อับดุลสุโก ดินอะ: เหตุผลของการปิดหน้าของสตรีมุสลิม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด  ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

เมื่อ 14 ก.ค.53  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศส ลงมติด้วยคะแนนเสียง 335 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบกฎหมายห้ามหญิงชาวมุสลิมสวมเครื่องแต่งกายที่ปกคลุมใบหน้าอย่างมิดชิด หรือที่เรียกว่า “นิกอบ” และ “บุรกา” ตามที่สาธารณะ

สำหรับผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับเงิน 150 ยูโร (ประมาณ 6,100 บาท) และหากใครบังคับให้สตรีมุสลิมสวมผ้าปิดบังใบหน้า จะต้องโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี และปรับ 15,000 ยูโร (มากกว่า 610,000 บาท) โดยร่างกฎหมายดังกล่าวเตรียมถูกส่งให้วุฒิสภาพิจารณาลงมติในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนจะบังคับใช้เป็นกฎหมาย

ด้านกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศส ประเมินว่า ขณะนี้มีหญิงชาวมุสลิมสวมผ้าปิดบังทั้งร่างกายเพียง 1,900 คน จากจำนวนชาวมุสลิมทั้งประเทศที่มีมากกว่า 5 ล้านคน

จากกฎหมายดังกล่าวจะทำให้สตรีมุสลิมที่มีความต้องการจะปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามไม่สามารถปฏิบัติได้ในกรณีดังกล่าวหากวุฒิสภาลงมติรับรองในเดือน ก.ย.นี้

ในขณะที่ผู้ที่เห็นด้วยในกฎหมายนี้มองว่าเป็นกฎหมายที่ช่วยปลดปล่อยสตรีมุสลิมเองให้เป็นไทจากจากการกดขี่สตรีเพศ

อะไรคือหลักการของศาสนาอิสลามที่ทำให้บรรดาสตรีมุสลิมมีความประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติตามหลักศาสนาซึ่งเป็นกฎหมายของพระเจ้าและอาจจะทำให้หลายคนยอมฝ่าฝืนกฎหมายของฝรั่งเศสซึ่งพวกเขามองว่าเป็นกฎหมายของมนุษย์ และสตรีผู้ศรัทธาอันแรงกล้ากลับมองว่า การปิดหน้า เป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพในการปกป้องสตรีจากความเหลวทรามของยุคเซ็กซ์เสรีที่ผู้ชายพยายามใช่สตรีเป็นเครื่องมือหรือสินค้าหรือทาสทางวัตถุให้กับพวกเขาต่างหาก

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้เขียนได้อธิบายเหตุผลของสตรีมุสลิมที่เคร่งครัดหรือสุดโต่งตามทัศนะตะวันตกและแนวร่วมดังนี้

1.การแต่งกายของสตรีมุสลิมตามหลักการอิสลาม

สตรีมุสลิมเมื่อบรรลุศาสนภาวะ มีความจำเป็นจะต้องแต่งกายที่มิดชิดซึ่งเรียกว่า ฮิญาบ เพื่อการปกป้อง ศักดิศรีของความเป็นสตรีจากบุรุษเพศที่ใช้สายตาตามอารมณ์ฝ่ายต่ำในการลวนลาม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่ออาชญากรรม หรือความเสื่อมทรามทางสังคมทีไม่อาจคำนวณนับได้นั้น

2.คำนิยามของฮิญาบ

คำว่า ฮิญาบ มาจากรากศัพท์คำว่า (  hajaba yahjibu hijba wa hijabba ) แปลว่า ซ่อน ปกปิด กีดกั้น

ในขณะคำนิยามของฮิญาบตามศาสนบัญญัติหมายถึงการปกปิดร่างกายและเครื่องประดับเว้นแต่สิ่งที่พึงเปิดเผยได้ [1] ยกเว้นผู้ที่ได้รับการยกเว้น [2] ดั่งที่อัลลอฮ์ได้โองการไว้ความว่า  “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) แก่บรรดาสตรีผู้ศรัทธาให้พวกเธอลดสายตาของพวกเธอลงต่ำ และให้พวกเธอรักษาของสงวนของพวกเธอไว้ อย่าเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่สิ่งที่พึงเปิดเผยได้ และให้เธอปิดด้วยผ้าคลุมศีรษะของเธอลงมาถึงหน้าอกของเธอ อย่าให้เธอเปิดเผยเครื่องประดับของพวกเธอ เว้นแต่แก่สามีของพวกเธอ หรือบิดาของพวกเธอ หรือบิดาของสามีของพวกเธอ หรือลูกชายของพวกเธอ หรือลูกชายสามีของพวกเธอ หรือพี่ชายน้องชายของพวกเธอ หรือลูกชายของพี่ชายน้องชายของพวกเธอหรือลูกชายของพี่สาวน้องสาวของพวกเธอ หรือพวกผู้หญิงของพวกเธอ หรือที่มือขวาของพวกเธอครอบครอง (ทาสและทาสี) หรือคนใช้ผู้ชายที่ไม่มีความรู้สึกทางเพศ หรือเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องเพศสงวนของผู้หญิง และอย่าให้เธอกระทืบเท้าของพวกเธอ เพื่อให้ผู้อื่นรู้สิ่งที่พวกเธอควรปกปิดในเครื่องประดับของพวกเธอ  และพวกเจ้าทั้งหลายจงขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺเถิด โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ” (อัลกุรอาน บทอันนูร / 31)

3.การคลุมหน้า

เมื่อพิจารณาคำว่าฮิญาบในความหมายตามทัศนะศาสนบัญญัตินั้นสตรีมุสลิมไม่จำเป็นต้องคลุมหน้า [3] และเหตุใดมีสตรีมุสลิมหลายคนทั้งในประเทศอาหรับหรือในฝรั่งเศสคลุมหน้าอย่างเปิดเผยซ้ำยอมเสี่ยงในการทำผิดกฎหมายของฝรั่งเศสหากกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้และถูกรับรองจากวุฒิสภาพิจารณาลงมติในเดือน ก.ย.นี้

ปราชญ์อิสลามศึกษาในอดีตได้ให้ทัศนะที่สอดคล้องกันว่าสตรีมุสลิมปกติสามารถเปิดเผยใบหน้าและฝ่ามือได้ [4] หากไม่เกิดอันตรายต่อสตรี เช่น สตรีวัยรุ่นหรือผู้มีใบหน้าสวยอาจจะทำให้ชายมองแล้วหลงใหล แต่มิได้หมายความว่าการปิดหน้าเป็นสิ่งที่ผิดในทางกลับกันปราชญ์ในอดีตมองว่าควรส่งเสริมไม่ถึงขั้นจำเป็นต้องทำ หากไม่ทำจะบาป

ซึ่งสอดคล้องกับปราชญ์ร่วมสมัย อย่างเช่น ชัยค์ ดร. ยูซุฟ อัล-ก๊อรฏอวีย์ ปราชญ์ส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร และมหาวิทยาลัยอิสลามเก่าแก่อื่น ๆ อย่างชัยตูนะฮฺ(ตฺนิเซีย)และกอรอวียีน(มอร็อคโค)และชัยค์นาศิรุดดีนอัล-อัลบานียฺ    

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้สตรีบางท่าน [5] (ผู้ปกครองบางท่านบังคับสตรีภายใต้ปกครอง) คลุมหน้า หรือ นิกอบและบุรกาเมื่อต้องออกจากที่พักอาศัยดังเช่นในภาคใต้ของประเทศไทย  ตะวันออกกลางหรือฝรั่งเศสในปัจจุบัน

4. ปิดหน้ากับปลดปล่อยสตรีเป็นไท

นักสิทธิมนุษยชนตะวันตกส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้ที่เห็นด้วยในกฎหมายของฝรั่งเศสฉบับนี้ มองว่าเป็นกฎหมายการห้ามปิดหน้าเป็นการช่วยปลดปล่อยสตรีมุสลิมเองให้เป็นไทจากจากการกดขี่สตรีเพศ

อัลอัค นักวิชาการมุสลิมไทยร่วมสมัยได้ให้ทัศนะพอสรุปใจความได้ว่า การแสดงการเป็นผู้ปลดปล่อยสตรีทำแค่เพียงแค่กระชากผ้าปิดหน้าผืนหนึ่งออกจากใบหน้าของสตรีมุสลิมกระนั้นหรือ ? การไม่มีผ้าปิดหน้าถือเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะแห่งการปลดปล่อยสตรีมุสลิมให้เป็นไท สู่ความเสมอภาคระหว่างชายหญิงกระนั้นหรือ? ขณะที่ภาพสตรีจำนวนมากมายในเอเชียใต้ที่ถือกะลาขอทาน ถูกพูดในแง่มุมนี้น้อยเกินไป หรือว่าพวกเธอเหล่านั้นไม่มีผ้าปิดหน้า … ความยากจนไม่มีอันจะกินของผู้หญิงจำนวนหลายร้อยล้านถือว่าเป็นประเด็นอื่นไม่เกี่ยวกับสิทธิของสตรีกระนั้นหรือ?  การกระแหนะกระแหนของบางคนที่มีต่อผ้าคลุมหน้าเป็นเรื่องที่ไม่วางอยู่บนตรรกะ และบางทีก็ขาดความยุติธรรมอย่างเห็นได้ชัด เป็นไปได้ว่าบางคนปิดหน้าอย่างไม่เข้าใจ ปิดหน้าตามกลุ่มชนที่ตนอาศัยอยู่ และก็เป็นไปได้ว่าคนปิดหน้าจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้หนังสือ แต่นี้ไม่ใช่ความผิดของผ้าคลุมหน้า    การกล่าวถึงมุสลิมะฮฺที่ปิดหน้าว่าเป็นพวกสุดโต่งหรือเลยเถิดนั้น จัดว่าเป็นถ้อยคำที่อธรรม การปฏิบัติตามทัศนะทางนิติศาสตร์แบบเข้มงวดใด ๆ ที่ได้มาจากปราชญ์มุสลิมนั้นมิใช่ความสุดโด่ง แต่ความสุดโต่งอยู่ที่การไปบังคับคนอื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ปฏิบัติตามทัศนะของตนเองต่างหาก

กฏหมายอิสลามนั้น ไม่ใช่กฎหมายที่มองอะไรเพียงด้านเดียว หรือไม่มีเหตุมีผล ในแง่หนึ่งนั้น อิสลามก็มุ่งปกป้องคุ้มกันจริยธรรมของมนุษย์ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง และในอีกแง่หนึ่งก็คำนึงถึงความจำเป็นต่าง ๆ ของมนุษย์ด้วย ดังนั้น จึงก่อให้เกิดความสมดุลทั้งสองด้านของชีวิต ….ดังนั้น นางก็อาจเปิดใบหน้าได้ถ้าต้องการเมื่อมีความจำเป็น ขอเพียงว่านางอย่าได้ประสงค์จะอวดความงาม ... บทบัญญัติที่มีเหตุผลนั้นยืดหยุ่นได้ มีทั้งความเข้มงวดเคร่งครัดและโอนอ่อนผ่อนตามสถานการณ์ มีข้อยกเว้นในตัวบทตามกาลเทศะ บทบัญญัติเช่นนี้ ไม่ใช่ให้หลับหูหลับตาตาม แต่ต้องมีการพินิจพิเคราะห์ด้วย...” (ดู การคลุมหน้ากับสถานภาพสตรีในอิสลาม โดย อบุล อะอฺลา เมาดูดียฺ น. 405-407 )

ผ้าปิดหน้าจึงกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญในอารยธรรมมุสลิม แต่มิใช่สัญลักษณ์แห่งการกดขี่ แต่เป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพในการปกป้องตัวเองที่สตรีมุสลิมสามารถเลือกได้ มิใช่การนำไปใช้แบบแข็งทื่อที่มีรูปแบบเดียว และมิใช่การประกาศความเคร่งในศาสนาว่าใครเหนือกว่าใคร แต่เป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยตนเองจากการแสดงอำนาจของผู้ชายด้วยการเลือกที่จะใช้มันอย่างไร?

เป็นที่น่าเสียดายว่าสังคมโลกในยุคประชาธิปไตย และ  สิทธิมนุษยชนเบ่งบานพยายามไปบังคับสตรีผู้ที่แสดงเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าที่ต้องการปิดหน้าเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของตัวเขาเองแต่กลับเมินเฉยกับสตรีหรือบุรุษเพศที่พยายามเปลือยกาย สร้างความหายนะทางศีลธรรมต่อสังคมโลกและเซ็กซ์เสรีจนนำสู่การแพร่ระบาดของโรคร้ายมากมายทั้งสังคมไทยและสังคมโลก

เชิงอรรถ 

[1] ใบหน้าและฝ่ามือ
[2] เว้นแต่แก่สามีของพวกเธอ หรือบิดาของพวกเธอ หรือบิดาของสามีของพวกเธอ หรือลูกชายของพวกเธอ หรือลูกชายสามีของพวกเธอ หรือพี่ชายน้องชายของพวกเธอ หรือลูกชายของพี่ชายน้องชายของพวกเธอหรือลูกชายของพี่สาวน้องสาวของพวกเธอ หรือพวกผู้หญิงของพวกเธอ หรือที่มือขวาของพวกเธอครอบครอง (ทาสและทาสี) หรือคนใช้ผู้ชายที่ไม่มีความรู้สึกทางเพศ หรือเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องเพศสงวนของผู้หญิง และอย่าให้เธอกระทืบเท้าของพวกเธอ
[3] “นิกอบ” และ “บุรกา”
[4] ทั้ง 4 สำนักคิดไม่ว่าจะเป็นหะนาฟียะฮ์ มาลิกียะห์ ชาฟิอียะห์และฮัมบาลียะห์โปรดดู Abd  al – Rahman  al-Jaziri. N.d. al-Figh ala al- Mazhab al-Arbaah. 5/54
[5] ในที่นี้หมายถึงพ่อ  สามีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลสตรีตามศาสนบัญญํติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท