Skip to main content
sharethis

วันนี้ (11 ก.ค.) เวลา 09.00 น.  ณ  สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี  กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 76 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย  และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ดังนี้  

ช่วงที่ 1   

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่านครับ กลับมาพบกันเช่นเคยนะครับเช้าวันอาทิตย์  สำหรับสัปดาห์นี้นะครับรายการจะมีด้วยกัน 3 ช่วงด้วยนะครับ ช่วงแรกผมจะทำหน้าที่ในการรายงานพี่น้องประชาชนถึงการทำงานในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเหมือนกับที่เคยปฏิบัติมาทุกสัปดาห์  ช่วงที่ 2 จะมีการสนทนากับพิธีกรรับเชิญ และช่วงสุดท้ายจะมีการเก็บเอาบรรยากาศที่มีการจัดเวทีต่าง ๆ โดยทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยทางภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการที่จะมาร่วมกันในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งจะมีทั้งความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้มีการสะท้อนออกมา และรวมทั้งมีข้อคิดที่ผมได้ไปฝากไว้กับองค์กรต่าง ๆ ด้วย

ยกเลิกการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 5 จังหวัด

แต่ว่าเริ่มต้นจากการทำงานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนนะครับ  เรื่องแรกคงจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการในเรื่องของสถานการณ์โดยทั่วไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นการครบรอบ 90 วันหลังจากที่ได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงเมื่อวันที่ 7 เมษายน ซึ่งตามกฎหมายนั้นทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องมาพิจารณาว่าเมื่อการประกาศนั้นสิ้นสุดลง 90 วันจะมีการขยายอายุหรือไม่อย่างไร  ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาทั้งหมดเลย คือวันที่ 7 เมษายนนั้นเราประกาศเพียงบางจังหวัดคือกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล  ต่อมาได้มีการประกาศทั่วประเทศ 24 จังหวัด เพราะฉะนั้นก็ได้มีการนำเอาสถานการณ์ในภาพรวมมาประเมิน โดยทางศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) นั้นได้มีการนำเสนอมา ศอฉ.นั้นความจริงแล้วคิดว่าอยากจะให้เรามีความรัดกุมระมัดระวังเป็นพิเศษ ก็เสนอว่าอยากจะให้ขยายเวลาเรื่องของภาวะฉุกเฉินร้ายแรงในทุกจังหวัดที่ได้เคยมีประกาศภาวะฉุกเฉินไป แต่ว่าทางคณะรัฐมนตรีนั้นได้มีการพิจารณา และเห็นว่าในบางจังหวัดซึ่งสถานการณ์ได้คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะที่เป็นปกติแล้ว ก็สมควรที่จะได้เร่งในการที่จะคืนความเป็นปกติให้  โดยมีการยกเลิกเรื่องของสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่งในที่สุดก็ได้มีการพิจารณากันแล้วเห็นว่ามี 5 จังหวัดที่สามารถที่จะยกเลิกภาวะฉุกเฉินได้ ส่วนในจังหวัดที่ยังมีการประกาศอยู่  ก็ได้มีการพูดกันชัดเจนว่าก็ต้องพยายามเร่งในการที่จะทำให้สภาวะกลับเข้าสู่ความเป็นปกติ  

และสิ่งที่สำคัญคือว่าเราก็ไม่พยายามที่จะมีกฎหมายพิเศษหรือใช้อำนาจพิเศษนานจนเกินไป และที่สำคัญคือว่าเสียงเรียกร้องที่อยากจะให้มีการยกเลิกนั้น ก็จะมาจาก 2 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือเรื่องของกลุ่มที่มีความรู้สึกว่าอาจจะมีการไปจำกัดและละเมิดสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนมากจนเกินไป ซึ่งตรงนี้ก็ได้มีการพิจารณาและทำความเข้าใจกันว่าโดยทั่ว ๆ ไปแล้วการจำกัดสิทธิ์ก็มีค่อนข้างน้อย จริงๆ  แล้วข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ออกมานั้นมีความยืดหยุ่นพอสมควร และโดยทั่ว ๆ ไปพี่น้องประชาชนในจังหวัดที่ยังมีการประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงก็สามารถที่จะใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ เพียงแต่ว่าการมีอำนาจพิเศษตรงนี้ก็ช่วยให้ทางรัฐบาลนั้นสามารถที่จะบูรณาการทางเจ้าหน้าที่ซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ด้วยความมั่นใจ มีขวัญกำลังใจมากยิ่งขึ้น และในบางพื้นที่ซึ่งยังมีลักษณะของการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงได้ ก็จะได้สามารถที่จะป้องกัน และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที  

กำชับทุกหน่วยงานตรวจสอบการร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์

นอกจากนั้นผมเองก็ได้ติดตามข่าวสารต่าง ๆ ซึ่งบางทีก็มีการนำเสนอว่ามีการละเมิดสิทธิของพี่น้องประชาชน โดยการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือไม่ ก็ขอเรียนนะครับว่า ข้อแรกเลยก็คือหลายครั้งก็มีความสับสนคิดว่าการมีการประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงหมายความว่าทางรัฐบาลโดยเจ้าหน้าที่อาจจะไปจับกุมใคร ขังใคร บางคนพูดถึงขั้นขนาดว่าไปขังลืม ไม่มีนะครับ และก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าตามกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้อย่างนั้น เช่น การที่จะไปควบคุมตัวใครก็จะต้องมีการออกหมาย ขอหมายศาล ศาลจะเป็นผู้ที่จะพิจารณา แล้วจะมีห้วงเวลา เช่น 7 วัน และถ้าหากว่าจะมีการขยายเวลานั้น ศาลก็จะเป็นผู้วินิจฉัยอีกว่าจะอนุญาตให้มีการควบคุมตัวไว้หรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตามครับผมได้กำชับทุกหน่วยงานว่าทุกครั้งที่มีกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์ ขอให้มีการตรวจสอบ และขอให้มีการปฏิบัติโดยเคารพสิทธิมนุษยชน และทุกอย่างต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของกฎหมาย นอกจากนั้นครับระบบข้อมูลและฐานข้อมูลต่าง ๆ เช่นว่ามีการเชิญตัวใคร มีการออกหมายจับใครอย่างไรนั้น ก็ควรที่จะได้มีการเปิดเผยทั้งหมดเพื่อจะได้ตรวจสอบได้ และหลีกเลี่ยงการที่มีบุคคลไปให้ข่าวหรือปล่อยข่าวว่า มีการไปควบคุมตัว มีการไปจับกุม ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามพระราชกำหนด อย่างนี้เป็นต้น  

นอกจากนั้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาผมยังได้มีโอกาสทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนและองค์รกรต่างประเทศอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ซึ่งได้อธิบายให้ชัดเจนครับว่าในบางกรณีก็ไม่ใช่การดำเนินการตามพ.ร.ก.ด้วยซ้ำไป แต่ ว่า เข้าสู่กระบวนการของประมวลวิธีพิจารณาความอาญาหรือตามกฎหมายตามปกติ  อย่างกรณีของแกนนำผู้ชุมนุม อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นการตัดสินใจของรัฐบาล และเราจะมีการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หมายความว่าการขยายอายุไปแล้วแปลว่าจะต้องมีการใช้ครบ 90 วัน เพราะว่าในหลายจังหวัดที่เรามีการยกเลิกไปก็ยังไม่ครบ 90 วันด้วยซ้ำ แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายได้ เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจ  มากขึ้นว่าจะควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ก็สามารถที่จะยกเลิกได้ก่อน ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบกำหนดเวลา  

ออกกฎหมายเฉพาะกิจให้ผู้ครอบครองอาวุธสงครามนำมาคืนรัฐโดยไม่มีความผิด

มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งทางคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของเหตุการณ์ ก็คือปัญหาในเรื่องของอาวุธสงคราม ซึ่งตลอดระยะเวลาตั้งแต่ก่อน แม้กระทั่งมาถึงช่วงการชุมนุม และแม้กระทั่งหลังจากการชุมนุมซึ่งมีการก่อเหตุวินาศกรรมนั้น เราก็จะมีปัญหาในเรื่องของอาวุธสงครามมาโดยตลอด คณะรัฐมนตรีก็เห็นว่าถึงเวลาที่จะได้มีการออกกฎหมาย เป็นกฎหมายในลักษณะที่เป็นกฎหมายเฉพาะกิจ  ก็คือว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาจะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ครอบครองอาวุธสงคราม หรืออาวุธต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายสามารถที่จะนำอาวุธมาคืนทางรัฐได้ โดยไม่มีความผิด ซึ่งอันนี้ก็จะเปิดโอกาสให้ จะมีห้วงเวลาครับ เช่น 60 วันหลังจากที่กฎหมายบังคับใช้  ซึ่งกฎหมายนี้ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปตรวจพิจารณาอยู่ รัฐบาลก็ตั้งใจที่จะผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเมื่อเปิดสมัยประชุมต้นเดือนสิงหาคม และอยากจะขอความร่วมมือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ให้ตรากฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนซึ่งอาจจะครอบครองอาวุธที่ไม่ถูกต้องอยู่สามารถนำมาคืนรัฐโดยไม่มีความผิดได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนะครับจะไม่ไปยกเว้นความผิดให้กับคนที่ได้มีการนำอาวุธเหล่านี้ไปใช้หรือถูกจับกุมหรือถูกดำเนินคดีก่อนที่กฎหมายใช้บังคับ เราก็หวังว่าช่องทางนี้จะเป็นช่องทางที่ช่วยทำให้ปัญหาในเรื่องของอาวุธสงครามซึ่งตกไปอยู่ในมือของผู้ที่ก่อความไม่สงบบ้าง ก่อวินาศกรรมบ้าง หรือแม้กระทั่งนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมปกติ ก็จะได้ลดลง อันนี้ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่งซึ่งรัฐบาลก็ได้มีการดำเนินการเพื่อที่จะหาทางที่จะใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยและก็เดินหน้าประเทศไทยต่อไป  

กำหนดให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ รายงานความคืบหน้าทุก 6 เดือน

สำหรับในความคืบหน้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนปรองดอง รวมไปถึงแผนปฏิรูป คณะกรรมการที่จะมาตรวจสอบข้อเท็จจริงคือคณะกรรมการที่อาจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธานนั้น คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อที่จะเปิดให้ท่านประธานคณะกรรมการชุดนี้นั้นมีอิสระในการไปแต่งตั้งบุคคลที่ท่านเห็นสมควรว่าจะเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อความเป็นอิสระแล้วก็ได้มีการออกระเบียบเพื่อรองรับการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ โดยกำหนดอายุของคณะกรรมการชุดนี้ไว้ว่าทำงานให้เสร็จภายใน 2 ปีแต่ว่าขอให้มีการรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ ทุก 6 เดือน เหตุผลที่ใช้เวลานานเพราะว่าท่านประธานคณะกรรมการได้เสนอว่านอกเหนือจากการตรวจสอบในเรื่องของข้อเท็จจริงในเหตุการณ์แล้วก็ควรจะได้มีการศึกษาย้อนกลับไปจนถึงเรื่องของสาเหตุที่มาของปัญหาความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวง และนำไปสู่การมีข้อเสนอแนะด้วยในเรื่องของการที่จะนำไปสู่การปรองดอง  

สำหรับคณะกรรมการปฏิรูป และสมัชชาปฏิรูป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีไปตั้งแต่สัปดาห์ก่อน และได้มีการแต่งตั้งประธาน 2 ท่านคือ ท่านอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน และนพ.ประเวศ วะสี ขณะนี้ประธานทั้ง 2 ท่านได้ตั้งคณะกรรมการเป็นที่เรียบร้อย และคงจะเดินหน้าทำงานได้แล้ว เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ก็เป็นความคืบหน้าในเรื่องของการผลักดันเรื่องของแผนปรองดองและการปฏิรูป สำหรับเรื่องของสื่อสารมวลชน นอกเหนือจากการประสานงานซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนั้น เมื่อช่วงที่ผ่านมานะครับ ความจริงวันนี้เป็นวันที่ครบรอบ 22 ปีของช่อง 11 แต่ว่าเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมได้มีการจัดงาน ผมก็ได้ใช้โอกาสนั้นในการแถลงว่าเราก็กำลังเดินหน้าในการปฏิรูปสื่อ แม้กระทั่งช่อง 11 เองหรือสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยเอง ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน จะพยายามเปิดพื้นที่ให้เกิดความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ผมก็คงจะต้องทำหน้าที่ในการเดินสายเพื่อจะพูดคุยกับทางสื่อสารมวลชนด้วย ซึ่งจะได้รับข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการปฏิรูปสื่อ หรือปัญหาข้อจำกัดการทำงานของสื่อในสภาวะปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงการชุมนุม ในช่วงที่มี พ.ร.ก. และเรื่องอื่น ๆ ด้วย และต้องครอบคลุมไปถึงสื่ออื่น ๆ เช่นกรณีของสื่ออินเตอร์เน็ตด้วย อันนี้ก็เป็นการทำงานของรัฐบาลในสัปดาห์ที่ผ่านมาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารของสถานการณ์ของบ้านเมือง 

นักลงทุนชั้นนำในภูมิภาคสนใจเข้าร่วมสัมมนางานยูโรมันนี่ปีนี้เพิ่มสูงสุด

สำหรับในเรื่องเศรษฐกิจมีเรื่องที่อยากจะรายงานอยู่พอสมควร  เรื่องแรกคืออยากจะยืนยันครับว่าความสนใจของนักลงทุนชาวต่างประเทศ นักธุรกิจชาวต่างประเทศในศักยภาพของเศรษฐกิจไทยยังมีมาก เมื่อวันอังคารผมไปเปิดการประชุมสัมมนาที่เขาจัดขึ้นโดยยูโรมันนี่  ก็เป็นการดึงเอานักลงทุนชั้นนำในภูมิภาคมาร่วมสัมมนา ปรากฏว่าความสนใจในปีนี้เพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่ได้มีการจัดงานเช่นนี้มาทุกปี ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติก็สูงที่สุดด้วย  ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี  นอกจากนั้นยังมีนักลงทุนรายใหญ่ เช่น ประธานของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ ก็เดินทางมา เพราะว่าปีนี้เป็นปีที่เขาผลิตรถยนต์ครบ 2 ล้านคันและกำลังมีการที่จะขยายการผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือรถยนต์ประหยัดพลังงาน เมื่อสัปดาห์ก่อนก็มีการประกาศการลงทุนของฟอร์ด เพราะฉะนั้นการยืนยันสถานะของประเทศของเราในการเป็นศูนย์กลางของการผลิตยานยนต์ ซึ่งป้อนเข้าสู่ตลาดไม่ใช่เฉพาะในประเทศ แต่ว่าส่งออกไปในภูมิภาคด้วย แม้กระทั่งในภูมิภาคอื่นด้วย ก็ดูจะมีความเข้มแข็งขึ้น   

การให้บริการเริ่มต้นธุรกิจ ณ จุดเดียว

ส่วนการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีความคืบหน้าอยู่อีก 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องที่ทางกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง ได้ร่วมมือกันจัดทำการปรับปรุงขั้นตอนในเรื่องของการที่จะเริ่นต้นธุรกิจ โดยทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ปัจจุบันได้ร่วมกันปรับปรุงบริการ ให้นักธุรกิจที่ต้องการที่จะเริ่มต้นธุรกิจไปออกเลขทะเบียนนิติบุคคล เลขประจำตัวผู้เสียภาษี และเลขที่บัญชีนายจ้าง ที่จุดเดียวกัน ภาษาอังกฤษก็จะใช้คำว่า Single Point ผมก็ได้ไปเปิดสำนักงานที่ให้บริการในเรื่องนี้ ในเรื่องของการบริการจุดเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการลดขั้นตอน ซึ่งจากเดิมขั้นตอนนี้ใช้เวลาถึง 4 วันก็จะเหลือเพียง 90 นาที และจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้การจัดอันดับเกี่ยวกับเรื่องของความง่ายในการทำธุรกิจที่ทางธนาคารโลกทำ และเราเคยอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก อันดับที่ 3 ในเอเชียมีโอกาสที่จะมีอันดับที่ดีขึ้นไปอีก อันนี้ก็เป็นการอำนวยความสะดวก

กำหนดแนวทางแก้ปัญหาการกำจัดขยะติดเชื้อทั้งระบบ

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งซึ่งยังค้างอยู่แม้ว่าจะยังไม่มีข้อยุติ แต่ว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีการพิจารณาข้อยุติของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ในเรื่องของปัญหาเกี่ยวกับกิจการซึ่งมีผลกระทบรุนแรงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 67 วรรสอง มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่ว่ารายละเอียดในเรื่องของ 18 กิจการนั้นมีมาก เพราะฉะนั้นก็จะมีการนัดให้มีการประชุมเป็นพิเศษเพื่อที่จะได้ดูข้อมูลให้ลึกที่สุด โดยได้ยึดเอาเจตนารมณ์ของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ได้มีการเสนอบัญชีรายชื่อ 18 กิจการมา ที่จะต้องใช้เวลาเพราะว่าใน 18 กิจการนี้อาจจะไปเกี่ยวกับกฎหมายหลายฉบับ และรูปแบบของประกาศที่จะออกมา อาจไปเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ยกตัวอย่างเช่นบางกิจการนั้นก็จะเป็นเรื่องของการนิคมฯ  อย่างนี้เป็นต้น หรือบางเรื่องก็ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของสาธารณสุข เช่น กิจการหนึ่งซึ่งได้มีการหยิบยกขึ้นมาก็คือปัญหาในเรื่องของเตาเผาขยะติดเชื้อ ซึ่งตรงนี้ทางคณะกรรมการก็บอกว่าจะดูเฉพาะตัวการผลิตหรือการใช้เตาเผาอย่างเดียวคงไม่ได้ น่าจะต้องดูในเรื่องของปัญหาการกำจัดขยะติดเชื้อทั้งระบบ ว่าจะมีการกำหนดแนวทางอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งจะได้มีการเรียกประชุมเป็นกรณีพิเศษในเรื่องนี้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้า โดยได้เร่งรัดให้ทางฝ่ายเลขาฯของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ นั้นไปรวบรวมเหตุผลข้อเท็จจริง ข้อมูลต่าง ๆ รวมไปถึงมาตรฐานที่มีอยู่ในโลกที่เกี่ยวข้องกับ 18 กิจการ  

นำร่องแจกโฉนดชุมชนใน 33 พื้นที่

นอกจากนั้นครับในการแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนขอรายงานสั้น ๆ  อีก 2 เรื่องคือว่าได้มีการเปิดสำนักงานในเรื่องของโฉนดชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ได้มีการกำหนดพื้นที่ซึ่งจะทำงานในเรื่องของการแจกโฉนดชุมชนได้ประมาณ 33 พื้นที่แล้ว และจะมีอย่างน้อย 2 พื้นที่ที่ได้มีความพร้อมในการไปแก้ระเบียบของชุมชนของสหกรณ์เรียบร้อย รองรับการใช้เรื่องของโฉนดชุมชนเข้าไปแก้ปัญหาที่ทำกิน อันนี้ก็เป็นความคืบหน้าที่สำคัญอีกข้อหนึ่งในเรื่องของการทำงานแก้ไขปัญหาพื้นฐานของพี่น้องประชาชน 

ออกมาตรการเพิ่มเติมแก้ปัญหาราคาไข่ไก่

สุดท้ายครับเรื่องที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องกันอยู่ก็คือราคาไข่  ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาตามข้อเสนอที่ได้มีการไปปรึกษาหารือกันก่อนหน้านี้ และผมก็ได้เกริ่นนำไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในเรื่องมาตรการที่จะไปบริหารจัดการในเรื่องของการส่งออกก็ดี  การเพิ่มไข่เข้าสู่ตลาดโดยการยืดอายุของแม่ไก่ที่เป็นไก่ไข่ ไปจนถึงการที่จะมีการแจกลูกไก่ให้กับทางกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการเบื้องต้นซึ่งจะรวมกับมาตรการที่ทางกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการอยู่ในเรื่องของธงฟ้าก็ดี ในเรื่องของการที่จะขอความร่วมมือจากห้างใหญ่ ๆ ให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบรรจุไข่ เพื่อที่จะลดต้นทุนลง เพื่อที่จะให้ราคาเริ่มลดลงมา แต่คณะรัฐมนตรีจะติดตามอย่างต่อเนื่อง และจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมในวันอังคารนี้เพราะได้มีการตกลงกันไว้แล้วว่าจะต้องมีการหารือเพิ่มเติมในมาตรการซึ่งจะต้องย้อนกลับไปถึงต้นน้ำ ก็คือกรณีของแม่พันธุ์ไปจนถึงเรื่องของโครงสร้าง ไม่ให้โครงสร้างของธุรกิจนี้เป็นลักษณะของการที่จะมีการผูกขาดตัดตอน หรือไม่เป็นการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม  โดยกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องไปดูเรื่องนี้ด้วยตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย  จริง ๆ ก็มีอีกหลายเรื่องนะครับซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ว่าเดี๋ยวพักกันสักครู่นะครับ แล้วจะกลับไปคุยกับพิธีกรรับเชิญและช่วงท้ายรายการอย่างที่ได้เรียนไว้แล้วคือว่าจะให้ได้ดูบรรยากาศของการระดมความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจก็ดี ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ดี เพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยครับ

ช่วงที่ 2

พิธีกร สวัสดีค่ะมาถึงช่วงที่ 2 ของรายการนะคะ ขออนุญาตแนะนำตัวเองค่ะ วันนี้ดิฉัน อัญชลีพร กุสุมภ์ ค่ะเป็นพิธีกรรับเชิญนะคะ ได้รับเกียรติจากท่านนายกรัฐมนตรีให้มาร่วมสนทนาในช่วงนี้ค่ะ สวัสดีค่ะท่านนายกฯ คะ

นายกรัฐมนตรี สวัสดีครับ

พิธีกร 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะเรียกว่า 2 สัปดาห์แล้วถ้าหากว่านับงานจบตั้งแต่เริ่มนะคะ 6 วัน 63 ล้านความคิด ท่านนายกฯ ประเมินว่าได้ดั่งที่ใจต้องการไหมคะ

นายกรัฐมนตรี คือก็คงจะตอบอย่างนี้นะครับว่าถ้าเราอยู่ในโลกของอุดมคติ เราก็อยากจะได้ความเห็นเกือบจะเรียกว่าครบถ้วนทุกคน ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วเป็นไปไม่ได้นะครับ กับสอง เราก็อยากจะให้คนได้มีโอกาสมาช่วยออกความคิดในเรื่องว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย จะเปลี่ยนแปลงสังคม จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรอย่างไรนะครับ แต่ว่าในความเป็นจริงผมก็อยู่การเมืองมา ผมทราบ เวลาเราเปิดช่องทางอย่างนี้ ก็จะมีพี่น้องประชาชนที่เขาเดือดร้อน เป็นเรื่องส่วนตัวบ้างอะไรบ้าง เขาก็จะโทรมา เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดา ในที่สุด 6 วันเราก็ได้ 60,000 กว่าความคิดเห็นนะครับและปัญหา และมีทั้งในส่วนที่เสนอแนะมา และก็มีทั้งในส่วนที่เป็นการร้องเรียนร้องทุกข์มา

พิธีกร คืออาจจะบ่นแสดงอารมณ์

นายกรัฐมนตรี บ่นแสดงอารมณ์ก็เหมือนกันนะครับก็ทำได้ แต่ว่าอย่างสัปดาห์ที่แล้วนี้ผมก็ได้บอกว่ามีหลายแง่มุมที่เราคิดว่ามันเป็นผลพลอยได้ 1. ก็คือส่วนของอาสาสมัคร ซึ่งอันนั้นก็คุยกันไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว 2. ก็คือแม้แต่ปัญหาเรื่องของการร้องเรียนร้องทุกข์ มันก็เป็นตัวที่ทำให้เราสามารถมาวิเคราะห์ ขณะนี้เราเอาทั้งหมด 61,681 สายที่เข้ามานี้มานั่งวิเคราะห์แล้วและมีศูนย์ที่เราใช้ ที่เรียกว่าศูนย์นวัตกรรมเพื่อสังคมและความร่วมมือ

พิธีกร คนที่เอาข้อมูลนี้มาวิเคราะห์คือหน่วยไหนคะ

นายกรัฐมนตรี ท่านที่ปรึกษาฯ อภิรักษ์ กับท่านรัฐมนตรีฯ สาทิตย์ นะครับเป็นบุคคลหลักในการที่จะมาช่วยแจกแจงตรงนี้ เขาก็จะเริ่มทำอย่างนี้ครับคือ 1. ไปแจกแจงเลยว่าแบ่งเป็นหมวดหมู่เป็นอย่างไร เช่น เศรษฐกิจก็จะมาอันดับ 1 ที่เป็นเศรษฐกิจชาวบ้าน ก็มีเรื่องการเมือง กระบวนการยุติธรรม ถัดมาก็เป็นสวัสดิการสังคม การศึกษา สาธารณูปโภค อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็ในแต่ละหัวข้อนี้ครับเขาเริ่มทำวิเคราะห์มาให้ผมแล้วครับว่า อย่างเศรษฐกิจ จัดตามความถี่นี้ ปัญหาหนี้นอกระบบมาที่ 1 อย่างนี้เป็นต้นนะครับ และสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพงมาที่ 2 ถ้าเรื่องสวัสดิการก็จะบ่นในแง่ของบริการ

พิธีกร ส่วนใหญ่จะมองปัญหาที่เป็นเรื่องครัวเรือนหรือว่าเรื่องใกล้ตัวมากกว่าเรื่องภาพรวมใช่ไหมคะท่านนายกฯ

นายกรัฐมนตรี มีทั้งสองแบบนะครับ ถ้าเป็นเรื่องการศึกษานี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่มองภาพรวม ว่าแนะนำมาว่ายังไม่พึงพอใจกับระบบการศึกษาอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าเป็นเศรษฐกิจ มันคล้าย ๆ เป็นปัญหาที่ยังประสบด้วยตัวเอง มีความเดือดร้อน ก็สะท้อนออกมา แต่ว่าในแง่ของเรานี้ พอเราได้ตัวเลขเหล่านี้ แล้วก็มีการแจกแจงความถี่ มันก็เป็นประโยชน์ เพราะมันทำให้เราเห็นภาพว่า ถ้าเราถือว่านี่เหมือนกับเป็นกระจกที่สะท้อนสังคมโดยรวม อาจจะไม่แม่นยำมากนัก เราพอมองเห็นนะครับว่า แสดงว่าปัญหาในเชิงโครงสร้างแต่ละเรื่องนี้มันอยู่ที่ไหน ถึงเขาไม่ได้พูดในเชิงระบบ เขาพูดเรื่องของเขา แต่พอเรามาประมวลเราจะเห็นภาพในระบบว่า หนี้ ปัญหาหนี้สิน ปัญหาเรื่องของแพง ปัญหาเรื่องที่ทำกินอะไรต่าง ๆ เป็นอย่างไร และตอนนี้ผมก็จะเริ่ม เมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ได้เคยพูดเอาไว้เหมือนกันนะครับว่า ทางศูนย์เขาจะเริ่มไปสำรวจ ตรวจสอบว่า ในการแก้ไขปัญหาพวกนี้มันมีนวัตกรรมในเชิงนโยบายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ อย่างไร หรือว่าข้อเสนอจากประชาชน นโยบายรัฐบาลปัจจุบันเป็นอย่างไร ก็เริ่มทำตารางเปรียบเทียบ

พิธีกร แล้วจะเอาไปลงในหน่วยไหนที่ออกมาเป็นพิมพ์เขียวคะ ส่งไปที่สำนักงานสถิติ หรือว่าส่งไปให้คณะกรรมการปฏิรูปชุดไหน

นายกรัฐมนตรี ส่งหลายหน่วยครับ เช่น ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับใครเลย เป็นหน่วยเฉพาะหน่วยเดียวอย่างนี้เราก็ส่งไปได้เลย อย่างหนี้นอกระบบตอนนี้ก็มีโครงการเฉพาะอยู่ ก็ไปให้เห็นเลยว่ามันเป็นอย่างไร ถ้าเป็นที่ดินก็อาจจะหลายส่วนหน่อย แต่ว่าถ้าเกิดไปถึงเรื่องที่จะต้องมีการปรับกฎหมาย โครงสร้างอะไรต่าง ๆ นี้คณะกรรมการปฏิรูปก็จะเป็นจุดที่เหมาะสม

พิธีกร เพราะฉะนั้นแต่ละเรื่องที่ออกมานี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้อง 3 ปีถึงจะสรุปออกมา

นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ครับ ไม่หรอกครับ อันนี้ย้ำตั้งแต่ต้นแล้วว่าแม้แต่ที่บอกว่าสิ้นปีจะมีแผนไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปรอสิ้นปี อย่างปัญหาของบางคนเขาอยากได้ที่ขายของอะไรอย่างนี้

พิธีกร อะไรทำได้ทำเลย

นายกรัฐมนตรี ทำได้เราก็ทำเลย

พิธีกร เรื่องปัญหานี้ครัวเรือนทำได้ก็ทำเลย

นายกรัฐมนตรี ครับ

พิธีกร อยากจะให้ไปฟังสัก 3 ตัวอย่างนะคะท่านนายกฯ ก็คือว่าเป็นประชาชนที่โทรศัพท์เข้ามา ก็จะมีแบบฟอร์ม เพิ่งเห็นเหมือนกันนะคะ เจ้าหน้าที่เขาจะลงรายละเอียด 3 ท่านนี้ถูกเลือกมาเพราะว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจ แล้วก็เลยไปทำ ไปถามเพิ่มเติมนะคะที่บ้าน มีจากทางภาคใต้ ที่พูดคุยเรื่องการอยู่ร่วมกัน ความเป็นมลายู นะคะจะทำอย่างไรที่จะปกครองกันอย่างมีความสุข อยู่ร่วมกันได้ มีคนที่บอกว่าน่าจะปรับเรื่องของการศึกษา จริยธรรมควรจะเข้าไปอยู่ในการศึกษาด้วย และรวมถึงปัญหาที่ส่วนตัวแต่มันก็สะท้อนเรื่องการทำงานของรัฐด้วยนะคะ เรื่องการรังวัดที่มีปัญหา อยากจะให้ไปฟังชัด ๆ นะคะว่าตัวอย่าง 3 ท่านนี้เป็นอย่างไร และจะลงไปที่รูปธรรมว่าจะแก้ปัญหา 3 ท่านนี้ไปอยู่ในส่วนไหนของการทำปฏิรูปในครั้งนี้ค่ะ

ผู้สื่อข่าว นายพารน โอฬารกิจเจริญ ชาวบ้านในซอยสายไหม 72 เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ร้องเรียนกับโครงการ 6 วัน 63 ล้านความคิดว่า สำนักงานที่ดินเขตบางเขน รังวัดที่ดินไม่ถูกต้อง ทำให้ตนเองและชาวบ้านในซอยเดียวกันได้รับความเสียหาย นายพารนชี้แจงกับทีมข่าวว่าตนซื้อที่ดินจัดสรรจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่ออยู่อาศัยเมื่อปี 2522 จำนวน 51 ตารางวา จากนั้นแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินเขตบางเขนให้ทำการรังวัดเพื่อทราบแนวเขตที่แน่นอน แต่ปรากฏว่าที่ดินคลาดเคลื่อนไปจากเดิม และถนนสาธารณะลดลงจาก 6 เมตรเหลือเพียง 4 เมตร ในขณะที่เจ้าหน้าที่ยืนยันความถูกต้องและให้เหตุผลว่าเครื่องมือที่ใช้วัดในอดีตแตกต่างจากปัจจุบัน

นายพารน ...แสดงชัดเจนว่า 6 เมตร ผมถึงบอกว่านี่ไงนี่หลักฐานชัดเจน ทำไมเจ้าหน้าที่ในอดีต คุณอ่านอย่างนี้คุณก็ต้องรู้อยู่แล้ว แต่ทำไมคุณมาบอกเราว่า 4 เมตร ซึ่งทุกคนไปถามได้เลย ทุกก็ได้ยิน ทุกคนที่รังวัดถูกเจ้าหน้าที่ต่อว่าทุกคน เพราะทุกคนก็พูดเหมือนกับพูดว่า เราซื้อนี้เขาบอก 6 เมตร แต่เจ้าหน้าที่บอก 4 เมตร ทุกคนก็ต้องยอมเจ้าหน้าที่คือ 4 เมตรก็ 4 เมตร ไปถามแปลงข้างในก็ได้

ผู้สื่อข่าว ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งซึ่งเห็นด้วยว่าสำนักงานที่ดินทำผิดพลาด และควรรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว แต่เมื่อนายพารนขอคำปรึกษาจากหัวหน้าสำนักงานที่ดินเขตบางเขน กลับได้รับการบ่ายเบี่ยง สภาทนายความจึงแนะนำให้นายพารนฟ้องศาลปกครองเพื่อเอาผิดต่อสำนักงานที่ดิน ตนจึงตัดสินใจฟ้องร้อง แต่จนขณะนี้คดีความก็ยังไม่สิ้นสุด จึงไม่ชัดเจนว่าบ้านแต่ละหลังในซอยเดียวกันจะถูกรื้อถอนไปในทิศทางใด ...รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ รายงานจากเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร

ประชาชน เสนอความคิดเห็นว่าป้าอยากจะได้วิชาศีลธรรม หน้าที่พลเมือง จริยธรรม เข้าเป็นวิชาหลักของการศึกษาของเด็กไทย เริ่มตั้งแต่อนุบาลเลย เพราะว่าผู้ใหญ่แล้วอย่างเรานี้จะกี่คนจะมาสอนเราได้ว่าให้คุณเปลี่ยน ไม่ได้แล้วไม้มันแก่ มันดัดไม่ได้แล้ว มันต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะว่าคนเราถ้ามีจิตใจที่ดีแล้วนี้ ความซื่อสัตย์ต่อชาตินี้มันจะมี เขารู้ว่าเขาเป็นคนไทย ประเทศไทยให้อยู่ ให้กิน ให้อาศัย ให้ทำมาหากิน แล้วเขาให้อะไรกับประเทศบ้าง ป้าสงสารประเทศไทยมากนะ และก็ฝากนิดหนึ่ง ฝากว่าช่วยประชาสัมพันธ์คำว่าประชาธิปไตยให้กับคนในระดับรากหญ้า ให้รู้ ให้เขาเข้าใจมากหน่อย ดีใจที่ว่าสิ่งที่เราพูดไปมันไม่ลอยไปตามสายลม

ผู้สื่อข่าว ดิฉันอยู่ที่บ้านเลขที่ 100 / 58 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาค่ะ บ้านประเสริฐสันต์ บ้านของนายธวัช ประเสริฐสันต์ หรือคุณตาธวัช ค่ะ ซึ่งเมื่อครั้งที่รัฐบาลเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น ความคิดของคุณธวัชน่าสนใจทีเดียวนะคะ คุณธวัชเสนอรัฐบาลว่าให้ยอมรับความหลากหลายของคนในสังคมนี้ เป็นเหมือนดอกไม้หลากสี ชนกลุ่มน้อยรัฐบาลก็ต้องปฏิบัติเขาเสมือนว่าเป็นคนไทยคนหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณลุงธวัชก็เสนอขึ้นมาเช่นกันค่ะ

นายธวัช ประเทศไทยมีคนอยู่หลายกลุ่มนะ เพราะฉะนั้นการปกครองต้องไม่ทำลายขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม ภาษาของชนกลุ่มเหล่านั้น ท้องถิ่นอย่างไร ส่งเสริมเขาให้เขาเจริญในกลุ่ม มีประเพณีมีขนบธรรมเนียมของเขา

ผู้สื่อข่าว คุณตายังได้สะท้อนมายังปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบอกว่าแม้ตนเองจะมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ แปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่มารับราชการที่จังหวัดยะลายาวนานกว่า 30 ปีจนเกษียณอายุราชการ จากการสัมผัสพื้นที่อย่างยาวนาน มองว่าปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ฝังตัวมาอย่างยาวนาน รัฐบาลจะต้องยอมรับกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นมุสลิม และหาทางปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร

นายธวัช เราปกครองเขามาตั้ง 100 กว่าปีนะครับ เขายังพูดไทยไม่ได้เลย เป็นบางส่วนเท่านั้นที่พูดไทย ออกไปข้างนอกสิครับ พูดภาษาไทยได้เมื่อไร ผมอยู่ในพื้นที่มาตั้ง 40 - 50 ปี ยิ่งลึก ๆ เข้าไปครับ แล้วคำว่ามลายูนี้ครับ มันฝังในหัวใจเขาครับ

ผู้สื่อข่าว คุณตาธวัชยังได้สะท้อนว่านโยบายเปิดรับฟังความคิดเห็นของรัฐบาลในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะรัฐบาลจะได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่อยากจะเสนอให้ผู้ที่ร่วมแสดงความคิดเห็นได้สะท้อนปัญหานั้น สะท้อนถึงปัญหาของส่วนรวมมากกว่าส่วนตน จึงจะเป็นการปฏิรูปสังคมไทยอย่างแท้จริง ทีมข่าวโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา รายงาน

พิธีกร 3 ตัวอย่างที่พูดถึงนี้นะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาที่ดิน การรังวัด อันนี้สะท้อนถึงการทำงานทุกระบบของหน่วยราชการเลยนะคะ พอมาถึงเรื่องการศึกษา เราพูดกันเสมอ สอนคนเก่งแต่ว่าขาดจริยธรรม และอันที่ 3 คือเรื่องทางภาคใต้ เรื่องการอยู่ร่วมกันยังมีความแตกต่าง ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ค่ะท่านนายกฯ คะ แต่ 3 อย่างนี้เวลาที่จะเอามาพูดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย มันจะไปอยู่ในส่วนไหนคะ

นายกรัฐมนตรี อย่างกรณีแรกนะครับ เราไม่ได้มองในมุมของเรื่องปัญหาเทคนิคที่ดินรังวัดอย่างเดียว แต่ 1. สะท้อนปัญหาเรื่องของระบบราชการ โดยเฉพาะการที่เจ้าหน้าที่เองบางทีก็ขัดแย้งกันเอง กับ 2. คือว่าบางทีเวลาที่ทางฝ่ายราชการผิดพลาดอะไรไปแล้ว

พิธีกร ไม่ยอมรับ

นายกรัฐมนตรี ไม่ยอมรับ เพราะถือว่าถ้ายอมรับเดี๋ยวมีปัญหานะครับ แล้วก็เลยต้องเข้าไปสู่กระบวนการของศาลขณะนี้ กระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็มีปัญหาเรื่องความล่าช้า นี่ละครับ 3 ส่วนนี้เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าตอนที่เราออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องของคณะกรรมการปฏิรูปของท่านนายกฯ อานันท์ ก็มีการเสนอว่าอำนาจหน้าที่ครอบคลุมแค่ไหน ถึงต้องใส่เรื่องระบบราชการ ระบบยุติธรรมอะไรต่าง ๆ ไปด้วย ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในเชิงของดุลยพินิจ ของคนเหล่านี้นะครับ หรือว่ากระบวนการยุติธรรมเอง แต่เป็นการที่ทำอย่างไรว่าจะต้องมาทบทวน ว่าเราจะมีช่องทางอย่างไร ให้ประชาชนสามารถที่จะรักษาสิทธิ์ของเขาได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น ส่วนกรณีของเจ้าตัว กรณีนี้ก็คงต้องเป็นเรื่องของศาลไปแล้วนะครับ เพราะว่าเข้าสู่กระบวนการไปแล้ว

พิธีกร เข้าไปทำอะไรยาก แต่หมายถึงว่าถ้าเราดูในครั้งต่อไป ในการที่จะแก้ไข เราจะต้องแก้ทั้งกระบวนการทั้งหมด ปัญหาแบบนี้

นายกรัฐมนตรี ถูกต้องครับ คือระบบราชการก็ดี หรือว่าระบบการให้บริการประชาชน และระบบยุติธรรม

พิธีกร และก็ต้องตัดตอนปัญหาให้สั้นให้เร็วที่สุด

นายกรัฐมนตรี ถูกต้องครับ อย่างเรื่องของการศึกษานี้ ขณะนี้ก็จะตรงกับที่คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษากำลังทำอยู่นะครับ และก็ช่องทางขณะนี้ก็คือว่า ที่เราลดเอาหลักสูตรที่เราเห็นว่าซ้ำซ้อนออกไปประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์นี้ เพื่อมาเป็นเรื่องของการเรียนรู้ เราใช้คำว่าทักษะชีวิตก็แล้วกันนะครับ เพราะฉะนั้นคุณธรรม จริยธรรม ประชาธิปไตย แต่รูปแบบที่จะสอนนี้ครับ คือสิ่งที่ยังเป็นประเด็นที่กำลังพยายามที่จะหาความลงตัวอยู่ เพราะว่าพูดตามจริงนี้ถ้าบอกว่าไปสอนประชาธิปไตย หรือคุณธรรม จริยธรรรมด้วยการให้ท่องจำ มันก็รู้กันอยู่แล้ว

พิธีกร ต้องมีตัวอย่างค่ะ

นายกรัฐมนตรี ต้องปฏิบัติด้วยนะครับ เราก็อยากจะทำอย่างนั้น อย่างนี้เป็นต้น ส่วนข้อคิดเรื่องของความหลากหลายในภาคใต้ ก็จะตรงกับแนวทางของเราที่ขณะนี้จะเน้นเรื่องของการพัฒนากับการยุติธรรม แต่ว่าสิ่งที่เป็นมุมมองที่สำคัญก็คือว่า ที่ใช้คำว่าคุณลุงก็แล้วกันพูดนะครับ

พิธีกร อายุ 85 นะคะ

นายกรัฐมนตรี คงไม่ใช่เรื่องของ คือไม่ได้มองจากมิติความมั่นคงเท่ากับทางวัฒนธรรม ซึ่งอันนี้เป็นจุดหนึ่งซึ่งผมยอมรับนะครับว่า เวลาที่เราจะใช้นโยบายโดยเอาเรื่องของวัฒนธรรมเป็นตัวนำนี้ เราอาจจะยังทำน้อยไป ซึ่งอันนี้ก็เป็นข้อคิดที่ดี และก็เป็นข้อคิดซึ่งคงไม่ได้เจาะจงเฉพาะภาคใต้ด้วยแล้ว เพราะเวลานี้เราจะมีคนอีกหลายกลุ่ม จะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็มี เราก็คงจะต้องคิดถึงความหลากหลายในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

พิธีกร ท่านนายกฯ คะ หลังจากเสร็จตรงนี้แล้วนะคะ คนยังคงมีความรู้สึกว่าอยากจะทวงถามให้มันมีความต่อเนื่อง หรือบางครั้งความรู้สึกอยากจะระบายก็มี ยังมีกระบวนการรับฟังตรงนี้อยู่ไหมคะ

นายกรัฐมนตรี ที่จริงแล้วนี้การเปิดให้ประชาชนสามารถร้องเรียนเข้ามานะครับ ที่ทำเนียบฯ ก็มีศูนย์บริการประชาชน และความจริงคนที่เขาส่งจดหมายหรือส่ง

พิธีกร มีตู้ ปณ.

นายกรัฐมนตรี อีเมล์เข้ามา ถึงส่วนตัว ส่ง sms ถึงผมก็ยังมี

พิธีกร โทรศัพท์ด้วยใช่ไหมคะ

นายกรัฐมนตรี แม้กระทั่งปัญหาคล้าย ๆ กันเรื่องของที่ดิน ผมก็เพิ่งได้จดหมายเมื่อวานนี้ จากรายหนึ่ง เขาไม่มีที่ทำกินเขาไม่อึดอัดเท่ากับความเป็นจริงว่า เขาบอกเขาเป็นคนจน แล้วก็ที่อยู่ติดกับนายทุน แต่นายทุนไปออกโฉนดได้ เขาทำมาเท่าไรก็ออกไม่ได้

พิธีกร สิทธิ์มันน่าจะเท่ากัน มันแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกัน

นายกรัฐมนตรี ประเด็นอย่างนี้ครับที่ก็คงจะต้องเร่งทำไป และช่องทางการเปิดรับฟังก็จะมีอย่างต่อเนื่องนะครับ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่เหมือนกับ 6 วันที่เราเปิดเรียกว่าหลายร้อยคู่สายพร้อม ๆ กัน

พิธีกร ท่านนายกฯ คะอีกเรื่องหนึ่ง ท่านนายกฯ อยากจะพูดเรื่องของชายแดนกัมพูชา อยากจะอธิบายอะไรไหมคะ คือมีความสงสัยอยู่เรื่องหลักหมุดนี่นะคะ แล้วก็เรื่องเรียกว่าบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชา ในเรื่องของการปักปันเขตแดน เขาใช้คำว่าการจัดทำเขตแดน มันมีผลต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ไหมคะ ที่ทำให้เราอาจจะสูญเสียดินแดน

นายกรัฐมนตรี คือปัญหาปราสาทพระวิหาร เขตแดนไทย-กัมพูชา และ 2 - 3 อาทิตย์นี้ จะใช้คำว่าอาจจะร้อนขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง มีเรื่องมรดกโลกด้วย ผมอยากจะย้ำอย่างนี้ก่อนนะครับ จุดยืนรัฐบาลไทย และจุดยืนรัฐบาลนี้ เขตแดนเราถือว่ากำหนดโดยสนธิสัญญา ระหว่างไทยกับกัมพูชานะครับ ก็คือใช้สันปันน้ำ ส่วนที่เหลือนี้ถือว่าเป็นเรื่องเทคนิค ให้เป็นไปตามสนธิสัญญา ก็มีกรณีของคำวินิจฉัยของศาลโลกในเรื่องตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งเราก็เคารพในการตัดสิน ก็สงวนสิทธิ์ไว้ว่าถ้ามีข้อมูลใหม่อะไรเราก็จะไปว่ากัน ทีนี้ปัจจุบันนี้การที่จะไปกำหนดทางเทคนิคว่าตกลงเขตแดนอยู่ที่ไหนนี้ มันก็มีบันทึกความเข้าใจปี 43 ที่เรียกว่า MOU ปี 43

พิธีกร สมัยท่านนายกฯ ชวน

นายกรัฐมนตรี ครับ ก็รู้สึกว่าท่านรัฐมนตรีช่วยฯ ขณะนี้ก็คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ฯ เป็นคนลงนาม ก็มีการไปพูดอีกบอก ในบันทึกนั้นนอกจากสนธิสัญญา พูดถึงแผนที่ ก็มาบอกว่าเราไปยอมรับแผนที่

พิธีกร ของฝรั่งเศส

นายกรัฐมนตรี ซึ่งทางกัมพูชาใช้ในการต่อสู้ในคดีศาลโลกหรือเปล่า ผมก็ต้องบอกอย่างนี้นะครับ บังเอิญภาษาอังกฤษนี้ใช้คำว่า Maps มี S

พิธีกร หลาย ๆ ฉบับ

นายกรัฐมนตรี มันมีหลายฉบับนะครับ หลายระวาง แต่พอไปแปลเป็นภาษาไทยบอกแผนที่ ก็เลยนึกว่าไปเจาะจงที่ใดที่หนึ่ง ก็อยากจะบอกอย่างนี้ครับว่าตอนที่เราต่อสู้ในศาลโลก และศาลโลกเองก็ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ ตามที่กัมพูชาร้องขอนะครับ

พิธีกร คือกัมพูชาขอให้ใช้ของฝรั่งเศส

นายกรัฐมนตรี คือบอกว่านั่นน่ะให้ยอมรับแผนที่นั้น ทางศาลได้ดูข้อต่อสู้ของเราว่าแผนที่มันมีหลายระวาง บางระวางถือว่าเป็นผลงานของคณะกรรมาธิการร่วม แต่บางระวางก็ไม่ใช่ เพราะมันยังไม่ได้รับรอง พื้นที่ที่เป็นเจ้าปัญหาอยู่นี้ยังไม่ได้รับรอง เพราะฉะนั้นถ้าเราดูตามบันทึกปี 43 บันทึกปี 43 จะบอกว่าแผนที่ที่เป็นผลงานของกรรมาธิการร่วม

พิธีกร ซึ่งก็หมายถึง

นายกรัฐมนตรี ก็ต้องไปถกเถียงกัน เราก็ไม่ยอมรับบางฉบับ เขาก็บอกว่ามันใช่ ก็ต้องเป็นเรื่องที่จะต้องมาพิจารณา

พิธีกร แล้วจุดยืนของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทยก็ยืนเหมือนเดิมครับ ว่าเราถือว่าบางฉบับนี้มันไม่ใช่ แต่บางฉบับมันใช่ และบางฉบับที่ใช่นี้เป็นคุณกับเรานะครับ เพราะฉะนั้นการที่เราเขียนแผนที่ลงไปนี้ไม่ได้เจาะจงไปที่ระวางใดระวางหนึ่ง หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง เพราะแผนที่มันตลอดแนว

พิธีกร ฉบับที่พูดถึงประจำก็คือฉบับของฝรั่งเศส ที่บอกว่าถ้าหากว่าเรายอมรับอันนั้น

นายกรัฐมนตรี คือฝรั่งเศส คำว่าฝรั่งเศส

พิธีกร หลายฉบับอีกเหมือนกัน

นายกรัฐมนตรี มันมีการที่ไปเดินสำรวจหลายระวาง ในบางแนวเขตนี้เขาก็บอกว่าเราได้เปรียบ บางแนวเขตเขาบอกเขาได้เปรียบ แต่เฉพาะฉบับตรงบริเวณนี้นะครับ เราก็ยืนมาตลอด และต่อสู้ในศาลโลกว่ามันไม่ใช่ เพราะยังไม่ได้มีการรับรอง ก็ต้องว่ากันไป แต่จะอย่างไรก็ตามนี้นะครับ การที่จะได้ข้อยุติตรงนี้ตาม MOU นี้ มันต้องมีการเจรจา และปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญนี้จะเจรจานี้รัฐบาลต้องเสนอกรอบเจรจาเข้าสภาฯ เจรจาเสร็จกลับมานี้ก็ต้องให้สภาฯ รับรองถึงจะเป็นผล เพราะฉะนั้นผมยืนยันให้ความมั่นใจ ว่าจุดยืนรัฐบาลเป็นอย่างนี้ ทีนี้คนจะกังวลว่าระหว่างที่ยังมีการทำงานตรงนี้ไม่เสร็จนี้ เดี๋ยวต้องมีเรื่องของคนมาตั้ง

พิธีกร หลักหมุดหรือคะ

นายกรัฐมนตรี หลักหมุดส่วนหนึ่ง บางก็เรื่องคนเข้ามาอยู่ มาตั้งร้านขายของอะไรต่าง ๆ ผมก็ยืนยัน

พิธีกร ตัดถนนด้วย

นายกรัฐมนตรี ตัดถนนด้วย ก็ยืนยันว่าผมก็ได้กำชับกระทรวงการต่างประเทศนะครับ และก็ได้คุยกับท่านรัฐมนตรีฯ กษิตอยู่เป็นระยะ ๆ บอกว่าทุกครั้งที่มีรายงานเรื่องนี้ต้องทำหนังสือประท้วงเอาไว้ เพื่อเป็นการที่จะรักษาสิทธิ์ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็จะทำนะครับ ส่วนหลักหมุดนี้ก็อยากจะเรียนว่า

พิธีกร เขยิบเข้ามาจริงหรือเปล่าคะ

นายกรัฐมนตรี ที่บอกเขยิบเข้ามานี้ คืออย่างนี้ครับ เวลานี้พอจะต้องทำงานทางเทคนิคเพื่อที่จะมากำหนดหลักเขตแดนกันนี้ ทั้งสองฝ่ายเขาก็จะไปมีการพิจารณาทางเทคนิคที่จะกำหนดแนว เพราะฉะนั้นที่เขาทำอยู่ในขณะนี้ในฝั่งไทย ก็คือเอาหมุดมาตรึงจุดที่เป็นพิกัด เพื่อที่จะรู้ว่าหมุดที่เป็นเขตแดนนี้มันควรจะอยู่ตรงไหน เผื่อตรงนั้นมันถูกขยับ เราก็จะได้ท้วงว่าที่เราตรึงเอาไว้นี้มันไม่ใช่ตรงนั้น

พิธีกร แล้วทางฝั่งกัมพูชาเขาทำไหมคะ

นายกรัฐมนตรี ผมเข้าใจว่าเขาทำด้วยครับ เพราะมันเป็นวิธีการทางเทคนิคของทั้งสองฝ่าย

พิธีกร คือถ้าไปดูกัมพูชาก็จะเห็นว่ามีอีกหมุดหนึ่งอยู่ในเขตแดนกัมพูชา

นายกรัฐมนตรี ผมเข้าใจว่าเขาก็ทำอย่างนั้น แต่ว่าที่เราทำนี้เป็นอย่างนี้ บังเอิญผมเข้าใจว่าเกิดความสับสนตอนไปทำ เพราะว่าไปทำให้เกิดความเข้าใจว่านั่นเป็นเขตแดน ซึ่งเข้าใจว่าทางเจ้าหน้าที่เขาไปทำงานทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่แล้ว ก็อยากให้ความมั่นใจว่าตรงนี้ ถึงอย่างไรนะครับเขตแดนไม่ใช่ใครจะนึกย้ายหมุดไปแล้วเขตแดนเปลี่ยนอย่างที่บอก ทั้งหมดนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการของการรับรอง ของกรรมการร่วม เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ด้วยนะครับ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมา 2 ปีแล้วก็คือมรดกโลก เพราะเราก็กังวลว่าพอเขาไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้วนี้

พิธีกร เราจะสูญเสียพื้นที่

นายกรัฐมนตรี มันจะมีเขตที่เป็นการบริหารจัดการ ก็ขอเรียนว่าเรื่องนี้ผมมอบหมายท่านรัฐมนตรีสุวิทย์ คุณกิตติ แล้วท่านก็ทำงานค่อนข้างที่จะต่อเนื่อง แข็งขันพอสมควร เดินสายไปพบกับทางยูเนสโก เดินสายไปพบกับทางมรดกโลก

พิธีกร เขาเข้าใจใช่ไหมคะ

นายกรัฐมนตรี ก็เดือนกรกฎาคมนี้เขาจะประชุมกัน ทีนี้บางคนก็ไปบอกว่าเราอย่าไปร่วมประชุมได้ไหม ยิ่งเราไม่ไปเรายิ่งเสียเปรียบนะครับ ขณะนี้เราก็พยายามไปทำความเข้าใจ และก็คิดว่าในชั้นนี้เราก็ได้แสดงจุดยืนว่า เขาไม่ควรจะเดินหน้าต่อตรงนี้ จนกว่าความชัดเจนว่าเขตแดนมันอยู่ตรงไหน อย่างไร เพราะถ้าหากว่าไปเดินตรงนี้ เขตแดนยังไม่แน่นอนนี้ มันมาละเมิดสิทธิ์เราได้

พิธีกร น่าจะเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำไปที่ทำให้กัมพูชาหันมาร่วมมืออย่างเต็มที่ในการกำหนดเขตแดนให้ชัดเจนขึ้น

นายกรัฐมนตรี ถูกต้องครับ เราก็พยายามยืนยันจุดนั้นอยู่นะครับ ทุกอย่างที่ทำก็รักษาสิทธิ์ประเทศไทย แต่ก็ระมัดระวัง เพราะเราก็ไม่อยากให้ต้องมาสู้รบเสียเลือดเสียเนื้อกันนะครับ อันนี้ก็เป็นแนวที่เราทำอยู่

พิธีกร ขอบพระคุณมากค่ะท่านนายกฯ คะ สำหรับวันนี้ค่ะ ในช่วงหน้ายังมีส่วนที่น่าสนใจรออยู่ค่ะ

ช่วงที่ 3

(การประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการปฏิรูปประเทศไทยโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี วันที่ 5 กรกฎาคม 2553)

พิธีกร การประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการปฏิรูปประเทศไทยโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัตถุประสงค์ในการจัดการประชุมครั้งนี้ก็เพื่อที่จะระดมความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพวกเราชาวองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในท้ายของการประชุมก็จะได้นำข้อสรุปต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะต่อท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อไปกำหนดทิศทางในการปฏิรูปประเทศไทยที่เหมาะสมกันต่อไป

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี วันนี้เป็นการชุมนุมนายกฯ มากที่สุดในประเทศไทย ทั้งนายกอบต. นายกเทศมนตรี นายกอบจ. นายกสันนิบาต นายกสมาคมทั้งหมด ท่านคือคนที่สำคัญที่สุดในการปฏิรูปประเทศไทย ที่พูดอย่างนั้นเพราะว่าชุมชนท้องถิ่น คือกุญแจในการแก้วิกฤตชาติ การเมือง ประชาธิปไตย จะทำแต่การเมืองระดับชาติ ทำมา 78 ปีไม่สำเร็จและจะฆ่ากันตาย เพราะว่าไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนทำได้สำเร็จโดยทำแต่ระดับชาติ ประชาธิปไตยสำคัญที่สุดคือประชาธิปไตยที่ชุมชนท้องถิ่นที่ฐาน เพราะฉะนั้นต้องทำให้ฐานเข้มแข็งทุก ๆ ด้าน ผมมาวันนี้ก็เพื่อมาให้กำลังใจท่านผู้นำท้องถิ่น และท่านทั้งหลายคือผู้แก้วิกฤตชาติที่แท้จริง แล้วชุมชนท้องถิ่นคือตัวช่าง เราจะต้องตั้งรูปของประเทศไทยใหม่ที่เรียกว่าปฏิรูป คือเอาชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง นอกนั้นทั้งหมดแล้วเป็นการมาสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การศึกษา การสื่อสาร การเมือง การปกครอง ทั้งหลายทั้งปวงต้องมาหนุนชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง อันนั้นคือข้อใหญ่ใจความของการปฏิรูปนะครับ

ผู้เข้าร่วมการประชุม กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีที่เคารพ ประเด็นที่ 1 ที่ได้สรุปได้ เป็นเรื่องของบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เพื่อนำไปสู่การปรองดองของคนในชนบท และการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย ประเด็นที่ 2 ในเรื่องของการใช้กระบวนการทางการศึกษาและประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจารีตประเพณี การกีฬาท้องถิ่น เพื่อมาสนับสนุนเกื้อกูลให้สังคมมีความผูกพัน เพื่อพัฒนาให้องค์กรท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง และในเรื่องของการเมืองการปกครอง ก็จะเป็นเรื่องของการระดมความคิด ในการดูแลการเมืองภาคประชาชนเพื่อให้หลุดพ้นจากการเมืองระดับชาติ ประการสุดท้ายเป็นเรื่องของการสร้างกลไกและกระบวนการเพื่อการปฏิรูปในการป้องกันระบบทุจริต และเป็นการส่งเสริมบทบาทให้องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ปฏิบัตินะครับ เป็นองค์กรที่ดำเนินนโยบายภายใต้หลักธรรมาธิบาลเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความเชื่อมั่น ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นองค์กรที่เป็นเครื่องมือของประชาชนอย่างแท้จริง กระผมขออนุญาตนำเรียนสรุปต่อท่านนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีข้อเสนอแนะประการใดต่อผู้เข้าร่วมประชุมเป็นลำดับต่อไปครับ ขอเรียนเชิญครับ

นายกรัฐมนตรี ผมเรียน 2 เรื่องซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่อยากจะให้เห็นภาพนิดหนึ่งว่า เราพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหากันนะครับ เรื่องแรกก็คือที่มีการหยิบยกขึ้นมาว่ากฎหมายท้องถิ่นขณะนี้ต้องปรับปรุงใหม่หมดตามรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งมีกฎหมายหลัก ๆ อยู่ 4 ฉบับนะครับ ประเด็นที่ 2 คือ 1 ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมาบังเอิญเป็นปีที่เรามีความยากลำบากเป็นพิเศษเรื่องของงบประมาณ เพราะว่าผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปลายปี 51 ก็ทำให้เงินในระบบหายไปเยอะ เพราะฉะนั้นงบประมาณที่เป็นเงินอุดหนุนของปีงบประมาณปัจจุบันก็จะเป็นปัญหาเป็นพิเศษนะครับ เหมือนกับงบของทุกกระทรวง ทบวง กรม ไม่เว้นแม้กระทั่งงบกลาง ซึ่งขณะนี้ก็เหลือน้อยมากนะครับ แต่ว่าปีงบประมาณที่จะถึงนั้นก็คงจะคลายปัญหาไปได้บ้าง

นอกจากนั้นนี้ นอกจากกฎหมายเรื่องของรายได้ท้องถิ่นซึ่งอยู่ใน 4 ฉบับแล้ว กฎหมายภาษีที่ดินจะเป็นกฎหมายสำคัญอีกกฎหมายหนึ่งซึ่งจะช่วยทำให้ท้องถิ่นมีหลักประกันในเรื่องของรายได้ดียิ่งขึ้น เพราะว่าภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สินนั้น ปกติก็จะเป็นรายได้หลักของท้องถิ่นในต่างประเทศด้วยนะครับ อันนี้ก็จะได้เห็นภาพว่าเป็นสิ่งที่เราอยากจะผลักดัน และก็สนับสนุนทิศทางการกระจายอำนาจ แต่ว่าปีที่ผ่านมาก็มีข้อจำกัดหลายข้อ

ผมก็เห็นด้วยกับเกือบทุกท่านนะครับที่ขึ้นมาพูดเช้าวันนี้ ที่บอกว่าท่านทั้งหลายพูดไปแล้ว รวมกันทั้งหมดก็คือครอบคลุมทุกตารางนิ้วของประเทศไทยอยู่แล้ว เพราะทุกพื้นที่จะมีทั้งอบต. และ อบจ. หรือเทศบาลกับ อบจ. จะยกเว้นก็มีกรณีของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วถ้าหากว่าท้องถิ่นทั้งหมดขับเคลื่อนในเรื่องนี้ นอกเหนือจากครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว ก็จะเป็นหน่วยย่อยซึ่งมีความใกล้ชิดอย่างยิ่งกับประชาชน ฉะนั้นข้อเสนอที่พูดมาเมื่อสักครู่เกี่ยวกับการที่จะให้ท้องถิ่นมีบทบาทนั้นผมคิดว่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุน แล้วก็จะดูแลในเรื่องของรูปแบบว่าจะเดินหน้าทำกันอย่างไรนะครับ

ผมเรียนเริ่มต้นจากเรื่องของปัญหาการเยียวยา ซึ่งนอกเหนือจากที่ได้มีการดำเนินการโดยส่วนกลาง และที่กำลังทำอยู่ เช่น กรณีของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งออกไปในหลายพื้นที่ในขณะนี้ ยอมรับครับว่าก่อนหน้านี้งานนี้ค่อนข้างที่จะเป็นงานซึ่งทำโดยส่วนกลางค่อนข้างมาก ในระยะแรกนี้ ศอฉ. ก็ยังมีบทบาทอยู่มากพอสมควร รวมไปทั้งหน่วยงานส่วนกลางซึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ศอฉ. นี้ก็เข้าไปดำเนินการหลายอย่าง และการเยียวยาในบางเรื่อง เช่น กรณีของกรุงเทพมหานคร กรณีของพื้นที่ราชประสงค์เอง ก็จำเป็นจะต้องมีคณะกรรมการซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานระดับชาติได้

ส่วนการทำงานของท่านเองนี้ ผมก็ชอบที่ท่านหนึ่งได้พูดนะครับว่า การทำงานนี้คงไม่ทำในลักษณะที่มันตรง ๆ ว่าเป็นเรื่องเข้าไปเยียวยาหรืออะไร แต่มันเป็นศิลปะมากกว่า ของแต่ละท้องถิ่นที่จะหยิบยกว่ากิจกรรมใด โครงการใดซึ่งมีลักษณะของความสร้างสรรค์ และสามารถที่จะรวมพลังของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของท่านได้ นั่นก็คือวิธีการเยียวยาและสร้างความปรองดองที่ดีที่สุด ขั้นตอนจากนี้ไป การทำงานในเรื่องของการปฏิรูป และเรื่องของการปรองดองจะมีการขับเคลื่อนที่ค่อนข้างจะหลากหลายมาก ทุกท้องถิ่น ผมว่าน่าจะลองคิดดูว่าจะมีส่วนร่วมในการที่จะให้ประชาชนมาสะท้อนความต้องการความคิดเห็นในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างไร

ผมคงขอเรียนให้ข้อคิดในหลาย ๆ เรื่องที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการปรองดองในปัจจุบันนะครับ เรื่องเกี่ยวข้องกับการระดมกำลังของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อที่จะเทิดทูนสถาบัน และเป็นศูนย์รวมในการหลอมรวมจิตใจของผู้คน สิ่งซึ่งท้องถิ่นได้ทำไปหลายแห่งแล้วก็คือการเชื่อมโยงกับโครงการ เช่น โครงการปิดทองหลังพระ โครงการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็จะมาเกี่ยวโยงกับเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ ในแง่ของการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ผมว่าตรงนี้ยังมีช่องทางในการขยายได้อีกมาก และศูนย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการตามแนวพระราชดำริ ยังมีความพร้อมในการที่จะไปช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ท้องถิ่นสามารถรับแนวคิดหรือนำเอาโครงการเหล่านี้ไปขยายผลได้ อันนี้ก็เป็นประเด็นแรกที่อยากจะเรียน

ประเด็นที่สองครับคือเรื่องของการปฏิรูป โดยเฉพาะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มันจะมีงานสองด้านที่จะมีความสำคัญมาก ด้านหนึ่งก็คือเรื่องของการส่งเสริมรายได้และอาชีพที่เป็นลักษณะของเศรษฐกิจครัวเรือน เศรษฐกิจในชุมชน ส่วนที่สองก็คือว่า ในภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจซึ่งก็จะเกิดปัญหาของคนด้อยโอกาส คนยากคนจน สิ่งที่รัฐบาลพยายามเดินหน้าก็คือเรื่องของระบบสวัสดิการที่กำลังเกิดขึ้น รวมไปถึงเรื่องปัญหาพื้นฐานอีก 2 ปัญหา คือที่ทำกินกับเรื่องหนี้สิน ท้องถิ่นกำลังจะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อย่างกรณีหนี้สินนี้ ที่ผมได้รายงานประชาชนไปก็คือว่า ที่เปิดขึ้นทะเบียนมาและก่อนหน้านี้ เมื่อกี้มีเสียงต่อว่าต่อขานว่าท้องถิ่นยังไม่ได้มีส่วนร่วม ผมเชื่อว่าใน 1 ล้านกว่าคนนี้ ตามที่เราเดินอยู่ขณะนี้จะแก้ปัญหาไปได้ประมาณกว่าครึ่ง ก็คือประมาณอาจจะ 500,000 - 600,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นะครับ ก่อนหน้านี้เคยมีรัฐบาลมาขึ้นทะเบียนในลักษณะนี้ ขึ้นทะเบียนไป 1,700,000 คนนั้น แก้ไปได้ 80,000 ราย แต่นี่ที่ทำไปแล้วประมาณ 200,000 และภายในสิ้นเดือนนี้จะถึง 400,000 และปลายทางน่าจะได้ประมาณ 600,000 สิ่งที่สำคัญก็คือว่าอีก 600,000 ที่มาขึ้นทะเบียนแล้วแก้ไม่ได้ บวกกับที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ตรงนั้นคงจะต้องใช้ท้องถิ่นเข้ามาช่วย

ภาพรวมของวิกฤตในวันนี้จริงอยู่ ความสนใจส่วนใหญ่จะอยู่ที่การเมืองระดับชาติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเสื่อมศรัทธาในระบบการเมือง และนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นเป็นปัญหาใหญ่ และการกอบกู้วิกฤตศรัทธาที่มีต่อการเมืองนี้ ประชาชนสัมผัสใกล้ชิดที่สุดคือท้องถิ่น เพราะฉะนั้นถ้าท่านมีความริเริ่มในเรื่องของการที่จะทำให้การเมืองของท้องถิ่นเอง มีความใกล้ชิดกับการเมืองภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น ถ้าท่านทำการเมืองท้องถิ่นให้ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการแข่งขัน หรือการแก่งแย่ง ในลักษณะที่ไม่สร้างสรรค์นะครับ แต่ว่าไปเพิ่มความขัดแย้ง ตรงนี้จะเป็นหัวใจของความสำเร็จ ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการเมือง

(งาน "ภาคธุรกิจ : พลังขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการลดความขัดแข้งและความเหลื่อมล้ำในสังคม" ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ วันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2553) 

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์  ผู้จัดการกองทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผมคงเป็นหนึ่งในคนเดียวที่เป็นตัวแทนจากภาคสังคม ที่จะมาพูดในเวทีครั้งนี้ บทบาทธุรกิจคงอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ ปรับเปลี่ยนจากการที่ธุรกิจอาจจะมองไปที่ผลกำไรหรือการแยกตัวจากสังคม มาสู่บทบาทใหม่ที่ธุรกิจคงจะต้องอยู่กับสังคม และเป็นตัวกลไกขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง สำหรับประเทศไทยผมอยากเสนออย่างนี้นะครับว่า ธุรกิจเพื่อสังคมของประเทศไทยอาจจะต้องมอง 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เราพูดถึงเรื่องของปรับปรุง CHR หรือว่าธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมให้ชัดเจนขึ้น เป็นมากกว่าการมองในเชิงของประชาสัมพันธ์ แต่ต้องมองให้เป็นธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมจริง ๆ จริง ๆ องค์กรธุรกิจไม่ต้องทำอะไรมาก ดูแลชุมชนที่อยู่รอบตัวเอง 1 ธุรกิจกับ 1 ชุมชน สามารถที่จะร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาตัวสังคมให้เติบโตได้ นอกจากการดูชุมชนรอบ ๆ แล้ว ดูในองค์กรตัวเองนะครับ ปัจจุบันมีธุรกิจที่เริ่มส่งเสริมเรื่องของความสุขในองค์กร หรือเป็นโครงการที่เราทำร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่หลาย ๆ องค์กร เช่น โครงการ Happy Work Place เป็นตัวอย่างที่ดี มองพนักงานทั้งระบบ มองเรื่องการเป็นหนี้เป็นสินของพนักงาน มองเรื่องของพัฒนาด้านจิตใจด้านสังคม ให้ควบคู่กันไป อันนี้เป็นด้านที่ 1 นะครับ ด้านที่ 2 นี้ ธุรกิจจำนวนมากสามารถที่จะมาเป็นธุรกิจสายพันธุ์ใหม่เพื่อสังคมได้ หรือที่เราเรียกว่าธุรกิจ Social Enterprise นะครับ องค์กรใหญ่ ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะทำเรื่องไฟฟ้า ทำเรื่องพลังงาน ทำเรื่องการเงิน สามารถที่จะคลอดเป็นบริษัทลูก มาทำทุก ๆ ด้านเพื่อการพัฒนาสังคมได้ ประเทศไทยนับเป็นที่น่ายินดีมากนะครับว่า มีแผนแม่บท 5 ปี ซึ่งคณะกรรมการชาติ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนี้ได้อนุมัติแผนแม่บทแล้ว กำลังจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อ โดยมีการเป้าหมายนะครับว่าอยากให้เกิดธุรกิจพันธุ์ใหม่เติบโตขึ้นปีละ 20 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ใน 5 ปีนะครับ ทั้งหมดนี้นะครับคงเป็นคร่าว ๆ ในมุมมองว่าธุรกิจกับสังคมจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

พิธีกร ท่านพอจะมองเห็นโอกาสในการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันอย่างไรและท่านคาดหวังจะให้ภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนตรงไหนอย่างไรครับ

ผู้ร่วมเสวนา  เราควรจะสนับสนุนให้ธุรกรรมทางด้านเศรษฐกิจจริง ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในที่นี้ก็หมายถึงให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้าถึงบริการทางการเงินในราคาและคุณภาพที่เหมาะสม

ผู้ร่วมเสวนา ผมสามารถใช้เครือข่ายที่ผมมีทั่วประเทศมาช่วยกันประสานและประสานผลประโยชน์ทั้งหมด และผมเชื่อมั่นครับถ้าเราทำกันอย่างจริงจังแล้ว ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ไกลความจริงครับ

ผู้ร่วมเสวนา เรื่องของการปฏิรูปประเทศคงต้องทำทุกหน่วยงาน รัฐบาลจะเป็นกลไกที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็แล้วแต่ที่จะเข้ามาจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และการทำเรามีความคิดเห็น มีการดำเนินการที่หลากหลายอยู่แล้ว  ซึ่งทุกอย่างก็สอดคล้องประสานกัน  เพราะทุกหน่วยทำด้วยกัน  มันก็จะเป็นพลังที่สำคัญให้กับการพัฒนาปฏิรูปประเทศในอนาคต

ผู้ร่วมเสวนา ทางเรายินดีที่จะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนถ้าได้ทำอะไรร่วมกัน ควรจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ผู้ร่วมเสวนา สภาท่องเที่ยวฯ คงจะสร้างเครือข่ายของสภาท่องเที่ยวฯ ในการรับผิดชอบต่อสังคมลงให้ถึงระดับจังหวัดอย่างน้อยที่สุด หากว่าลึกลงไปกว่าจังหวัดได้ก็จะดี นอกจากนั้นก็คงจะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในเรื่องของ CG ของแต่ละองค์กรในระหว่าง 7 ภาคส่วนนี้ด้วยกัน ผมคิดว่าก็คงจะเป็นการสร้าง Network ทั้ง 2 มิติที่จะลงพื้นที่ที่องค์กรสภาฯ จะทำ และคงมีการเชื่อมประสานกับองค์กรภาคเอกชนด้วยกัน คงขอพึ่งตัวเองในระหว่างเอกชนด้วยกันก่อนครับ

ผู้ร่วมเสวนา ในเรื่องของการเชื่อมโยงกันของการทำ CSR ในระดับปฏิบัติการในแง่ของคนทำงาน เราได้มีการเชื่อมโยงกันบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องทำมากขึ้น ก็คือการเชื่อมโยงในระดับสมาชิกหรือสภาฯ ด้วยกัน  

พิธีกร  ในลำดับต่อไปก็จะเป็นการกล่าวปาฐกถาในหัวข้อพิเศษ ซึ่งมีชื่อว่า "ภาคธุรกิจ : พลังขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการลดความขัดแข้งและความเหลื่อมล้ำในสังคม"

นายกรัฐมนตรี  วันนี้สิ่งที่ผมอยากจะมาร่วมแสดงความคิดเห็นก็คือ เราเคยเรียกร้องความเรียบร้อยของสังคมและความเรียบร้อยทางการเมือง พูดง่าย ๆ ก็คือเวลาที่เราเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้น  นอกจากจะเป็นปัญหาในตัวของมันเอง ซึ่งมีปัญหาในเรื่องการถกเถียงความแตกแยก ความขัดแย้งแล้ว  สิ่งที่ประชาชนหรือสังคมก็จะวิตกกังวลกันมากก็คือผลกระทบที่มีต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ เราจึงได้ยินเสียงเรียกร้องจากภาคธุรกิจมาโดยตลอดว่าต้องการการเมืองที่นิ่ง ต้องการสังคมที่สงบ  สิ่งที่ผมอยากจะย้ำวันนี้ก็คือว่าเหตุการณ์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มันพิสูจน์แล้ว ว่าไม่มีใครสามารถจะเรียกร้องการเมืองที่นิ่ง หรือสังคมที่สงบจากคนอื่นได้ แต่การเมืองที่นิ่งและสังคมที่สงบทุกคนก็จะต้องร่วมสร้าง วันนี้เราจึงต้องกลับโจทย์แทนที่จะถามว่าจะให้สังคมเป็นอย่างไรเพื่อส่งเสริมธุรกิจ เราก็ต้องมาเรียกร้องกับภาคธุรกิจว่าท่านจะทำอะไรเพื่อส่งเสริมให้เกิดสังคมที่ดี คงไม่ได้ขัดแย้งกันละครับ แต่เป็นการย้ำเตือนว่าแม้ว่า พวกเราแต่ละคนจะมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่แตกต่างกันไป แต่ว่าเราแยกส่วนตัวเองออกมาจากสังคมส่วนอื่นไม่ได้  และก็ในที่สุดความสำเร็จของพวกเราแต่ละคนแต่ละส่วนแต่ละฝ่ายก็จะขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย นี่คือโจทย์ใหญ่ที่สุดถ้ามองในแง่ของการฟื้นฟูและการปฏิรูปและการปรองดอง  

งานข้างหน้ายังอีกยาวครับและเป็นงานยาก ต้องขออภัยเดินเข้ามาผู้จัดบอกให้มาให้กำลังใจภาคธุรกิจ  ผมบอกวันนี้ไม่ได้มาให้กำลังใจ วันนี้มาให้โจทย์เพราะว่าวันนี้ทุกคนต้องช่วยกันตอบโจทย์ของประเทศ และถ้าเราตอบได้ กำลังใจทุกคนจะมีขึ้นมาเอง สิ่งที่เราจะต้องเดินหน้าทำในเรื่องเหล่านี้  มันอาศัยความเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิด ในเชิงทัศนคติต่อสิ่งที่เราต้องทำ ผมมาพูดกับภาคธุรกิจวันนี้ ผมก็ยอมรับว่าภาคการเมืองก็ต้องไปทบทวนความคิด ทัศนคติและวิธีการทำงานของตัวเองเหมือนกัน และก็ไม่ปฏิเสธครับว่าปัจจุบันภาคการเมืองก็ยังทำไม่ได้ แต่ที่จะพูดก็คือว่าไม่ใช่ภาคการเมืองภาคเดียวที่มีปัญหาในขณะนี้  ทุกภาคส่วนในประเทศต้องทบทวนต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และคิดที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีกว่า  ผมก็เลยอยากจะจบลงด้วยประเด็นสุดท้ายที่ภาคธุรกิจก็เขี่ยลูกแล้ว ภาครัฐก็อยากจะให้มันเดินหน้าได้อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นรูปธรรมอย่างดีในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและการทำงาน คือปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น  

ขอบคุณที่ภาคธุรกิจตอนนี้พร้อมที่จะบอกว่าเป็นจำเลยร่วมกับภาคการเมือง ผมว่าภาคการเมืองยังเป็นจำเลยที่ 1 อยู่ แต่ว่ามีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่วันนี้ต้องมาคิดทำงานร่วมกัน  ผมเห็นการทำงานในต่างประเทศขณะนี้ การแก้ปัญหานี้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่กัดกร่อนระบบการเมือง แล้วก็เป็นตัวที่สร้างความขัดแย้งด้วยในสังคม หรือแม้กระทั่งสร้างวิกฤตที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ต้นตอก็มาจากตรงนี้ค่อนข้างมาก ในต่างประเทศขณะนี้เขาไปเกินเลยมาตรการต่าง ๆ ที่มีจากภาครัฐแล้ว ภาครัฐเราก็พยายามทำมาหมดแล้ว มีองค์กรอิสระ มีกฎหมายที่เข้มงวดกวดขันมากขึ้น มีการแสดงบัญชีทรัพย์สิน มีการกำหนดบทบัญญัติเรื่องของการขัดกันของผลประโยชน์  แต่ว่าก็ยังมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ เรื่องการปฏิบัติ แต่ว่าในต่างประเทศเวลานี้เขาก็เรียกร้องแล้วว่าภาคเอกชนก็ต้องจัดการกันเอง เช่น ต้องสามารถที่จะตกลงกันว่าจะไม่มีบริษัทไหนไปติดสินบนเพื่อให้ได้งาน เพื่อทำธุรกิจ ตกลงกันเองในภาคเอกชน  ตกลงที่จะทำธุรกิจอย่างสุจริต ไม่ใช่ตกลงกันเพื่อฮั้วและแบ่งผลประโยชน์  ต้องก้าวมาสู่จุดนี้ให้ได้ครับ และต้องสามารถที่จะรวมตัวกันและต่อต้านธุรกิจใดก็ตามซึ่งไม่เดินตามแนวทางนี้  ขณะนี้ทางหอการค้าได้รับโจทย์นี้ไป และเห็นบอกว่าทางหอการค้าต่างประเทศก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องนี้ ผมว่าเรื่องอย่างนี้ครับถ้าหากเรายังตอบโจทย์ใหญ่ไม่ได้ ทำไม่ได้สักเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องนี้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ผมไม่คาดหวังละครับ ไม่ฝันถึงขั้นว่าสิ่งร้าย ๆ จะหายไป แต่ว่าให้เห็นสิ่งดี ๆ และให้เริ่มเปลี่ยนแปลงลดปัญหาที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะสุดท้ายแม้ว่าเราจะเรียกร้องให้ธุรกิจมาทำงานเพื่อสังคมหรืออะไร ธุรกิจต้องอยู่กับการแข่งขัน แต่ว่าการแข่งขันถ้าเราแข่งขันกันด้วยความสามารถ  แข่งขันกันด้วยคุณภาพ จริงอยู่ครับผลตอบแทนอาจจะยังเป็นเรื่องเงินเรื่องกำไร  แต่ถ้าเราทำให้ทุกคนแข่งขันกันบนพื้นฐานแบบนี้ ผลกระทบทางสังคมไม่มากละครับในทางลบ และผลตอบแทนที่มันจะกลับคืนสู่สังคมมันจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเราไม่แข่งขันกันด้วยวิธีนี้  แต่ว่าเราแข่งขันกันบนพื้นฐานของการเอารัดเอาเปรียบ การไม่ปฏิบัติตามกติกา การใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวไปเรื่อย ๆ ผลกระทบทางสังคมก็จะเป็นอย่างที่เห็นอยู่  และก็การเรียกร้องให้มีการคืนกำไรสู่สังคมจะไม่สามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ 

เพราะฉะนั้นวันนี้ผมต้องขอขอบคุณผู้จัดงานเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดให้มีเวทีนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อคิดต่าง ๆ จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันในช่วงระยะเวลาต่อไป ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมและประเทศชาติบ้านเมืองของเรา ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้แสดงความกระตือรือร้น และมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะมาช่วยกันปฏิรูปเพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ  และขออวยพรให้ทุกท่านที่มีความตั้งใจที่ดีที่แน่วแน่นี้ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายทุกประการ ขอบคุณครับ  

พิธีกร ครับเป็นเวลาสำคัญครับที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจจะขอส่งมอบ 100 ความคิดปฏิรูปประเทศไทยแด่ท่านนายกรัฐมนตรีครับ  นี่คือกล่อง 100 ความคิดปฏิรูปประเทศไทยนะครับ ณ เวลาแห่งนี้ซึ่งถือได้ว่าเป็นเวทีความร่วมมือธุรกิจเพื่อสังคมพลังขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยนะครับ

 

ที่มาข่าว:

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1779&contents=46563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net