"สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน" แนะ 3 วิธีคว่ำบาตรเลือกตั้งพม่า

สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ซึ่งเป็นปีกทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน SSA ชี้แจงกรณีคว่ำบาตรการเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารพม่าจะจัดในปีนี้ โดยเสนอให้ประชาชนไม่ออกไปใช้สิทธิ์ ถ้าผู้นำชุมชนบีบบังคับ ให้กาในช่องไม่เลือกใคร และหากทำได้ให้ประท้วงการเลือกตั้ง

ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา เว็บไซต์ taifreedom.com ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ชี้แจงกรณีคว่ำบาตรการเลือกตั้งในพม่า

"การเลือกตั้งนั้น จะต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากไม่เห็นด้วยหรือไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่ ไม่จำเป็นจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆ กับการเลือกตั้ง ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการคัดค้านหรือคว่ำบาตร แต่หากเรามีความมั่นใจว่า พรรคของเราจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็ควรที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อจะได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล และทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราไม่มีความมั่นใจว่าพรรคของเราจะได้รับชัยชนะ แต่กลับลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น ก็เท่ากับว่า เราไปให้การสนับสนุนหรือยอมรับรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุน เพิ่มความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่านั่นเอง" ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

โดยในแถลงการณ์ระบุวิธีการคว่ำบาตร 3 วิธีได้แก่ หนึ่ง ไม่ออกไปใช้สิทธิ์ สอง หากถูกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน บีบบังคับให้ไปหย่อนบัตรลงคะแนน ก็ให้เขียนหรือ กาในช่องไม่ใช้สิทธิหรือไม่เลือกบุคคลใด สาม ทำการประท้วงคัดค้านการเลือกตั้ง แต่ในแถลงการณ์ระบุว่า "แต่วิธีนี้คงจะทำได้ยาก เพราะพม่าไม่มีจิตใจที่เป็นธรรม อีกทั้งพม่าก็ไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตย จึงขอให้พี่น้องประชาชน ตัดสินใจด้วยความถูกต้อง เพราะหากพี่น้องประชาชนตัดสินใจผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องนั้น ชะตากรรมของรัฐฉานและสหภาพพม่า คงต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่ข่มเหง ของทหารพม่าอีกนานเท่านาน"

สำหรับสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) เป็นองค์กรทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน (SSA) กองกำลังต่อต้านทหารพม่า โดย RCSS มี พล.ท.เจ้ายอดศึกเป็นประธานสภา โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังต่อไปนี้

000

คำชี้แจงจากสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S.)

คำชี้แจง – กรณีคว่ำบาตรการเลือกตั้งในพม่า

หลังจากที่ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S.)ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านไม่ยอมรับ ไม่สนับสนุน การจัดการเลือกตั้ง ในปี ค.ศ.2010 ของ รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า และ คัดค้าน ไม่ยอมรับ หรือสนับสนุน พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น ได้มีพี่น้องประชาชนรัฐฉาน ที่อาศัยอยู่ต่างแดน หลายๆ คน ได้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็น ตลอดจนคำชี้แนะต่างๆ ขึ้นมากมาย ดังนั้น เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S.) จึงขอเรียนอธิบายชี้แจง ถึง วิธีการในการคัดค้านการเลือกตั้ง ดังนี้

อันดับแรก ขออธิบายเกี่ยวกับแถลงการณ์ ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S.) ที่คัดค้าน ไม่ยอมรับหรือสนับสนุน พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า กำหนดให้มีขึ้น ในปี ค.ศ.2010 นั้น อยากให้พี่น้องประชาชนทุกท่าน ได้วิเคราะห์พิจจารณาถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา เช่น เมื่อปี ค.ศ.1990 ที่พรรคสันนิบาตรแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ก็ไม่ยอมมอบอำนาจในการปกครองประเทศให้แก่พรรค NLD เพื่อที่จะได้พิสูจน์ความสามารถในการบริหารประเทศ และในครั้งนี้ก็เช่นกัน หากพรรคการเมือง ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า (SPDC) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเชื่อมั่นได้แค่ไหนว่า รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า (SPDC) จะยอมมอบอำนาจการปกครองให้แก่ฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ และเมื่อปี ค.ศ.1974 รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ได้ทำการยกร่างรัฐธรมนูญขึ้นมาใหม่ และได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองในระบอบสังคมนิยม โดยไม่ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ และในสมัยที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ปกครองประเทศด้วยระบอบสังคมนิยมนั้น ได้มีการแต่งตั้งประชาชน พลเรือนที่มีความรู้ความสามารถในพื้นที่ ขึ้นเป็นหัวหน้าเขตในแต่ละพื้นที่ และบีบบังคับให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า เพื่อคอยเป็นหูเป็นตาให้แก่พวกเขา ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ.1988 ทหารพม่าก็ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจกันอีก พร้อมทั้งลดบทบาทของหัวหน้าเขตและอาสาสมัครลงโดยไม่สนใจใยดี อีกทั้งประชาชนเหล่านั้นก็ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย

สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S.) มีความเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งในปี ค.ศ.2010 นี้ ผลก็จะออกมาเช่นเดิม รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ก็คงใช้วิธีเดิมๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา มันเป็นแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่แค่นั้นเอง และที่พรรคการเมืองใหม่มีความเห็นว่า ไม่อยากพลาดโอกาสที่รัฐฉานจะได้มีสิทธิ์ มีเสียงในสภานั้น สำหรับประชาชนบางส่วนแล้วก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสิ่งที่พวกท่านคิดหรือมุ่งหวังนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่พวกท่านจะสามารถเอาชนะเล่ห์เหลี่ยม กลโกงของพม่าได้หรือไม่? และพวกท่านเชื่อว่าจะฉลาดกว่าพม่าหรือไม่? ซึ่งคำถามต่างๆ เหล่านี้ เป็นคำถามที่มีอยู่ในใจของประชาชน

วิธีการคัดค้านหรือคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ตามแนวทางระบอบประชาธิปไตยนั้น มันมีอยู่หลายวิธี และด้วยเหตุที่ประเทศพม่าไม่ใช่ประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น วิธีการคัดค้านหรือคว่ำบาตรการเลือกตั้งนั้น ใช้วิธีที่สันติ ปลอดภัย ดูจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งก็ได้แก่การไปหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงโดยไม่เลือกผู้สมัครคนใด

การเลือกตั้งนั้น จะต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากไม่เห็นด้วยหรือไม่ยอมรับ รัฐธรรมนูญ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่ ไม่จำเป็นจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆ กับการเลือกตั้ง ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการคัดค้านหรือคว่ำบาตร แต่หากเรามีความมั่นใจว่า พรรคของเราจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็ควรที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อจะได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล และทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราไม่มีความมั่นใจว่าพรรคของเราจะได้รับชัยชนะ แต่กลับลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น ก็เท่ากับว่า เราไปให้การสนับสนุนหรือยอมรับรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุน เพิ่มความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่านั่นเอง และหากพรรคการเมืองไม่มีหลักการทางการเมือง เพียงแต่ทำไปตามสถานการณ์นั้น พรรคการเมืองนั้นๆ ก็ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่ทำเพื่อประชาชน แต่เป็นพรรคการเมืองที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้องเท่านั้นเอง และกรณีที่กลุ่มบุคคลที่เป็นชาวไตย แต่กลับไปเข้าร่วมในพรรคเพื่อการพัฒนาและความเป็นปึกแผ่นแห่งสหภาพหรือ USDP นั้น ยิ่งไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง แต่เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างชัดเจน ถึงแม้ในแถลงการณ์ของพวกเขาจะบอกว่า จะทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติ นั้นเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์และความอยู่รอดของพวกเขาเท่านั้นเอง

ด้วยเหตุนี้ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S.) จึงใคร่ประชาสัมพันธ์ ให้พี่น้องประชาชนรัฐฉานและพม่า ได้คัดค้าน คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยปฏิบัติดังนี้

1. ไม่ออกไปใช้สิทธิ์

2. หากถูกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน บีบบังคับให้ไปหย่อนบัตรลงคะแนน ก็ให้เขียนหรือ กาในช่องไม่ใช้สิทธิหรือไม่เลือกบุคคลใด

3. ทำการประท้วงคัดค้านการเลือกตั้ง แต่วิธีนี้คงจะทำได้ยาก เพราะพม่าไม่มีจิตใจที่เป็นธรรม อีกทั้งพม่าก็ไม่ได้เป็นประเทศประชาธิปไตย จึงขอให้พี่น้องประชาชน ตัดสินใจด้วยความถูกต้อง เพราะหากพี่น้องประชาชนตัดสินใจผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องนั้น ชะตากรรมของรัฐฉานและสหภาพพม่า คงต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่ข่มเหง ของทหารพม่าอีกนานเท่านาน

สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท