Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สังคมหรือชนชาติใดก็ตามเมื่อผู้ปกครองใช้อำนาจไม่ยุติธรรม ปกครองตามอำเภอใจ การต่อสู้และต่อต้านของประชาชนหรือผู้อยู่ใต้ปกครองก็จะลุกฮือขึ้นของ ปัญญาชน แรงงาน พระสงฆ์ นักบุญ  สตรีเพศ ด้วยวิธีการที่รุนแรงหรือสันติวิธีนั้นก็ขึ้นอยู่กับบริบทของปัญหา ความสุขงอมและความรุนแรงของปัญหา

จากประสบการณ์จากต่างประเทศกลุ่มหรือมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลหากใช้สันติวิธี  เช่น มหาตมะ  คานธี  เขาและมวลชนที่สนับสนุนจะรวมตัวประท้วงสันติอหิงสา ประท้วงอดอาหาร จนกระทั่งอารยะขัดขืน สุดท้ายหมู่คนส่วนใหญ่สามารถกดดันให้รัฐบาลลดอำนาจลงในจีน นักศึกษาและหมู่ประชาชนประท้วงรัฐบาลเผด็จการอย่างสันติที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่ถูกรัฐบาลเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุหนองเลือด ในออสเตรเลีย ชาวพื้นเมืองอะบอริจิน ตั้งกองบัญชาการที่หน้ารัฐสภาในเมืองหลวงเป็นประจำทุกปีเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนในดินแดนในฐานะบรรพบุรุษและผู้ถูกบุกรุกเพื่อให้รัฐบาลคนขาวให้เกียรติและสิทธิที่เท่าเทียมกับคนขาวและผู้เพิ่งมาตั้งถิ่นฐาน จนรัฐบาลของออสเตรเลียได้ไห้สิทธิแก่ชนพื้นเมืองมีตัวแทนในรัฐสภาและมีส่วนร่วมการเมืองทุกระดับชั้นตลอดจนกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศให้การคุ้มครองชาวพื้นเมืองอะบอริจินดังเดิม ในประเทศไทยกองทัพธรรมยาตราที่นำโดยอาจารย์โคทม  อารียา เดินเท้ารณรงค์การใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาและให้สังคมไทยตระหนักถึงผลกระทบของการใช้ความรุนแรงระหว่างคนในชาติเพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของคนทั้งชาติที่ต้องช่วยกันแก้ไข้ไม่ใช่เป็นของคนสองคน คือ มาร์ค กับสุเทพ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผลที่ได้รับจากการใช้สันติวิธีบ้างประเทศได้รับผลสำเร็จแต่บางประเทศก็ถูกรัฐบาลใช้อำนาจไม่ยุติธรรมปราบปราม

หากมาศึกษาประสบการณ์ในมุมที่กลุ่มต้อต้านรัฐบาลใช้วิธีการใช้ความรุนแรง เช่นกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจัดตั้งกองทัพมีแสนยานุภาพเทียบเท่ากับรัฐบาลศรีลังกาเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลศรีลังกายอมรับสิทธิของตนเหนือดินแดนทมิฬ กองกำลังติดอาวุธติมอร์ตะวันออกได้รับการสนับสนุนจากมวลชนประชาชนบางส่วนเพื่อปฏิบัติการบีบบังคับรัฐบาลอินโดนีเซียให้ยอมรับสิทธิเหนือดินแดนของตนเช่นกัน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมากลุ่มคนงาน ประชาชน ในกรีก หยุดงานประท้วงเผาเมืองหลวงเพราะเหตุไม่พอใจกับนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกในมือกลุ่มนายทุน เป็นต้น ดังนั้นการแก้ปัญหาในกรณีดังกล่าวของรัฐบาลยุคใหม่ที่มีปัญหาภายในประเทศก็ต้องศึกษาความล้มเหลวซึ่งจะนำไปสู่เงื่อนไข้ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นหากใช้วิธีการแบบแข็งกร้าวดังตัวอย่างข้างต้น และการร่วมกันแก้ปัญหากับประชาชนชนนั้นเป็นวิธีการอันชาญฉลาดของผู้ปกครองเพราะปัญหาไม่ใช่เป็นเรื่องของคนสองคน

เช่นเดียวกับปัญหาในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบันนี้เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองต้องยอมรับว่ากำลังมีการต่อสู้ซึ่งอาจจะมาจากหลายปัจจัยแต่ในบริบทนี้ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงการต่อสู้ของประชาชนเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมอย่างสันติวิธี เขาเหล่านั้นเป็นผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ไม่สงบ เป็นญาติผู้สูญเสีย เป็นปัญญาชน และเป็นประชาชนจากรากหญ้าสู่คนชนชั้นนำในสังคม เขาเหล่านั้นเรียกร้องความยุติธรรมในฐานะผู้อยู่ใต้ปกครองต่อผู้ปกครองที่กุมอำนาจของประเทศอยู่ที่ส่วนกลาง

การเรียกร้องความยุติธรรมของประชาชนจากรากหญ้าจนถึงชนชั้นนำของสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาใหม่ที่เพิ่งปะทุขึ้นมาหรือเป็นการเรียกร้องที่ตกทอดมาจากประชาชนรุ่นก่อนและเปลี่ยนปัญหาการและวิธีการเรียกร้องตามปัญหาของยุคสมัยแต่ประเด็นหลักก็เป็นปัญหาเดิมๆที่ได้รับการแก้ไข้แต่ไม่ถึงรากถึงโคนคือการไม่ได้รับความยุติธรรมของพลเมืองที่นับถือศาสนาอิสลามมีเชื้อสายมลายู หากเราจะมองถึงรากเหง้าต้นตอถึงการเรียกร้องเพื่อแก้ปัญหาของคนในพื้นที่แห่งนี้อย่างทะลุลุล่วงถึงรากถึงโคนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมอย่างสันติวิธีของผู้นำของพื้นที่แห่งนี้จากอดีตตลอดจนปัจจุบัน

การศึกษาสิ่งดังกล่าวสำหรับประชาชนในพื้นที่นี้รู้สึกหวาดกลัว บางก็รู้สึกผิดกฎหมาย เพราะเคยชินอยู่กับภาวะบ้านเมืองที่ผ่านมาอยู่ในยุครัฐบาลระบอบเผด็จการ แต่หลังจากเปลี่ยนการปกครองและปัญญาชนมุสลิมได้เข้ารับการศึกษาที่สูงขึ้นนับได้ว่าเป็นมิติใหม่ที่พวกเขากล้าที่จะเขียนประวัติศาสตร์ชุดความจริงสู่สาธารณะ ปัญญาชนรุ่นใหม่และประชาชนก็เริ่มเข้าใจถึงสิทธิเสรีภาพของความเป็นพลเมืองในประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นและเป็นการดีด้วยซ้ำที่การเรียกร้องของประชาชนอยู่ในครรลองระบอบประชาธิปไตยดีกว่าการเรียกร้องของพวกเขาที่จะนำไปสู่การร่วมสนับสนุนการใช้ความรุนแรง  ส่วนรัฐบาลก็ต้องเปิดกว้างกับประชาชนทุกระดับชั้นที่จะรับฟังและนำไปใช้ในแผนยุทศาสตร์ในการแก้ปัญหาที่สำคัญพอๆกับแผนปรองดองแห่งชาติและถึงเวลาที่รัฐสภาของไทยจะมีแผนกระบวนการสร้างสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่ารายการนี้ไม่ใช่เรื่องของคนสองคน คือ มาร์ค กับ สุเทพ

ผู้เขียนจะสะท้อนถึงวิวัฒนาการการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมอย่างสันติวิธีของผู้นำในจังหวัดชายแดนภาคใต้และจะนำบทความของ ฯพณฯ ดร.สุรินทร์  พิศสุวรรณ  ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะชนเมื่อ 20 ปีก่อนมาสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของสถาณการณ์การต่อสู่ที่ผ่านมา

จุดที่น่าสนใจที่สุดจุดหนึ่งของปัญหาทางชายแดนภาคใต้ และกรณีของชาวไทยมุสลิม ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทางสังคมในแต่ละยุคสมัยกับแนวนโยบาย ตลอดจนยุทธวิธีทางการเมืองที่ผู้นำเหล่านั้นเลือกใช้ในการติดต่อ ต่อรองกับอำนาจของรัฐบาล ถ้าหากเราเข้าใจจุดอันสำคัญนี้แล้ว แนวนโยบายใหม่อาจจะปรากฏตัวเองขึ้น และอาจจะนำไปสู่การยอมรับสิทธิและขอบข่ายของอำนาจของกันและกันมากขึ้น  โดยท้ายที่สุดแล้วอาจนำไปสู่รูปแบบของการปกครอง และความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจที่จะลดหย่อนความตึงเครียดลงได้

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองเมื่อปี ค.ศ.1902 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ผู้นำของสังคมมุสลิมไทย ได้เปลี่ยนรูปของตัวเองไปตามยุคตามสมัยในการวิเคราะห์ปัญหานี้  ผู้เขียนแบ่งออกเป็น 4 ช่วงระยะเวลาคือ

1.การปฏิรูปหัวเมือง ถึง การปฏิวัติของคณะราษฎร (1902-1932)

2.การปฏิวัติของคณะราษฎร ถึง สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (1932-1945)

3.สิ้นสุดสงคราโลกครั้งที่ 2 ถึง การโค่นล้มรัฐบาลเทื่อปี 1973 (1945-1973)

4.การโค่นล้มรัฐบาลเมื่อ 14 ตุลาคม 1973 ถึง ปัจจุบัน

ทั้ง 4 ช่วงตรงกับตรงกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆในสังคมไทยทั้งในการการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โครงสร้างทางอำนาจในสังคมเปลี่ยนไปและคุณค่าทางการเมืองก็เปลี่ยนไปชาวมุสลิมก็ปรับตัวเองเข้ากับความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ตลอดมาทุกระยะในความพยายามที่จะได้มาซึ่งสิทธิในการกำหนดกฎเกณฑ์การปกครองตนเองในระดับต่างๆ แต่น่าสังเกตคือศาสนาอิสลามเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่งและเป็นตัวร้อยประสานส่วนต่างๆของสังคมให้สมานฉันท์กันตลอดมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในทุกระยะ

ในช่วงแรก (1902-1932) เมื่อมีการจัดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นใหม่โดยจำกัดอำนาจเจ้าเมืองเก่าออกไป และให้ข้าราชการจากส่วนกลางออกไปปฏิบัติราชการแทน นับเป็นระยะแรกของความพยายามที่จะต่อสู้ที่จะปกครองตนเองของชาวไทยมุสลิมหลังจากการปราบปรามครั้งยิ่งใหญ่ตามบันทึกของหลวงอุดมสมบัติ ในรัชสมัยของพระบาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผู้นำในระยะนี้ส่วนใหญ่นี้เป็นพวก “กษัตริย์นิยม” (Royalists) ผู้สูญเสียอำนาจไปในความเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมการรณรงค์แก่พวกตน ผู้นำรุ่นนี้เน้นเรื่องความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ ภาษาและประวัติศาสตร์ และเมื่อมีการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองในปี 1932 หลักการของ “สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค” ก็ได้ถูกนำเข้ามาผสมผสานกับการเรียกร้องให้มีการรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิบางประการ แต่เมื่อระบบการเมืองเปิดเผยมากขึ้นการเข้าร่วมระบบรัฐสภาก็มีมากขึ้น การเมืองรัฐสภาลดกระแสการเมืองทางศาสนาลงบ้าง จุดสนใจหันไปอยู่ที่การเมืองระดับชาติ และการแก้ไขระบบการปกครองผ่านระบบราชการ

ช่วงที่สอง (1932-1945) เหตุการณ์ในระยะก่อน ระหว่าง และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพการทางการเมืองภายในและภายนอกประเทศเปลี่ยนไป ผู้นำรุ่นเก่าเจ้าของอำนาจเดิมก็หันเข้ามาหามหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษ เพื่อหวังที่จะพึ่งในการต่อรองกับรัฐบาลไทยเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองในช่วงระยะที่รัฐบาลไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจของญี่ปุ่นนั้นเอง ความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่อังกฤษของผู้นำชาวไทยมุสลิมก็มีมากขึ้นพอดีกับความพยายามที่จะเรียกร้องขอความเป็นอิสรภาพภายในรัฐมลายูเองจากอังกฤษจึงมีการส่งเสริมให้ดำเนินกิจกรรมต่อต้านญี่ปุ่นตลอดแหลมมลายู บทบาทของศาสนาซึ่งมีส่วนอย่างมากในการต่อสู้กับการยึดครองของญี่ปุ่นในอินโดนีเซียและมลายูแพร่อิทธิพลเข้ามาใน 4 จังหวัดทางภาคใต้ของไทยด้วย ในช่วงนี้เองผู้นำทางศาสนามีบทบาทมากขึ้นและเข้ารับฐานะทางการเมืองสืบแทน “พวกนิยมกษัตริย์” ที่สูญสิ้นบทบาทลงไป ฮัจยีสูหลงมีบทบาทสูงสุดในช่วงนี้เอง

(โปรดติดตามต่อในตอนที่ 2)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net