Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสันติประชาธรรม แถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ข้อมูลประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.- พ.ค.2553 โดยใช้ชื่อย่อว่า ศปช.

19 ก.ค. 53 ที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เครือข่ายสันติประชาธรรม แถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ข้อมูลประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.- พ.ค.2553 โดยใช้ชื่อย่อว่า ศปช. เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเข้าร้องเรียนและให้ข้อมูล ทั้งในกรณีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหาย ผู้ถูกจับกุม ผู้ถูกดำเนินคดี และผู้ถูกคุกคาม โดยศูนย์ดังกล่าวประกอบด้วยบุคลากรที่เป็นนักวิชาการสาขาต่างๆ อาทิ กฤตยา อาชวนิชกุล ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พวงทองภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เกษม เพ็ญภินันท์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาฯ ธรมศาสตร์ ร่วมกับนักสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย และองค์กรพัฒนาเอกชน โดยจะเป็นการทำงานคู่ขนานกับคณะกรรมกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)

ทั้งนี้ข้อมูลและข้อเท็จจริง จะนำเสนอรายงานต่อสาธารณชนเป็นระยะๆ และจะจัดทำรายงานเสนอต่อสหประชาชาติ โดยผู้ได้รับกระทบที่ต้องการร้องเรียนหรือให้ข้อมูลเบาะแส หรือผู้สนใจ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์สันติประชาธรรม www.peaceandjusticenetwork.org หรือ ติดต่อได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 086 060 5433 อีกทั้ง สามารถติดตามได้ใน Facebook ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) 

 
โลโก้ ศปช. ออกแบบโดย Bundit Uawattana

 

นอกจากนี้ เครือข่ายสันติประชาธรรมยังได้เผยแพร่ จดหมายเปิดคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยเนื้อหาระบุว่า แม้ว่าการแต่งตั้ง คอป.จะถูกตั้งคำถาม เรื่องความชอบธรรมจากฝ่ายต่างๆ ในสังคม เพราะถูกแต่งตั้งโดย รัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นคู่กรณี ในความขัดแย้ง และความรุนแรง ในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. แต่เมื่อ คอป.ยืนยันปฏิบัติหน้าที่เพื่อพิสูจน์ ให้ประชาชนเห็นว่า เป็นหน่วยงานอิสระและเที่ยงธรรม

เครือข่ายสันติประชาธรรม ขอยื่นข้อเสนอ ดังนี้ 1. คอป.จะต้องปฏิบัติงานอย่างโปร่ง ใสและตรวจสอบได้ คอป.ต้องชี้แจงให้สาธารณชนให้ประชาชนได้รู้ถึงขอบเขตและจุดมุ่งหมายในการทำ งาน ของ คอป. ทั้งนี้ เครือข่ายสันติประชาธรรมเชื่อว่า มีแต่การแสวงหาข้อเท็จจริงและ ผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสียที่ เกิดขึ้นเท่านั้น ที่จะช่วยฟื้นฟูความบริสุทธิ์ยุติธรรม และสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ให้กับผู้คนจำนวนมากในสังคมได้

2.การตรวจสอบข้อเท็จจริงต้องมุ่ง ไปที่ การกระทำของทุกฝ่ายอย่างเท่าเที ยม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ศอฉ. กองทัพ ผู้ชุมนุม และบุคคลนิรนาม 3.คอป.ควรมีข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อ ตอบสนองสถานการณ์เฉพาะหน้าและ ควรเรียกร้อง ให้รัฐบาลและ ศอฉ.ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทันที

น.ส.ขวัญระวี วังอุดม นักสิทธิมนุษยชน ที่เข้าร่วมทำงานในศูนย์ข้อมูลประชาชนฯ กล่าวว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่ทำการเก็บข้อมูลเรื่องนี้อยู่เป็นของรัฐบาล และศูนย์ที่ดำเนินการโดยเอ็นจีโอด้านสิทธิฯ ที่มีอยู่ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ได้รับผลกระทบบางส่วน ส่วนการเปิดตัวที่ดูล่าช่านั้น ความจริงศูนย์ได้เริ่มดำเนินการเก็บข้อมูลลงพื้นที่มาก่อนหน้านี้บ้างแล้ว แต่การประสานความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย และการเซ็ทระบบให้เข้าที่ ซึ่งต้องใช้เวลา

 

 
จดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ
โดย เครือข่ายสันติประชาธรรม
 
             แม้ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) จะถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมจากฝ่ายต่าง ๆ ในสังคม เพราะมีกำเนิดมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งและความรุนแรงในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 แต่เมื่อ คอป. ยืนยันที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไปด้วยเงินภาษีของประชาชน คอป. จึงมีภาระหน้าที่พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าตนคือหน่วยงาน “อิสระ” และ “เที่ยงธรรม” อย่างแท้จริง เครือข่ายสันติประชาธรรมจึงขอยื่นขอเสนอต่อ คอป.ดังนี้
 
1.คอป.จะต้องปฏิบัติงานอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ แม้ว่า คอป. ได้เคยแถลงว่าจะ “ตรวจสอบและค้นหาความจริง โดยเฉพาะความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ และความเสียหายทางทรัพย์สินที่เกิดในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.53”แต่นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. ก็เคยกล่าวว่า คอป. ไม่ได้ต้องการหาว่าใครผิดใครถูก สิ่งนี้ได้สร้างความสับสนแก่ประชาชนว่าอะไรคือกรอบการทำงานของ คอป. กันแน่ ฉะนั้น จึงจำเป็นที่ คอป. จะต้องชี้แจงให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงขอบเขตและจุดมุ่งหมายที่เป็นรูปธรรมในการทำงานของ คอป. ทั้งนี้ เครือข่ายสันติประชาธรรมเชื่อว่า มีแต่การแสวงหาข้อเท็จจริงและผู้รับผิด (Accountability) ต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นเท่านั้น ที่จะช่วยฟื้นฟูความรู้สึก “ยุติธรรม” และ “สิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน” ให้กับผู้คนจำนวนมากในสังคมไทยได้
 
2.การตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต้องมุ่งไปที่การกระทำของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ศอฉ. กองทัพ ผู้ชุมนุม และบุคคลนิรนาม
 
3.นอกจากการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงให้บังเกิด ซึ่งต้องอาศัยเวลาและเป็นงานระยะยาว คอป. ควรมีข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อตอบสนองสถานการณ์เฉพาะหน้า เช่น มีหลักประกันความปลอดภัยให้แก่พยานบุคคลที่ให้ข้อมูลแก่ คอป. และสาธารณชน, ศอฉ. ต้องยุติการจับกุมประชาชนตาม พรก. ฉุกเฉินโดยขาดหลักฐานที่ชัดเจน ทั้งนี้ คอป.จะต้องเรียกร้องให้รัฐบาลและศอฉ. ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทันที เพราะการคุกคามพยาน คืออุปสรรคสำคัญต่อการพยายามแสวงหาความจริง
 
4.ในฐานะที่ คอป.ใช้งบประมาณในการทำงานซึ่งมาจากภาษีประชาชน 8 คอป. ควรแบ่งสรรงบประมาณในสัดส่วนที่เหมาะสมให้กับองค์กรภาคเอกชนในการทำงานตรวจสอบหาข้อเท็จจริงคู่ขนานไปกับ คอป.
 
เครือข่ายสันติประชาธรรม
19 กรกฎาคม 2553
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net