Skip to main content
sharethis
 
เมื่อวันที่ 20 ก.ค.53 ในงานประชุมนานาชาติเรื่องเอดส์ ครั้งที่ 18 ที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย ภาคประชาสังคมไทย นำโดย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ประเทศไทย, คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.), มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา, มูลนิธิเภสัชชนบท, และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ได้ร่วมกับภาคประชาสังคมทั่วโลก นำโดย ศ.ฌอน ฟลินน์ นักกฎหมายประจำมหาวิทยาลัยอเมริกัน วอชิงตันดีซี ได้ทำหนังสือร้องผู้แทนพิเศษแห่งสหประชาชาติในสิทธิด้านสุขภาพ ตรวจสอบรัฐบาลสหรัฐฯ ฐานใช้นโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เรียกว่า Special 301 Report (รายงาน 301 พิเศษ) และสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ในการขัดขวางการเข้าถึงยาของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา โดยตัวแทนของภาคประชาสังคมทั่วโลกได้ร่วมกันแถลงข่าวในการประชุมเอดส์โลกที่กำลังดำเนินอยู่ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ขณะนี้ พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อนายอนัน โกรเวอร์ ผู้แทนพิเศษยูเอ็นในสิทธิด้านสุขภาพที่ได้มาร่วมประชุมนานาชาติครั้งนี้ด้วย
 
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) ตัวแทนภาคประชาสังคมไทยกล่าวในการแถลงข่าวว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รายงานมาตราพิเศษ 301 และคำขู่ว่าจะใช้มาตรการโต้ตอบทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ถูกใช้เป็นเครื่องมือบีบบังคับประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศมาตลอด ทั้งนี้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บรรษัทยาข้ามชาติโดยไม่คำนึงถึงการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของไทยและความจำเป็นด้านสาธารณสุข  รายงานนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่หลวงสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก  เมื่อใดที่ประเทศถูกขึ้นบัญชีไว้ในรายงานฉบับนี้ ประเทศนั้นจะสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ถ้าไม่ดำเนินการตอบสนองข้อเรียกร้องตามที่ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ต้องการ
 
ประเทศไทยถูกบังคับให้แก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรในปี พ.ศ. 2535 และ 2542 หลังจากที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ต้องจับตามองและผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ขู่ที่จะตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้า  การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรในปี พ.ศ. 2535 ส่งผลให้ไทยต้องเร่งเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบสิทธิบัตร “ผลิตภัณฑ์” ก่อนกำหนดและขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 15 เป็น 20 ปี  ไทยต้องละทิ้งสิทธิ์ที่จะใช้ระยะเวลาผ่อนผัน 6 ปีเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตยาในประเทศไป ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่กระทำได้ตามความตกลงทริปส์  ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คณะกรรมการทบทวนสิทธิบัตร ที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมราคายา ก็ถูกยุบทิ้ง  ทั้งนี้ เป็นผลจากการกดดันโดยใช้นโยบายการค้าของสหรัฐฯ
 
ในประเทศไทย ยาจำเป็นส่วนใหญ่เป็นยาที่มีสิทธิบัตรและมีราคาแพง เมื่อเทียบกับราคาสากล  เนื่องจากการสาธารณสุขของไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ประเทศไทยไม่มีทางเลือก นอกจากใช้สิทธิอันชอบธรรมและรับรองโดยกฎหมายเพื่อนำมาตรการคุ้มครองสาธารณสุขภายใต้ความตกลงทริปส์ หรือที่รู้จักกันในชื่อมาตรการใช้สิทธิ์ตามสิทธิบัตรมาบังคับใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยาจำเป็นในราคาไม่แพงในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 และต้นปี พ.ศ. 2550  เฉกเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ประเทศไทยได้ปฏิบัติยึดตามกรอบกฎหมายภายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่จะนำมาตรการใช้สิทธิ์ตามสิทธิบัตรมาบังคับใช้เป็นรูปธรรม  อย่างไรก็ดี ประเทศไทยกลับถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากรัฐบาลสหรัฐฯ และถูกตอบโต้อย่างดุดันจากอุตสาหกรรมผลิตยาในสหรัฐฯ  บริษัทยารายหนึ่งในสหรัฐฯ ได้ถอนการขึ้นทะเบียนยาหลายรายการในไทย ซึ่งรวมถึงยาต้านไวรัส และผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ปรับลดอันดับให้ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองในปี พ.ศ. 2551 2552 และ 2553
 
ผลจากมาตรการใช้สิทธิตามสิทธบัตร ในปัจจุบันผู้ป่วยคนไทยจำนวนมากสามารถเข้าถึงยาจำเป็นได้ฟรีภายใต้ระบบประกันสุขภาพของประเทศ และสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี  จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2553 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 50,000 คนได้รับยาต้านไวร้สที่เป็นยาชื่อสามัญที่ชื่อว่าเอฟฟาไวเรนส์ ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ป่วยที่เข้าถึงยาเพิ่มขึ้นสามเท่า  ผู้ป่วยมากกว่า 10,000 คนสามารถเข้าถึงยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญได้ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าเมื่อเทียบกับตอนที่มียาที่มีสิทธิบัตรใช้เพียงอย่างเดียว  ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฎการณ์นี้ในไทยยังส่งผลให้ยาชื่อสามัญและยาต้นแบบมีราคาลดลงอย่างมากทั่วโลก
 
รายงานข่าวเจ้งว่า ขณะนี้ผู้แทนการค้าสหรัฐจัดประเทศไทยให้ต้องเข้ากระบวนการพิจารณาทบทวน (out of cycle review) เพื่อปลดไทยจากประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ ซึ่งพบว่า มีความพยายามร่างบันทึกความตกลงในการต่อต้านสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า แต่ไปบังคับให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องมาร่วมปฏิบัติการด้วย ซึ่งหลังจากที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ เรียนประชุมภาคส่วนต่างๆ เพื่อผลักดันเรื่องดังกล่าวได้มีการประชุมทางไกล (เทเลคอนเฟอร์เร้นซ์) เพื่อรายงานเรื่องดังกล่าวให้ทางสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐรับทราบ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net