Skip to main content
sharethis

สองกระแสสวนกันในม.อุบลฯ หลังมีการรณรงค์ให้คัดค้านการยึดครองที่ดินชายแดนไทย-กัมพูชา 1.8 ล้านไร่ กลุ่มต้านกังขา ประเด็นถูกจุดขึ้นเพื่อต่อรองรัฐบาลคดีพันธมิตรยึดสนามบิน แนะหาทางออกด้วยสติ-เปิดใจกว้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดกระแสข้อพิพาทดินแดนระหว่างไทย-กัมพูชา รอบใหม่ ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ที่จ.อุบลราชธานี มีกลุ่มบุคคลและนักศึกษาบางส่วนออกมาเคลื่อนไหวให้ชาวมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีไปปกป้องดินแดนไทยจากการรุกล้ำของกัมพูชา ขณะที่มีกลุ่มบุคคลใน ม.อุบลฯ อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ โดยมีการออกแถลงการณ์ในนาม "กลุ่มชาว ม.อุบลฯ ที่รักชาติอย่างมีสติ และต้องการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติ" ตั้งคำถามกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มรณรงค์ดังกล่าว โดยระบุว่า การจุดประเด็นครั้งนี้ด้วยว่า เป็นไปเพื่อต่อรองกับรัฐบาลกรณีตำรวจออกหมายเรียกแกนนำพันมิตรฯ 79 คน ในคดียึดสนามบินสุวรรณภูมิหรือไม่

โดยแถลงการณ์เสนอว่า เรื่องข้อพิพาทชายแดนนั้น ต้องหาทางออกอย่างมีสติ ด้วยวิถีการทางการทูต ด้วยการใช้เหตุผล ใช้ความรู้ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ และด้วยใจที่เปิดกว้าง มีเจตจำนงที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติ หากประเทศเพื่อนบ้านใช้ลัทธิชาตินิยมล้าหลัง ก็ไม่ควรโต้ตอบด้วยวิธีการเดียวกัน เพราะรังแต่จะทำให้เกิดความร้าวฉานที่ไม่รู้จบ 


ภาพการรณรงค์ของกลุ่มปกป้องชายแดนตามสถานที่ต่างๆ 

 

 

 

แถลงการณ์

ในหลายวันที่ผ่านมา มีการปลุกระดมให้ชาว ม.อุบลฯ ตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่คนกลุ่มหนึ่งอ้างว่า “ประเทศไทยกำลังจะสูญเสียดินแดน 1.8 ล้านไร่” ให้กับกัมพูชา โดยกัมพูชากำลังปักปันเขตแดนใหม่ที่ล้ำแดนเข้ามาในประเทศไทย มีการถอนหมุดพรมแดนของไทยออก พร้อมกับมีกองทหารและประชาชนชาวกัมพูชารุกเข้ามาปักหลักยึดครองดินแดนซึ่งเป็นของไทย (กรณีนี้กองทัพภาคสองออกมาชี้แจงแล้วว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด หมุดพรมแดนที่หายไป เป็นหมุดจีพีเอสสำหรับทำแผนที่ ไม่ใช่หมุดพรมแดน ซึ่งหมุดดังกล่าวนายวีระ สมความคิดแกนนำพันธมิตรฯได้ขุดออกไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และทหารได้แจ้งความดำเนินคดีอยู่ ดู http://mekong.human.ubru.ac.th/) คนกลุ่มนี้ปลุกเร้าด้วยความเร่าร้อนให้ชาว ม.อุบลฯ ออกมาร่วมกิจกรรมคัดค้านการกระทำของกัมพูชาจนถึงที่สุด แม้ว่าจะต้องทำสงครามกันก็ตาม

เหตุการณ์นี้สอดรับกับการนำเสนอข่าวสารในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ที่หยิบยกเรื่องการทำ MOU ระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เรื่องการปักปันเขตแดน ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2543 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย คอลัมน์นิสต์ของผู้จัดการเห็นว่า MOU ดังกล่าวนั้นวางอยู่บนพื้นฐานสนธิสัญญาในอดีตที่ถูกทำขึ้นอย่างมัดมือชกโดยฝรั่งเศสเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และไทยไม่เคยยอมรับสนธิสัญญานั้นมาก่อน จนกระทั่งนายชวน หลีกภัยได้ไปยอมรับใน MOU ที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ ความเหลวใหลของรัฐบาลยังสืบเนื่องมาถึงสมัยรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสมชาย จนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ในปัจจุบัน เหล่าคอลัมน์นิสต์ผู้จัดการประโคมข่าวนี้อย่างเผ็ดร้อนในช่วงที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุลประกาศว่า เรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องเล็กมาก หากเปรียบเทียบกับการสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนครั้งใหญ่ของไทยในครั้งนี้ พวกเขาเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความกล้าหาญที่จะยกเลิก MOU หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นบุคคลล้มละลายทางการเมืองและควรถูกไล่ออกจากการเป็นนายกฯไปเสีย (ดู http://www.manager.co.th/home/)

กรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ได้เกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ แทบทุกครั้ง “ลัทธิชาตินิยม” จะเป็นเครื่องมือปลุกใจให้คนไทยต่อสู้กับ “ศัตรูต่างชาติ” นับจากสมัยรัฐบาล จอมพลป.พิบูลสงคราม สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ จนถึงช่วงใกล้ที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนว่า ลัทธิชาตินิยมได้ถูกใช้อย่างบิดเบือน ขาดข้อเท็จจริงและความรู้ความเข้าใจเรื่องราวอย่างที่ควรจะเป็น หรือขาดหลักคิดที่ก้าวหน้าสร้างสรรค์ แต่เป็นเรื่องของการปลุกเร้าอารมณ์ ให้หลงยึดมั่นในตัวตน และเกลียดชังเพื่อนบ้านซึ่งเป็นคู่อริต่ำต้อย ชาตินิยมเช่นนี้เป็นชาตินิยมที่คับแคบ ล้าหลัง และขาดสติ เหตุการณ์หลายครั้งที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าชาตินิยมได้กลายเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม แต่สิ่งที่ทิ้งไว้เบื้องหลังคือความขัดแย้งร้าวลึกระหว่างชาติ การสูญเสียชีวิตของชาวบ้านหรือทหารชั้นผู้น้อย ผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการทำมาหากินของผู้คนในพื้นที่ชายแดน

ต่อคำถามที่ว่า แล้วเราจะยอมให้กัมพูชาเดินหน้าปักปันเขตแดนตาม MOU จนทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนเช่นนั้นหรือ เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องหาทางออกอย่างมีสติ ด้วยวิถีการทางการทูต ด้วยการใช้เหตุผล ใช้ความรู้ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ และด้วยใจที่เปิดกว้าง มีเจตจำนงที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติ หากประเทศเพื่อนบ้านใช้ลัทธิชาตินิยมล้าหลัง เราก็ไม่ควรโต้ตอบด้วยวิธีการเดียวกัน เพราะรังแต่จะทำให้เกิดความร้าวฉานที่ไม่รู้จบ ประเด็นที่เราอยากชวนให้พิจารณาในที่นี้ก็คือ ทำไมเรื่องนี้จึงถูกจุดระเบิดขึ้นในช่วงนี้ โดยสื่อฉบับเดียวคือผู้จัดการ เหตุการณ์นี้จะเชื่อมโยงหรือไม่กับ กรณีการเมืองล่าสุดที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกแกนนำพันมิตรฯ 79 คน ในคดียึดสนามบินสุวรรณภูมิ กรณีการเสียดินแดนนี้ได้พุ่งเป้าการกดดันไปที่นายกฯอภิสิทธิ์ เป็นไปได้หรือไม่ว่านี้จะเป็นเพียงเกมส์การเมือง ที่พวกเขาจุดขึ้นเพื่อต่อรองกับรัฐบาล ?

เรื่องที่น่าสนใจอีกสำหรับชาว ม.อุบลฯ ก็คือ การเคลื่อนไหวภายใน ม.อุบลฯ ครั้งนี้ ได้มีบุคคลภายนอกอาศัยความสัมพันธ์กับบุคลากรหรือบางหน่วยงานในม.อุบลฯ เข้ามาโน้มน้าวองค์กรนักศึกษา นักศึกษาในบางหลักสูตร หรือนักศึกษาทั่วไปให้ออกมาเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวเป็นไปด้วยท่วงทำนองปลุกปั่น สร้างกระแสชาตินิยมล้าหลัง และการใช้อารมณ์ที่ร้อนแรง มีการเชิญชวนแกมขู่เข็ญให้ออกมาร่วมกิจกรรม และมีนัยว่าคนที่ไม่ร่วมกับพวกเขาคือคนที่ไม่รักชาติล้าหลังเห็นแก่ตัว มีการกระจายเสียงและใช้พื้นที่สาธารณะด้วยท่าทีดุเดือดก้าวร้าว และทำราวกับต้องการให้มีภาพของ ชาว ม.อุบลฯ ทั้งหมดมีความเห็นร่วมกับพวกเขา คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับประชาคม ม.อุบลฯ ทำไมความเห็นทางการเมืองของคนกลุ่มหนึ่ง จึงแทรกตัวเข้ามาในกลไกของ ม.อุบลฯอย่างสะดวกราบรื่นกลมกลืน ตอนนี้ชาว ม.อุบลทั้งหมด กำลังจะถูกเหมารวมว่าเป็นพวกเดียวกับเขา หรือถ้าไม่เป็นพวกเดียวกับเขาก็เป็นผู้ไม่รู้ร้อนรู้หนาวไม่รักชาติ ม.อุบลฯ กำลังถูกดึงเข้าไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่ม กำลังถูกดึงไปอยู่กับขั้วความขัดแย้งอีกขั้วหนึ่ง แล้วอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตในบรรยากาศทางการเมืองที่อ่อนไหวอย่างมากในเวลานี้ เราจะทำอย่างไรกันดี?

กลุ่มชาว ม.อุบลฯ ที่รักชาติอย่างมีสติ
และต้องการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net