Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงประเด็นความปลอดภัยเมื่อครั้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า “...ปัญหาการประสบอันตรายจากการทำงาน มีผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ถูกนำมาเป็นประเด็นในเวทีระดับโลกหลายๆ เวที รวมทั้งถูกนำมาเชื่อมโยงกับภาพลักษณ์ของความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้รับบริการต่างแสวงหาและนำมาเป็นเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน เรื่องของความปลอดภัยและอาชีวอนามัย จึงไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจในเวทีโลกขณะนี้...”

จากท่าทีดังกล่าวจึงนำมาสู่การสานต่อเรื่องความปลอดภัยในฐานะเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ “Zero Accident” หรือ “อุบัติเหตุเป็นศูนย์” โดยเฉพาะในอุบัติเหตุหนักที่ถึงขั้นต้องสูญเสียชีวิตหรืออวัยวะ เพื่อเป็นตัวชี้วัดทั้งปริมาณและคุณภาพที่บ่งบอกถึงความสำเร็จในการยกระดับคุณภาพชีวิตและการดูแลศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

แน่นอนประเด็นดังกล่าวนี้คงไม่ได้หมายความเฉพาะแรงงานไทยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงแรงงานข้ามชาติที่กำลังทำงานทั้งถูกกฎหมายและลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ด้วยเช่นกัน เพราะพวกเขาและเธอต่างอยู่ในสายพานการผลิตระบบอุตสาหกรรมเดียวกัน รมต.แรงงานคงเข้าใจประเด็นดังกล่าวนี้ดี

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ขาดหายไปจากการมองเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของกระทรวงแรงงานในฐานะของการเป็นวาระแห่งชาติเสมอมา ก็คือ การมองไม่เห็น “คนบางกลุ่ม” ในฐานะที่เป็น “ผู้ใช้แรงงาน” ก่อนการเข้าทำงานในสถานประกอบการ โรงงาน ในบ้านเรือน หรือเรือกสวนไร่นา กระทรวงแรงงานจะเห็น “การเป็นแรงงานของคนๆหนึ่ง” เมื่อบุคคลผู้นั้นได้อ้างอิงหรือสัมพันธ์ตนเองกับพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มิพักต้องกล่าวถึง เพราะเขาหรือเธอได้จบชีวิตก่อนที่จะได้มีโอกาสทำงานหรือได้มีโอกาสอ้างอิงว่าเป็นผู้ใช้แรงงานเหมือนกับแรงงานกลุ่มอื่นๆในสังคมไทย

จากการเก็บสถิติ “แรงงานข้ามชาติไม่ถูกกฎหมายจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า ลาว กัมพูชา” ที่ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองมาหางานทำในประเทศไทย ในรอบ 6 เดือนครึ่งที่ผ่านมา (มค. – กค. 53) พบว่า มีแรงงานกลุ่มนี้ประสบอุบัติเหตุระหว่างเดินทางจากเมืองชายแดนเพื่อเข้าไปทำงานในหัวเมืองชั้นใน หรือจากเมืองอุตสาหกรรมหนึ่งไปยังเมืองอุตสาหกรรมอีกแห่งหนึ่ง ถึง 9 ครั้ง มีผู้ได้รับผลกระทบ 141 คน โดยถึงขั้นเสียชีวิต 29 คน และบาดเจ็บ 112 คน

- 12 กรกฎาคม 53 แรงงานกัมพูชาตาย 1 คน บาดเจ็บ 13 คน ที่จังหวัดสงขลา เนื่องจากรถบรรทุกแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาที่จะเดินทางไปทำงานที่จังหวัดปัตตานี เสียหลักชนต้นไม้บริเวณเกาะกลางถนน สาเหตุน่าจะมาจากคนขับหลับใน (เดลินิวส์ 14 กค. 53)
- 7 กรกฎาคม 53 แรงงานพม่าบาดเจ็บ 38 คน ที่จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากคนขับที่กำลังนำพาแรงงานชาวมอญจากด่านเจดีย์สามองค์เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อยู่ในสภาพที่มึนเมา ประกอบกับขณะนั้นเกิดฝนตกถนนลื่น ที่เกิดเหตุเป็นทางโค้ง จนทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำจนเกิดอุบัติเหตุในที่สุด (สำนักข่าวเนชั่น 7 กค. 53)
- 28 มิถุนายน 53 แรงงานพม่าบาดเจ็บ 13 คน ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากถูกคนร้ายลอบยิงโดยไม่ทราบสาเหตุ ระหว่างที่นายหน้าชาวไทยกำลังพาแรงงานกลุ่มนี้ลักลอบเดินทางจากจังหวัดสมุทรสาครลงไปทำงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและสงขลา แต่เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุมีรถยนต์ไม่ทราบยี่ห้อวิ่งมาประกบด้านท้ายแล้วใช้อาวุธปืนยิงใส่ จนแรงงานได้รับบาดเจ็บ (คมชัดลึก 30 มิย. 53)
- 22 มิถุนายน 53 แรงงานลาวตาย 11 คน บาดเจ็บ 8 คน ที่จังหวัดสระบุรี เนื่องจากคนขับหลับในจนชนต้นไม้ข้างทาง ระหว่างนำพาแรงงานข้ามชาติชาวลาวจากจังหวัดอุบลราชธานีไปส่งทำงานที่สถานประกอบการแห่งหนึ่งย่านพระราม 2 กรุงเทพฯ (MCOT 22 มิย.53)
- 11 มิถุนายน 53 แรงงานพม่าบาดเจ็บ 9 คน ที่จังหวัดตาก เนื่องจากรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ที่รับขนส่งแร่สังกะสีจากอำเภอแม่สอดมาส่งที่จังหวัดตากและเดินทางต่อเข้ากรุงเทพฯ เกิดพลิกคว่ำจนเกิดไฟลุกไหม้ ทำให้แรงงานข้ามชาติจากพม่าที่ซ่อนอยู่ที่ท้ายกระบะพ่วงปิดคลุมด้วยผ้าใบเพื่อหลบเลี่ยงจากการถูกจับกุม จนได้รับบาดเจ็บทุกคน (พิมพ์ไทย 14 มิย.53)
- 23 พฤษภาคม 53 แรงงานพม่าตาย 9 คน บาดเจ็บ 19 คน ที่จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากคนขับรถที่กำลังพาแรงงานพม่าจากจังหวัดระนองเดินทางเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ เมื่อถึงที่เกิดเหตุที่เป็นถนนวงแหวน รถได้เสียหลักพุ่งลงชนต้นไม้ในร่องริมถนนข้างทาง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก (ข่าวสด 25 พค. 53)
- 1 พฤษภาคม 53 แรงงานพม่าตาย 4 คน บาดเจ็บ 2 คน ที่จังหวัดกำแพงเพชร  เนื่องจากคนขับรถที่กำลังพาแรงงานพม่าจากจังหวัดตากที่กำลังจะเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้ขับรถด้วยความเร็วสูงจนเสียหลักตกลงไปในร่องกลางถนนแล้วพลิกคว่ำ ทำให้แรงงานที่นั่งมาในตอนท้ายของกระบะกระเด็นตกลงมาอยู่กลางถนนได้รับบาดเจ็บและบางคนต้องเสียชีวิต (ไทยรัฐ 2 พค.53)
- 30 มีนาคม 53 แรงงานกัมพูชาตาย 1 คน บาดเจ็บ 10 คน ที่จังหวัดสงขลา เนื่องจากคนขับรถที่กำลังพาแรงงานชาวกัมพูชาจากจังหวัดสระแก้วลักลอบไปทำงานที่จังหวัดสงขลา ขับรถด้วยความเร็วสูงหลบหนีตำรวจทางหลวงพัทลุงที่ขับรถไล่ติดตาม จนเสียหลักพลิกคว่ำเนื่องจากเป็นทางโค้งและฝนตกหนัก (มติชน 1 เมย. 53)
- 25 กุมภาพันธ์ 53 แรงงานพม่าตาย 3 คน  ที่จังหวัดระนอง เนื่องจากทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 (ฉก.ร.25) ได้ขอตรวจรถกระบะที่กำลังพาแรงงานที่พึ่งเดินทางมาจากเกาะสองมาขึ้นรถกระบะที่จอดรออยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกระบุรี เพื่อไปส่งที่ตัวเมืองระนอง แต่เมื่อด่านทหารของตรวจ คนขับกลับขับรถหนี ทหารจึงยิงรถเพื่อสกัด ปรากฏว่าในกระบะมีแรงงานจากพม่า 13 คน ในจำนวนนี้ถูกกระสุนเสียชีวิตคาที่ 3 ศพ บาดเจ็บ 5 คน

ตัวเลขเหล่านี้มีนัยยะสำคัญกับประเทศไทยและเวทีโลกอย่างไรบ้าง ? นี้อาจเป็นคำถามที่รมต.คนใหม่คงจะต้องใคร่ครวญอย่างจริงจัง

ทั้งนี้คงไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวย้ำถึงรูปแบบการอพยพย้ายถิ่นที่มีลักษณะพิเศษหรือลักษณะเฉพาะในแถบพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ไทย-ลาว ไทย-กัมพูชาที่มีความสัมพันธ์กับการย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ มีปัจจัยมากกว่าเพียงเรื่องเศรษฐกิจ สภาวะแวดล้อมในประเทศต้นทาง เช่น ในพม่า ผู้หญิงอายุระหว่าง 16 – 25 ปี ตามกฎของ SPDC ต้องเดินทางกับผู้ปกครองตามกฎหมายเท่านั้น หรือผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 30 ปี มีความยุ่งยากในการขอหนังสือเดินทางเพื่อไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น ความเกี่ยวพันกับระบบนายหน้าหรือกระทั่งขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้มีผู้กล่าวถึงและอธิบายอย่างละเอียดในหลายบทความหรืองานวิจัยไปแล้ว

พบว่า

ประการแรก : แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ เป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มหรือลด GDP ประเทศไทย ดังเช่นการศึกษาของ TDRI ได้ระบุชัดว่า ในปี 2550 ไทยมีแรงงานรวมประมาณ 36 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีแรงงานข้ามชาติรวมอยู่ราว 1.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 แรงงานเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 839 ล้านดอลลาร์ จากจีดีพี ณ ราคาปัจจุบันทั้งหมด 168 พันล้านดอลลาร์ การที่ประเทศไทยต้องสูญเสียความสามารถในการทำงานของแรงงานข้ามชาติไปถึง 141 คน จึงส่งผลไม่มากก็น้อยต่อระบบเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องพึ่งพา/ไม่สามารถปฏิเสธการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้อยู่

ประการที่สอง : เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าประเด็นหลักของ CSR นั้น มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับ “มาตรฐานแรงงาน” และเรื่อง “งานที่มีคุณค่า” (decent work) ซึ่งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในเชิงสภาพการจ้างงานรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการจ้างงานที่มีความมั่นคง การรับรู้ข้อมูลก่อนเริ่มทำงานเพื่อป้องกันความเสี่ยง เงื่อนไขในการทำงาน เรื่องของค่าตอบแทน สวัสดิการ รวมไปถึงในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน และยิ่งในกลุ่มแรงงานอพยพข้ามชาติ พวกเขาหรือเธอยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ เพราะต้องทำงานในประเภทอาชีพเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นก่อสร้าง ประมง ประมงทะเลต่อเนื่อง ผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือลูกจ้างทำงานรับใช้ในบ้าน แต่สิ่งเหล่านี้กระทรวงแรงงานก็ขาดความตระหนักอย่างจริงจัง จนนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตของแรงงานอพยพจำนวนมาก ปล่อยให้กลายเป็นเรื่องของความเอื้อเฟื้อของนายจ้างหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารเพียงเท่านั้น เพราะแรงงานกลุ่มนี้ คือ พวกลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารรับรอง จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องได้รับการดูแลเหมือนผู้ใช้แรงงานไทยกลุ่มอื่นๆ

ประการที่สาม : แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะถือว่าเป็น “คนผิดกฎหมาย” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าประเทศไทยหรือกระทรวงแรงงานเอง ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะที่พวกเขาและเธอจะกลายเป็น “แรงงานในอนาคต” ก็ยังไม่มีการสร้างฉันทานุมัติทางนโยบาย ปล่อยให้แรงงานต้องเผชิญชะตากรรมตามลำพัง ทั้งๆที่ตอนนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยมีแรงงานที่ลักลอบผิดกฎหมายทำงานอยู่จำนวนมาก การขาดการสร้างนโยบายที่คุ้มครองแรงงานตั้งแต่เริ่มข้ามพรมแดนยิ่งสร้างให้เกิดกระบวนการฉวยโอกาสจากแรงงานราคาถูก โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาและเธอก็คือพลเมืองโลกคนหนึ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่จำเป็นต้องอาศัยแรงงานผิดกฎหมาย แต่ก็กลับไม่ยอมรับในหลักการคุ้มครองแรงงานตั้งแต่ก่อนเริ่มทำงาน ระหว่างทำงาน หรือหลังทำงาน จากการคุ้มครองจึงแปรเปลี่ยนเป็นไล่ล่าจับกุมปราบปรามโดยกระทรวงกลาโหมหรือมหาดไทยแทน กระทรวงแรงงานกลับเพิกเฉยและตั้งรับ นิ่งดูดาย หรือกระทั่งผลักภาระไปให้หน่วยงานอื่นๆแทน ขาดการตระหนักร่วมว่าเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ประการที่สี่ : ในช่วงนี้มีการกล่าวถึงกระแสการปฏิรูปประเทศไทยหรืออนาคตของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะโน้มเอียงไปทางเศรษฐกิจ ตัวเลข GDP อย่างไรก็ตามประเทศไทยจะน่าอยู่ได้คงไม่ได้มีเพียงตัวเลขทางเศรษฐกิจเท่านั้น การพูดถึงแผ่นดินไทยที่ร่มเย็น ปกป้องชีวิตทั้ง “คนไทย” และ “คนที่ไม่ใช่ไทย” การสร้างสังคมที่ดูแลสิทธิมนุษยชนและชีวิตคนทุกคน แม้ว่าเขาหรือเธอจะเดินทางมาจากแผ่นดินอื่น จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกขาดกันได้จากระบบเศรษฐกิจที่รุดหน้า

ประการสุดท้าย : ความตายและการบาดเจ็บจากการย้ายถิ่นของแรงงานอพยพข้ามชาติกลุ่มนี้ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้สังคมไทยได้เรียนรู้ถึงการจัดการกับวิกฤติเรื่อง ความไม่ปลอดภัยจากการเดินทางเพื่อเข้ามาหางานทำในประเทศไทย จากเดิมอาจมองเป็นเพียงเรื่องอุบัติเหตุชั่วครั้งชั่วคราว (เหมือนกรณี 54 ศพ ที่เป็นบทเรียนสาหัสสำหรับสังคมไทยในช่วงเวลาหนึ่งมาแล้ว) ก็ยกระดับจากการแยกส่วนแยกหน่วยงาน มาเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อรับมือทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย เพื่อสร้าง/แสวงหาความสมดุลในการจ้างงานทางเศรษฐกิจกับความมั่นคงของมนุษย์ไปพร้อมกัน

เมื่อแรงงานข้ามชาติยังมีความสำคัญกับสังคมไทย ถึงเวลาหรือยังที่เราจำต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังเสียทีว่า ความมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมน่าอยู่ที่เป็นธรรมสำหรับคนทุกคนมีหน้าตาอย่างไร และแรงงานอพยพข้ามชาติจะมีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างสังคมไทยอย่างไร นี้อาจเป็นโจทย์ที่ท้าทายกระทรวงแรงงานกว่าการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการย้ายถิ่นก็เป็นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net