด้วยว่า กำหนดให้ใบอนุญาต 2 ใบสำหรับผู้ให้บริการรายเดิม และ 1 ใบสำหรับผู้ให้บริการรายใหม่ รวมทั้งขยายระยะเวลาสำหรับการยื่นแบบคำขอเป็น 90 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายใหม่มีเวลาเตรียมตัวได้ทัน เพราะการกำหนดระยะเวลายื่นขอรับใบอนุญาตเพียง 30 วันนั้นกระชั้นชิดเกินไป สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวเพื่อร่วมประมูลโครงการขนาดใหญ่ และเหมือนจะเอื้อประโยชน์กับรายเก่ามากกว่า   หากเปรียบเทียบการประกวดราคาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของประเทศ คือ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ กำหนดระยะเวลาในการยื่นซองถึง 90 วันภายหลังประกาศ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันมีความพร้อมและเข้าร่วมได้มากที่สุด” นางสาวสารีกล่าว

นอกจากนี้ ควรกำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องมีคุณสมบัติไม่เป็นผู้ดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายในปัจจุบันด้วย เพราะมิฉะนั้นอาจทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ว่า องค์กรกำกับดูแลไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายและการละเมิดสิทธิผู้บริโภค แต่กลับปล่อยให้ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้รับใบอนุญาตใหม่ ทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ

“เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างให้บริการโดยมีลักษณะที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคอย่างชัดเจน เช่น การกำหนดวันหมดอายุระบบเติมเงิน  การตั้งสถานีส่งสัญญาณโดยไม่ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ การไม่เปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายทั้งที่ระยะเวลาล่วงเลยมากว่าที่กฎหมายกำหนด หรือ การไม่มีระบบรับเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีการละเมิดกฎหมายที่ทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติมากมาย ซึ่ง กทช. น่าจะใช้โอกาสนี้ในการกำหนดเป็นคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลต้องไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย “ นางสาวสารีกล่าว             

ด้าน นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม  กบท. อีกท่านหนึ่ง กล่าวว่า ประเด็นสำคัญอีกประการคือ  ร่าง หลักเกณฑ์ 3G ควรกำหนดให้ชัดเจนในเรื่อง การสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุม เนื่องจากในร่างกำหนดให้สร้างโครงข่ายครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายใน 4 ปี แต่มิได้กำหนดมิติทางภูมิศาสตร์ จึงควรกำหนดว่า ต้องมีการให้บริการที่ครอบคลุมทุกอำเภอด้วย

“ความสำคัญประการหนึ่งของ 3G   คือ เป็นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ประชาชนผู้อยู่ห่างไกลด้วย  จึงควรกำหนดว่าอย่างน้อยต้องครอบคลุมทุกอำเภอ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกล หรือหน่วยราชการที่บริการประชาชนในที่ตั้งอำเภอนั้นสามารถเข้าถึงบริการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงได้ เพื่อลดช่องว่างทางดิจิตอล มิฉะนั้นการขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการจะคำนึงถึงผลตอบแทนเชิงพาณิชย์เท่านั้น” นางสาวบุญยืนกล่าว

นางสาวบุญยืน กล่าวต่อไปว่า นอกนี้ยังต้องมีการกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาต เพราะที่ผ่านมาผู้ให้บริการมักจะต่อสู้หรือโต้แย้งประเด็นการกำกับดูแลโดยกฎหมาย ทั้งๆที่มาตรการต่าง ๆ ก่อนบังคับใช้ล้วนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมหรือกระบวนการทางปกครองที่ดีกับผู้ให้บริการ จึงควรเพิ่มการกำกับดูแลผ่านเงื่อนไขใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกาบการไม่สามารถปฏิเสธได้ในภายหลัง เนื่องจากเป็นผู้ยอมรับเงื่อนไขนั้นตั้งแต่ต้น

“จะเป็นเรื่องดีมากถ้าการประมูลครั้งนี้ จะนำไปสู่การแก้ปัญหาเดิมที่ผู้บริโภคต้องเผชิญอยู่ ด้วยการนำเรื่องการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเหล่านั้นมากำหนดเป็นเงื่อนไขใบอนุญาต  เช่น ต้องมีการจัดระบบรับเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์เลขหมายสี่ตัวโดยไม่คิดค่าบริการ  ต้องมีการจัดระบบแจ้งบอกรับและระบบยกเลิก SMS รบกวน การกำกับดูแลอัตราค่าบริการประเภทเสียงขั้นสูง ไม่เกิน 50 สตางค์ต่อนาที การกำกับดูแลค่าบริการตามระยะเวลาการใช้งานไม่ใช่ตามปริมาณข้อมูล หรือ การป้องกันเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมไปสู่กลุ่มเยาวชน อันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งรายละเอียดทั้งหมด ทางคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้สรุปความเห็นเพื่อเสนอให้ กทช. พิจารณา ประกอบการร่าง หลักเกณฑ์ 3G แล้ว เพราะเราหวังว่า การประมูลครั้งนี้จะทำให้เกิดมาตรการในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคมากขึ้น คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิคและรายได้ แต่เป็นการบริการคมนาคมที่นำไปสู่การพัฒนาสังคมที่ดีด้วย” นางสาวบุญยืนกล่าว 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net