สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 28 มิ.ย. - 4 ก.ค. 2553

 
พม.หาวิธีเยียวยาผู้ได้รับผลการค้ามนุษย์
(ไอเอ็นเอ็น
, 4 ก.ค. 2553) นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวถึง ปัญหาการค้ามนุษย์ ว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการค้ามนุษย์ ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการบังคับขอทาน การล่อลวง เข้าสู่การค้าบริการทางเพศ การบังคับใช้แรงงาน และการบังคับค้าประเวณี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกลุ่มหญิงและเด็ก และได้ขยายครอบคลุม ไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชาย โดยใช้วิธีการลักพาตัว หลอกลวง หรือ ล่อลวง เพื่อไปแสวงหาระโยชน์ในรูปแบบการบังคับใช้แรงงาน
ดังนั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือ และคุ้มครองผู้เสียหาย เป็นไปอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และทั่วถึงกลุ่มเป้าหมายทุกคน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงกำหนดให้บ้านพักเด็กและครอบครัว 76 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นสถานรับตัวชั่วคราว เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา การค้ามนุษย์ และส่งต่อไปรับความช่วยเหลือในหน่วยงานหลัก 9 แห่ง ได้แก่ สถานคุ้มครอง และพัฒนาอาชีพทั้งชายและหญิง ทั้งหมด 8 แห่ง และสถานแรกรับเด็กชาย 1 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งในด้านการฟื้นฟูเยียวยา การส่งกลับภูมิลำเนา และคืนสู่สังคม ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือในด้านกฎหมาย การฝึกทักษะทางด้านอาชีพ ให้แก่ผู้เสียหาย การช่วยเหลือในการส่งกลับ คืนสู่ครอบครัว และประเทศภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย
ผู้ประกอบการตากร้องรัฐแก้ปัญหาถูกแย่งแรงงาน
(สำนักข่าวไทย
, 4 ก.ค. 2553) กลุ่มผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรประมาณ 80 คน ในพื้นที่ อ. แม่สอด จ.ตาก นำโดยนายชัยวัฒน์ ประเสริฐธรรม เดินทางมายังสำนักงาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.ตาก เข้ายื่นหนังสือต่อนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีแรงงานต่างด้าวที่ชำนาญงานและรู้ภาษาไทย ซึ่งขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้วถูกแย่งด้วยขบวนการต่าง ๆ พาไปทำงานในเขตจังหวัดชั้นใน โดยขณะนี้แรงงานร้อยละ 80 ที่มีบัตรได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัดแล้ว ทำให้ผู้ประกอบรายย่อยเดือดร้อนมาก จึงอยากให้รัฐบาลเร่งหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะการถูกแย่งแรงงาน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องนำแรงงานใหม่เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานเฉพาะหน้า แต่ยังไม่ได้ดำเนินการทำบัตรแรงงานอย่างถูกต้อง ผู้ประกอบการจึงมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุม นอกจากนี้ การนำแรงงานที่มีอยู่เดิมไปพิสูจน์สัญชาติ อยากให้มีการเข้มงวดตรวจสอบอย่างละเอียด และขอดูใบทร.38/1 เดิมด้วย เพื่อป้องกันการสวมสิทธิแรงงานต่างด้าว
ทั้งนี้ นายชัยวุฒิรับปากว่า จะนำข้อเรียกร้องไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน และนายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)
ผู้ประกอบการแรงงานต่างด้าว แฉจ่ายส่วยไม่ถูกจับ
(เนชั่นทันข่าว
, 4 ก.ค. 2553) ที่สำนักงาน ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร ราว 80 คน เดินทางไปพบนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม และส.ส.ตาก เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนจากกรณีแรงงานต่างด้าวที่ชำนาญงาน และรู้ภาษาไทยในพื้นที่ และได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้วถูกแย่งนำไปส่งพื้นที่ชั้นใน และกรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้ประกอบรายย่อยได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด จึงขอให้นายชัยวุฒิช่วยเสนอรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ด้านนายชัยวุฒิ กล่าวว่า จะนำข้อร้องเรียนไปแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานเกี่ยวข้องมากที่สุด ขณะเดียวกันจะไปปรึกษานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพราะผู้ประกอบการได้ส่งหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรีด้วย
นายชัยวัฒน์ ประเสริฐธรรม แกนนำผู้ประกอบการแรงงานต่างด้าวภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่เคยใช้อยู่ได้ขึ้นทะเบียนโดยถูกต้อง แต่ขณะนี้ร้อยละ 80 ที่มีบัตรได้เดินทางเข้ากรุงเทพ และต่างจังหวัด โดยขบวนการต่างๆ ส่วนการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการในพื้นที่ ก็นำแรงงานต่างด้าวรายใหม่มาทำงาน ก็ถูกจับ เว้นแต่รายใดจ่ายส่วย ก็จะไม่ถูกจับกุม
กทม.เปิดรับแรงงานไทย ไปดูแลผู้สูงอายุที่สวีเดน
(เดลินิวส์
, 2 ก.ค. 53) นายกิตพล เชิดชูกิจกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยความคืบหน้า โครงการความร่วมมือด้านการดูแลผู้สูงอายุในสวีเดน ว่า ตามที่สา กทม.ได้สถาปนาความสัมพันธ์สภาบ้านพี่เมืองน้องกับสภาเทศบาลรากุนด้า ราชอาณาจักรสวีเดน และทางรากุนด้า แสดงเจตจำนงสนับสนุนแรงงานไทยไปทำงานที่สวีเดนดูแลผู้สูงอายุนั้น เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ลงนามทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกับกระทรวงแรงงาน หาข้อสรุปรายละเอียดโครงการ เช่น การกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะไปทำงาน การอบรมเพิ่มเติมด้านภาษา การดูแลผู้สูงอายุ และความรู้ด้านวัฒนธรรม เบื้องต้นเทศบาลรากุนด้าระบุคุณสมบัติ อายุไม่เกิน 35 ปี วุฒิการศึกษาขั้นต่ำสุดระดับมัธยมปลาย สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี และมีความรู้ด้านการดูแลผู้สูงอายุ ทดลองงาน 6 เดือน รายได้ประมาณเดือนละ 17,000 โครน หรือประมาณ 68,000 บาท
นายกิตพล กล่าวต่อว่า เนื่องจากการส่งแรงงานไปต่างประเทศเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ดังนั้น จึงกำหนดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างผู้ว่าฯ กทม. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อเดินหน้าโครงการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเปิดรับสมัครคนไทยที่มีคุณสมบัติตรงไปทำงานที่สวีเดน โดยรอบแรกจะส่งไป 60 คนก่อน คาดว่า จะเปิดสมัครได้ราวปลายเดือน ก.ค.
ทั้งนี้ ในสวีเดนมีความต้องการผู้ดูแลผู้สูงอายุถึง 10,000 อัตรา เนื่องจากผลพวงของยุค Baby Boom หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้ปัจจุบันในราชอาณาจักรสวีเดนมีผู้สูงอายุประมาณ 20,000 คน ขณะที่ มีประชากรทั้งสิ้นเพียง 9 ล้านคนเศษ มีสภาพเป็นครอบครัวเดี่ยว และขาดคนดูแลผู้สูงอายุ จึงต้องการแรงงานไทยที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพราะชาวสวีเดนมีความชื่นชอบประเทศไทย ชื่นชม และไว้ใจคนไทย จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้เข้ามาทำงานนี้ โดยจะมีรายได้ และสวัสดิการที่ดีเท่าเทียมกับพลเมืองของราชอาณาจักรสวีเดน
 
พม.เผยแผนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ระยะ ๖ ปี (๒๕๕๔-๒๕๕๙ )
(
ThaiPR.net, 2 ก.ค. 2553) พม.เผยแผนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ระยะ ๖ ปี ชูแนวทางดำเนินงาน ๕ ยุทธศาสตร์ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุก ดูแลแก้ไขปัญหาร่วมกัน
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การค้ามนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งทวีความรุนแรงและแพร่ขยายไปในวงกว้าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มาอย่างต่อเนื่อง ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทวิภาคีกับประเทศใกล้เคียงที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ได้แก่ ลาว เขมร เวียดนาม พม่า และในระดับพหุภาคี ส่วนอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในกลุ่ม ๖ ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม จีน พม่า ลาว กัมพูชา และไทย เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันที่จะดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหา ขณะนี้จึงถือได้ว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
พม่าเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติชั่วคราว ที่ระนอง
(เนชั่นทันข่าว
, 1 ก.ค. 2553) นายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยกับว่า วันนี้ 1 ก.ค. 2553 ซึ่งเป็นวันแรกที่ทางการพม่าจะเปิดให้บริการศูนย์พิสูจน์สัญชาติและออกหนังสือเดินทางชั่วคราวที่จังหวัดระนอง ซึ่งถือเป็นการบริการโดยเฉพาะการออกหนังสือเดินทางชั่วคราวบนฝั่งไทยเป็นครั้งแรก และพื้นที่แรกที่มีการดำเนินการในลักษณะนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้งสองฝ่ายได้พยายามหารือร่วมกันเพื่อหาทางในการร่วมมือในเรื่องดังกล่าว
โดยล่าสุดทางกรมการจัดหางานได้จัดประชุมหารือระดับวิชาการไทย-พม่า เกี่ยวกับการจัดหาสถานตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติและออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้กับแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยมีนาย อู อ่องเตียน เอกอัครราชฑูตพม่า ประจำประเทศไทย และนายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติและออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้กับแรงงานพม่าที่จังหวัดระนอง บริเวณแพปลาโกฟุก อยู่ในซอยชาวประมง ย่านสะพานปลาระนอง ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งจะทำให้แรงงานสัญชาติพม่าที่ได้ยื่นเอกสารการพิสูจน์สัญชาติแล้วได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและประหยัดค่าใช้จ่าย
การจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า ที่จังหวัดระนอง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมที่เมืองพุกามประเทศพม่า ซึ่งทางฝ่ายไทยมีความเป็นห่วงในเรื่องของความปลอดภัยของแรงงานที่ต้องเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติฝั่งพม่า ในช่วงฤดูมรสุม จึงได้เสนอให้ทางการพม่าส่งเจ้าหน้าที่มายังฝั่งไทย ซึ่งทางการพม่าได้รับข้อเสนอ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่มาดูสถานที่และประชุมร่วมกัน
คาดว่าศูนย์ดังกล่าวสามารถเริ่มเปิดให้บริการได้ภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ไปสิ้นสุดประมาณเดือนตุลาคม 2553 โดยจะส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่จังหวัดระนองประมาณ 20 คน สามารถพิสูจน์สัญชาติได้วันละ 800 คน ส่วนในอนาคตจะมีการขยายเวลาหรือไม่ต้องมีการหารือกันต่อไป และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.แม่สาย จ.เชียงรายในอนาคตด้วยก็เป็นได้
ผลสำรวจพบแรงงานควักมากกว่า 2 หมื่นบาทเล่นพนันฟุตบอล
(เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
, 2 ก.ค. 2553) - นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ หัวหน้าฝ่ายแรงงานหญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง พร้อมด้วยตัวแทน กลุ่มสหภาพแรงงาน ต่างๆ ประกอบด้วย กลุ่มสหภาพแรงงาน อ้อมน้อยอ้อมใหญ่ สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอวาไทย เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานมีมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการเล่นพนันฟุตบอล ในสหภาพแรงงาน
นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ หัวหน้าฝ่ายแรงงานหญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า สนับสนุนนโยบายของทางกระทรวงและขอเสนอ 3 แนวทางคือ 1. ขอให้กระทรวงแรงงานสนับสนุนให้นโยบายโรงงานสีขาวขยายผลไปถึงประเด็นการพนัน 2. ขอให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศประสานสถานีตำรวจเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง และ 3. สนับสนุนองค์ความรู้และงบประมาณให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและคณะกรรมการสวัสดิการที่ประจำอยู่ทุกสถานประกอบการทั่วประเทศ เป็นกลไกช่วยสอดส่องดูแลการพนันทุกชนิด
มูลนิธิเพื่อนหญิง ได้ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำรวจพฤติกรรมและผลกระทบจากการเล่นพนันฟุตบอลโลก 2010 ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวน 1,000 คน ระหว่างวันที่ 24-27 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่า 50% ไม่เคยมีประสบการณ์การเล่นพนันฟุตบอล ส่วน 23% เคยเล่นและปัจจุบันยังเล่นอยู่ และอีก 27% เคยแต่ปัจจุบันเลิกแล้ว สำหรับวิธีพบเห็นมากที่สุดในการเล่นพนันฟุตบอลคือ 60% เข้าไปแทงที่โต๊ะบอล/มีเด็กเดินโพย 21% แทงทางโทรศัพท์ และ 7% ทางอินเทอร์เน็ต โดยจำนวนเงินที่นำมาใช้เล่นพนันฟุตบอลโลกครั้งนี้ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 พันบาท
ที่น่าสนใจคือมีจำนวนหนึ่งที่ใช้เงินถึง 20,000 บาทขึ้นไปในการเล่นการพนัน โดยปัจจัยที่ทำให้มีการเล่นพนันเพราะคิดว่าช่วยให้เชียร์สนุก ได้ลุ้น/ตื่นเต้น รองลงมา คือชอบเล่นการพนันเพราะอยากได้เงิน และเข้าถึงแหล่งพนันได้ง่าย ส่วนปัญหาหรือผลกระทบที่ตามมากับการเล่นพนันฟุตบอลนั้นทำให้มีหนี้สินจนทำให้ต้องจำนำหรือขายสิ่งของเพื่อใช้หนี้ จนเกิดความขัดแย้งกับครอบครัวหรือทะเลาะกับเพื่อน จึงอยากให้เจ้าหน้าที่จริงจังและจริงใจกับการปราบปราม
อนึ่งจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จะมีวงเงินสะพัดหมุนเวียน เพื่อเล่นพนันฟุตบอลโลก ของคนกรุงเทพฯในครั้งนี้ประมาณ 9,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2549 ซึ่งในครั้งนั้น คนกรุงเทพฯเล่นพนันฟุตบอลประมาณ 7,700 ล้านบาท
ลูกจ้างอัดกองทุนเงินทดแทน แท้งลูกระหว่างทำงานกลับไม่ได้รับสิทธิประโยชน์
(มติชน
, 2 ก.ค. 2553) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่กระทรวงแรงงาน กลุ่มผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากอยุธยาและย่านใกล้เคียง ผู้แทนสภาผู้ป่วยจากการทำงาน และคนงานจากภาคตะวันออก 30 คนเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งอยู่ในสภาวาระ 2
นายประวิทย์ โพธิ์หอม เลขาธิการกลุ่มคนงานอยุธยาและย่านใกล้เคียงกล่าวว่าการวินิจฉัยของแพทย์ใน จ.พระนครศรีอยุธยามีปัญหามาก อย่างกรณีลูกจ้างหญิงรายหนึ่งที่ตั้งท้อง แต่การทำงานต้องยกตะกร้าพลาสติคขึ้น-ลงบนโต๊ะวันละจำนวนมาก ในที่สุดจึงตกเลือดและแท้งขณะทำงานโดยที่หัวหน้างานและฝ่ายพยาบาลของโรงงานก็ไม่ให้ความสนใจเมื่อคนงานช่วยกันนำตัวส่งไปยังโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกลับวินิจฉัยว่าไม่ได้ป่วยจากการทำงาน ส่งผลให้ไม่ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนเงินทดแทน ในที่สุดลูกจ้างรายนี้จึงต้องฟ้องศาลซึ่งขณะนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้ามากนักและต้องสูญเสียชีวิตลูกไป ล่าสุดคนงานรายหนึ่งในโรงงานทำแบตเตอรี่ที่ป่วยเพราะรับสารพิษจนมือสั่นไปโรงพยาบาลหมอก็วินิจฉัยว่าไม่ได้ป่วยจากการทำงาน แต่เป็นกรรมพันธุ์ ไปโรงพยาบาลอีกแห่งจึงทราบว่าได้รับสารพิษจากการทำงาน
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ผู้ประกันตนที่ต้องเสียเงินทุกเดือนต้องได้รับการดูแลในสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั่วถึง โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล ซึ่งแม้ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีคณะกรรมการคอยดูแลเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว แต่อาจมีโรงพยาบาลหลายแห่งขาดประสิทธิภาพจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลอีกชุดหนึ่ง โดยให้ผู้ประกันตนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกรรมการ
เผยสถานการณ์แรงงานครึ่งปี 53 เลิกจ้างลดลงกว่าร้อยละ 95
(สำนักข่าวไทย, 1 ก.ค. 2553)
นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานช่วงครึ่งปีแรกว่า ภาพรวมของดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัตราการเลิกจ้างมีสัดส่วนลดลงชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.- พ.ค. 2553 มีการเลิกจ้าง เพียง 1,568 คน ขณะที่ในช่วงเดียวกันของปี 2552 มีการเลิกจ้างสูงถึง 32,496 คน หรือลดลงร้อยละ 95.17 สอดคล้องกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 2552 – พ.ค. 2553 ที่มีผู้มาขอรับประโยชน์ทดแทนรวมทั้งสิ้น 63,916 คน แต่พบว่ามีลูกจ้างผู้ประกันตนมาร้องทุกข์เพียง 3,805 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.95 ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมด คาดว่าผู้ที่ไม่ได้มาร้องทุกข์กว่าร้อยละ 90 ได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างเรียบร้อยแล้ว
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์แรงงานในครึ่งปีหลังยังคงมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยดูจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และจากการเข้าตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ยังมีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพนักงานระดับปฏิบัติงานในโรงงาน ซึ่งทำให้โอกาสการทำงานยังคงเป็นของลูกจ้างที่มีอำนาจต่อรองมากขึ้นในอนาคต
ครูเอกชนเฮ!ศธ.ให้เงินเดือนเพิ่ม
(โพสต์ทูเดย์
, ‎1 ก.ค. 2553)‎ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผย ว่า ศธ.กำลังพิจารณาช่วยเหลือเงินเพิ่มการครองชีพครูชั่วคราว หรือเรียกว่า ค่าตอบแทนชั่วคราว แก่ครูโรงเรียนเอกชน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอน หลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2553 อนุมัติในหลักการ ให้การช่วยเหลือเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวแก่ครูโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาและอาชีวศึกษา โดยเฉพาะครูที่ได้รับเงินเดือนน้อยกว่า 11,700 บาท ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนในขณะนี้ สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)กำลังสำรวจรายละเอียด ข้อมูลการจ่ายเงินเดือนครูและบุคลากรของโรงเรียนเอกชนและจะต้องไปประสานงานกับสำนักงบประมาณเพื่อให้ได้ข้อยุติในการดำเนินการตามมติครม.
นายชินวรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่า จำนวนครูโรงเรียนเอกชนที่เงินเดือนต่ำกว่า 11,700 บาทและมีสิทธิรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวมีจำนวน 63,135 คน คาดว่าจะใช้งบประมาณ 89 ล้านบาทต่อเดือนและงบประมาณที่จะต้องใช้ระหว่างเดือนพ.ค. – ก.ย. 2553 จำนวน 499 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2554 จะต้องใช้งบประมาณ 1,079 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากข้อมูลเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศจำนวน 84,482 คนพบว่าอัตราเงินเดือนตั้งแต่ต่ำกว่า 5,310 บาทและสูงสุด 40,000 บาทขึ้นไป ซึ่งครูที่เงินเดือนต่ำกว่า 5,310 บาท มีจำนวน 883 คน และเงินเดือนสูงกว่า 11,700 บาท จำนวน 21,347 คน โดยครูโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่มีอัตราเงินเดือนที่ต่ำ
สิงคโปร์มอบเงินช่วยครอบครัวแรงงานไทยเสียชีวิต
(สำนักข่าวไทย
, 1 ก.ค. 2553‎) นายศุภกิจ บุญญฤทธิพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นตัวแทนของกระทรวงแรงงาน ของประเทศสิงคโปร์ มอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวของนายเอกภาพ จันทร์ตา อายุ 35 ปี ชาวบ้าน ม.8 ต.เสริมขวา อ.เสริมงาม ที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง วันนี้ (1 ก.ค.) หลังจากสำนักงานแรงงานประเทศสิงคโปร์ ตรวจสอบพบว่า นายเอกภาพ เป็นแรงงานไทยมาทำงานกับนายจ้างที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างรื้อถอนโครงสร้างอาคาร และเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะปฏิบัติงาน เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2553 ทางสำนักงานเงินทดแทน กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ จึงมอบเงินทดแทนตามกฎหมายแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจำนวน 107,180 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 2,500,000 บาท โดยมอบเงินดังกล่าวผ่านกระทรวงแรงงานของไทย เพื่อจัดสรรให้ผู้เป็นบิดา และมารดา คนละ 5,359 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนภรรยา และบุตร ได้รับเงิน 96,462 ดอลลาร์สิงคโปร์
สปส.เผยเงินกู้หมื่นล้านเกลี้ยงลูกจ้างแนะปรับเงื่อนไข
(คม-ชัด-ลึก
, ‎30 มิ.ย. 2553‎) นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เงินกู้ยืมสำหรับผู้ประกันตน 1 หมื่นล้านบาทหมดแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลผลเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด)ประกันสังคมที่จะประชุมในวันที่ 13 กรกฎาคม โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อปรับปรุงหนี้สิน (รีไฟแนนซ์) ส่วนการกู้เพื่อซ่อมแซมบ้านนั้นมีจำนวนน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะดำเนินการต่ออีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่บอร์ดจะพิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการนำงบประมาณกว่า 200 ล้านบาทไปจัดทำหนังสือผลบอร์ด นายปั้นกล่าวว่า ล่าสุดยังไม่มีการนำเสนอสู่บอร์ดแต่อย่างใด เพียงแต่มีการจัดทำเป็นพิมพ์เขียวไว้เท่านั้น แต่จะทำเป็นหนังสือหรือไม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม
ด้านนายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า การปล่อยกู้ของสปส.ในครั้งที่ผ่านมาแทบไม่ถึงผู้ประกันตนที่มีรายได้น้อยเลย เพราะธนาคารตั้งเงื่อนไขไว้สูง เช่น ต้องกู้เงินทีละมากและต้องมีรายได้มากกว่า 2 หมื่นบาท แต่โดยข้อเท็จจริงคือผู้ประกันตนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีรายได้เพียงเดือนละ 6 , 000-8 , 000 บาท ดังนั้นหากจะมีการปล่อยกู้งวดใหม่ สปส.ควรปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนระดับรากหญ้าได้เข้าถึงบ้าง เพราะบางคนต้องการกู้เงินเพียง 1-2 แสนบาท ซึ่งอย่างน้อยก็น่าจะมีการปล่อยกู้ให้ได้ตามกำลังที่ผู้ประกันตนสามารถใช้หนี้ได้
ก.วิทย์ฯจับมือแรงงาน ผุดโครงการรากฟันเทียมช่วยลูกจ้าง
(ไทยรัฐ
, 29 มิ.ย. 2553‎) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพในช่องปาก และการบดเคี้ยวอาหารเป็นจำนวนมาก อันนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสุขภาพร่างกาย ทำลายคุณภาพชีวิตที่ดี และนำไปสู่ปัญหาอุปสรรคของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างเป็นลูกโซ่ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติด้านทันตกรรม พบประชาชนที่สูญเสียฟันที่ใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร ตั้งแต่ 1 ซี่ขึ้นไปจนหมดทั้งปาก มีอยู่ถึง 18 ล้านคน หรือร้อยละ 28 ของประชาชนในประเทศ และมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อันมีสาเหตุเริ่มต้นจากเป็นโรคฟันผุ โรคเหงือก จนนำไปสู่การถอนฟันออกตั้งแต่ 1 ซี่ขึ้นไป
การรักษาโดยทันตกรรมรากฟันเทียม เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยม และให้ผลการรักษาที่ชัดเจน สามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมามีฟันใช้บดเคี้ยวอาหารได้เป็นอย่างดีอีก แต่เนื่องจากค่าบริการการรักษามีราคาสูง ซี่หนึ่งมีราคาตั้งแต่ 60,000 บาท ไปจนถึง 120,000 บาท ทำให้ผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน หรือผู้ใช้แรงงานหาเช้ากินค่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่มีโอกาสได้รับการรักษาด้วยวิธีการนี้
ดังนั้น วท.จึงร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดทำโครงการรักษาฟื้นฟูแก้ปัญหาประชาชนไทยผู้ใช้แรงงาน ที่ไม่มีฟันตั้งแต่ 1 ซี่ขึ้นไป ให้ได้รับการรักษาด้วยวิธีการทันตกรรมรากฟันเทียม ภายใต้ชื่อโครงการ “รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติ สำหรับประชาชนไทยผู้ใช้แรงงาน” จำนวนเริ่มแรก 20,000 ราก ให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยมีศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมรากฟันเทียมตามพระราชดำริ จะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและการบริหาร จัดการ การให้บริการทันตกรรมรากฟันเทียม แก่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ กับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เพื่อให้โครงการดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ และบรรลุเป้าหมายของโครงการต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท