Skip to main content
sharethis

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ หรือ "กรุงเทพโพลล์" เผยผลสำรวจคน กทม. คิดว่าตนมีความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตระดับปานกลาง โดยเป็นความเสี่ยงด้านการเมืองมากที่สุด รองลงมาคือความเสี่ยงด้านสุขภาพร่างกาย และด้านค่าครองชีพและหนี้สิน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.5 ยังเสนอให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่ร้อยละ 37.5 เห็นว่าไม่ควรยกเลิก

วานนี้ (6 ก.ค.) ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,146 คน พบว่า คนกรุงเทพฯ  เห็นว่าตนเองมีความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตในระดับปานกลาง (เฉลี่ยรวม 5.94 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) โดยความเสี่ยงด้านการเมืองมีคะแนนสูงที่สุดคือ 7.59 คะแนน รองลงมาคือความเสี่ยงด้านสุขภาพร่างกาย (6.61 คะแนน) และความเสี่ยงด้านค่าครองชีพและหนี้สิน (6.41 คะแนน) ตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา (3 เดือนที่แล้ว) พบว่าความเสี่ยงของคนกรุงเทพฯ มีคะแนนเพิ่มขึ้น 0.52 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.6 จากฐานเดิม  และเมื่อพิจารณาในรายตัวชี้วัดทั้ง 10 ตัว พบว่า ความเสี่ยงด้านการสูญเสียวัฒนธรรมประเพณี และสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ มีคะแนนความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสูงที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 1.11 คะแนน

สำหรับสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต ซึ่งกรุงเทพโพลทำเป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุคำตอบเองโดยอิสระ พบว่าอันดับแรก ร้อยละ 22.3 ต้องการให้เร่งสร้างความปรองดองและความสามัคคีในชาติโดยให้ทุกฝ่ายหยุดใช้สื่อในการสร้างความแตกแยก รองลงมาร้อยละ 20.3  ต้องการให้แก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาค่าครองชีพ และความเป็นอยู่ของประชาชน และร้อยละ 17.2  ต้องการให้แก้ปัญหารถติด ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้สะดวก ปลอดภัย และทันสมัย

ให้แก้ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด โจรผู้ร้าย ร้อยละ 11.7 ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 11.0 ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ มีความมั่นคงทางการเมือง ร้อยละ 4.2 และอื่นๆ เช่น  สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม/ฟื้นฟู/ปรับภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯ และยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ ฯลฯ  ร้อยละ 13.3

ส่วนความเห็นต่อการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 62.5 เห็นว่าควรยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร ขณะที่ร้อยละ 37.5 เห็นว่าไม่ควรยกเลิก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net