โสภณ พรโชคชัย: แนวทางการแก้ปัญหาทุจริตคดโกงในภาคธุรกิจเอกชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
Corruption ซึ่งแปลไทยว่าการทุจริต ประพฤติมิชอบ โกงกินและติดสินบน แพร่หลายเป็นอย่างมากและในแทบทุกวงการในประเทศไทยของเรา ผมจำได้ว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วสมัยผมยังเป็นนักศึกษาปริญญาตรี มีคำขวัญที่โด่งดังว่า “ช่วยขจัดคอร์รับชั่นให้สิ้น เพื่อแผ่นดินไทยอยู่รอด” บัดนี้คนที่เคยโกงกินเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็คงหมดอำนาจหรือตายไปเกือบหมดแล้ว แต่คนโกงกินรุ่นใหม่ก็กลับมาสืบทอด “เจตนารมณ์” อย่างไม่ขาดสาย!
 
การทุจริต ซึ่งเป็นคำไทยที่ต่อไปนี้จะใช้แทนภาษาอังกฤษว่า Corruption นั้นมักพุ่งเป้าไปที่การประพฤติมิชอบในวงราชการ แต่ในบทความนี้ มุ่งชี้ให้เห็นถึงการทุจริตในภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับการทุจริตภาครัฐเช่นกัน
 
อย่างไรจึงเป็นการทุจริต
 
หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่ชื่อว่า United Nations Development Program (UNDP) ได้จัดทำ Anti-Corruption: Practice Note {1} ขึ้น ใจความสำคัญสรุปได้ว่าการทุจริตนั้นเป็นความล้มเหลวของการบริหารจัดการที่แสดงถึงการขาดความโปร่งใสและการตรงไปตรงมาและไม่ได้เป็นการปกครองโดยระบบนิติรัฐที่ถือกฎหมายเป็นหลัก ปรากฏการณ์เช่นนี้ในประเทศไทยของเรา สะท้อนจากอาการ “คนไทยกลัวตำรวจ แต่ไม่กลัวกฎหมาย” ซึ่งต่างจากประเทศตะวันตกอย่างเด่นชัด {2}
 
UNDP ได้สรุปผลร้ายของการทุจริตหลายประการ ได้แก่:
 
1. ลดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ
ผมเคยไปเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังในประเทศเพื่อนบ้าน 2-3 แห่ง บริษัทขนาดใหญ่ที่จะเข้าไปทำธุรกิจ ต่างต้องเสีย “ค่าต๋ง” ให้กับข้าราชการใหญ่ เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม หาไม่ก็จะไมได้รับสัมปทาน เป็นต้น
 
2. ลดทอนรายได้ของภาครัฐที่จะนำมาเพื่อการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
ทำให้ผู้มีรายได้น้อย ยิ่งยากจนลง ส่งผลเสียต่อประเทศโดยรวม จะเห็นได้ว่า ประเทศในภูมิภาคนี้อาจมีความแตกต่างกันไม่มากนักเมื่อราว 50 ปีก่อน แต่ในขณะนี้แตกต่างกันมาก ประเทศที่มีการทุจริตมาก ย่อมเจริญน้อยกว่าประเทศที่มีการทุจริตน้อย
 
3. จัดสรรทรัพยากรผิด
ทำให้การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดซึ่งแทนที่จะนำไปพัฒนาประเทศ กลับนำไปใช้ในวงการอื่นที่อาจมีความจำเป็นน้อยกว่า เช่น ในด้านงบประมาณการทหาร เป็นต้น
 
4. ทำให้กฎหมายบ้านเมืองขาดความศักดิ์สิทธิ์
ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
 
5. เป็นการทำลายระบบสิทธิมนุษยชน
สร้างวงจรความชั่วร้ายจากการทุจริต กลุ่มที่อยู่เหนือกฎหมายย่อมกระทำการให้ผู้อื่นเสียสิทธิอันชอบธรรม และส่งผลต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมโดยรวม
 
การขจัดการทุจริตจึงเป็นภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยทุกคน การร่วมกันขจัดการทุจริตจึงเป็นกุศลกรรมที่ทำแล้วจะเป็นมงคลต่อชีวิตเหนือกว่าการทำบุญใด ๆ แต่ในความเป็นจริงก็อาจ “โชคร้าย” ถูกทำลายชีวิตและทรัพย์สินได้เช่นกัน
 
 
รูปแบบการทุจริตในภาคเอกชน
 
บางท่านอาจนึกภาพไม่ออกว่าการทุจริตในภาคเอกชนเป็นอย่างไร เพราะส่วนมากเห็นแต่การทุจริตในภาครัฐ รูปแบบการทุจริตในภาคเอกชน มีตั้งแต่การที่ถูกปัจจัยภายนอกบังคับให้ทำการทุจริต เช่น จำเป็นต้องจ่ายเงิน “ใต้โต๊ะ” หาไม่ก็ไม่อาจประกอบธุรกิจได้ (โดยสะดวก) การทุจริตฉ้อโกงโดยผู้บริหารบริษัทนั้นเอง การทุจริตภายในวิสาหกิจซึ่งกระทำโดยพนักงานเอง เป็นต้น
 
1. การทุจริตที่เกิดจากปัจจัยภายนอก
 
ในที่นี้หมายถึงการที่วิสาหกิจเอกชนจำเป็นต้องติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้ (โดยสะดวก) หรือโดยไม่ถูกขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว ปรากฏการณ์เช่นนี้มีเห็นอยู่ทั่วไปในวงการการรับ-ส่งสินค้าระหว่างประเทศ การขอรับใบอนุญาตต่าง ๆ จากทางราชการ แม้แต่วิสาหกิจชั้นดีที่มีธรรมาภิบาลสูงจากต่างประเทศก็ยังต้องยอมติดสินบน เช่น การเข้าไปทำธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศโลกที่สาม เป็นต้น
 
ในประเทศตะวันตกที่มีระบบการต่อสู้กับการทุจริตที่ดี ปรากฏว่า ต้นทุนในการเลี่ยงภาษี สูงกว่ามูลค่าของการเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในกรณีประเทศกำลังพัฒนา ต้นทุนในการเลี่ยงภาษีกลับต่ำกว่า จึงทำให้นักธุรกิจยินดีหรือจำเป็นที่จะต้องติดสินบน เพื่อให้การทำธุรกิจเป็นไปด้วยความราบรื่น โดยถือต้นทุนนี้เป็นต้นทุนปกติหนึ่งของการทำธุรกิจนั่นเอง
 
2. การตั้งใจฉ้อโกงโดยเจ้าของวิสาหกิจ
 
กรณีนี้ถือเป็นการมุ่งกระทำอาชญากรรมโดยโจ่งแจ้ง ได้แก่ การตั้งวงธุรกิจแชร์ลูกโซ่ หรืออาชญากรรมเศรษฐกิจผ่านการขายสินค้าด้วยระบบขายตรงบางรายการ เป็นต้น กรณีนี้ถือเป็นการฉ้อโกงลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น สมควรที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
 
เมื่อเร็ว ๆ นี้พนักงานผู้ช่วยเลขานุการของผมคนหนึ่ง ยินดีลาออกจากงานเพื่อไปสมัครงานในบริษัทใหม่ซึ่งเป็นของเพื่อนและจ่ายเงินเดือนมากกว่าผมถึง 40% ผมก็ยินดีให้ลาออกไป แต่พนักงานผู้นี้ทำงานได้เพียงเดือนเศษ ๆ ก็ลาออกเพราะพบว่า บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่เข้าข่าย “ต้มตุ๋น” ประชาชน ในระหว่างทำงาน ก็ทำด้วยความไม่สบายใจ เพราะมีผู้รักษากฎหมายเข้ามาตรวจและจับกุมผู้บริหารบริษัทบ่อยครั้ง แต่ผู้บริหารก็ไม่ได้ถูกจับไป ซึ่งก็คงเป็นเพราะได้ติดสินบนเจ้าพนักงานนั่นเอง
 
3. การทุจริตของผู้บริหาร-พนักงาน
 
ผมเป็นกรรมการที่ปรึกษาของสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาหลายสมัย ทราบจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องว่า การทุจริตในวงการสถาบันการเงินนั้น ส่วนมากมาจากการทุจริตจากบุคคลภายใน เช่น โดยผู้บริหารหรือพนักงาน ไม่ใช่การโกงจากลูกค้าภายนอก เช่น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การทุจริตจากภายในนี้ เป็นการทุจริตที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ โปรดดูพาดหัวข่าวเฉพาะในวงการสถาบันการเงินที่มีระบบตรวจสอบที่ดีที่สุดแล้ว ยังมีข่าวออกบ่อย ๆ ดังต่อไปนี้:
·    แจ้งจับผู้ช่วยผจก.แบงก์ธนชาตโกง 17 ล. (คมชัดลึก: 3 เมษายน 2552)
·    จำคุกเกริกเกียรติ 20ปีชดใช้บีบีซี 1.5พันล. (กรุงเทพธุรกิจ: 11 มีนาคม 2552)
·    ศาลสั่งจำคุกสาวแบงก์ 492 ปี ฐานโกงเงินลูกค้ากว่า 65 ล้านบาท (โพสต์ทูเดย์ 27 กันยายน 2551)
·    ผช.ผจก.สาวแบงก์ โกง200ล.ตร.ประกาศจับทั่วปท. (ข่าวสด: 6 พฤษภาคม 2550)
·    พนักงานธ.กรุงเทพ โกงเงินลูกค้าเกือบ 3 ล้านบาท (28 กันยายน 2550)
·    รวบหนุ่มแบงก์ โกง 45 ล. ติดหวยงอมแงม (ไทยรัฐ: 26 พฤศจิกายน 2548)
·    สาวแบงก์ทหารไทยโกงเงินลูกค้า 13 ล.นานกว่า 3 ปี (ข่าวสด: 25 กุมภาพันธ์ ไม่ทราบปี)
            
4. การรับประโยชน์ที่มิควรได้
 
ประโยชน์ที่มิควรได้ประกอบด้วย การ “กินตามน้ำ” ในกระบวนการจัดซื้อของวิสาหกิจ ซึ่งมักมีความไม่โปรงใสต่าง ๆ ทั้งนี้รวมไปถึงการรับประโยชน์ทางอ้อมต่าง ๆ อันได้แก่ ใบหุ้น หรือการได้รับการอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายหรือการรื่นรมย์ต่าง ๆ เช่น การเข้าแหล่งบันเทิงต่าง ๆ เป็นต้น
 
ผู้บริหารของวิสาหกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นบริษัทมหาชนนั้น ทำการผูกขาดตัดตอนบริการเสริมต่าง ๆ เช่น ในกรณีสถาบันการเงิน ผู้บริหารนั้น ๆ อาจตั้งบริษัทขนเงิน บริษัทยาม บริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน ฯลฯ เพื่อให้บริการแก่สถาบันการเงินของตนเอง การนี้ย่อมทำให้สถาบันการเงินไม่ได้รับสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพ เนื่องจากขาดการแข่งขันเสรีจนได้รับบริการที่ดีที่สุด ณ ราคาที่ถูกที่สุด ทำให้ผู้ถือหุ้นทั้งหลายได้รับความเสียหาย
 
5. สวัสดิการที่สูงเกินควร
 
วิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งโดยเฉพาะบริษัทมหาชน จ่ายสวัสดิการที่สูงเกินจริง เช่น ในวงการสายการบิน สายการบินที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลกบางแห่ง ให้อดีตพนักงานสามารถซื้อตั๋วเดินทางในอัตราราคาเพียงไม่กี่ร้อยบาท ในขณะที่ผู้ใช้บริการทั่วไปต้องเสียค่าบริการหลายหมื่นบาท เป็นต้น
 
อาจกล่าวได้ว่า พนักงานของวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งมีประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำ ทำงานอยู่ในลักษณะเสมือน “ทาก” “กาฝาก” หรือ “พยาธิ” ที่เกาะกินวิสาหกิจขนาดใหญ่ ในบางหน่วยงานอาจสามารถ “ดุน” พนักงานเหล่านี้ออกได้จำนวนมาก และหากพนักงานเหล่านี้ออกไปแล้ว ก็ใช่ว่าจะหางานทำได้ในตลาดแรงงานทั่วไป เพราะคงมีคุณภาพต่ำเกินกว่าจะหางานตามอัตราเงินเดือนที่ได้รับอยู่ในวิสาหกิจปัจจุบัน
 
อาจกล่าวได้ว่ารูปแบบของการทุจริต ซึ่งสรุปจากกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ค มีดังนี้:
·    กลโกงในการประมูล
·    การ “ฮั้ว” ประมูล
·    การโกงในเรื่องสัญญา
·    การโกงในระบบการตรวจสอบ
·    การโกงในการจัดซื้อ – ต้นทุนสินค้า/บริการ
·    การติดสินบน
·    การโกงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทาง
·    การขโมยและการยักยอกทรัพย์ขององค์กร
 
 
ความคาดหวังของสังคม
 
ความคาดหวังของสังคมต่อการไม่ทุจริตของวิสาหกิจต่าง ๆ นั้น สามารถเข้าใจได้ ไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ หรือธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม (SMEs: Small and Medium Enterprises) ล้วนต้องไม่กระทำการทุจริต ดังนี้:
 
1. ธุรกิจ SMEs
 
หลายท่านคงเคยได้ยินว่า แม่ค้าขายขนมจีน เอากระดาษทิชชูมาผสมในน้ำยา นัยว่าเพื่อลดต้นทุนให้ขายได้ราคาถูก ช่วยให้ขายได้ดีขึ้น หรือใส่ผงชูรสมากมายเพียงเพื่อให้คนติดใจในรสชาติโดยขาดความรับผิดชอบ หรือนำอาหารที่เสื่อมคุณภาพมาขายจนกระทั่งเด็กนักเรียนกินแล้วอาเจียนกันทั้งโรงเรียน เป็นต้น
 
ในธุรกิจไม่ว่าระดับ SMEs หรือธุรกิจขนาดใหญ่ มีคติชั่วร้ายอยู่อย่างหนึ่งก็คือ “ด้านได้-อายอด” กล่าวคือ ทำอะไรก็ได้ที่ขอเพียงให้ได้ผลตอบแทนงดงามในวันนี้โดยไม่รับผิดชอบ การทำธุรกิจเช่นนี้ย่อมไม่ยั่งยืนและยังเสี่ยงกับการถูกสั่งปิด เราจึงควรส่งเสริมธุรกิจให้รับผิดชอบ หาไม่ถือเป็นการละเมิด เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เป็นอาชญากรรมที่ต้องถูกลงโทษ
 
2. บริษัทมหาชน
 
ข่าวในหนังสือพิมพ์ อาจพบเห็นได้ว่าเจ้าของเดิมของบริษัทมหาชน ทิ้งกิจการของตนเองหลังจากเข้าระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว ผู้บริหารบางคนโกงบริษัทของตนเอง หรือใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยเพื่อบำรุงความสุขสบายของผู้บริหาร เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ ตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต) ต่างมี มาตรการควบคุมบริษัทมหาชนรัดกุมกว่าแต่ก่อน และถือเป็นมาตรฐานที่ดีสำหรับวิสาหกิจอื่น ๆ นอกตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดความ โปร่งใส เป็นธรรม และปิดโอกาสการทุจริต
 
3. นายธนาคาร
 
เราคงเคยได้ยินว่า ธนาคารหลายแห่งที่เจ๊งไปนั้น เป็นเพราะการปล่อยกู้อย่างขาดความรับผิดชอบให้เครือญาติโดยขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เพียงพอ ธนาคารหลายแห่งขโมยโครงการที่มีแนวคิดการตลาดดี ๆ ไปทำเสียเอง หรือกว่าจะกู้เงินได้ ก็ต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ผู้จัดการสาขา และผู้จัดการเขต เป็นต้น
 
ธนาคารที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ก็คือการรับผิดชอบต่อลูกค้าเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่มาฝากเงินหรือที่มากู้เงิน โดยการ “กวาดบ้าน” ตัวเองก่อน ปิดโอกาสที่จะเกิดทุจริต ทำให้ลูกค้าไว้วางใจ เป็นต้น
 
3. สื่อมวลชน
 
เราได้ยินปัญหาของสื่อมวลชนอยู่เนือง ๆ เช่น การเขียนเชียร์ดารา หรือผู้มีอุปการะคุณที่ลงโฆษณา หรือที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือการใช้ปากกาเป็นอาวุธในการทำร้ายคนอื่น ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์มักเป็นข่าวที่ได้จากการแถลงข่าวของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การเสนอข่าวอาจคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภคน้อยกว่าผู้จ่ายเงินโฆษณาที่ทำให้สื่อมวลชนอยู่ได้ หนังสือพิมพ์จึงอาจเป็นเพียง “กระบอกเสียง” หรือเป็นเพียง “กระดาษเปื้อนหมึก” ไปในบางคราว
 
สื่อมวลชนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่ทุจริต จึงไม่ควรเป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจ นายทุนข้ามชาติ หรือนายทุนในประเทศรายใหญ่ ๆ ที่มุ่งการเสนอข่าวเฉพาะบางมุมบางด้านอันถือเป็นการ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” และเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อโดยไม่รับผิดชอบ
 
4. ห้างสรรพสินค้า
 
ห้างสรรพสินค้าที่ขายของราคาแพงเกินเหตุ หลอกขายของที่คุณภาพไม่สมราคา หรือหลอกลวงด้วยกลยุทธลดแลกแจกแถมที่ฉ้อฉล ย่อมถือเป็นการละเมิด กระทำการทุจริตต่อลูกค้า หากสรรพสินค้าที่ไม่ทุจริตก็คือไม่ตั้งราคาสินต้าเกินควรในเชิงเปรียบเทียบกับคู่แข่ง
 
5. นักพัฒนาที่ดิน
 
ความคาดหวังของสังคมต่อนักพัฒนาที่ดิน เช่น ผู้ประกอบการบ้านจัดสรรหรืออาคารชุดก็คือ การไม่ฉ้อโกงลูกค้า การไม่ใช้วัสดุหรือการส่งมอบบ้านและบริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่มีคุณภาพด้อยกว่าที่โฆษณาไว้ เป็นต้น รวมทั้งการไม่หลอกขายบ้านในราคาที่สูงเกินจริง เป็นต้น
นักวิชาชีพ
 
6. บริการวิชาชีพ
 
บริการวิชาชีพอาจถือเป็น SMEs เราคงเคยได้ยินบริษัทบัญชี หรือผู้ตรวจสอบบัญชีบางราย ฉ้อฉลด้วยการลงลายมือชื่อตรวจสอบบริษัทนับแสนรายต่อปี บริษัทที่ปรึกษา เช่น ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินบางแห่งไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงผู้ประกอบวิชาชีพเรียกรับเงินจากลูกค้า หรือร่วมกับ ลูกค้าออกรายงานประเมินโกงธนาคาร หรือร่วมมือกับผู้บริหารธนาคารโกงธนาคารที่ตนบริหารอยู่ เป็นต้น ดังนั้น นักวิชาชีพที่ดีต้องไม่ “พาย-เรือให้โจรนั่ง” แต่ควรดำเนินวิชาชีพตามกฎหมาย ไม่ละเมิดจรรยา-บรรณของวิชาชีพเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
 
การควบคุมวิชาชีพนั้น รัฐบาลมักเป็นผู้ดำเนินการควบคุมโดยตั้งเป็นสภาวิชาชีพ เช่น แพทยสภา สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก ในประเทศไทยยังมีวิชาชีพอีกหลายแขนงที่ยังไม่มีสภาวิชาชีพ อาจกล่าวได้ว่าในประเทศที่ไม่ค่อยพัฒนา ยังไม่มีระบบควบคุมนักวิชาชีพ เพื่อให้ความไม่มีระบบและขาดการควบคุมนี้ เป็นช่องทางการโกงกินต่าง ๆ โดยใช้นักวิชาชีพเป็นตรายาง (rubber stamp)ต่อไป
 
การไม่ทุจริตกับ CSR
 
หลักการรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ (CSR: Corporate Social Responsibility) ตาม the UN Global Compact ซึ่งเป็นกรอบที่วางโดยองค์การสหประชาชาติ {4} ให้วิสาหกิจดำเนินตามหลักการ 10 ประการนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อมและการไม่ยอมรับการโกงกิน-สินบน ในขณะนี้มีวิสาหกิจเข้าร่วมลงนามเป็นจำนวนมาก โดยถือเป็นกลุ่มที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในโลก
 
วิสาหกิจใดที่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ UN Global Compact จะต้องลงนามตกลงปฏิบัติตามหลักการ 10 ประการอย่างเคร่งครัด ซึ่งประกอบด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่ง แวดล้อม และการไม่ร่วมมือกับการติดสินบนหรือทุจริต ดังนี้:
 
1. ด้านสิทธิมนุษยชน
หลักข้อที่ 1: ธุรกิจควรสนับสนุนและเคารพการปกป้องสิทธิ-มนุษยชนที่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ
หลักข้อที่ 2: ธุรกิจไม่พึงข้อแวะกับการกระทำที่ขัดหลักสิทธิ-มนุษยชน
 
2. ด้านมาตรฐานแรงงาน
หลักข้อที่ 3: ธุรกิจควรส่งเสริมและตระหนักถึงเสรีภาพในการก่อตั้งสหภาพแรงงานของพนักงาน
หลักข้อที่ 4: ธุรกิจต้องร่วมขจัดการบังคับการใช้แรงงาน
หลักข้อที่ 5: ธุรกิจต้องร่วมขจัดการใช้แรงงานเด็ก
หลักข้อที่ 6: ธุรกิจต้องไม่กีดกันการจ้างงานและอาชีพ
 
3. ด้านสิ่งแวดล้อม
หลักข้อที่ 7: ธุรกิจควรสนับสนุนการดำเนินการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม
หลักข้อที่ 8: ธุรกิจควรแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ต่อความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม
หลักข้อที่ 9: ธุรกิจควรส่งเสริมและเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
4. ด้านการไม่ยอมรับการทุจริต
 
หลักข้อที่ 10: ธุรกิจควรดำเนินไป โดยปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบ รวมทั้งการบังคับ ขูดรีด และการติดสินบน ทั้งนี้อาจพิจารณาในกรณีภายในวิสาหกิจ และการให้สินบนอันเป็นการทุจริตในวงราชการ ก็เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง
 
การปฏิบัติให้ครบถ้วนหรือไม่ละเมิดตามหลักการข้างต้น จึงถือว่าวิสาหกิจนั้น ๆ มี CSR ดังนั้น CSR จึงไม่ใช่การไปทำบุญเอาหน้า หรือสักแต่ทำทีดูแลสิ่งแวดล้อม หรือเลี่ยงไปทำดีทางอื่นในหน้าฉาก แต่หลังฉากกลับขูดรีด ฉ้อฉล เอาเปรียบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยไม่ละอายและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย
 
 
ว่าด้วยจรรยาบรรณ
 
ในการป้องกันการทุจริตนั้น จรรยาบรรณถือเป็นมาตรการสำคัญประการหนึ่ง จรรยาบรรณนั้นถือเป็น Solf Law หรือ “กฎหมายอย่างอ่อน” ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย Hard Law แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับมรรยาท มาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณธุรกิจหรืออะไรทำนองนี้ ในวงวิชาชีพต่าง ๆ มี Soft Law ซึ่งสังคมทั่วไปก็เคยได้ยินอยู่บ้าง เช่น จรรยาบรรณแพทย์ มรรยาททนาย มาตรฐานบัญชี เป็นต้น ดังนั้นนักวิชาชีพที่มี CSR ก็คือนักวิชาชีพที่มีการปฏิบัติตาม Soft Law โดยเคร่งครัดจนสร้างความไว้วางใจและความเชื่อถือต่อผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม
 
ทำไมจึงมีการบังคับใช้หลักนิติรัฐโดยห้ามละเมิด หรือมีการวางและบังคับใช้ Soft Law โดยเคร่งครัด เหตุผลก็คือเพื่อผู้บริโภคนั่นเอง เพราะในทางกฎหมายก็ถือว่า อำนาจเป็นของปวงชน ในทางรัฐศาสตร์ก็ถือว่า ประชาชนคือเจ้าของประเทศ หรือแม้แต่ในทางการตลาดก็ถือว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” ดังนั้นนักวิชาชีพจึงต้องให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรก
 
ประชาชนนี้ไม่ใช่สิ่งลอย ๆ แต่หมายถึงผู้บริโภค ลูกค้าของเรานั่นเอง หากประชาชนวางใจใช้บริการ ก็ย่อมถือเป็นมงคลต่อวิสาหกิจ การถือประชาชนเป็นที่ตั้งจึงเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาธุรกิจหรือวิชาชีพให้ดีขึ้น เราจึงต้องเริ่มต้นที่ประชาชนก่อน ไม่ใช่ที่ประโยชน์ของนักวิชาชีพ หาไม่นักวิชาชีพก็คงเป็นเพียง “แกงค์” หรือ “ซ่องโจร” ไป
 
การควบคุมทางวิชาชีพ ได้แก่:
 
1. การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
หลายท่านคงจำภาพยนตร์เรื่อง “องค์บาก” ได้ ในภาพยนตร์ดังกล่าว มีเรื่องใบอนุญาตเล่นดนตรี ซึ่งตามท้องเรื่องดูน่าขัน แต่ในความเป็นจริงนับเป็นความน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หากมีการออกใบอนุญาตในวิชาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยนั้น วิชาชีพต่าง ๆ ก็จะมีการพัฒนา โดยทั่วไปในแต่ละวิชาชีพก็จะมีการจัดระดับ นักวิชาชีพก็จะพยายามเพิ่มพูนความรู้เพื่อการยกระดับตนเองอยู่เสมอ
 
2. การควบคุมการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ
เพื่อให้นักวิชาชีพปฏิบัติงานโดยยึดถือมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพโดยเคร่งครัด หาไม่จะถูกลงโทษในสถานต่าง ๆ ตั้งแต่การตักเตือนจนถึงการยึดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หมดทางทำมาหากินในวิชาชีพอีกต่อไป อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาต่าง ๆ ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรควบคุมวิชาชีพ เพราะถือเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง ที่มีผู้ให้บริการทั่วไป เช่น สถาบันการศึกษาในระดับต่าง ๆ ทั้งหลาย หากองค์กรวิชาชีพจัดการศึกษาเสียเอง ก็เท่ากับผู้บริหารองค์กร “ทำมาหากิน” กับการจัดการศึกษา ทำให้ขาดความเป็นกลางในการควบคุมทางวิชาชีพไป
 
ในการควบคุมวิชาชีพต่าง ๆ รัฐบาลต้องออกหน้ามาควบคุม โดยเสนอกฎหมายให้มีพระราชบัญญัติวิชาชีพต่าง ๆ และจัดตั้งสภาวิชาชีพตามกฎหมาย เช่น แพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาวิชาชีพบัญชี เป็นต้น ในแต่ละวงการเช่น แพทย์ อาจมีแพทยสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือมีสมาคมแพทย์เฉพาะทางต่าง ๆ มากมาย แต่เพื่อการควบคุมวิชาชีพที่เป็นกลาง จึงต้องตั้งสภาวิชาชีพ
 
สมาคมวิชาชีพ ไม่สามารถเป็นผู้ควบคุมนักวิชาชีพได้ เพราะสมาคมประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าปล่อยให้กรรมการสมาคมซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งหนึ่ง มาคอยตัดสินหรือควบคุมบริษัทคู่แข่งอื่น ก็ย่อมไม่เกิดความเป็นธรรม สมาคมวิชาชีพอาจทำหน้าที่ปกป้องผู้ประกอบวิชาชีพ จัดงานสังสรรค์ หรืออื่น ๆ อย่างสมาคมนักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย แต่เดิมก็จัดการศึกษา แต่เมื่อมีสภานักบัญชี สมาคมนี้ก็ยุบเลิกไป เพราะไม่มีหน้าที่ควบคุมวิชาชีพ เป็นต้น สมาคมในวิชาชีพอื่นก็อาจยังอยู่ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมวิชาชีพ
 
สภาวิชาชีพจะประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐบาลซึ่ง (โดยทางทฤษฎี) ถือเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีผู้แทนนักวิชาชีพ ผู้แทนผู้ใช้บริการ ผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น การควบคุมวิชาชีพจึงเป็นเครื่องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของนักวิชาชีพโดยแท้ ในสังคมไทย ยังมีนักวิชาชีพอีกมากที่รัฐบาลยังไม่ได้ควบคุม โดยเฉพาะนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน และอาจสร้างความเสียหายได้ในวงกว้าง เช่น ตัวแทนนายหน้า ผู้บริหารทรัพย์สิน ผู้ประเมินค่าทรัพย๋สิน เป็นต้น
 
ประเทศที่ขาดการควบคุมทางวิชาชีพ ย่อมเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ทำให้ปัญหาการฉ้อโกงทั้งในสังคมและการฉ้อโกงชาติเกิดขึ้นอย่างดกดื่น การควบคุมและพัฒนานักวิชาชีพย่อมทำให้นักวิชาชีพมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำโดยมิชอบ และจะเป็นการช่วยสังคมตรวจสอบความถูกต้องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
 
นอกจากนี้ยังมีจรรยาบรรณทางธุรกิจซึ่งไม่ใช่ของนักวิชาชีพ แต่เป็นของผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) เช่น กรณีจรรยาบรรณหอการค้าไทย จรรยาบรรณของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย {5} เป็นต้น
 
 
ศีลธรรมไม่ใช่แนวทางการแก้ไข
 
ในการแก้ไขปัญหาทุจริต ไม่ใช่แค่ “อมพระมาพูด” ในเชิงสากล การใช้ศีลธรรมมาแก้ไขปัญหาทุจริตไม่ได้
 
1. ขีดจำกัดของการรณรงค์ให้ทำดี
 
โดยทั่วไปมีการรณรงค์ให้ประชาชนยึดมั่นในศาสนา กิจกรรมรณรงค์อาจมากขึ้น แต่การเข้าถึงศาสนากลับน้อยลง สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ การยกศาสนาหรือความดีมานำเสนอนั้น คนที่ได้ดีเพิ่มขึ้นอาจไม่ใช่คนฟังแต่เป็นคนพูด ที่อย่างน้อยก็ได้หน้า ได้ภาพลักษณ์ ยิ่งถ้าพูดหรือสรรหาคำคมได้ประทับใจเพียงใด ยิ่งได้ผลเพียงนั้น ในวงการศาสนา ทุกท่านก็คงเคยได้ยินว่าพระรูปใดที่มีน้ำเสียงการเทศน์ที่ไพเราะก็มักเป็นที่นิยมของญาติโยม การนี้แสดงว่าเรายังยึดติดอยู่ในเปลือกหรือรูปแบบมากกว่าแก่นหรือสาระ
 
การอธิบายเรื่องการทำดีนั้น แทนที่จะเอาความเชื่อทางศาสนามาอ้างอิง เราควรอธิบายโดยอาศัยความเป็นจริง เช่น ความซื่อสัตย์ต่อ ลูกค้านั้นไม่ใช่การทำดีตามที่บัญญัติในหลักศาสนาหรือเพราะกลัวตกนรก แต่ต้องทำในภาคบังคับตามกฎหมาย คือหากไม่ซื่อสัตย์ ฉ้อโกงลูกค้า ก็อาจถูกลูกค้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ทำให้เสียชื่อเสียง ความเชื่อถือหมดไป การทำงานอย่างซื่อสัตย์จึงทำให้ธุรกิจยั่งยืน ลูกค้าต้อนรับและเติบโตต่อไปด้วยบริการหรือสินค้าที่มีคุณภาพสมราคา การอธิบายเช่นนี้จะเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนโดยไม่ต้องอาศัยบทบัญญัติของศาสนาใดมากล่าวอ้าง
 
2. ไม่ควรอ้างความดีโดด ๆ
 
การพร่ำพูดว่าเราควรทำดี (เพิ่มขึ้น) นั้นอาจไม่เกิดประโยชน์นัก เพราะคนดีก็ทำดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาทุกวันนี้ไม่ใช่อยู่ที่ทำดีน้อยไปแต่อยู่ที่การละเมิดกฎหมายกันอย่างแพร่หลาย โดยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกลับเอาเอาหูไปนาตาไปไร่ต่างหาก เราจึงควรรณรงค์ป้องกันไม่ให้ทำผิดกฎหมาย ส่วนช่องโหว่ของกฎหมายที่มีบางคนเล็ดลอดได้ประโยชน์เป็นเพียงส่วนน้อยนิดซึ่งต้องหาทางอุดหรือปรับปรุงเป็นระยะ ๆ โปรดสังวรว่าการรณรงค์ให้ทำความดีบางครั้งอาจเป็นไปเพื่อซ่อนเร้นการทำชั่วจนเข้าทำนองอ้างว่ามีคุณธรรมแต่ละเมิดกฎหมาย
 
ยิ่งกว่านั้น เราควรรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักปกป้องและหวงแหนสิทธิของตนเองตามกฎหมายและไม่เฉยชาต่อการกระทำผิดกฎหมายของผู้อื่นที่ส่งผลต่อตนเอง ชุมชน และสังคม การเพิกเฉยหรือละเลยต่อหน้าที่ยังถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งด้วย และยังเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้หาผลประโยชน์โดยมิชอบและไม่ตระหนักว่าค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหามากกว่าการป้องกันหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ชีวิตมนุษย์ซึ่งสร้างคนใหม่มาทดแทนคนเก่าไม่ได้ รัฐบาลที่เพิกเฉยเช่นนี้เท่ากับเป็นรัฐบาลที่อยู่ข้างอาชญากรหรือเป็นหัวหน้าอาชญากรเสียเอง
 
3. ระวังคนทำดีแต่เป็นอาชญากร
 
บางคนดูคล้ายมีคุณธรรม แต่มักละเมิดกฎหมาย! มีคนทำดีมากมายแต่ประกอบอาชญากรรมอยู่เป็นนิจ บริษัทพัฒนาที่ดินบางแห่งอาจดูประสบความสำเร็จ ทำบุญทำกุศลมากมาย เจ้าของก็ดูมีชื่อเสียง ไม่เคยถูกสื่อมวลชนติติง แต่กลับ “รีดเลือดกับปู” ต่อผู้รับเหมา ทำผิดสัญญาก่อสร้างล่าช้าเกินทน หรือส่งมอบบ้านที่ไม่มีคุณภาพ ก่อสร้างแบบสุกเอาเผากินให้ลูกค้า
 
อีกกรณีหนึ่งสถาบันการเงินบางแห่งอาจเป็นผู้อุปถัมภ์งานมรดกของชาติที่ยิ่งใหญ่หรือทำสาธารณประโยชน์มากมาย แต่ภายในสถาบันการเงินนั้นกลับขาดธรรมภิบาล ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้บริหารโกงสถาบันการเงินของตัวเอง พนักงานเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะกับผู้มาขอกู้ ผู้บริหารให้สินเชื่อเครือญาติโดยไม่มีหลักประกันจนกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สุดท้ายสถาบันการเงินแห่งนั้นก็ล้มไป
 
4. ระวังทำดีเพื่อปกปิดคนผิดและความผิด
 
การทำดีแบบแอบแฝงและไร้ประสิทธิผล นอกจากจะได้ดีเฉพาะคนทำดีแล้ว บ่อยครั้งยังเป็นการช่วยปกปิดความชั่วของคนชั่วที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้เสื้อคลุมของคนดี เช่น เรารณรงค์ปลูกป่ากันใหญ่ แต่ไม่เคยใส่ใจว่า เราจะรณรงค์กันปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ากันอย่างไร ท่านทราบหรือไม่ในปี 2504 มีพื้นที่ป่าไม้อยู่ 273,629 ตร.กม. (53% ของพื้นที่ประเทศไทย) แต่ ณ ปี 2547 เหลืออยู่เพียง 167,591 ตร.กม. (33% ของพื้นที่ประเทศไทย) {6} หรือหายไปเท่ากับ 68 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือเท่ากับเราสูญเสียพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกรวม
 
 
แนวทางการแก้ไข
 
แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตของวิสาหกิจเอกชนนั้น สามารถพิจารณาได้ในหลายมิติ อย่างไรก็ตามพึงเริ่มต้นที่ผู้บริหารเป็นอันดับแรก และตามด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด รวมทั้งการตรวจสอบที่เข้มงวด
 
1. เริ่มต้นที่ผู้บริหาร
 
ผมเคยอ่านหนังสือประวัติของพระพุทธเจ้า ซึ่งแปลโดย ท่าน สว.รสนา โตสิตระกูลและสามี ว่า ในสมัยพุทธกาล ในราชสำนักของพระเจ้าสุทโธทนะก็มีปัญหาขุนนางทุจริต แต่ก็แก้ไขอะไรไม่ได้มากเพราะพวกขุนนางทุจริตเหล่านี้ค้ำจุนบัลลังก์อยู่ ขุนนางเหล่านี้ต่างก็ขับเคี่ยวกันเพื่อมุ่งปกป้องและสร้างฐานอำนาจของตนเอง ไม่ใช่มุ่งขจัดความทุกข์ยากให้ผู้ยากไร้ พระพุทธเจ้าได้เห็นความเป็นจริงข้อนี้จึงไม่คิดที่จะเป็นกษัตริย์ {7}
 
การที่จะแก้ปัญหาทุจริตได้ จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นที่ผู้บริหารก่อน หากผู้บริหารมีความตั้งใจ (Strong Commitment) ที่จะแก้ไข ปัญหาก็อาจได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงไป
 
2. เน้นที่การปฏิบัติตามกฎหมาย
 
การที่จะแก้ปัญหาทุจริตได้ เราต้องบังคับใช้ Hard Laws หรือให้ประเทศมีลักษณะนิติรัฐโดยเคร่งครัด อย่างไรก็ตามกฎหมายต่าง ๆ อาจมีช่องโหว่บ้าง เราก็ควรแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยอยู่เป็นระยะ ๆ หากไม่แก้ไขข้อกฎหมาย ก็เท่ากับส่งเสริมการทำผิดกฎหมาย เปิดช่องโหว่อยู่ร่ำไป เช่น ในวงการประเมินค่าทรัพย์สิน มีการจัดสอบและจัดการศึกษาให้บริษัทประเมินอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นการทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ช่องโหว่ที่ไม่ได้แก้ก็คือ การปล่อยให้บริษัทมหาชนว่าจ้างบริษัทประเมินกันเอง ซึ่งย่อมมีโอกาสประเมินตามใจชอบ อันอาจทำให้ประชาชนผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์ได้ นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าหากเรา “ปลื้ม” กับการทำดีในระดับหนึ่ง (จัดสอบและจัดการศึกษา) แต่ละเลยสาระสำคัญคือ การอุดช่องโหว่ ก็เท่ากับเราเปิดโอกาสให้เกิดการฉ้อฉล
 
เราจะหวังให้กฎหมายสมบูรณ์แบบ ไร้ช่องโหว่คงไม่ได้ บางคนอาจอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตัวบ้าง แต่กรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก และคงต้อง “ยกประโยชน์ให้จำเลย” ไป เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ จึงไม่ถือเป็นความผิด และกฎหมายทั้งหลายก็มักไม่มีผลย้อนหลัง อย่างไรก็ตามปัญหาส่วนมากที่เกิดขึ้นก็คือ การที่ผู้รักษากฎหมายร่วมมือตีความกฎหมายอย่างบิดเบี้ยวเพื่อฉ้อฉลมากกว่า เช่น การสร้างอาคารพาณิชย์ในพื้นที่ต้องห้ามบางบริเวณตามผังเมือง ด้วยการหลีกเลี่ยงไปสร้างเป็นบ้านเดี่ยวที่ดูคล้ายอาคารพาณิชย์โดยแต่ละหลังห่างกันแค่คืบเดียว กรณีเช่นนี้ถือว่าผิดกฎหมายชัดเจน แต่ผู้รักษากฎหมายคงตีความส่งเดช หรือ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” มากกว่า
 
ข้อพึงสังวรประการสำคัญก็คือเราจะให้ใครมาละเมิดกฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้ หาไม่ก็จะเป็นการยอมรับอาชญากรรม ดังนั้น เราจึงต้องเริ่มต้นที่การทำให้ถูกต้องตามตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ก่อนเพื่อยึดถือปฏิบัติตามกติกาที่ชอบธรรมฉบับเดียวกัน ผู้ไม่ยึดถือกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ย่อมไม่มีคุณธรรมหรือจริยธรรม เพราะการละเมิดกฎหมายเป็นการล่วงเกินหรือเอาเปรียบบุคคลอื่น เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้สังคมโดยรวม
 
3. พัฒนาระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง
 
ลำพังการมีกฎหมาย (Hard Law) ที่ทันสมัย มีบทลงโทษที่เข้มงวดโดยไม่เลือกปฏิบัติ และการมีจรรยาบรรณ (Soft Law) ที่ชัดเจนในแต่ละวิชาชีพเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันหรือแก้ไขปัญหาทุจริต ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง เข็มงวด ต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสอย่างแท้จริง การตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพนั้น นอกจากจะเป็นการป้องปรามในลักษณะ “เขียนเสือให้วัวกลัว” แล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ควรดำเนินการต่อเนื่องเพื่อประกันระบบคุณภาพให้เข้าที่และอยู่กับร่องกับรอยอย่างสม่ำเสมอ
 
ระบบตรวจสอบสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบคือ
·    การตรวจสอบภายใน โดยใช้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ในวิสาหกิจเองเป็นผู้ดำเนินการ โดยผู้ตรวจสอบต้องมีความเป็นอิสระ และขึ้นอยู่กับผู้บริหารสูงสุดในวิสาหกิจ การใช้ผู้ตรวจสอบภายในซึ่งคุ้นเคยกับวิสาหกิจของตนเอง จะช่วยให้สามารถค้นพบข้อผิดพลาดหรือกรณีทุจริตต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
·    การตรวจสอบภายนอก ทั้งนี้ใช้ในกรณีที่การตรวจสอบภายในอาจมีข้อบกพร่อง หรือใช้ในกรณีการตรวจสอบการตรวจสอบภายใน รวมถึงการเพิ่มมุมมองใหม่ ๆ จากภายนอกเพื่อให้ปัญหาทุจริตสามารถได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีนี้จึงอาจว่าจ้างผู้ตรวจสอบจากภายนอก เพื่อให้มุมมองที่แตกต่างออกไป
 
กรณีศึกษาส่งท้าย
 
ในฐานะที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษาในต่างประเทศให้กับรัฐบาลเวียดนาม อินโดนีเซีย และบรูไน ผมได้พบเห็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจหลายประการ แต่บางประการอาจอ้างอิงชื่อประเทศไม่ได้เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศนั้น ๆ อย่างไรก็ตามมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ 2 กรณีที่พึงอ้างอิงได้ เพราะเป็นข่าวที่ลงในสำนักข่าวต่างประเทศมาแล้ว
 
1. กรณีกัปตันเวียดนามแอร์ไลน์
ในกรณีนี้กัปตันดังกล่าว ซื้อเครื่องเสียงจากต่างประเทศเข้าประเทศของตนเอง แต่ทางราชการเวียดนามจับได้ กัปตันผู้โชคร้ายดังกล่าวถูกไล่ออก ทั้งที่ราคาเครื่องเสียงเป็นเงินเพียงราวแสนกว่าบาทเท่านั้น กรณีนี้ผิดกับในบางประเทศที่เจ้าหน้าที่การบินนำสินค้าหนีภาษีเข้าประเทศจนผู้ค้าสินค้าหนีภาษีประกอบกิจการจนร่ำรวย
 
2. กรณีนักฟุตบอลทีมชาติ{8}
เมื่อคราวแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่กรุงมนิลา พ.ศ.2548 นักฟุตบอลทีมชาติเวียดนามได้รับการติดสินบนให้ชนะพม่าเพียง 1:0 และผลการสอบสวนพบว่านักฟุตบอล 8 คนมีความผิด โดย 2 คนติดคุก (ขณะนี้ยังไม่ออกจากคุก) ท่านจะสังเกตได้ว่าเรื่องเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย!
 
จากกรณีตัวอย่างเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า วันหนึ่งเวียดนามจะแซงหน้าประเทศไทยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะประเทศของเขาพยายาม “ปัดกวาดบ้าน” ทำความสะอาดระบบต่าง ๆ ภายในประเทศจนการทุจริตลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามสูงขึ้นกว่าไทยในอนาคต
 
การแก้ไขปัญหาทุจริตต้องดำเนินการอย่างจริงจังเป็นระบบ ไม่ใช่เพียงแค่การรณรงค์ให้คนทำดี มีศีลธรรม ต้องมีมาตรการป้องปรามที่ดีจึงจะเกิดผล การแก้ไขปัญหาทุจริตนี้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อความสามารถในการแข่งขันที่เป็นธรรมของภาคธุรกิจไทย ทำให้ประเทศชาติของเรารุดหน้าไปอย่างยั่งยืน
 
 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร.โสภณ พรโชคชัย วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ที่ดิน-ที่อยู่อาศัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ประกาศนียบัตร การประเมินค่าทรัพย์สินจากสถาบันนโยบายที่ดินลินคอล์น และการพัฒนาที่อยู่อาศัยจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกลูแวง ปัจจุบันเป็นผู้บริหารธุรกิจเอกชนในฐานะประธานศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA ในทางสังคมเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นที่ปรึกษาสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นอุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ เป็นที่ปรึกษาสถาบันประเมินค่าทรัพย์สินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาซึ่งจัดตั้งโดยสภาคองเกรส เป็นต้น ดร.โสภณได้มีโอกาสช่วยราชการสำนักงาน ปปช. โดยเป็นวิทยากรและเป็นประธานคณะทำงานดำเนินการรวบรวมข้อมูลและจัดทำเอกสารสื่อประชาสัมพันธ์
 
 
เชิงอรรถ
{1}   โปรดดูรายละเอียดได้ที่: http://www.undp.org/governance/docs/AC_PN_English.pdf
{2}   โปรดอ่านกรณีเปรียบเทียบกับประเทศฟินแลนด์: ดร.โสภณ พรโชคชัย. สนทนาเรื่องรัฐสวัสดิการกับอาจารย์บุญส่ง ชเลธร (กุมภาพันธ์ 2552) ที่: http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market234.htm
{3}   แจ้งจับผู้ช่วยผจก.แบงก์ธนชาตโกง 17 ล. (แจ้งจับผู้ช่วยผจก.แบงก์ธนชาตโกง 17 ล.) 
{4}   โปรดดูรายละเอียดได้ที่ http://www.unglobalcompact.org/AboutTheGC/index.html
{5}   โปรดอ่านจรรยาบรรณหอการค้าได้ที่ http://www.thaiechamber.com/cms/content.jsp?id=com.tms.cms.section.Section_61e4dc43-c0a81019-6dd8f100-17a390b6 และจรรยาบรรณของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ที่ http://www.fti.or.th/Fti%20Project/ethics_fti.aspx
{6}   โปรดดูข้อมูลของกรมป่าไม้ ณ http://www.forest.go.th/stat/stat49/TAB4.htm
{7}   ดร.โสภณ พรโชคชัย. พระพุทธเจ้า ผู้ประกาศศักยภาพความเป็นมนุษย์ (http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market172.htm) ซึ่งเขียนจากหนังสือ “คือเมฆสีขาว ทางก้าวเก่าแก่” วรรณกรรมพุทธประวัติในทัศนะใหม่ ที่แปลมาจากหนังสือ Old Path White Clouds: Walking in the Footsteps of the Buddha ซึ่งเป็นหนังสือพุทธประวัติที่เขียนโดยภิกษุ ติช นัท ฮันห์ และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยโดย คุณรสนา โตสิตระกูล และคุณสันติสุข โสภณสิริ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง
{8}   ข่าว “Vietnam jails footballers for fix” โปรดดูที่: http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/6301647.stm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท