Skip to main content
sharethis

 

 

 
ป้ายเล็กๆ ถูกแปะไว้ในทุกประตูทางเข้า ประตูห้องน้ำ ของที่ประชุมนานาชาติเรื่องเอดส์ ครั้งที่ 18 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อกระตุ้นเตือนถึงความใหญ่โตของโรคเอดส์ที่คุกคามมนุษยชาติ
 
“ระหว่างการประชุม 6 วัน จะมีผู้ติดเชื้อ HIV ในยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (EECA) เพิ่มขึ้น 3000 คน”
 
ออสเตรียเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมเอดส์นานาชาติในปีนี้ (2010) ระหว่างวันที่ 18 – 23 ก.ค. ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 20,000 คน จาก 185 ประเทศทั่วโลก ประเทศอันสวยงามและผู้คนมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลกนี้เป็นประเทศกึ่งกลางเชื่อมระหว่างยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (Eastern Europe and Central Asia – EECA) ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในโลก
 
 

 

(* ที่มาภาพนี้จาก: IAS/Marcus Rose/ Worker's photo)
 
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการติดเชื้อ HIV ใน EECA ระบุว่า ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคเดียวที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2001 การแพร่ระบาดของ HIV ในภูมิภาคนี้สูงขึ้นเป็น 2 เท่า จนมีผู้ติดเชื้อ 1.5 ล้านคนในปี 2008 หรือเพิ่มขึ้น 66% โดยเฉพาะในรัสเซียและยูเครนมีผู้ติดเชื้อคิดเป็น 90% ของทั้งภูมิภาค
 
การแพร่ระบาดมักเกิดในหมู่ผู้ใช้ยาเสพติด ผู้ขายบริการทางเพศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีข้อมูลชัดเจนว่า “ผู้หญิง” ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างน่าตกใจ  ในยูเครนการแพร่เชื้อในหมู่ผู้ให้บริการทางเพศเพิ่มจาก 13% เป็น 30% ในไม่กี่ปี
 
การติดยาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญของภูมิภาคนี้ที่นำมาซึ่งการแพร่ระบาดของเอดส์ ในรัสเซีย ผู้ให้บริการทางเพศมากกว่า 30% ก็ติดยาเสพติดด้วย
 
ขณะที่การรักษา การป้องกัน และการให้ความรู้เรื่องนี้กลับเดินไปในทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะผู้ติดยาเสพที่ติดเชื้อนั้นมักถูกเลือกปฏิบัติ ถูกตีตรา โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ พวกเขามักถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงบริการสุขภาพและการเข้าสังคม แม้ว่ารัฐธรรมนูญและนโยบายของหลายประเทศจะรับประกันสิทธิว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันก็ตาม ในขณะที่โครงการเกี่ยวกับการป้องกันเอดส์ก็ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนมากนักในหลายประเทศโครงการนำร่องทั้งหลายหยุดชะงักลงกลางคัน
 
สำหรับการได้รับยาต้านไวรัสขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ติดเชื้อนั้น ในภูมิภาคนี้ก็ถือว่าอยู่ในอัตราต่ำ มีผู้ใหญ่เพียง 23% ที่ได้รับยาในปี 2008 ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของบรรดาประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 42% แน่นอน ผู้ที่ได้รับยาต้านไวรัสน้อยที่สุดคือ ผู้ติดยาเสพติด ในรัสเซีย ตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตมีประมาณ 416,000 คน  จากประมาณการจริงเกือบล้านคน แม้รัสเซียจะได้รับทุนสำหรับยาต้านไวรัส แต่ก็มีผู้ติดเชื้อเพียง 60,000 คน ที่ได้รับการรักษาโดยยาต้านไวรัส ปัญหาสำคัญคือราคาที่แสนแพงนั่นเอง
 
ภายในงานมีการประชุมมากมายหลายหัวข้อ มีทั้งเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ประเด็นทางกฎหมาย การค้า กำแพงขวางกั้นการเข้าถึงการรักษาของผู้ติดเชื้อ การป้องกันและการสร้างการยอมรับผู้ติดเชื้อ ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ผู้หญิง กลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ กลุ่มชายรักชาย รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ
 
 

 

 
นอกจากนี้ยังมีส่วนของนิทรรศการ และหมู่บ้านโลก (Global Village) ซึ่งเป็นพื้นที่ของภาคประชาชนที่ทำงานด้านเอดส์จากทั่วโลกมาออกบูธให้ข้อมูลของกลุ่มคนทำงาน สถานการณ์ของประเทศตนเอง รวมไปถึงขายของที่ระลึก และจัดกิจกรรมร่วมกัน        
 
ในพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการในช่วงเย็นวันที่ 18 พ.ค. มีสีสันของบรรดานักกิจกรรมและผู้ติดเชื้อจากหลายประเทศจัดขบวนประท้วง ส่งเสียงกันลั่นห้องประชุม พร้อมชูป้าย “Broken Promises Kill, No Retreat, Fund AIDS”
 
ปัญหาเรื่องเงินสนับสนุนที่ลดลงเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจกำลังเป็นปัญหาใหญ่ ทุกประเทศ ตลอดจนแหล่งทุนใหญ่ทั้งหลายดูเหมือนจะลดหรือยุติการสนับสนุนบางอย่างซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคเอดส์โดยตรง ซึ่งผู้นำระดับโลก เช่น บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, นายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ ต่างก็ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมนี้โดยเรียกร้องต่อผู้นำทั่วโลกตระหนักและเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว
 
 

 

 
 “5 ปีที่แล้ว การรักษา HIV ในประเทศที่รายได้ต่ำและรายได้ปานกลางมีอัตราเพิ่มเป็นสิบเท่า สามารถเข้าถึงผู้ติดเชื้อได้ถึง 5 ล้านคน และเพิ่ง 10 ปีหลังจากการประชุมเอดส์นานาชาติปี 2000 ที่แอฟริกาใต้ เราสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าการเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงนั้นประสบความสำเร็จได้ เราต้องทำให้พวกเราและผู้นำทางการเมืองทั้งหลายไปสู่เป้าหมายนี้ โดยเฉพาะกองทุนโลกที่จะต้องสนับสนุนแนวทางอันท้าทายนี้ต่อไป” ดร.บริกิตต์ ชมิท ประธานร่วมของงานประชุมครั้งนี้กล่าว
 
กองทุนโลก หรือ The Global Fund เป็นองค์กรระดับโลกที่ดูแลวิกฤตโรคเอดส์ และต้องบริจาคงบประมาณ 10% ให้ทุนสนับสนุนเรื่องนี้ในช่วง 2 ปีแรก หลังจากนั้นต้องให้ทุน 25% ของงบประมาณใน 3 ปีสุดท้าย แต่มันก็ยังเหลือช่องว่างอีกมโหฬารในการจัดสรรงบประมาณในให้ทุนสนับสนุนด้านเอดส์ อย่างไรก็ตาม ปี 2010 ผู้สนับสนุนรายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังตัดลดงบประมาณ จากที่เคยให้กองทุนโลก 1.05 พันล้านดอลล่าร์ เหลือ 1 พันล้านดอลล่าร์ ทั้งที่ตามสัดส่วนแล้วควรต้องให้อย่างน้อย 2 พันล้านดอลล่าร์ เพื่ออุดช่องว่างของกองทุน
 
ก่อนเริ่มงาน 1 วัน บิล เกตส์ มหาเศรษฐีแห่งวงการคอมพิวเตอร์ ประธานร่วมกองทุนการกุศล "บิล แอนด์ เมลินดา เกตส์" ก็ได้ออกมากล่าวถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ก่อนประชุมด้วยว่า ความพยายามที่จะช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์กำลังได้รับผลกระทบครั้งใหญ่จากวิกฤตเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจนำไปสู่การตัดงบประมาณของรัฐบาลในแต่ละประเทศที่เคยให้แบ่งงบประมาณไว้ให้สำหรับการต่อสู้กับโรคร้ายแรงนี้
 
"เรากำลังเผชิญกับความท้าทายในเรื่องเงินทุนเพราะการที่ทุกประเทศกำลังประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลไม่สามารถแบ่งงบประมาณเพียงพอต่อความต้องการ และมีการตัดงบประมาณสำหรับสาธารณสุขโดยเฉพาะสำหรับการบรรเทาโรคเอดส์" บิล เกตส์ กล่าว
 
เกตส์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชน พยายามประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เงินช่วยเหลือได้ประโยชน์สูงสุด และให้เน้นวิธีเชิงป้องกัน ซึ่งพิสูจน์ว่าได้ผลในช่วงที่ผ่านมา เช่น การขลิบอวัยวะเพศชาย
 
 

 
นายแพทย์แอนโตนี ฟาวซี ประธานสถาบันแห่งชาติเพื่อโรคภูมิแพ้และป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา (NIAID) กล่าวว่า ความต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่ในปริมาณที่สูงกว่างบประมาณที่ได้รับ ซึ่งเกิดขึ้นช่วงเวลาที่การช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์กำลังไปได้ดี ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อมากถึง 5 ล้านคนในประเทศยากจนที่กำลังได้รับการรักษาตัวหรือได้รับการช่วยเหลือด้านการรักษา ขณะที่เมื่อ6 ปีก่อนผู้ติดเชื้อ 1 ใน 10 เท่านั้นที่ได้รับการช่วยเหลือ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวก็ลดลงเช่นกันจากเดิม 15,000 ดอลลาร์ (480,000 บาท) ต่อคนต่อปีเมื่อปี2544 ลดเหลือ 120 ดอลลาร์ (3,840 บาท) ต่อคนต่อปีในปัจจุบัน ขณะเดียวกันผู้ติดเชื้อลดลง 17 เปอร์เซ็นต์เทียบกับเมื่อปี 2544 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นประมาณปีละถึง 27 ล้านคน
นายแพทย์จูเลีย มอนตาเนอร์ ประธานสมาคมโรคเอดส์ระหว่างประเทศ (IAS) เตือนถึงความหายนะที่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลในแต่ละประเทศไม่เพิ่มความช่วยเหลือทั้งในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพของยา และขยายความช่วยเหลือให้ทั่วถึง
 
ทั้งนี้ เมื่อปี 2549 สมาชิกสหประชาชาติให้คำมั่นว่าภายในปี 2553 นี้ผู้ป่วยโรคเอดส์สามารถเข้าถึงยา แต่ปรากฏว่าทุกประเทศล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามและบรรลุเป้าหมาย
 
พอล ไซท์ ผู้ก่อตั้งกองทุนพันธมิตรโรคเอดส์โลก (GAA) ให้ความเห็นว่า การที่ผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้น สวนทางกับเงินสนับสนุนกองทุนต่อสู้เอดส์ที่ลดลง จะทำให้ประชากรโลกหลายล้านคน ตกอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวแอฟริกาที่ประเทศผู้ช่วยเหลือยกเลิกการสนับสนุนเงินทุนเพื่อซื้อยาบรรเทาอาการโรคเอดส์ไปทีละประเทศ นอกจากนี้ไซท์ยังเรียกร้องให้ผู้นำโลกทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในการร่วมต่อสู้โรคเอดส์ รวมทั้งนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เคยหยิบประเด็นการต่อสู้โรคเอดส์ขึ้นมาใช้หาเสียงกับประชาชน และสัญญาว่าจะให้เงินช่วยเหลือกองทุนต่อสู้โรคเอดส์เพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ปรากฏว่านายโอบามาไม่ได้แตะเรื่องนี้ตั้งแต่รับตำแหน่ง
 
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 2 ของการประชุม บรรดานักวิทยาศาสตร์ นักกิจกรรมจากทั่วโลกได้ร่วมกันเรียกร้องกับผู้นำทั่วโลกให้สนับสนุนงบประมาณเข้าสู่กองทุนโลกอย่างต่ำ 20 พันล้านดอลล่าร์เพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย ในการประชุมกองทุนโลกที่จะมีขึ้นอีกครั้งเดือนตุลาคมนี้ และพวกเขายังหวังว่าการค้นพบใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ที่ปรากฏในเวทีเอดส์นานาชาตินี้จะเป็นหลักฐานอย่างดีสำหรับผู้นำในการตัดสินใจจัดสรรงบประมาณดังกล่าว และนอกจากจะเรียกร้องให้สนับสนุนงบประมาณด้านการป้องกันรักษาอย่างทั่วถึงแล้ว พวกเขายังเรียกร้องให้มีการสนับสนุนด้านการวิจัยศึกษานวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการปฏิบัติตามปฏิญญา Abuja ซึ่งประเทศในทวีปแอฟริกาสัญญาว่าจะจัดสรร 15% ของงบประมาณของชาติไปในเรื่องสุขภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net