กรรมการสิทธิฯ สอบ 32 เรื่อง ซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวชายแดนใต้

กรรมการสิทธิฯ สอบ 32 เรื่อง เหตุซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวในชายแดนใต้ ชี้เหตุสุไลมาน แนซา ตายในค่ายทหาร สรุปไม่ได้ว่าถูกทำให้ตายหรือไม่ พร้อมตรวจสอบสภาพการควบคุมตัวว่า สร้างความกดดันให้ผู้ถูกควบคุมตัวหรือไม่

 

21 ก.ค. 53 - นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะคณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้ เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบกรณีนายสุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง เสียชีวิตในระหว่างการคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหารภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ถูกทำให้ตายโดยผู้อื่นหรือผูกคอตายเอง เนื่องจากพ่อแม่ของนายสุไลมาน ไม่ยอมให้มีการผ่าพิสูจน์ศพ แม้ว่าได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) พิจารณาจากภาพถ่ายศพก็ตาม
นางอมรา กล่าวด้วยว่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวยืนยันว่านายสุไลมานผูกคอตายเอง และยืนยันว่าไม่มีกระทำการใดที่ทำให้นายสุไลมานเกิดความกดดันจนนำมาสูการตาย แต่ในส่วนของพ่อแม่ของนายสุไลมาน ยังสงสัยถึงสาเหตุที่นำมาสู่ความดังกล่าวอยู่
นายอมรา เปิดเผยด้วยว่า อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังไม่ได้ตรวจสอบว่า ระหว่างการควบคุมตัวเจ้าหน้าที่มีส่วนทำให้นายสุไลมานเกิดความกดดันจนนำมาสู่การตายด้วยหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเข้าตรวจสอบประเด็นนี้อีกครั้งว่า
นางอมรา เปิดเผยด้วยว่า การตรวจสอบดังกล่าว จะกระทำในภาพรวมของการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้งหมดด้วย เช่นเดียวกับการตรวจสอบในเรื่องการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวหรือผู้ถูกจับกุมระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการชายแดนภาคใต้ กำลังตรวจสอบกรณีการร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 32 เรื่อง ซึ่งเป็นคำร้องที่มีมาตั้งแต่ปี 2550 แยกเป็นปี 2550 – 51 จำนวน 18 เรื่อง ปี 2552 – 53 จำนวน 14 เรื่อง โดยคำร้องทั้งหมดเป็นกรณีที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว
นายไพบูลย์ เปิดเผยต่อว่า การร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานดังกล่าว มีทั้งการทุบตี ทำร้ายร่างกาย การสวมถุงดำครอบศีรษะ การควบคุมตัวในห้องเย็น เป็นต้น ซึ่งจะตรวจสอบต่อไปว่ามีการซ้อมทรมานจริงหรือไม่
นายไพบูลย์ เปิดเผยต่อว่า จากนั้นก็จะจัดทำข้อสรุปพร้อมกำหนดมาตรการต่างๆ เสนอต่อรัฐบาลให้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมานจนนำมาสู่การร้องเรียนอีก เพราะจะเป็นเงื่อนไขในการเพิ่มปัญหาให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในมิติของการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่
นายไพบูลย์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับมาตรการที่กำหนดไว้เบื้องต้น ประกอบด้วย มาตรการทางด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ด้านกลไกการควบคุมตัว ด้านการเยียวยา รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน การป้องกันและการควบคุมมิให้มีการละเมินสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์อีกครั้งเร็วๆ นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท