สัมภาษณ์: นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ “เรามั่นใจประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบ”

สัมภาษณ์พิเศษ "นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" หนึ่งในทีมกฎหมายสู้คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เล่าบรรยากาศลุ้นระทึก และที่มาที่ไปของคดี ก่อนคณะทำงานร่วม กกต.กับอัยการสูงสุดมีมติเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์

กลายเป็นเรื่องหนาวๆ ร้อนๆ สำหรับพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ หรือ ปชป. ถึงคราวที่จะถูกยุบพรรคบ้างแล้ว เมื่อที่ประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 มีมติเห็นควรเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์

อันเนื่องมาจาก กรณีการรับเงินบริจาค 258 ล้านจากบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ผ่านบริษัท แมสไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ คณะทำงานจะนำเสนอผลการหารือต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อแจ้งต่ออัยการสูงสุดให้ดำเนินการยื่นเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งขึ้นรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หนึ่งในคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ถึงความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ซึ่งไม่เฉพาะแต่อยู่ในความสนใจของชาวใต้ อันเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น

ด้วยเพราะจะมีนักการเมืองที่อยู่ในข่ายถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ เนื่องเพราะเป็นกรรมการบริหารพรรคในช่วงปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุให้มีการยื่นคำร้องให้ยุบพรรคอยู่หลายคนกระจายอยู่หลายพื้นที่

โดยข้อเท็จจริงในประเด็นการยุบพรรคนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 1 คดี และที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการร่วมระหว่างอัยการสูงสุดมีมติดังกล่าวแล้วอีก 1 คดี

ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ “นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” เกี่ยวกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่คณะกรรมการร่วมดังกล่าว จะมีมติให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่กี่วัน ดังนี้

 
 

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

ที่มาที่ไปของคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

คดียุบพรรคประชาธิปัตย์เริ่มต้นจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI กระทรวงยุติธรรม ได้รับเรื่องร้องเรียนจากบุคคลภายนอกว่า นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ทำผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยนายประชัยนำเงินของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกจากบัญชีของบริษัท โดยไม่ถูกต้อง

ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนพบว่า มีการนำเงินออกจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) 258 ล้านบาท มอบให้กับบุคคลใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งกล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์รับเงินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช 2541 และพุทธศักราช 2550

นอกจากกรมสอบสวนคดีพิเศษจะส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ยังมีคนในกรมสอบสวนคดีพิเศษบางคน ส่งข้อมูลเรื่องนี้ให้กับสมาชิกพรรคเพื่อไทยด้วย ทางสมาชิกพรรคเพื่อไทย จึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์อีกทางหนึ่งด้วย

ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงนำเรื่องนี้ขึ้นมาสอบสวน โดยใช้สำนวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหลัก กระทั่งผลการสอบสวนออกมาว่า ให้ยุติการสอบสวน ตั้งแต่เมื่อปี 2550

ต่อมา มีการกดดันคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีทั้งบุกไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งบ้าง ข่มขู่กรรมการการเลือกตั้งบ้าง จนในที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง จากนั้นได้กล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์มีความผิดใน 2 ข้อหาด้วยกัน

ข้อหาแรก พรรคประชาธิปัตย์รับเงินมาจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 29 ล้านบาท มาใช้ในการทำป้ายหาเสียงเลือกตั้งผิดกฎหมาย ตอนนี้คดีนี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

สำหรับเงิน 29 ล้านบาท ตามข้อกล่าวหาระบุว่า เป็นเงินที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ นำออกมาจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์ 258 ล้านบาทนั่นเอง

ส่วนข้อหาที่ 2 พรรคประชาธิปัตย์รับเงิน 258 ล้านบาท ที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ นำออกมาจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งน่าจะเป็นคดีหลัก ตอนนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังไม่ได้ชี้มูลความผิด การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น แต่กลับมาเอาผิดกับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว

ขณะนี้คดีรับเงินจากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ 258 ล้านบาท ยังอยู่ที่อัยการสูงสุด ทางอัยการสูงสุดมีความเห็นเหมือนกับนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองที่บอกว่า หลักฐานไม่พอฟ้อง

เมื่อหลักฐานไม่พอฟ้อง ก็ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นมาสอบสวนเพิ่มเติม หลังจากนี้ถ้าทางอัยการสูงสุดยังเห็นว่าหลักฐานไม่พอฟ้อง คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องฟ้องเอง

 

ความคืบหน้าคดีทำป้ายหาเสียง 29 ล้านบาท

ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นคำให้การต่อศาลแล้ว ศาลนัดฟังคำสั่งในเดือนกรกฎาคม 2553

 

พรรคต่อสู้ในประเด็นไหนบ้าง

คดี 29 ล้านบาท พรรคต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมาย 3 ประเด็น

ประเด็นแรก เรื่องการทำป้ายหาเสียง ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะอนุมัติเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ให้พรรคประชาธิปัตย์จัดทำป้าย

ประเด็นต่อมา พรรคถูกกล่าวหาว่า นำเงิน 29 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่พรรครับมาจากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์มาใช้ โดยไม่แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีความผิดตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง

ประเด็นที่สาม ทำป้ายผิดขนาดจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง

คดีทำป้าย 29 ล้านบาท พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า เป็นเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ที่เราได้รับมาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นเงิน 258 ล้านบาทของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ตามที่ถูกกล่าวหา

ในเมื่อคดี 258 ล้านบาท กรมสอบสวนคดีพิเศษยังไม่ฟ้องนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ว่า เอาเงินออกมาจากบัญชีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาบริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย แล้วคดีใช้เงิน 29 ล้านบาททำป้ายหาเสียง จะผิดได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่มีการลักทรัพย์ คดีลักของโจรย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

อันที่จริงคณะกรรมการการเลือกตั้งเคยสั่งยุติเรื่องไป ตั้งแต่ปี 2550 แล้ว

ประเด็นที่ยุติก็เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่า เงินทำป้ายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ 29 ล้านบาท เป็นเงินของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่นำเรื่องขึ้นมารื้อฟื้นตอนนี้ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งถูกกดดัน ถูกข่มขู่

ขณะที่คดี 258 ล้านบาท กรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังไม่ได้กล่าวหานายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ กระทำผิด แต่เขาไม่สนแล้ว ถึงยังไม่ดำเนินคดีกับนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เขาก็คิดว่าต้องเอาเรื่อง 258 ล้านบาทนี่แหละฟ้องไปก่อน เพื่อลดแรงกดดันที่เขาได้รับ

การใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองมีการตรวจสอบทุกปี เพราะคณะกรรมการเลือกตั้งจ่ายมาให้พรรคการเมืองเป็นปีๆ เรื่องนี้มีการตรวจสอบมาตั้งแต่ปี 2548 จนมาถึงปี 2550

 

สมมุติว่านายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ นำเงินออกจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาบริจาคให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกต้อง จะมีปัญหาอะไรอีกหรือไม่

ก็ต้องพิสูจน์ต่อไปว่าเงิน 29 ล้านบาท ที่พรรคประชาธิปัตย์นำมาใช้จ่ายในการทำป้ายหาเสียง เป็นเงินที่ได้จากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์หรือไม่ ประเด็นนี้พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นเงินที่ได้มาจากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นเงินที่เราได้มาจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ประเด็นสำคัญก็คือ ที่ผ่านมานายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ไม่เคยบริจาคเงินให้พรรคประชาธิปัตย์

 

ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์มั่นใจมากว่า จะไม่ถูกยุบพรรค

เรามั่นใจว่าเราไม่ได้ทำผิด

หนึ่ง เราไม่เคยรับเงินบริจาคจากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์

สอง เงินที่เอามาทำป้าย 29 ล้านบาท เป็นเงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เงินที่นำมาใช้จ่ายในการเลือกตั้งก็เป็นเงินของพรรค เพราะเรามีเงินของเราอยู่แล้ว

สาม เราได้ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงขนาดป้ายที่ได้รับอนุมัติมาก่อนหน้านั้นแล้ว

 

ถ้าผลออกมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค

ผมกับผู้ใหญ่ในพรรค ไม่ได้เตรียมทางเลือกสำรองเอาไว้เลย เพราะถ้าเราเตรียมไว้ คนก็จะคิดว่าเราคงจะทำผิดจริง เลยต้องเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ เราจึงไม่ได้เตรียมตั้งพรรคใหม่ไว้รองรับ

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ ผมก็ต้องยุติบทบาททางการเมือง 5 ปี เพราะตอนนั้นผมเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคอยู่ด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ภาคใต้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองกันเยอะ เพราะเป็นกรรมการบริหารพรรคกันหลายคน

ส่วนคนที่เหลือจะแยกย้ายไปไหน ก็แล้วแต่ดุลยพินิจ

 

ตอนนี้วิตกกันมากไหม

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคส่วนใหญ่ จะไม่ทราบรายละเอียดของคดี ไม่ทราบว่าเราถูกกล่าวหาอย่างไร เรื่องอะไร เราผิดจริงหรือเปล่า ผมมีหน้าที่เพียงบอกกับสมาชิก อย่างที่เล่าให้ฟังว่าเราไม่ผิด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่เขากลัว เพราะไม่มีใครรู้เลยว่า อะไรผิดไม่ผิด

 

กรณีข้อร้องเรียนเรื่องป้ายหาเสียง ที่ผ่านมาคณะกรรมการการเลือกตั้งมักยกคำร้อง

ความจริงมันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น

ส่วนเงิน 29 ล้านบาท เป็นเงินของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้งล้านเปอร์เซ็นต์ เวลาเงินเข้ามามันมีช่องทางเข้าออกของเงินทั้งหมด เงินจำนวนนี้มันมีที่มาที่ไปชัดเจน

รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีวาระครบ 4 ปี ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เมื่อการบริหารงานของรัฐบาลจะครบ 4 ปี ทุกพรรคการเมืองรู้โดยอัตโนมัติว่า หลังจากนั้นจะมีการเลือกตั้ง ถามว่าพรรคการเมืองจะสั่งทำป้าย ตอนที่จะจับหมายเลข หรือช่วง 45 วันก่อนเลือกตั้งละหรือ ต้องรอให้ได้หมายเลขก่อนแล้วค่อยสั่งทำป้ายใช่หรือไม่

ข้อเท็จจริงคือรอไม่ได้ ต้องสั่งทำป้ายก่อนล่วงหน้า ทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นทำล่วงหน้าทั้งนั้น พอได้หมายเลขแล้วก็เอาไปสกรีนหมายเลขผู้สมัคร นำออกไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ทันที

อันที่จริงเงินของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งโอนมาให้ก่อนแล้ว เงินมีอยู่ในถุงแล้ว เพียงแต่เรายังเอาไปใช้ไม่ได้ จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง เมื่อพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมาแล้ว เงินจำนวนนี้ก็นำออกมาจ่ายได้เลย เพราะฉะนั้นการสั่งให้ทำป้ายก่อน แล้วนำเงินไปจ่ายให้กับผู้รับจ้างทีหลัง ไม่น่าจะผิดตรงไหน

สิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งสงสัยก็คือ พอพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมา เรามีป้ายออกมาติดตามจุดต่างๆ ทันที แสดงว่าเราทำป้ายมาก่อน

ข้อเท็จจริงก็คือว่า ไม่มีข้อห้ามไม่ให้สั่งทำป้ายก่อนมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง เพียงแต่กำหนดไว้ว่า การเบิกจ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อมาจัดทำป้ายหาเสียง จะเบิกได้หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว

 

คณะกรรมการการเลือกตั้งให้เหตุผลอย่างไร

ประการแรก คณะกรรมการการเลือกตั้งให้เหตุผลว่า พอมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง พรรคติดตั้งป้ายหาเสียงพรึ่บ แสดงว่าทำมาก่อนออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ถามว่าทำก่อนได้ไหม ไม่มีกฎหมายห้าม

ประการที่สอง เขาบอกว่า ป้ายที่มีปัญหาที่เขาฟ้องเราก็คือ เดิมเราสั่งทำป้ายใหญ่ เพื่อติดข้างทางด่วนในกรุงเทพมหานคร สมาชิกพรรคบอกว่า ไม่ต้องทำป้ายขนาดใหญ่ติดในกรุงเทพมหานครมากๆ เพราะค่าใช้จ่ายสูง ให้ทำป้ายขนาดเล็กลงนำไปติดในต่างจังหวัดให้เยอะๆ เพราะป้ายขนาดใหญ่ที่ติดตั้งในกรุงเทพมหานครราคา 3 – 4 ล้านบาท ค่าเช่าที่ติดตั้งก็แพงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ติดป้าย ถ้าทำป้ายติดทางด่วนหลายแห่ง ก็ต้องใช้เงินหลายล้านบาท

เราพิจารณาดูแล้ว ถ้าติดป้ายขนาดใหญ่ เราต้องใช้เงินในกรุงเทพมหานครเป็น 10 ล้านบาท ถ้าเราเอาเงิน 10 ล้านบาท ไปทำป้ายแผ่นเล็กติดทั่วประเทศ จะได้ประโยชน์กับสมาชิกที่สมัครรับเลือกตั้งมากกว่า เราเลยขอปรับเปลี่ยนขนาดป้าย โดยลดจำนวนป้ายใหญ่ลง แล้วมาทำป้ายขนาดเล็กแทน โดยใช้วงเงินเท่าเดิมที่เราได้รับคือ 29 ล้านบาท ตรงนี้แหละครับที่เราทำไปก่อนที่จะได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง

เรื่องนี้ตรวจสอบได้ ถ้าเห็นว่าพรรคทำผิดจริง หมายถึงใช้เงินไปก่อนที่จะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนเป็นป้ายขนาดเล็ก คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถเรียกเงินคืนได้

 

คดียุบพรรคประชาธิปัตย์แตกต่างกับคดียุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนตรงไหน

คดีของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งคดีทำป้ายหาเสียง 29 ล้านบาท และคดีรับเงินจากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ 258 ล้านบาท ไม่ใช่คดีทุจริตการเลือกตั้ง เป็นเรื่องของการใช้เงินไม่ถูกต้อง ทำป้ายไปก่อนได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงขนาดของป้าย กรณีใช้เงินไม่ถูกต้อง อำนาจในการให้ความเห็นว่า ควรจะยุบพรรคการเมืองหรือไม่ เป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง ไม่ใช่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ถ้านายทะเบียนพรรคการเมือง เห็นว่าควรยุบก็นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งขอความเห็นชอบ

ไม่เหมือนคดีพรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทยพรรคพลังประชาชน เป็นคดีทุจริตการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่เป็นโมฆะ อำนาจการวินิจฉัยว่าควรยุบพรรคหรือไม่เป็นของประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เห็นว่าควรยุบก็นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งขอความเห็นชอบ

พอดีประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งสวมสองหมวก หมวกหนึ่งคือ นายทะเบียนพรรคการเมือง อีกหมวกหนึ่งคือ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

กรณีการใช้เงินไม่ถูกต้อง ต้องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นก่อนว่า ควรยุบหรือไม่ ถ้านายทะเบียนบอกว่าไม่ควรยุบเรื่องก็จบ ถ้านายทะเบียนบอกว่าควรยุบ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน ถึงจะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ

ในกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาเห็นว่าไม่ควรยุบ เรื่องจึงควรจะจบไปตั้งนานแล้ว แต่พอนายทะเบียนพรรคการเมืองถูกกดดันเยอะๆ ก็ว่าอย่ากระนั้นเลย เอาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญไปเลยน่าจะดีกว่า

ทั้งๆ ที่ตามขั้นตอนแล้ว นายทะเบียนพรรคการเมือง จะต้องมีความเห็นก่อนว่า ควรยุบพรรค ถึงจะนำเรื่องไปขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง

นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนอย่างนายแก้วสรร อติโพธิก็ดี นายคมสัน โพธิคง ซึ่งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญประเด็นพรรคการเมืองก็ดี ต่างมีความเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ผิด แล้วจะเอาเรื่องนี้ไปโหวตในที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งได้อย่างไร เรื่องมันจบไปตั้งนานแล้ว จบตั้งแต่ตอนที่นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ผิด

คดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท จากนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ พอนำไปโหวตกันในคณะกรรมการการเลือกตั้ง เสียงออกมา 4 ต่อ 1 หนึ่งเสียงข้างน้อยที่บอกว่าไม่ผิด เป็นเสียงของนายทะเบียนพรรคการเมือง ส่วนอีก 4 เสียงที่บอกว่าผิด เป็นของกรรมการการเลือกตั้งที่เหลือ

คดีทำป้ายหาเสียง 29 ล้านบาท เสียงโหวตในคณะกรรมการการเลือกตั้งออกมา 5 ต่อ 0 นั่นหมายความว่านายทะเบียนพรรคเมืองโหวตว่าพรรคประชาธิปัตย์ผิดด้วย แต่นายทะเบียนพรรคการเมืองไปโหวตคดีนี้ ในฐานะประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่ได้ให้ความเห็นว่าควรจะยุบพรรค ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง แล้วนำเรื่องนี้ไปขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งทำอย่างนี้เพราะถูกดดัน บางวันมีรถมอเตอร์ไซค์ไปขับเวียนที่บ้านของประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งถึง 200 คัน

คดียุบพรรคประชาธิปัตย์มีประเด็นทางข้อกฎหมายเยอะ ทีมที่เข้ามาช่วยกันทำคดีจริงๆ ของพรรคประชาธิปัตย์มีไม่กี่คน เพราะบางเรื่องมันเป็นความลับ เราไม่อยากให้รู้กันเยอะ ก็เลยทำเฉพาะคนที่เก็บความลับได้ดี ก็มีผมและทีมงานในสำนักกฎหมายเสนีย์ ปราโมช มีนายวิรัช ร่มเย็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง มีนายทศพล เพ็งส้ม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนนทบุรี มีนายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรค เป็นหัวหน้าทีม

 

ที่มาที่ไปคดียุบพรรคประชาธิปัตย์

ก่อนหน้านั้นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี นายชัช ชลวร เป็นประธานได้ออกนั่งบัลลังก์นัดพร้อมคู่กรณี ในคำร้องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากกระทำการเข้าข่าย มาตรา 62 และ 65 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2541 และมาตรา 82 และ 93 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 กรณีใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาทไม่ตรงตามความเป็นจริง

โดยศาลฯ เห็นว่ามีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 5 ประเด็นคือ

1.กระบวนการยื่นคำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

2.การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ตามคำร้องอยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 หรือไม่

3.พรรคประชาธิปัตย์ใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองประจำปี 2548 เป็นไปตามแผนงานโครงการที่ขออนุมัติหรือไม่

4.พรรคประชาธิปัตย์ทำรายการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองประจำปี 2548 ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่

5.กรณีมีเหตุให้ต้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการบริหารพรรคต้องถูกตัดสิทธิและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2541หรือประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.) ฉบับที่ 27 ซึ่งแก้ไขประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 30 ก.ย. 49 หรือตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 หรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ ในประเด็นที่ 1และ 2 เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ศาลฯวินิจฉัยได้เอง ไม่ต้องนำสืบพยาน ส่วนในประเด็นอื่นให้มีการตรวจสอบพยานก่อนการไต่สวน โดยนัดตรวจพยานวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 นี้ และกำหนดนัดไต่สวนพยานปากแรกในวันที่ 9 สิงหาคม 2553

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท