Skip to main content
sharethis
กรมการจัดหางานเผยพบคนไทยขอวีซ่าท่องเที่ยวแฝงทำงานเก็บผลไม้ที่สวีเดนกว่า 5,000 คน
(ฐานเศรษฐกิจ, 11-7-2553)
นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึง กรณีกรมการกงศุล กระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า ขณะนี้มีคนไทยยื่นขอวีซ่าไปท่องเที่ยวที่สวีเดนมากกว่า 5,000 คน ว่า จากการตรวจสอบพบว่า ทุกคนแจ้งความจำนงจะเดินทางไปเยี่ยมญาติ ที่เป็นคนไทยและเป็นภรรยาของชาวสวีเดน ซึ่งปีนี้ทางการสวีเดน ได้อนุญาตให้ไทยที่พักอาศัยในสวีเดน เรียกว่ากลุ่มมาดาม สามารถพาญาติเข้าไปทำงานเก็บผลไม้ป่าได้คนละไม่เกิน 3 คน และปราศจากเงื่อนไข ขณะที่แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานผ่านบริษัทจัดหางาน 4 แห่งประมาณ 3 พันคน โดยทุกคนจะต้องได้รับกาประกันรายได้ไม่ต่ำกว่า 75,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือนครึ่ง และแรงงานจะต้องจ่ายค่าเดินทาง ค่าวีซ่า ค่าอาหารและค่าน้ำมันรถ รวมทั้งภาษีเงินได้เองทั้งหมด ส่วนค่าที่พัก ค่าเช่ารถ และอุปกรณ์การทำงาน บริษัทจะจัดหาให้ รวมทั้งจัดหาพื้นที่สำรองในการเก็บเกี่ยวผลไม้เพิ่มด้วย ซึ่งมีเงื่อนไขเดียวกับการจ้างตรงจากนายจ้างชาวสวีเดน ที่มีการประกันรายได้ให้แรงงาน แต่แรงงานจะต้องเสียค่าใช้จ่ายและภาษีเงินได้ร้อยละ 25 ของรายได้ ซึ่งมีประมาณ 200 คน
"การเดินทางผ่านบริษัทนำพาและการจ้างตรง จะต้องจองตั๋วเครื่องบินแบบเลื่อนวันและเวลาได้ เพื่อให้แรงงานสามารถเดินทางกลับประเทศได้ทันที หากเกิดปัญหา ซึ่งจะมีแรงงานทยอยเดินทางชุดแรกในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้คาดว่า ปีนี้อาจเกิดปัญหาแรงงานไทยสวีเดนหนักกว่าปีที่แล้ว โดยเฉพาะที่ไปทำงานผ่านกลุ่มมาดาม เพราะเกินอำนาจการดูแลของเจ้าหน้าที่สถานทูต" รองอธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว
ลดสิทธิพิเศษธุรกิจใช้แรงงานต่างด้าว
(มติชน, 11-7-2553)
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ว่า ภาวะการลงทุนในช่วงครึ่งปี2553 มีโครงการลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 632 โครงการ เพิ่มขึ้น 46.3%จากช่วงเดียวกันของปี 2552 และมีมูลค่าลงทุน 192,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.4%เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมการบริการและสาธารณูปโภคยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด มูลค่า 85,100 ล้านบาท ตามด้วยอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิค และโลหะขั้นพื้นฐาน มีมูลค่าลงทุน 26,400 ล้านบาทอุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มูลค่า 23,200 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าลงทุนรวม 22,800 ล้านบาท
นายชัยวุฒิกล่าวว่า สำหรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ยื่นเข้ามาแล้วในครึ่งปีนี้มีจำนวน 375 โครงการมูลค่า 98,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 96% ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และนักลงทุนต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นประเทศไทย โดยจากการสำรวจพบว่าญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด มูลค่า 38,638 ล้านบาท สเปนเป็นอันดับสอง มีมูลค่า 22,000 ล้านบาท ซึ่งสเปนถือเป็นประเทศที่บีโอไอเพิ่งให้การอนุมัติส่งเสริมการลงทุน และ3.สิงคโปร์ มูลค่าลงทุน 8,299 ล้านบาท
นายชัยวุฒิกล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีการผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ โดยจากการหารือนายกฯได้สั่งการให้บีโอไอนำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากการส่งเสริมของบีโอไอนั้นมีวัตถุประสงค์หลักคือจะไม่ใช้แรงงานต่างด้าว เพียงแต่จะผ่อนผันให้เฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ชำนาญการเท่านั้น ดังนั้น การพิจารณาให้โครงการลงทุนใช้แรงงานต่างด้าวได้จึงมีความเป็นไปได้ว่าโครงการนั้นๆ อาจจะได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอน้อยลงจากข้อตกลงเดิม
แหล่งข่าวจากบีโอไอเปิดเผยว่า ช่วง 6 เดือนแรกของบีโอไอมีการตั้งมูลค่าการลงทุนที่ 250,000 ล้านบาท แต่การขอรับส่งเสริมการลงทุนจริงอยู่ที่ 192,400 ล้านบาท ผิดจากที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นในครึ่งปีหลังของปีนี้ บีโอไอต้องเร่งชักจูงนักลงทุนโดยต้องมีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่ารวมกันถึง 300,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 500,000 ล้านบาท
ควัก 3 พัน ล.เก็บตกขึ้นเงินเดือนลูกจ้างประจำ
(ข่าวสด, 11-7-2553)
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ให้การบ้านแก่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งพิจารณาภาพรวมค่าแรงงานทั้งระบบใหม่ให้เพิ่มรายได้แรงงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว และดูแลผู้ประกอบการให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังหารือกับ รมว.แรงงาน เพื่อดูแลประชาชนที่ยังไม่ได้รับโอนหนี้นอกระบบ เนื่องจากไม่มีรายได้ชัดเจน ดังนั้น จึงเตรียมหางานให้หลังจากนั้นจะโอนหนี้บางส่วนมาอยู่ในระบบ และหากมีศักยภาพมากขึ้นก็จะโอนหนี้เข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมด
ด้านนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวถึงการจัดเตรียมงบสำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการในเดือนเม.ย.54 ว่า นอกจากส่วนของข้าราชการที่จะใช้เงิน 1.3 หมื่นล้านบาทแล้วยังมีส่วนของลูกจ้างประจำทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ คาดใช้เงินเพิ่ม 2-3 พันล้านบาท โดยจะเสนอให้ ครม. พิจารณาในคราวเดียวกัน และจะใช้เงินในส่วนของงบกลาง
นายมั่น พัธโนทัย รมช.คลัง กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมบัญชีกลาง ว่า มอบหมายให้กรมบัญชีกลางเร่งลดการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลที่ขณะนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปีจากปีนี้ที่ตั้งงบไว้ 4.8 หมื่นล้านบาทเป็น 5 หมื่นกว่าล้านบาทและเพิ่มเป็น 6.2 หมื่นล้านบาทในปี"54 โดยให้ควบคุมการเบิกจ่ายยาและรักษาโรค 9 ชนิดให้รัดกุม นอกจากนั้นให้เร่งหาแนวทางโอนเงินช่วยเหลือ (อสม.) เข้าบัญชีโดยตรงเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับเงินโดยเร็วเหมือนกรณีโอนเงินให้ผู้สูงอายุ ซึ่งมีผู้มีสิทธิกว่า 7.4 ล้านคน วงเงินงบประมาณแต่ละปี 3 หมื่นล้านบาท
อุบัติเหตุจากการทำงานพุ่ง 1.4 แสนราย
(แนวหน้า, 8-7-2553)
ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 24 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม ภายใต้ชื่อว่า “แรงงานปลอดภัย สุขภาพอนามัยดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม”พร้อมกับมอบรางวัลให้แก่สถานประกอบการจำนวน 182 แห่ง ที่ผ่านเกณฑ์ดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับประเทศติดต่อกัน 5 ปีขึ้นไป   
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้นายจ้างและผู้ใช้แรงงาน ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน เตรียมความพร้อมป้องอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นไว้ล้วงหน้า รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานมีวินัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด ยืดระเบียบ กฎเกณฑ์ และข้อห้ามต่างๆ อย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากประมาทก็จะทำให้เกิดอันตรายระหว่างการทำงานได้
ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2543-2552 พบว่า อัตราการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้าง กรณีหยุดงานเกินกว่า 3 วันขึ้นไป มีแนวโน้มลดลง โดยหากเปรียบเทียบอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานระหว่างปี 2551 กับปี 2552 ซึ่งมีอัตราการประสบอันตรายจากการทำงานอยู่ที่ 6.08 และ 5.39 รายต่อลูกจ้าง 1,000 คน ซึ่งจะพบว่าลดลงจากปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 11.35 แต่ยังถือว่าการประสบอันตรายจากการทำงานยังคงมีจำนวนสูงอยู่มาก โดยในปี 2552 จำนวนการประสบอันตรายจากทุกกรณีมีจำนวน 149,436 ราย สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายเงินทดแทนเนื่องจากการประสบอันตรายจากการทำงานเป็นจำนวนกว่า 1,569 ล้านบาท สำหรับกิจการที่ประสบอันตราย 3 อันดับแรก ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ การค้าและการก่อสร้าง   
“สถิติคนงานที่ประสบอุบัติเหตุในสถานประกอบการมีจำนวนลดลงทุกปี โดยเราตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องลดลงให้เหลือน้อยที่สุดจนกระทั่งเป็นศูนย์ เพื่อเป็นการดูแลสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งทางกระทรวงแรงงานจะต้องสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้สถานประกอบการเข้าใจและให้ความสำตัญในเรื่องนี้” นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้านนายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลดอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมาย คู่ขนานไปกับมาตรการด้านการส่งเสริมจูงใจนายจ้างและลูกจ้าง โดย กสร.การตรวจความปลอดภัยในสถานประกอบการที่มีการประสบอันตรายสูง พร้อมกับจัดให้มีการฝึกอบรมสัมมนาให้ความรู้ด้านความปลอดภัยแก่นายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย นอกจากนี้ จะดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างเคร่งครัด ซึ่งในปี 2552 ได้ดำเนินคดีทางอาญากับนายจ้างจำนวน 571 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงินประมาณ 8.3 ล้านบาท
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและคณะอนุกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับจังหวัดทุกจังหวัด พร้อมกับเร่งรัดผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเข้าพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 นอกจากนี้ จะได้ส่งเสริมสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้านความปลอดภัย อาทิ โครงการรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ โครงการความปลอดภัยสู่สถานศึกษา โครงการเฝ้าระวังสถานประกอบการเพื่อลดการประสบอันตรายจากการทำงาน ซึ่งจะสามารถทำให้สถิติการประสบอันตรายมีแนวโน้มลดลงอย่างเป็นรูปธรรมได้
 
ขณะที่ลูกจ้างโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี กล่าวว่า จากการแข่งขั้นทางธุรกิจ สร้างภาพพจน์ให้กับองค์กรในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ส่งผลให้สถานประกอบการบางส่วน ไม่แจ้งการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ที่จะต้องเบิกค่ารักษากับกองทุนเงินทดแทน แต่เข้ารับการรักษาในส่วนของกองทุนประกันสังคมแทน โดยที่สถานประกอบการไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาเพิ่ม ทั้งนี้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานขึ้น นายจ้างยอมที่จะควักเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือให้ลูกจ้างใช้สิทธิประกันสังคม โดยที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่ารักษาอีก ทำให้กองทุนประกันสังคมต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นภาระกองทุนประกันสังคม
พนักงานรายหนึ่ง กล่าวว่า เมื่อเกิดอะไรขึ้น ที่ไม่ถึงขั้นเลือดตกยางออกแล้ว หัวหน้าแผนกมักจะไม่รายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เพราะต้องรับผิดชอบด้วย ตามนโยบายในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานที่ภาคอุตสาหกรรมมักจะแข่งขันที่ให้การประสบอันตรายเป็นศูนย์
ก.คลัง-แรงงาน หารือช่วยลูกหนี้นอกระบบ
(เดลินิวส์, 8-7-2553)
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน เพื่อให้ช่วยหางานให้ลูกหนี้นอกระบบ ที่มาลงทะเบียนกับกระทรวงการคลัง แต่ไม่สามารถโอนหนี้เข้าสู่ในระบบได้ เนื่องจากไม่มีรายได้ที่เพียงพอ โดยกระทรวงการคลังจะรวบรวมข้อมูลให้กระทรวงแรงงาน เพื่อหางานที่เหมาะสมกับลูกหนี้ เมื่อลูกหนี้เริ่มทำงาน จะให้สถาบันการเงินของรัฐทยอยโอนหนี้เข้ามาในระบบบางส่วนก่อน เพื่อรอดูความตั้งใจจริงในการทำงานลูกหนี้ เมื่อพิสูจน์ว่ามีความความตั้งจริงในการทำงาน ก็จะรับโอนหนี้เข้าระบบทั้งจำนวน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและการจ่ายงเงินต้นของลูกหนี้นอกระบบ ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ไม่ได้หารือกัน ซึ่งเห็นว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำขณะนี้ คงต้องดูตามความเหมาะสม ควบคู่ไปกับการปรับลดภาษีของรัฐบาล เพราะทั้ง 2 เรื่องถือว่ามีความละเอียดอ่อน ดังนั้นต้องพิจารณาให้รอบคอบ
แรงงานบุรีรัมย์โกยเงินเข้าประเทศปีละกว่า 3,000 ล้านบาท
(สำนักข่าวไทย, 8-7-2553)
จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ เผยแรงงานบุรีรัมย์ที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวเฉลี่ยเดือนละ 15,000 บาท นำรายได้เข้าจังหวัดปีละกว่า 3,000 ล้านบาท
นายสุวรรณ์ ดวงตา จัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแรงงานใน จ.บุรีรัมย์ เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศกว่า 24,000 คน แต่ละคนส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวเฉลี่ยเดือนละประมาณ 15,000 บาท ซึ่งสามารถนำรายได้เข้าจังหวัดปีละกว่า 3,000 ล้านบาท โดยประเทศที่แรงงานเดินทางไปทำงานมากที่สุด คือ ไต้หวัน และเกาหลี
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ มีแรงงานที่ต้องการเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศถูกหลอกลวงจากสายและนายหน้าเถื่อน จำนวน 110 ราย มีมูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานจัดหางานจังหวัดได้นำผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดี และมีการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเอาผิดกับกลุ่มผู้หลอกลวง ทั้งสายและนายหน้าเถื่อนไปแล้วกว่า 70 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ จึงขอฝากเตือนประชาชนที่ต้องการไปทำงานยังต่างประเทศ ควรเข้าไปปรึกษาสอบถามและลงทะเบียนที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด เพื่อจะได้ตรวจสอบว่า ประเทศดังกล่าวมีตำแหน่งงานว่างจริงหรือไม่ บริษัทที่กล่าวอ้างว่าจะจัดส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศ เป็นบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากแก๊งมิจฉาชีพ สายและนายหน้าเถื่อน
นายจ้างต่างด้าวโวยถูกดูดคนงานเข้ากรุงวอนรัฐบาลเร่งปราบขบวนการค้าแรงงาน
(พิมพ์ไทย - 7 ก.ค. 2553)
แหล่งข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการภาคการเกษตร 5 อำเภอชายแดนไทย-พม่า (อ.แม่สอดพบพระ-ท่าสองยาง-แม่ระมาด และ อ.อุ้มผาง)กว่า 100 ราย นำโดยนายชัยวัฒน์ ประเสริฐธรรมอายุ 59 ปี ได้เดินทางเข้าพบนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมส.ส.ตาก ที่สำนักงานพรรคประชาธิปัตย์ สาขาอ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.) เพื่อยื่นหนังสือและร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ระบุว่าได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่มีฝีมือ เพราะหลังจากนำแรงงานต่างด้าว ขึ้นทะเบียน ทร.38/1 อย่างถูกต้องตามกฎหมายและเข้ามาทำงานในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน จ.ตากแล้ว กลับถูกนายจ้างจากจังหวัดพื้นที่ชั้นในรวมทั้งนายหน้าพาเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฯลฯ โดยใช้วิธีการต่างๆ หลายรูปแบบ รวมไปถึงการลักลอบเข้าไปทำงานยังจังหวัดชั้นในกับขบวนการค้าแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่จำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบประสบปัญหาการขาดทุน มีหนี้สิน หากจะหาคนงานใหม่มาทำงานทดแทนก็จะเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย เพราะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน
ในช่วงนี้ก็มักจะถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายหน่วยงานทั้งใน-ต่างพื้นที่เข้ามาหาผลประโยชน์ โดยการจับกุมและเรียกรับส่วยเป็นรายเดือน ถ้าไม่จ่ายก็จะเสี่ยงต่อการถูกจับและยัดเยียดข้อหา รวมทั้งถูกดำเนินคดี
กลุ่มผู้ประกอบการชายแดนต้องขาดแคลนแรงงาน ระบุอีกว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานี้คือ 1.การพิสูจน์สัญชาติมีการทุจริต 2.มีการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง 3.มีขบวนการค้าแรงงานต่างด้าว 4.ใช้วิธีทำ MOU โดยเลี่ยงการใช้ ทร.38/1 และ 5.มีการหาผลประโยชน์ในการจดทะเบียนพิสูจน์สัญชาติ
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจสอบข้อเท็จจริง ในประเด็นที่ยื่นเสนอ รวมทั้งให้รัฐบาลใช้นโยบายสกัดกั้นและปราบปรามขบวนการค้าแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจัง
ขณะที่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำปัญหาเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการประกอบการธุรกิจด้านต่างๆ
แหล่งข่าวยังแจ้งอีกว่า ภายหลัง รมว.อุตสาหกรรมรับเรื่องและรับที่จะนำปัญหาเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการได้สลายตัวและเตรียมติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาต่อไป
เอกชนแนะรัฐงดอนุญาตนำแรงงานต่างด้าวเข้าระบบ
(โพสต์ทูเดย์, 6 ก.ค. 2553)
นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการเข้าหารือร่วมกับยนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรรม ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมทบทวนนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนเป็นรายอุตสาหกรรมพร้อมด้วยเงื่อนไข เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และไม่ควรอนุมัติให้มีการนำเข้าแรงงานไร้ฝีมือจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศ ที่ปัจจุบันมีจำนวนมาอยู่แล้ว
ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศควรกำหนดยุทธศาสตร์ว่าจะส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใดบ้าง โดยพิจารณาว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง แทนที่จะเน้นเป้าหมายจำนวนเงินทุนอย่างในปัจจุบัน เนื่องจากประเทศเริ่มขาดแคลนทรัพยากรที่ต้องใช้ในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในทุกระดับ ตั้งแต่แรงงานไร้ฝีมือจนถึงระดับวิศวกรเชี่ยวชาญ ทรัพยยากรน้ำ ไฟฟ้า ซึ่งการที่ส่งเสริมการลงทุนโดยกำหนดเป้าหมายจำนวนเงินเป็นหลัก จะยิ่งทำให้ทรัพยากรเกิดความขาดแคลนมากยิ่งขึ้น ขณะที่ไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนน้อยมาก
“การนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาเยอะจะทำให้เกิดปัญหาความมั่นคง ซึ่งการสนับสนุนการนำเข้าแรงงานต่างด้าวต้องพิจารณาด้วยว่าไทยได้ประโยชน์อะไร” นายศุภชัย กล่าว
ส่วนการที่ไทยไปชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ ต้องคำถึงสิ่งที่ไทยจะได้รับด้วย เช่น การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ก็ควรคำนึงถึงบริษัทชิ้นส่วนของไทยด้วย เพราะหากไปดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนแบบครบวงจร บริษัทในเมืองไทยก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร เทคโนโลยีก็ไม่ได้รับการถ่ายทอด แรงงานก็ไม่ได้ใช้คนไทย สุดท้ายประเทศไทยก็ไม่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีโรงงานอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายแห่งกำลังจะย้ายฐานการลงทุนออกมาจากจีน และไต้หวัน เพราะมีความกดดดันหลายด้าน และค่าแรงงานในจีนก็พุ่งสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องมองหาแหล่งลงทุนใหม่
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รวม.อุตสาหกรรม กล่าวว่า รับข้อเสนอของภาคเอกชนและพร้อมเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างอยู่ให้เร็วที่สุด ส่วนข้อเสนอจะก็จะนำไปพิจารณา
สำหรับการที่มีนักลงทุนสนใจเข้าย้ายฐานการลงทุนจากจีนเข้ามาไทย คงเป็นเพราะแรงงานไทยมีฝีมือ ไม่เปลี่ยนงานบ่อย ไม่เป็นต้นทุนให้ผุ้ประกอบการต้องมาพัฒนาบุคลากรเพิ่มเติม รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคก็มีความได้เปรียบมากกว่าประเทศอื่นๆ
 
"เท่าที่คุยก็มีหลายแหล่งที่ติดต่อเข้ามา และสนใจลงทุนในเมืองไทย โดยคาดว่าน่าจะมีโครงการลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนในปีนี้บ้าง"นายชัยวุฒิ กล่าว
เล็งขึ้นค่าแรงภาคอุตฯ 5-10%
(โพสต์ทูเดย์, 5 ก.ค. 2553)
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่า ที่ประชุมกกร. ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาการปรับโครงสร้างค่าแรงในภาคอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับลักษณะการทำงานของแรงงาน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% จากค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อสนับสนุนให้แรงงานมีรายได้ที่สูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ทั้งนี้ จะพิจารณาให้สำหรับแรงงานในกลุ่มที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 60-70% ของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม โดยคณะทำงานจะศึกษาโครงสร้างค่าแรงในแต่ละอุตสาหกรรม ความต้องการแรงงาน และลักษณะงานของแรงงานในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อนำมาหาจุดที่เหมาะสมสำหรับการจ่ายค่าแรง โดยจะใช้เวลาในการศึกษา 3 เดือน และนำมาหารือร่วมกันที่ประชุมอีกครั้ง โดยภาคเอกชนจะนำร่องขอความร่วมมือจากสมาชิกให้ดำเนินการก่อน
สำหรับอุตสาหกรรมนำร่อง ที่คาดว่าจะเริ่มนำระบบนี้มาใช้ได้น่าเป็นกลุ่มของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และอุตสาหกรรมที่มีการแบ่งแยกลักษณะงานที่ชัดเจน มีการผลิตเป็นจำนวนชิ้นงาน เป็นต้น เนื่องจากจะสามารถพิจารณาได้ง่ายกว่า ส่วนอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนอาจจะต้องใช้เวลาในการพิจารณานานกว่า
"การพิจารณาปรับโครงสร้างนี้จะเป็นการให้โอกาสแก่แรงงานไร้ฝีมือให้มีค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน และคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้"นายสมเกียรติ กล่าว
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเข้ามาดูแลแรงงานในกลุ่มนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการสนับสนุนให้มีการทำโครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอยู่แล้ว เพื่อยกระดับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทย และให้แรงงานมีค่าจ้างที่สูงขึ้น เพราะในระยะยาวไทยต้องมุ่งสู่การใช้ที่มีทักษะเข้ามาผลิตสินค้ามากขึ้น โดยในส่วนของการพัฒนานี้จะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการด้วย
ทั้งนี้ ในฐานะของส.อ.ท. ที่เป็นกลุ่มของภาคอุตสาหกรรม และมีการใช้แรงงานสูงที่สุด จะเป็นแกนนำในการศึกษาการปรับโครงสร้างดังกล่าว และจะเชิญผู้แทนจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาศึกษาร่วมกัน โดยจะดูตัวอย่างจากต่างประเทศถึงการจัดโครงสร้างค่าแรง การแบ่งตำแหน่งงาน ลักษณะงานที่มีมากกว่า 1,200 ลักษณะงาน ว่าควรจะได้ค่าแรงงานในระดับใด รวมถึงจะดูในแง่การพัฒนาฝีมือของแรงงานแต่ละบุคคล และอายุการทำงานอีกด้วย
"คณะทำงานจะพิจารณาในแง่การพัฒนา และอายุการทำงาน เพราะบางคนทำงานมาหลายปีแต่ค่าแรงไม่เคยขึ้น รวมถึงจะต้องดูความต้องการแรงงานในแต่ละสาขาด้วย เพราะอาจทำให้เกิดการแย่งแรงงานกันในภาคอุตสาหกรรมได้"นายพยุงศักดิ์ กล่าว
สำหรับภาคเอกชน คาดว่าปีนี้จะมีการปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานไม่น้อยกว่า 3-5% ไม่รวมโบนัส ตามการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากภาคธุรกิจในปีนี้การส่งออก ยอดขายเติบโตขึ้นในอัตราที่ดีมาก ซึ่งการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนจะพิจารณาจากความสามารถในการประกอบการ อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น ส่วนโบนัสจะพิจารณาจากผลประกอบการของธุรกิจในปีก่อน
อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยระบุได้เวลาย้ายฐานผลิต อ้างต้นทุนสูง
(เดลินิวส์, 5 ก.ค. 2553)
นายวัลลภ วิตนากร กรรมการและที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงงานเครื่องนุ่งห่มประสบปัญหาต้นทุนการผลิตในไทยที่สูง และการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ทำให้ผู้ผลิตหลายรายได้ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปลงทุนประเทศอื่น หรือลดขนาดการเดินเครื่องลง รวมถึงการปิดกิจการจนฐานการผลิตของไทยหายไป 10% ส่งผลให้กำลังการผลิตสินค้าของประเทศลดลง โดยช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 53 มีมูลค่าส่งออกเพียง 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.82% ทั้งที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวแล้ว
“ปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้น เพราะช่วงปีก่อนมีการปลดแรงงานออกไปค่อนข้างมาก แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นทำให้การเรียกแรงงานกลับเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมจึงทำได้ยาก และแรงงานส่วนใหญ่ได้กลับเข้าสู่ภาคเกษตรแล้ว เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรหลายตัวมีแนวโน้มที่ดี”
สมาคมยั่งมั่นใจว่าในปีนี้ยอดการส่ง ออกเครื่องนุ่งห่มจะกลับมาขยายตัวในระดับ 5% ได้ เพราะในครึ่งหลังของปีมีออร์เดอร์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้โรงงานทุกแห่งผลิตไม่ทัน และรับคำสั่งซื้อไว้เต็มแล้วแทบทุกโรงงาน
สำหรับตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (อียู) เป็นตลาดที่มียอดคำสั่งซื้อลดลง ขณะที่อาเซียนและจีน มี คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจีนจะกลายมาเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ในอนาคต และลดบทบาทในฐานะผู้ส่งออกลง เพื่อขายสินค้าในประเทศมากขึ้น เพราะมีกำลังซื้อสูงมากอยู่แล้ว ส่วนอาเซียนเป็นตลาดที่ไทยควรจะนำ สินค้าที่เน้นการออกแบบ และแบรนด์ของไทยไปขาย 
ส่วนตลาดญี่ปุ่นผู้ประกอบการ ไม่สนใจ เพราะแม้ว่าจะมีความต้องการสูง แต่ญี่ปุ่นต้องการสินค้าราคาถูก ตลาดที่น่าสนใจของญี่ปุ่น คือ ตลาดสินค้าแฟชั่นมากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net