Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
เรื่องของการเมือง ไม่ว่าระดับชาติ หรือระดับท้องถิ่นก็ตาม ล้วนมีบทบาท และมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสิ้น ซึ่งกติกาสำคัญในการกำหนดบทบาทของผู้มีอำนาจทางการเมืองนั้น ก็จะมีกฎหมายต่างๆนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายเฉพาะที่ได้ประกาศบังคับใช้ไว้ โดยรัฐบาลในแต่ละยุคสมัยจะเป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้กฎหมายนั้น มีประโยชน์ต่อประชาชน ต่อการพัฒนาประเทศชาติ หรือท้องถิ่น หรือว่าให้มีประโยชน์ต่อนักการเมืองอย่างไร
 
สำหรับกฎหมายที่ประกาศบังคับใช้ไปแล้วนั้น ประชาชนจะปฏิเสธว่าไม่รู้กฎหมายเหล่านั้นก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้ว่าข้อความเหล่านั้นในกฎหมายได้กำหนด หรือบัญญัติไว้อย่างไร และก่อนที่กฎหมายเหล่านั้นจะประกาศบังคับใช้ ได้มีการเสนอร่างของกฎหมายนั้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายซึ่งจะต้องนำเอาไปสรุปรวบรวม ก่อนตัดสินใจในการกำหนดข้อความให้กฎหมายเป็นไปตามความต้องการของประชาชน
 
ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งหมด 132 มาตรา เป็นกฎหมายสำคัญอีกฉบับหนึ่ง ที่รัฐบาลจะต้องนำเข้าไปสู่การประชุมของรัฐสภาและอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หัวข้อสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือการกำหนดบทบาทหน้าที่ในการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และในความของมาตรา 59 ของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดข้อความไว้อย่างน่าสนใจว่า
 
“มาตรา 59 ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีผู้บริหารท้องถิ่นคนหนึ่งซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
 
ให้ผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งนับแต่วันที่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง และมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้
 
การพ้นตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ถือว่าเป็นหนึ่งวาระ เว้นแต่เป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่”
 
ข้อความเหล่านี้ ประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร ก็สามารถนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย ผ่านไปทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยตรงทางจดหมาย หรือทางอินเตอร์เน็ต www.krisdika.go.th 
 
ความจริงแล้ว ก่อนหน้านี้ทั้งกฎหมายสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2546) มาตรา 58/2 กฎหมายเทศบาล พ.ศ.2496 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2546) มาตรา 48 และกฎหมายองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 35/2 ได้เคยกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรีที่บริหารงานเทศบาลทุกประเภท และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะต้องดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ แต่ข้อความนั้นได้ถูกแก้ไขในสมัยของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในเดือนพฤศจิกายน 2552 ทำให้สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันกี่วาระก็ได้
 
และในโอกาสนี้ ประชาชนเจ้าของประเทศมีความต้องการให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าสองวาระหรือไม่อย่างไร...
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net