Skip to main content
sharethis

กระทรวงสาธารณสุขของพม่าในเมืองเนปีดอว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พบการแพร่ระบาดของกาฬโรคในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อที่แน่นอน อย่างไรก็ตามพบว่าส่วนใหญ่แล้วหนูคือพาหะของการแพร่ระบาดของโรคชนิดนี้

 

กาฬโรคระบาดในย่างกุ้ง
กระทรวงสาธารณสุขของพม่าในเมืองเนปีดอว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พบการแพร่ระบาดของกาฬโรคในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งยังไม่ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อที่แน่นอน อย่างไรก็ตามพบว่า ส่วนใหญ่แล้วหนูคือพาหะของการแพร่ระบาดของโรคชนิดนี้ 

นักระบาดวิทยาได้ให้ข้อมูลกับนักข่าวว่า มีการพบกลุ่มผู้ติดเชื้อกาฬโรคตั้งแต่เดือนมิถุนายนใน ย่างกุ้ง และตอนนี้ผู้ป่วยทั้งหมดยังคงมีชีวิตอยู่หลังจากได้รับการรักษา จากกระทรวงสาธารณสุข

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า เป็นครั้งแรกในรอบสิบปีที่พบกาฬโรคระบาดในย่างกุ้ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ยังไม่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบว่าเกิดการระบาดของกาฬโรค

ด้านนักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยในย่างกุ้งระบุว่า รัฐบาลไม่ควรปกปิดข้อมูลการระบาดของโรค ในทางกลับกัน รัฐบาลควรจะเปิดเผยการระบาดของโรคดังกล่าวให้ประชาชนได้รับรู้ เพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน

“ผลจากการปกปิดเรื่องปัญหาสุขภาพ ต่อประชาชน นั่นหมายความว่า เราเองกำลังหยิบยื่นความเสี่ยงให้กับชีวิตของประชาชน” นักศึกษาแพทย์กล่าว อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในย่างกุ้งระบุว่า ในปัจจุบันนี้ กาฬโรคไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด และสามารถรักษาได้ หากได้รับการวินิจฉัยโรคตั้งแต่เบื้องต้น

ด้านกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพัฒนาและดำเนิน การโครงการกำจัดหนู เพื่อป้องกันเชื้อกาฬโรค เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการเทศบาลในย่างกุ้งเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อกำจัดหนู โดยได้กำจัดหนูจำนวน 1 หมื่นตัวต่อวัน
 
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า มีการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า หนูที่อพยพจากเนย์ปีดอว์ลงไปยังทางภาคใต้ของประเทศมีเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นพาหะของโรคติดต่อชนิดอื่นๆ รวมถึงเชื้อกาฬโรครวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งโครงการรักษาโรคติดต่อเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคแล้ว

ทั้งนี้แหล่งข่าวคนหนึ่งระบุว่า แผนเฝ้าระวังเชื้อกาฬโรคได้เริ่มดำเนินการแล้วในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลในเนย์ปีดอว์

ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่าได้ออกมาประกาศเตือนประชาชนและระบุว่ากาฬโรคสามารถติดต่อสู่คนได้โดยตัวผ่านตัวเห็บหมัด แต่ไม่ได้ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโรคนี้แล้วในกรุงย่างกุ้ง

อย่างไรก็ตาม ทางกรมปศุสัตว์ของพม่าได้ประกาศว่า หากประชาชนพบเห็นซากหนูที่ตายแล้ว ให้นำมาส่งยังกรมปศุสัตว์ที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อนำไปตรวจสอบหาเชื้อโรค (ที่มา: Irrawaddy/5 กรกฎาคม 2553)

 

000

สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ (30 มิ.ย.- 5 ก.ค.53 )

 

30 มิถุนายน 2553

ออสเตรเลียเอาจริง ขับลูกสาวนายพลพม่าออกประเทศ

ซินหม่องเอ หญิงชาวพม่าวัย 25 ปี ต้องถูกขับออกจากออสเตรเลีย หลังทางการออสเตรเลียพบว่าเธอพัวพันกับรัฐบาลพม่าในฐานะลูกสาวของ พลจัตวาซินยอ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะรัฐบาลทหารพม่า ขณะที่ทางการออสเตรเลียออก มาระบุว่า การให้บุตรสาวของนายพลพม่าอยู่ในประเทศต่อไป อาจขัดกับนโยบายคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหารพม่าและครอบครัว ซึ่งเป็นนโยบายของออสเตรเลียเอง

ด้านซินหม่องร้องขอว่า นโยบายคว่ำบาตรต่อรัฐบาลพม่าไม่ควรนำมาใช้กับสมาชิกในครอบครัวของ คณะรัฐบาล ทหาร โดยเฉพาะสมาชิกครอบครัวที่ไม่ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหาร ซินหม่องเอยังกล่าวว่า เธอไม่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องการเงินจากพ่อของเธอแต่อย่างใด อีกทั้งเธอยังเตรีมทำงานทันทีที่จบปริญญาโท พร้อมกันนี้ เธอยังเปิดเผยว่า ส่วนตัวของเธอเองก็ไม่เห็นด้วยที่ครอบครัวให้การสนับสนุนรัฐบาล ทหารพม่า อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดซินหม่องเอถูกส่งตัวกลับพม่าแล้ว (ที่มา: Irrawaddy)

พรรคมอญใหม่ครบรอบ 15 ปี บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา

มีรายงานว่า แม้พรรคมอญใหม่ (New Mon State Party) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มหยุดยิงจะครบ รอบ 15 ปีแห่งการก่อตั้งเมื่อวันอังคารที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่กลับพบว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา โดยในปีนี้ไม่มีพิธีเฉลิมฉลองเหมือนที่เคยจัดขึ้นอย่างทุกปีแต่อย่างใด

ในอีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพม่าและพรรคมอญใหม่กำลังเข้าขั้นวิกฤติ ตั้งแต่หลายเดือนก่อน หลังจากที่พรรคมอญใหม่ปฏิเสธเข้าร่วมเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) ขณะที่ประเด็นเรื่องกองกำลังรักษาชาย แดนได้ทำให้ผู้นำระดับสูงในพรรคมอญใหม่ แบ่งออกเป็นสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มติในพรรคส่วนใหญ่เห็นว่า จะจับปืนต่อสู้กับรัฐบาลพม่าอีกครั้งและยกเลิกสัญญาหยุดยิง หากถูกบังคับให้เข้าร่วมเป็นกองกำลังรักษาชายแดนหรือในกรณีที่ถูก กองทัพพม่า โจมตี ด้านผู้สังเกตการณ์เชื่อว่า ผู้นำระดับสูงส่วนหนึ่งของพรรคมอญใหม่อาจ ไม่ต้องการทำสงครามกับรัฐบาลพม่า เนื่องจากผลประโยชน์ทางธุรกิจ และไม่อยากทิ้งชีวิตที่สุขสบายในเมืองไปลำบากอยู่ในป่าอีกครั้ง (ที่มา: Irrawaddy)

ผู้ป่วยไข้เลือดออกในย่างกุ้งสูงขึ้นต่อเนื่อง

ระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคมที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกจำนวนกว่า 900 คนในเขตกรุงย่างกุ้งเพียงแห่งเดียวและตัว เลขผู้ป่วยยังสูงขึ้นอย่างต่อ เนื่อง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ถึง 80 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตนับตังแต่เดือน มกราคมที่ผ่านมามีทั้งหมด 6 รายแล้ว ซึ่งตามข้อมูลของทางการพม่าระบุว่า มีผู้ป่วยเป็นไข้เลือกออกทั้งหมด 3,129 ราย และเสียชีวิตจำนวน 37 ราย เมื่อปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม พบการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกเป็นจำนวนมาก ในเขตกรุงย่างกุ้ง ภาคพะโค ภาคสะกาย ภาคอิรวดีและในรัฐมอญระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูมรสุม (ที่มา: Mizzima)
 

2 กรกฎาคม 2553
 
โจ๋พม่าอาจไปใช้สิทธิน้อย ในการเลือกตั้ง 2010

รัฐบาลพม่าได้ออกมาประกาศว่า มีผู้สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งถึง 30.7 ล้านคน ซึ่งถือว่าตัวเลขผู้สามารถใช้สิทธิมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร ของประเทศ ที่มีอยู่ทั้งหมด 59 ล้านคน ทั้งนี้ 52 เปอร์เซ็นต์พบในประชาชนที่มีอายุระหว่าง 20 – 39 ปี แม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ที่มีอายุครบ 18 ปีสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ แต่ขณะเดียวกัน กลับมีรายงานว่า ผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาวกลับไม่ ได้ให้ความสนใจการเมืองและการเลือกตั้งใน รอบ 20 ปีที่จะมาถึงนี้แต่อย่างใด

เช่นเดียวกับบรรณาธิการจากนิตยสารวัยรุ่นฉบับหนึ่งระบุว่า กลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2008 (2551) ที่ปูทางการเลือกตั้งที่จะมาถึง สอดคล้องกับผู้สังเกตการณ์ที่แสดงความเป็นห่วงว่า วัยรุ่นพม่าอาจตัดสินใจไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ขณะที่ประชาชนวัย 28 ปี รายหนึ่งเปิดเผยว่า กฎหมายเลือกตั้งที่จำกัดบทบาทพรรคการเมืองเช่น การห้ามผู้ลงสมัครกล่าวปราศรัยในพื้นที่สาธารณะนั้น จะยิ่งทำให้ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ในภาคมวลชน อย่างไรก็ตามพบว่า กลุ่มฝ่ายค้านที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อสู้กับ รัฐบาลเผด็จการใน ปัจจุบัน ล้วนแล้วเป็นอดีตนักศึกษาปี 1988 (2531) และ กลุ่มคนหนุ่มสาวเมื่อหลายสิบปีก่อนแทบทั้งสิ้น (ที่มา: DVB)
 

3 กรกฎาคม 2553

ทหารพม่าไถเงินวัยรุ่นโรฮิงยาดูบอลโลก อ้างผิดกฎหมาย

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ทหารพม่าเดินทางไปเรียกเก็บเงินวัยรุ่นถึงหอประชุมในหมู่บ้าน Safaddin Bill เมืองมงดอว์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ฉายการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยวัยรุ่นชาวมุสลิมโรฮิงยาถูกเรียบเก็บเงินคนละ 3,000 จั๊ต (ราว 101 บาท) ขณะที่ทหารพม่าอ้างว่า การเรียกเก็บเงินจากชาวมุสลิมโรฮิงยาครั้งนี้ เป็นเพราะทางการพม่าไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิมโรฮิงยาดูการถ่ายทอดสดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก

ขณะที่ตามปกติแล้ว ผู้ที่ต้องการชมการการแข่งขันฟุตบอลต้องจ่ายเงินเพียง 200 จ๊ต (7 บาท) เท่านั้น อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นในพื้นที่ต่างให้ความ สนใจชมการแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมทหารพม่าเหมือนโจร (ที่มา: Kaladan)

 

5 กรกฎาคม 2553

ตัวแทนพม่าเยือนจีน เชื่อตอบประเด็นเรื่องนิวเคลียร์

นายติ่นอ่องมิ้นอู ผู้นำหมายเลข 5 ของรัฐบาลพม่าเดินทางเยือนจีนเพื่อ หารือถึงสถานการณ์ตรงชายแดนพม่า  - จีน รวมถึงการเลือกตั้งของพม่าที่จะมาถึง ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อ การเยือนของผู้นำรัฐบาลพม่าครั้งนี้ ยังมีจุดประสงค์ เพื่อตอบคำถามกับรัฐบาลจีนถึงกรณีที่มีข่าวโครงการนิวเคลียร์พม่า เล็ดลอดออก มาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จีนยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อกรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลพม่ากำลังมีแผนที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า จีนคงไม่ต้องการเห็นเพื่อนบ้านอย่างพม่าครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์เตือนว่า หากโครงการนิวเคลียร์พม่าเกิดขึ้นจริง เชื่อว่าจะส่งผลต่อความมั่นคงในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม สถานีโทรทัศน์ของพม่ารายงานว่า นายติ่นอ่องมิ้นอูเดินทางเยือนจีนตามคำเชิญของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน เท่านั้น (ที่มา: DVB)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net