Skip to main content
sharethis

2 หญิงสาวชาวไทใหญ่ที่เคยถูกขายให้เป็นภรรยาของชาวจีนและถูกปล่อยตัวเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา ล่าสุด ได้ร้องเรียนให้องค์กรระหว่างประเทศ (ILO) ในกรุงย่างกุ้ง ให้ดำเนินการช่วยเหลือหญิงสาวจากพม่าคนอื่นๆที่ถูกนำไปขาย และขณะนี้ยังอยู่ในจีน 

ก่อนหน้ามีหญิงสาวทั้งหมดจำนวน 6 คน จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ถูกขบวนการค้ามนุษย์นำไปขายให้ชายจีนเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา โดยหญิงสาวถูกขายในราคา 38,400 บาท ซึ่งในเวลาต่อมา หญิงสาวจำนวน 3 คนได้รับการช่วยเหลือและถูกส่งตัวกลับพม่า แต่หญิงรายหนึ่งได้เสียชีวิตในเวลาต่อมาจากโรคเอดส์ ขณะที่หญิงสาวอีกจำนวน 3 คนยังคงอยู่ในจีน

และล่าสุด 2 หญิงสาวที่ได้รับการปล่อยตัวก่อนหน้านี้  ได้ยื่นเรื่องถึงองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation - ILO) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงย่างกุ้ง ให้ช่วยเหลือเหยื่อที่เป็นหญิงสาวที่ขณะนี้ยังอยู่ในจีน ก่อนหน้านี้ทั้งสองได้ยื่นเรื่องไปยังองค์กร Myanmar Women’s Affairs Federation และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ในรัฐฉาน แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆคืบหน้า จนต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากนายเท็ดวาย ผู้อำนวยการของคณะกรรมการพรรคเอ็นแอลดีประจำกรุงย่างกุ้ง

นายเท็ดวายเปิดเผยว่า “หญิงสาวทั้ง 6 คน ถูกนำไปขายเพื่อเป็นภรรยาของชายชาวจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งหมดถูกหลอกจากนายหน้าค้ามนุษย์ว่าจะได้ทำงานในจีน และจะได้รับเงินเดือน 80,000 จั๊ต(ประมาณ 2,675 บาท)ต่อเดือน แต่หลังจากที่เดินทางถึงจีน ทั้งหมดก็ถูกขายให้กับชายชาวจีน” นายเท็ดวายกล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เหตุที่หญิงสาวจำนวน 3 คนได้รับการปล่อยตัวก่อนหน้านี้ เป็นเพราะว่า สมาชิกครอบครัวของหญิงสาวได้เดินไปยังประเทศจีนและเผชิญหน้ากับผู้ที่กักขังพวกเธอ จนท้ายสุดหญิงสาวได้รับการปล่อยตัว ขณะที่ญาติของหญิงสาวเปิดเผยว่า จีนเองได้เริ่มใช้บทลงโทษหนักต่อขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศ  เห็นได้จากในหลายปีที่ผ่านมา ทางการจีนได้ส่งหญิงสาวจำนวนกว่า 300 คนกลับฝั่งพม่า

ด้านจูเลีย มาหริบ จากองค์กรผู้หญิงคะฉิ่นแห่งประเทศไทย (Kachin Women’s Association Thailand - KWAT) เปิดเผยว่า มีผู้หญิงจากพม่าถูกขายเพื่อแต่งงานกับชายจีนคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนทั้งหมด 5 หมื่นคนที่ถูกขายให้กับชายจีน  

“ถ้าหากมองที่รากของปัญหาการค้ามนุษย์นั้น เราจะเห็นว่า ความยากจนและปัญหาเศรษฐกิจในพม่านั้นย่ำแย่มาก ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจควรได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก และนั่นจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ได้ผล” จูเลียกล่าว

ทั้งนี้ พม่าเองได้ลงนามข้อตกลงการต่อต้านการค้ามนุษย์เมื่อต้นปี 2547 กับยูเอ็น นอกจากนี้พม่าได้เริ่มใช้กฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ เห็นได้จากเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการสั่งจำคุกลงโทษนายหน้าค้ามนุษย์เป็นเวลา 15 ปี ในภาคมะกวย ทางตอนกลางของประเทศ ในข้อหาขายเด็กสาวอายุ 16 ปี ให้กับชายชาวจีน   

ในขณะที่ สหรัฐได้รายงานเมื่อปีที่ผ่านมาว่า การขายหญิงสาวจากพม่าเพื่อบังคับให้แต่งงานและเป็นภรรยานั้น ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ ขณะที่พบว่า จีนและมาเลเซียเป็นประเทศอันดับต้นๆที่เป็นจุดหมายปลายทางของขบวนการค้ามนุษย์ที่นำหญิงสาวไปขายเพื่อเป็นภรรยาให้แก่ชายในประเทศ

ในรายงานของสหรัฐซึ่งอ้างจากข้อมูลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศยังชี้ว่า ปัจจุบันมีประชาชนราว 12.3 ล้านคนจากทั่วโลกตกเป็นเหยื่อของการบังคับใช้แรงงาน และตกเป็นเหยื่อของกลุ่มแสวงหาผลประโยชน์จากทางเพศ  (DVB 13 ก.ค.53)  
 
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net