Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์อีกหนึ่งเหยื่อของความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นางเจ๊ะฮาบีบะห์ เจะปอ กับลูกอีก 2 คน จะอยู่อย่างไร เมื่อไร้หัวหน้าครอบครัวจากเหตุการณ์ไม่สงบ ‘ศักดิ์เสนา เจะปอ’ ผู้ใหญ่บ้านของมวลชน กลไกรัฐในชายแดนใต้

 

นางเจ๊ะฮาบีบะห์ เจะปอ กับลูกชายคนเล็ก

จากอดีตลูกจ้างกรีดยางพารา มีรายได้รวมกันทั้งสองสามีภรรยา แค่วันละ 200 บาท แต่ด้วยความมีน้ำใจชอบช่วยเหลือผู้อื่น จึงทำให้ “ศักดิ์เสนา เจะปอ” ได้รับแรงสนับสนุนจากคนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและกลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านกล้วย ตำบลนาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี และได้รับเลือกมาด้วยคะแนนท่วมท้น

ด้วยความเสียสละ ทุ่มเททำงานเพื่อหมู่บ้าน ทำให้นายศักดิ์เสนา เจะปอ ผู้ใหญ่บ้าน หรือ ที่คนมลายูมุสลิมในชายแดนใต้เรียกว่า “โต๊ะแนแบ” หนุ่มวัย 38 ปี มีผลงานโดดเด่น มาตลอดในสายตาชาวบ้าน นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2552

โดยเฉพาะการดึงโครงการต่างๆ ของรัฐบาลเข้ามาดำเนินการในหมู่บ้าน เช่น โครงการไทยเข้มแข็ง จนทำให้หมู่บ้านมีชื่อเสียงสามารถส่งประกวดการในระดับตำบลได้ อีกทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบด้านการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนตัวของศักดิ์เสนาเอง ก็ได้รับรางวัลเป็นผู้ประสานงานดีเด่นด้วย

แต่ไม่ทันทีศักดิ์เสนาจะดำรงตำแหน่งได้ครบปี เช้าวันที่ 27 มิถุนายน 2553 เหตุร้ายก็เกิดขึ้นกับตัวเขา เมื่อคมกระสุนที่เชื่อว่ามาจากปากกระบอกปืนของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ได้ปลิดชีวิตของเขาลง ณ พื้นที่สวนยางพาราของนายจ้างที่บ้านเชิงเขา ห่างออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตรจากบ้านพัก

“วันเกิดเหตุ ดิฉันกับสามีออกไปกรีดยางตามปกติตั้งแต่ช่วงหัวรุ่ง เสร็จแล้วก็กลับมาอาบน้ำ กินข้าวแล้วก็นอนพัก จนเกือบๆ เที่ยง สามีก็ออกไปเก็บน้ำยางไปขาย แต่วันนั้นไปนานผิดปกติ แต่ก็ไม่ได้เอะใจอะไร จนกระทั่งมีชาวบ้านมาบอกว่า ผู้ใหญ่ถูกยิงเสียชีวิตที่สวนยางพารา” นางเจ๊ะฮาบีบะห์ ภรรยาของศักดิ์เสนา เล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นทั้งน้ำตา

หลังจากทราบข่าว เธอรีบเดินทางไปที่เกิดเหตุทันที เมื่อพบร่างของสามีนอนเสียชีวิตจมกองเลือด ตามตัวมีรอยแผลถูกยิงหลายแห่ง เธอทรุดลงกับพื้น พร้อมส่งเสียงร้องไห้ออกมาทันทีด้วยความเสียใจ

ความรู้สึกนั้น คงไม่ต่างจากเหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบอีกจำนวนมากมากมายในชายแดนใต้แห่งนี้

ร่างของสามีถูกนำไปประกอบพิธีทางศาสนาที่บ้านบางปลาหมอ พร้อมกับๆ การย้ายกลับไปอยู่บ้านเกิดของภรรยา พร้อมกับการหอบลูกน้อยอีก 2 คนไปด้วย ในขณะที่มีเงินติดตัวแค่พันกว่าบาท

แม้ว่าเธอจะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นจากราชการสำหรับค่าจัดการศพ โดยปลัดอำเภอเมืองปัตตานี นำมามอบให้ 10,000 บาท บวกกับเงินที่เธอต้องหยิบยืมมาจากแม่อีก 10,000 บาท แต่ก็เชื่อว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของราชการอีกอย่างน้อย 500,000 บาท

ทั้งนี้ หากได้รับการรับรอง 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ซึ่งก็คงไม่มีปัญหามากนักในการพิจารณาเพื่อรับรองในกรณีนี้ เนื่องจากหลังเกิดเหตุไม่กี่วันเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 2 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีหมายจับในคดีความมั่นคงหลายคดี

นางเจ๊ะฮาบีบะห์ เจะปอ ในวัย 33 ปี เล่าถึงสามีว่า ไม่เพียงแต่ทางราชการที่ชมเชยการทำงานของสามี ลูกบ้านต่างพึงพอใจและรักใคร่เขา เพราะรับภาระมากกว่าหน้าที่เสียอีก จนบางครั้งถึงกับต้องใช้เงินส่วนตัวเข้าไปแก้ปัญหาของลูกบ้าน ในขณะที่ตัวเองก็ทำงานรับจ้างกรีดยางหารายได้เท่านั้น

ส่วนลูกชายของเธอทั้ง 2 คนนั้น มีแต่คนโตกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนคนเล็กอายุ 4 ขวบ

นางเจ๊ะฮาบีบะห์ บอกว่า ลูกคนโตรู้เรื่องดีแล้วก็ร้องไห้ตลอดที่พ่อเสีย ส่วนคนเล็กบอกแค่ว่า พ่อนอนหลับอยู่ แต่ก็ถามหาพ่ออยู่หลายครั้ง เธออยากให้ลูกโตกว่านี้แล้วค่อยๆ เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟัง

แม้เหตุการณ์ผ่านมาแล้วหลายวัน ซึ่งดูเหมือนว่าเธอจะเข้มแข็งขึ้นมากแล้ว แต่เธอก็มักจะร้องไห้ทุกครั้งที่พูดถึงสามี จนญาติๆ ตลอดจนเพื่อนบ้านต้องคอยปลอดโยนอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เธอมีความเข็มแข็งขึ้น ให้สามารถมาสลัดความโศกเศร้าเสียใจให้ได้ แล้วดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้าให้ได้อย่างมีความหวัง

แต่ปัญหาไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เนื่องจากเธอยังมีภาระที่ต้องรับผิดชอบตามมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเธอยังมีหนี้สินที่สร้างขึ้นมาร่วมกับสามี นั่นคือเงินกู้ทั้งในและนอกระบบ เพื่อนำมาสร้างบ้านและซื้อที่ดินทำสวนยางพาราเป็นเงินหลายแสนบาท

แต่เธอจะทำอย่างไร ในเมื่อตอนนี้เธอเองก็ไม่กล้ากลับไปที่บ้านสามีและทำงานที่นั่นได้อีกแล้ว แม้ว่าจะมีลูกบ้านของสามี มาร้องขอให้กลับไปเป็นผู้ใหญ่บ้านแทนสามี

ตอนนี้เธอยังผวา และยังทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสามีของตัวเอง

ที่สำคัญ เธอบอกว่า ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงที่สามีถูกยิง หากเป็นเรื่องส่วนตัวก็ตาม สถานการณ์ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ

“บางครั้งก็อยากกลับไปสานต่อโครงการต่างๆ ที่สามีได้ก่อร่างสร้างแบบไว้ เพราะเป็นโครงการที่ชาวบ้านได้รวมตัวกันคิดและปรึกษาหารือกัน”

ส่วนภาระอื่นๆ ที่เธอยังหนักใจอยู่ด้วย ก็คือ เรื่องค่าเล่าเรียนของลูก รวมทั้งตัวเองก็ยังไม่มีรายได้ที่จะนำมาเลี้ยงตัวเองและลูกอีก 2 คน ซึ่งหากจะมีผู้ช่วยเหลือ สิ่งที่เธออยากได้ก่อนก็คือมีเงินส่งลูกไปโรงเรียนก่อน

“ตอนนี้ยังหาทางออกไม่ได้เลยค่ะ”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net