Skip to main content
sharethis

4 ก.ค. 53 - องค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรออกแถลงการณ์ค้านการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ชี้สถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐบาลอ้างเป็นเหตุผลตามประกาศนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

 

จดหมายเปิดผนึก
 
วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
 
เรื่อง คัดค้านการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
 
สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และเมื่อวันที่ 13 และ 16 พฤษภาคม 2553 ได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน รวมพื้นที่ภายใต้ประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ทั้งสิ้น 24 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดน่าน จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดสกลนคร จังหวัดกาฬสินธิ์ จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 นั้น จะครบกำหนดเวลาสิ้นสุดในวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 นี้ หากรัฐบาลประสงค์จะขยายระยะเวลา รัฐบาลจะต้องประกาศให้มีการขายระยะเวลาเมื่อสิ้นระยะเวลา 3 เดือน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
 
องค์กร บุคคล และกลุ่มบุคคล ที่มีรายชื่อข้างท้าย ขอคัดค้านการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
 
1.เนื่องจากการประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงต้องเป็นมาตรการพิเศษและชั่วคราวและมีผลบังคับอยู่เพียงในช่วงระยะเวลาที่ภัยคุกคามความอยู่รอดของชาติยังคงอยู่เท่านั้น รวมทั้งต้องเป็นสถานการณ์ที่ผิดปกติและการใช้มาตรการธรรมดาไม่เพียงพอที่จะดำเนินการควบคุมสถานการณ์ได้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันได้คลี่คลายลงแล้ว ซึ่งรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองให้อยู่สภาวะปกติได้ จึงไม่มีเหตุความจำเป็นใด ๆ ให้ต้องคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงไว้อีกต่อไป

2.นับแต่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รัฐบาลได้ใช้อำนาจพิเศษตามพระราชกำหนดดังกล่าวอันเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและความเชื่อทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามมิให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุม การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เห็นว่า เป็นการแสดงความเห็นที่แตกต่างจากรัฐบาล อีกทั้งการประกาศห้าม ระงับ ยับยั้ง การติดต่อสื่อสาร โดยการปิดสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์จำนวนมากที่เป็นการปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงแต่อย่างใด

3.จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าประชาชนจำนวนหลายร้อยคนที่ถูกควบคุมตัว ด้วยเหตุเพียงเพราะฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ห้ามชุมนุม ให้ออกจากพื้นที่ชุมนุม และห้ามออกจากเคหะสถาน โดยที่มิได้กระทำความผิดอาญาอื่น และมีการควบคุมตัวประชาชนที่แสดงความเห็นต่างทางการเมืองโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาและสามารถควบคุมตัวได้นานถึง 30 วัน โดยอ้างเหตุสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินโดยที่มิได้มีหลักฐานและข้อเท็จจริงที่เพียงพอ

4.การใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินดังที่กล่าวมา ย่อมเป็นที่ประจักษ์ได้ว่า นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลอันเป็นการละเมิดหลักการประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นการลิดรอนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยต้องมีพันธกรณีต้องปฏิบัติ

5. นอกจากนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 16 ยังได้ยกเว้นอำนาจศาลปกครองไว้ด้วย ซึ่งทำให้การกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายไม่สามารถถูกตรวจสอบถ่วงดุลโดยอำนาจศาลปกครองได้ แม้จะสามารถดำเนินการในศาลยุติธรรม แต่ก็เป็นเฉพาะกรณีไป ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลปกครองเพื่อตรวจสอบกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้แต่อย่างใด จึงขัดต่อหลักการตรวจสอบถ่วงดุลและหลักการแบ่งแยกอำนาจ  
 
ดังนั้น การประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เพื่อบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดองของคนในชาติและการสร้างความร่วมมือเพื่อปฏิรูปประเทศไทย อันเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่สันติภาพและการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีร่วมกันต่อไป
                     
จึงเรียนมายังท่านเพื่อขอให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตาม  พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในทุกพื้นที่ เพื่อดำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลักนิติธรรม หลักนิติรัฐ อันเป็นคุณค่าแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย
           
ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายจากความรุนแรงทางการเมือง (ศรส.)
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
ฐิตินบ โกมลนิมิ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)
กลีบรดาวัลย์ สืบสกุลเชื้อ
มนตรี อัจฉริยสกุลชัย
กฤษดา ขุนณรงค์
พุทธิณี โกพัฒน์ตา
เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล
สมสกุล ศรีเมธีกุล
นิชา รักพานิชมณี

 

จดหมายเปิดผนึก
คัดค้านการต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง
ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

วันที่  2  กรกฎาคม  2553

เรื่อง คัดค้านการต่ออายุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ
เรียน นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอพระสมุทรเจดีย์ อำเภอบางบ่อ และอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี  อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร และอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 โดยอ้างเหตุผลว่า

“โดยที่ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยมีการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา และการสื่อสารด้วยวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่ และเพื่อให้มีการกระทำที่ล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน ด้วยการยุยงให้ประชาชนชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนอื่นทั่วไป ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนเสียหายและเกรงกลัวอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน มีการใช้กำลังขัดขืนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งมีการใช้สถานที่เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิดเพื่อให้กระทำการให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีบุคคลบางกลุ่มได้ก่อเหตุร้ายหลายครั้งโดยต่อเนื่อง เพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน จากสถานการณ์ที่มีเหตุยืดเยื้อและมีการละเมิดต่อกฎหมายเพิ่มมากขึ้น จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะมีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ และเกิดความเสียหายหรือไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยเร็ว”

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลได้ประกาศฉบับที่ 2 ให้ให้พื้นที่เขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร  จังหวัดนนทบุรี  จังหวัดสมุทรปราการ  จังหวัดปทุมธานี  จังหวัดนครปฐม   จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดชลบุรี  จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย   จังหวัดลำปาง  จังหวัดนครสวรรค์  จังหวัดน่าน  จังหวัดขอนแก่น  จังหวัดอุดรธานี  จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดศรีษะเกษ เป็นพื้นที่ในเขตประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 ได้ประกาศเพิ่มอีกให้พื้นที่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดมหาสารคาม  จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสกลนคร เป็นพื้นที่ในเขตประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 2 เพิ่มเติม รวมแล้วมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด 22 จังหวัด

โดยอ้างเหตุผลว่า “ โดยที่ปรากฏว่า  ได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินการที่ก่อให้เกิดความ วุ่นวายหรือเตรียมการจะก่อเหตุร้ายในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มเติม  จากพื้นที่ที่เคยมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง  เพื่อมุ่งให้เกิดความเสียหายและความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต   ร่างกาย  และทรัพย์สิน  และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐยิ่งขึ้น  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ   อันเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ และกระทบต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้บริสุทธิ์  จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติมให้ยุติโดยเร็ว ”
   
จนถึงปัจจุบันประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทั้ง 3 ฉบับ ได้ใช้มาเป็นเวลาพอสมควร และในวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 ที่จะถึงนี้ ประกาศฉบับแรกจะมีอายุครบ 3 เดือน ส่วนประกาศฉบับที่ 2 จะครบกำหนดในวันที่ 12 สิงหาคม 2553 และประกาศฉบับที่ 3 จะครบกำหนดในวันที่ 15 สิงหาคม 2553 ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาว่าจะขยายระยะเวลาประกาศหรือไม่

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) ได้จัดการประชุมกรรมการเครือข่ายและกรรมการจังหวัดที่รับผิดชอบทำงานในพื้นที่ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา และได้มีการพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ยังคงดำรงอยู่ใน 22 จังหวัด โดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่ , เชียงราย , ลำปาง และน่าน) ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ต่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวว่า มีเหตุผลสมควรจะคงเอาไว้หรือไม่ หลังจากที่เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองได้ผ่านไปแล้วกว่า 1 เดือน โดยคณะกรรมการได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า

“รัฐบาลควรยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด” โดยมีเหตุผลดังนี้

ข้อ 1. คณะกรรมการฯเห็นว่าสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่รัฐบาลอ้างเป็นเหตุผลตามประกาศนั้น ได้สิ้นสุดลงแล้ว ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่จะคงประกาศไว้ เพราะหลังจากสถานการณ์การดำเนินการกระชับพื้นที่ของรัฐบาลเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่สี่แยกราชประสงค์ และมีความวุ่นวายอยู่ในหลายจังหวัดต่อมาอีก 2-3 วัน แล้วเหตุการณ์ก็สงบลง มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อความวุ่นวายไปแล้วบางส่วน และมีการออกหมายจับตามมาอีกหลายคน หลังจากนั้นก็ไม่เหตุการณ์ใดๆ ที่เป็นเหตุวุ่นวาย รุนแรงอีกเลยจนถึงบัดนี้

ข้อ 2. ส่วนเหตุการณ์การวางระเบิดหน้าพรรคภูมิใจไทย , เหตุการณ์เผารถตู้ และล่าสุดเหตุการณ์การยิง RPG ใส่ถังน้ำมันในกองพลาธิการฯ คณะกรรมการฯเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบร้ายแรงแต่อย่างใด  เนื่องจากต่อมากรณีวางระเบิดหน้าพรรคภูมิใจไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถจับกุมคนร้ายได้ ส่วนเหตุการณ์เผารถตู้ก็เป็นเพียงอุบัติเหตุเท่านั้น และล่าสุดเหตุการณ์ยิง RPG ก็อยู่ระหว่างการติดตามจับกุมคนร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้กลุ่มคนที่รัฐบาลอ้างหรือเป็นแกนนำ รัฐบาลก็ได้ควบคุมตัวไว้แล้วเป็นส่วนใหญ่ หลงเหลืออีกบางส่วนก็ไม่น่าจะก่อความวุ่นวาย เพราะมีหมายจับอยู่แล้ว แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ ณ ปัจจุบันไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงและเป็นภัยร้ายแรงจนไม่สามารถใช้กลไกปกติของการป้องกันความสงบดำเนินการได้แต่อย่างใด และคณะกรรมการฯเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นยังคงมีความคลุมเครือว่าเป็นการจงใจสร้างสถานการณ์  เพื่อทำให้เห็นว่ามีความจำเป็นต้องคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯไว้

ข้อ 3. การคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ทำให้การทำงานของกลไกการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกยกเว้น หรือถูกยกเลิกอำนาจนั้นไป ทำให้ไม่สามารถสร้างความโปร่งใสในการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะการตรวจสอบเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และยิ่งปล่อยให้เนิ่นนานออกไปก็ยิ่งทำให้การพิสูจน์ข้อเท็จจริงขององค์อิสระต่างๆ รวมทั้งองค์กรเอกชนที่ต้องการนำข้อเท็จจริงเปิดเผยต่อสาธารณชนให้รับรู้รับทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย มีความยุ่งยากมากขึ้น

ข้อ 4. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลังจากมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและยังไม่ประกาศยกเลิก แม้จะไม่กระทบการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปส่วนใหญ่ก็ตาม แต่การคงประกาศฯไว้นั้น เป็นการทำลายบรรยากาศของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การดำเนินการทางการเมืองภาคพลเมืองที่เป็นเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ การแสดงออกด้วยความคิดเห็น ด้วยการสื่อสาร ด้วยการเผยแพร่ อันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของประชาชนที่จะทำได้ ก็ถูกลิดรอนโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชนที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอันเป็นรายได้หลักของประชาชนรากหญ้า ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างมากในเวลานี้ หากคงประกาศฯต่อไป เชื่อว่ากิจการรายย่อยของประชาชนจะต้องล้มกิจการไปเป็นจำนวนมาก

ข้อ 5. ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  มาตรา 5 วรรคท้าย “เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว หรือเมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ หรือเมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น” จะเห็นว่าเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะประกาศยกเลิกได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีจึงเป็นการพิสูจน์ภาวะผู้นำที่อ้างถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยตลอดมา

ดังนั้น ในนามคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกฉบับ และเร่งรัดให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดโดยเร็ว

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ)
เครือข่ายสื่อภาคประชาชน ภาคเหนือ
สำนักข่าวประชาธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net