Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ

แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งจาก ลาว กัมพูชา และพม่า ซึ่งมีประมาณสองล้านคนในประเทศไทย โดยแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีเหตุผลที่สำคัญหลายประการที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เช่นปัญหาการสู้รบ ความแตกต่างของค่าจ้าง เป็นต้น แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยมักทำงาน ประมง ก่อสร้าง เกษตรกรรม แม่บ้าน และงานอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงในด้านความปลอดภัย ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ แต่เป็นงานที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และมีความจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชนชาวไทยอย่างยิ่ง 

นอกจากแรงงานข้ามชาติจะได้ค่าจ้างและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว ยังประสบกับปัญหาการเข้าถึงสิทธิการใช้รถ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ระบบการขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความแตกต่างจากหลายๆ พื้นที่ที่เป็นเมืองใหญ่ กล่าวคือบริการด้านขนส่งมวลชนยังไม่สามารถทำได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของจังหวัด และมีราคาแพง ทำให้ชาวเชียงใหม่รวมทั้งแรงงานข้ามชาติต้องพึ่งพายานพาหนะส่วนตัวเป็นสำคัญ ทำให้แรงงานข้ามชาติก็ต้องใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน 

สืบเนื่องจากเหตุการณ์การบุกเข้าตรวจค้นบ้านพักคนงานก่อสร้าง บ้านไร่ หมู่ที่ 3 ต.หนองควาย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่จำนวนมาก โดยเมื่อเวลาประมาณ 05.00 น.ของวันที่ 7 ธันวาคม 2550 เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 5 กว่า 30 นายได้เข้าตรวจค้นบ้านพักอาศัย ค้นตัวแรงงานและได้ยึดรถจักรยานยนต์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของแรงงานไปทั้งหมด 27 คัน ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551 เวลาประมาณ 06.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.สันกำแพง ประมาณ 12 นายได้บุกเข้าตรวจค้นบ้านพักอาศัยของแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ ที่หมู่บ้านกาญจน์กนก ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพงและยึดรถจักรยานยนต์ไป 3 คัน และเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 เวลาประมาณ 20.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ช้างเผือก ประมาณ 15 นายได้เข้าตรวจศูนย์การเรียนรู้แรงงานข้ามชาติ เลขที่ 29/8 ถ.เทพารักษ์ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่และได้ยึดรถจักรยานยนต์ของแรงงานกว่า 80 คัน โดยแรงงานต้องเสียค่าปรับในอัตราสูง คือข้อหาละ 1,000 บาท และเสียค่าปรับ 1,000-2,000 บาทต่อการปรับหนึ่งครั้ง หลังจากการเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงยุติธรรม และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เพื่อให้เกิดตรวจสอบและทำให้การเข้าตรวจค้นยุติลง รวมทั้งสถานการณ์การจับ ปรับ ยึดรถของแรงงานข้ามชาติเมื่อตั้งด่าน หรือการจับบนท้องถนนดีขึ้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทางโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จึงได้เข้าไปเก็บข้อมูล และเริ่มรณรงค์ การเข้าถึงสิทธิของคนกลุ่มนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นข้อกังวลของปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างมาก เมื่อแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับสิทธิในการใช้รถจักรยานยนต์ ทั้งๆที่เป็นสิทธิพื้นฐานทางสังคม ทางมูลนิธิฯมีความคาดหวังและมีความพยายามในการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย และระเบียบต่าง ๆ เพื่อการปกป้องแรงงานข้ามชาติและสนับสนุนให้แรงงานได้รับสิทธิเบื้องต้นทางสังคม

 

การขับเคลื่อนและความก้าวหน้าในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย

จากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในประเด็นแรงงานข้ามชาติกับปัญหาการใช้รถจักรยานยนต์ในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่18มีนาคม 2552 โดยตัวแทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีข้อเสนอคือ สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ยอมรับเอกสารของแรงงานข้ามชาติเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการขอใบอนุญาตขับรถและจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถ ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่มีมาตรการหรือนโยบายออกมาชัดเจน ขอให้จัดอบรมเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัยบนท้องถนน และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปรับในอัตราที่เป็นมาตรฐานเดียวกันตามกฎหมายที่เท่ากับคนไทย ซึ่งตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนี้รับข้อเสนอและนำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ทางโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้ทำการสำรวจข้อมูลต่างๆ และติดตามความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหานี้ และจากการสำรวจสถานการณ์ การใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังจากการประชุมหารือดังกล่าว พบว่าสถานการณ์การปรับของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ แรงงานข้ามชาติมักโดนปรับใน 2 ข้อหาคือ ข้อหาไม่มีใบขับขี่และไม่มีชื่ออยู่ในสมุดคู่มือรถ โดยปรับข้อหาละ 500 บาท ในส่วนของประเด็นการยึดรถนั้นยังคงมีปรากฏแต่มีแนวโน้มลดลง

ดังนั้นมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาจึงได้เข้าหารือกับกรมการขนส่งทางบก โดยเข้าพบตัวแทนของกรมการขนส่งทางบก นายรณยุทธ ตั้งรวมทรัพย์ รองอธิบดีฝ่ายปฏิบัติและคณะ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 เกี่ยวกับความชัดเจน กรณีการจดทะเบียนโอนเป็นเจ้าของรถและการขอทำใบอนุญาตขับรถของแรงงานข้ามชาติ โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาขอเสนอ แนวทางในการสร้างความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ด้วยการหารือนี้กรมการขนส่งได้พิจารณาตามข้อกฎหมาย และเห็นว่าแรงงานข้ามชาติสามารถโอนรถและจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถได้ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 กรมการขนส่งทางบกได้ออกหนังสือเวียนที่ คค0408/ว244 อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถได้เวียนไปยังสำนักงานขนส่งทุกจังหวัด

สำหรับประเด็นเรื่องใบอนุญาตขับรถของแรงงานข้ามชาตินั้น ได้มีการปรึกษา หารือร่วมกันอีกครั้ง ในวันที่ 22 มกราคม 2553 ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ให้ความเห็นถึง ความเกี่ยวโยงกับการพิสูจน์สัญชาติ เมื่อแรงงานข้ามชาติผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จะมีสถานะกลายเป็นเดินทางเข้าประเทศโดยถูกกฎหมาย ซึ่งสามารถทำใบอนุญาตขับรถได้ทันที ประเด็นเรื่องใบอนุญาตขับรถของแรงงานข้ามชาติจึงต้องพิจารณาต่อไป

ในวันที่ 22 มีนาคม 2553 กรมการขนส่งทางบกได้ออกหนังสือเวียนที่ คค0408/ว.108 อนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่ม สามารถทำใบอนุญาตขับรถได้ซึ่งส่งผลดีต่อกลุ่มดังกล่าวอย่างมาก อย่างไรก็ดีการให้สิทธิ์ครั้งนี้ไม่ได้ครอบคลุมถึงการให้สิทธิ์กับแรงงานข้ามชาติ

ด้วยความยังไม่ชัดเจนในสิทธิการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติ ทางมูลนิธิฯ จึงมีความกังวลเกี่ยวกับสิทธิของคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนนั้นเป็นประเด็นซึ่งไม่อาจรอเวลาได้ จึงหารือ กับหน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหานี้หลายครั้ง และล่าสุดในวันที่ 11 มิถุนายน 2553 ได้มีการจัดการหารือร่วมกัน ซึ่งกรมการขนส่งทางบก ให้ความเห็นถึงประเด็นการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติเป็นประเด็นซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับความมั่นคงของประเทศ นโยบายเกี่ยวกับการให้สิทธิ์จึงต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน และกรมการขนส่งพร้อมที่จะดำเนินการตาม เรื่องใบอนุญาตขับรถของแรงงานข้ามชาติจึงยังไม่ได้รับการให้สิทธิแต่อย่างใด และต้องผ่านความเห็นชอบของสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน

 

การดำเนินการไปข้างหน้า ประเด็นใบอนุญาตขับรถของแรงงานข้ามชาติ

หลังจากที่กรมการขนส่งทางบก ได้ออกนโยบายอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติพม่า ลาว และกัมพูชาสามารถจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถ โอนรถได้ และได้อนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่มทำใบอนุญาตขับรถได้ ปรากฏให้เห็นถึงแรงงานข้ามชาติไปดำเนินจดทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตนเองจำนวนมาก และบุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อยที่รอคอยมายาวนานกว่า 15 ปีได้สิทธิ์ของการมีใบอนุญาตขับรถ

โครงการยุติธรรมแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มีความกังวลถึงเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เมื่อแรงงานข้ามชาติใช้รถจักรยานยนต์โดยไม่ผ่านการฝึกอบรม ทำให้ไม่ทราบกฎระเบียบของการขับขี่อย่างถูกต้อง จึงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ทำให้เกิดความไม่มั่นคงของสังคมมากยิ่งขึ้น มูลนิธิฯมีความพยายามในการผลักดันเพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิ์ โดยร่วมประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้เข้ามาพิจารณาร่วมขับเคลื่อนถึงสิทธิของคนกลุ่มนี้ และประสาน หารือ กับหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดการลดหย่อนปัญหา และหาทางออกสำหรับปัญหาการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติต่อไป

000

 

สรุปเหตุการณ์และพัฒนาการการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

ธันวาคม 2550 - กุมภาพันธ์ 2551 เก็บข้อมูลสถานการณ์การเข้าตรวจค้นที่พักอาศัยของแรงงาน

21 กุมภาพันธ์ 2551 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร้องเรียนไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการเข้าตรวจบ้านพักอาศัยแรงงาน

30 เมษายน 2551 ตำรวจภูธรภาค 5 ตอบข้อร้องเรียนโดยแจ้งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด

20 สิงหาคม 2551 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการวินิจฉับ โดยให้ตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวตักเตือนเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการจับกุมดังกล่าว

4 เมษายน 2551 สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ปฏิเสธครั้งแรก ในการขอทำใบอนุญาตขับรถของแรงงานข้ามชาติ

15 พฤษภาคม 2551 แรงงานข้ามชาติอุทธรณ์คำสั่งสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ขอทราบเหตุผลในการไม่ออกใบอนุญาตขับรถให้

30 พฤษภาคม 2551 สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ตอบเหตุผลการไม่ออกใบอนุญาตขับรถให้

21 กรกฎาคม 2551 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม อุทธรณ์ไปยังกรมการขนส่งทางบก ขอทราบเหตุผล

21 กุมภาพันธ์ 2552 สมช. ให้ความเห็นให้สิทธิในการทำใบอนุญาตขับรถให้บุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่ม(ไม่รวมถึงแรงงานข้ามชาติ)

10 มีนาคม 2552 แรงงานข้ามชาติยื่นคำร้องขอจดทะเบียนโอนเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ ต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่

18 มีนาคม 2552 ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับสิทธิการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติ และปัญหาการปรับ จับ ยึดรถ

20 เมษายน 2552 แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ 3 รายยื่นคำร้องขอทำใบอนุญาตขับรถ ต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่

30 เมษายน 2552 สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งเหตุผลไม่รับคำร้องจดทะเบียนโอนรถจักรยานยนต์

7 พฤษภาคม 2552 สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งเหตุผลไม่รับคำร้อง โดยแรงงานข้ามชาติขาดคุณสมบัติในการทำใบอนุญาตขับรถ

15 พฤษภาคม 2552 แรงงานข้ามชาติ อุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง กรณีขอจดทะเบียนโอนเป็นเจ้าของรถ

16 มิถุนายน 2552 สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ส่งเรื่องให้กรมการขนส่งทางบก เพื่ออนุญาตให้จดทะเบียนโอนเป็นเจ้าของรถ

22 มิถุนายน 2552 แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ 3 คน อุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ที่ไม่อนุญาตให้ทำใบอนุญาตขับรถ

1 กรกฎาคม 2552 สามารถจดทะเบียนโอนเป็นเจ้าของรถได้ โอนจากรถของคนไทยให้เป็นของแรงงานข้ามชาติ

20 กรกฎาคม 2552 สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ตอบคำอุทธรณ์เรื่องใบอนุญาตขับรถ โดยให้รอนโยบายและระเบียบจากกรมการขนส่งต้นสังกัดให้อนุญาตก่อน

17 สิงหาคม 2552 ตัวแทนมูลนิธิฯ เข้าพบ หารือ กับตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์การจราจร โดยยืนยันการปรับที่ข้อหาละ 500 บาท

1 กันยายน 2552 มูลนิธิฯ เข้าพบกรมการขนส่งทางบก เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหา

14 ตุลาคม 2552 กรมการขนส่งทางบก อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถได้

20 มกราคม 2553 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรียกประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการใช้รถจักรยานยนต์ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

29 มกราคม 2553 กรมการขนส่งทางบก ออกหนังสือเวียนแจ้งเรื่องเอกสารของแรงงานข้ามชาติที่ใช้ในการดำเนินการจดทะเบียนเป็นเจ้าของรถ

22 มีนาคม 2010 กรมการขนส่งทางบก อนุญาตให้บุคคลไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่มสามารถทำใบอนุญาตขับรถได้

11 มิถุนายน 2553 มูลนิธิฯ จัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงใหม่ กรมการขนส่งทางบกและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อหารือปัญหาของแรงงานข้ามชาติในการใช้รถจักรยานยนต์ โดยเห็นว่าประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ การพิจารณาเรื่องใบอนุญาตขับรถจึงต้องผ่านการพิจารณาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อน

20 กรกฎาคม 2553 ตัวแทนแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ ยื่นฟ้องกรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ ต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพิจารณาการให้สิทธิ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net