“ความรู้” ในแบบสมเกียรติ ตั้งนโม แห่ง ม.เที่ยงคืน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

สมเกียรติ ตั้งนโม อาจไม่ได้เป็นปัญญาชนชื่อเสียงโด่งดังคับบ้านคับเมือง แต่ในท่ามกลางบรรดาผู้สนใจใฝ่หาความรู้ รวมถึงผู้ที่สนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนไม่น้อยคงเคยได้ยินชื่อของเขาบ้างในฐานะบุคคลหนึ่งที่มีส่วนอย่างสำคัญ ทั้งในแง่ของการสร้างฐานความรู้ที่ทันสมัยและกว้างขวางบนสื่ออินเตอร์เน็ตจากการก่อตั้งเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (http://www.midnightuniv.org) และในฐานะสมาชิกคนสำคัญของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งมีส่วนร่วมต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นที่มุ่งเน้นถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการสร้างสังคมประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง
สมเกียรติ ได้จากพวกเราทั้งหมดไปอย่างสงบแล้วเมื่อเช้าวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม 2553 (6 เดือนตั้งแต่ได้บอกผมว่ามีก้อนอะไรกลมๆ อยู่ที่ตรงท้องของเขา) โดยได้ทิ้งอะไรหลายอย่างไว้ให้เป็นอนุสติแก่พวกเราทั้งในด้านที่ควรนำมาไตร่ตรอง ขบคิด

เฉพาะอย่างยิ่งในด้านของ “ความรู้” อันเป็นสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายและความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงการมีชีวิตอยู่ของอาจารย์สมเกียรติ
   
เขาเป็นคนที่แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ใครที่เป็นคนใกล้ชิดคงจะได้ฟังเรื่องราวทางวิชาการใหม่ๆ จากปากของอาจารย์สมเกียรติอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ได้อ่านงานหรือรับฟังการบรรยาย อภิปรายใดๆ เสร็จและมีความประทับใจ จนทำให้เราต้องไปติดตามอ่านงานที่ได้ถูกกล่าวถึง
   
อาจารย์สมเกียรติเป็นคนที่สนใจในการแปลงานวิชาการอย่างยิ่ง จะเห็นได้ว่างานจำนวนมากของเขาเป็นผลงานการนำความรู้จากตะวันตกมาสู่สังคมไทยอันเป็นสังคมที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความรู้มากเท่าไหร่ ความใฝ่ฝันของเขาซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จก็คือ การจัดตั้งโครงการแปลตาม “อำเภอใจ” เขาได้ขอให้ผมลองช่วยหาทุนมาสนับสนุนการแปลที่จะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเขาโดยไม่มีการกำหนดเนื้อหาเอาไว้ล่วงหน้า

ซึ่งแน่นอนว่าคงยากจะหาแหล่งทุนใดมาสนับสนุนได้เป็นอย่างแน่แท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่แหล่งทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศก็ล้วนต้องอยู่ภายใต้ระบบการควบคุมคุณภาพเฉกเช่นโรงงานผลิตปลากระป๋อง การให้ทุนจึงเต็มไปด้วยเงื่อนไข ข้อตกลง คำถามการวิจัย หรืออะไรประมาณนี้ที่ชัดเจน
   
(แม้จะไม่มีใครให้การสนับสนุนต่อโครงการแปลตามอำเภอใจ แต่อาจารย์สมเกียรติในเวลาก่อนหน้าเป็นคณบดีคณะวิจิตรศิลป์และก่อนที่จะรู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง ก็ยังทำงานแปลอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 6 หน้า)
   
แต่ความรู้ชนิดไหนที่อาจารย์สมเกียรติสนใจ

เขาให้ความสำคัญกับความรู้ในแบบที่สังคมกระแสหลักไม่สู้จะให้ความสนใจ ความรู้ในแบบที่แตกต่างจากกระแสหลัก ความรู้ที่เป็นการโต้แย้ง หรือแม้กระทั่งเป็นอริกับความรู้กระแสหลักคือสิ่งที่เขาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อผมได้พูดถึงแนวคิดเรื่องการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วในยามที่เพิ่งรู้จักกัน อาจารย์สมเกียรติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งต่อมาในภายหลังจึงเข้าใจว่าเพราะอยู่ในทิศทางของความรู้ที่เขาสนใจ

หากมีเวลาลองไล่เรียงงานของอาจารย์สมเกียรติ บางคนที่ไม่คุ้นเคยอาจมึนงงอยู่บ้างกับงานเขียนหลายชิ้น เช่น แนวคิดหลังอาณานิคม (Post-colonialism), ความรู้ช้า (Slow knowledge), ลิขซ้าย (Copyleft), วัฒนธรรมทางสายตาหรือ Visual Culture (สำหรับเรื่องนี้เข้าใจว่าเป็นประเด็นที่อาจารย์สมเกียรติมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอ ตอนที่เริ่มอ่านเริ่มแปลเรื่องนี้ใหม่ๆ ทุกครั้งในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ไม่ว่าการเมือง สังคม วัฒนธรรม การช้อปปิ้ง การแต่งกาย ล้วนจะต้องมีแนวการวิเคราะห์แบบ Visual Culture โผล่มาด้วยทุกครั้ง)

เขามีความสุขกับการเดินทางไปในโลกแห่งความรู้ การอ่านและการคิดของเขาไม่ใช่เพียงเพราะต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ เราทุกคนที่อยู่ใกล้ชิดคงตระหนักดีได้ว่าการทำงานของอาจารย์สมเกียรติคือชีวิตที่เต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน (ทั้งนี้ความสำราญใจประการหนึ่งที่รับรู้กันดีก็คืออาหารมันๆ ประเภทข้าวขาหมู หรืออะไรที่มีรสหวานจัด ตบท้ายด้วยเป๊ปซี่เย็นๆ) แม้ว่าเวลาทำงานอย่างเพลิดเพลินของเขาอาจไม่เหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไปมากเท่าไหร่ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้นเป็นการลงแรงของอาจารย์สมเกียรติในห้วงเวลาที่มนุษย์ต่างพากันนอนพักผ่อนเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนมาจนถึงเกือบรุ่งสาง

แต่ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองต่อความกระหายอยากในความรู้ อาจารย์สมเกียรติยังให้ความสำคัญกับการใช้ความรู้ในการสนับสนุนคนตัวเล็กๆ ในสังคมให้ยืนหยัดขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เขาจึงมิได้เพียงนั่งป่าวประกาศสัจธรรมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น มีโครงการหลายอย่างที่ถูกเสนอขึ้นในระหว่างพวกเรา (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน) นำอาจารย์สมเกียรติออกไปในสถานที่ต่างๆ บ้านกรูด บ่อนอก ที่ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนปากมูล อุบลราชธานี สหภาพแรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน บ้านปางแดง เชียงใหม่ และอีกหลายแห่ง อันทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางมากขึ้น

การเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมนับเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ สมเกียรติได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อการคิดและพูดอย่างเสรีมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเขาได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถนำบทความไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ภายใต้ระบบ Copyleft (อันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ Copyright)

โดยที่แทบไม่ต้องกล่าวถึงการต่อสู้อำนาจทางการเมือง อันเป็นบทบาทที่เห็นได้บ่อยครั้งแม้ว่าความเห็นของอาจารย์สมเกียรติอาจไม่เหมือน แตกต่าง หรือแม้กระทั่งอยู่ตรงกันข้ามกับเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงของผู้มีอำนาจก็ตาม จึงไม่ต้องแปลกใจที่เขาจะเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนให้มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (อันนำมาสู่การกล่าวหาว่าเขาไม่จงรักภักดีภายหลังดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ แทบไม่น่าเชื่อว่าข้อกล่าวหานี้สามารถทำงานได้แม้ภายในสถาบันการศึกษาระดับสูงของสังคม) ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์แต่เป็นเพราะกฎหมายนี้ได้ทำให้คนต้องปิดปากและถูกปิดปากอย่างไม่เป็นธรรมจากอำนาจรัฐ

เมื่อถูกอำนาจรัฐสั่งปิดเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อาจารย์สมเกียรติเลือกที่จะต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายมากกว่าจะไปแอบเปิดเว็บไซต์ในชื่ออื่นเพื่อหลบหลีกการตรวจจับของรัฐบาล แม้การกระทำในแบบหลังจะง่ายกว่ามากนัก แต่เพื่อยืนยันถึงความถูกต้องและเสรีภาพในการแสดงความเห็น แม้อาจลำบากมากกว่าก็เป็นทางที่อาจารย์สมเกียรติได้เลือก

ความกล้าหาญในการยืนยันถึงสิ่งที่เป็นความถูกต้องจากความรู้จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวความรู้นั้นด้วย
ชีวิตของอาจารย์สมเกียรติจึงควบคู่ไปกับความรู้ แต่ความรู้ของอาจารย์สมเกียรติจึงไม่ใช่เป็นการพร่ำบ่นในชั้นเรียนเพื่อนำไปสู่ใบปริญญาของผู้เรียน หากเป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยพลังแห่งการต่อสู้และความรู้ที่มีความหมายต่อคนในสังคม อันเป็นสิ่งที่เรามักไม่ค่อยได้เห็นกันมากสักเท่าไหร่ในห้วงเวลาปัจจุบัน

หากจะพอบอกได้ว่าอะไรคือสิ่งที่อาจารย์สมเกียรติได้ทิ้งไว้เบื้องหลัง การยืนยันในความรู้ตามแบบที่ได้ดำเนินชีวิตมาโดยตลอดของเขาก็เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อความเข้าใจในเรื่อง “ความรู้” ของปัญญาชนและคนในมหาวิทยาลัยในสังคมไทยอย่างสำคัญ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท