Skip to main content
sharethis

วิจักขณ์ พานิช สัมภาษณ์คำ ผกา ตอนที่ 2 ว่าด้วยพุทธแบบบ้านๆ อัีนปลอดพ้นจากอารมณ์ดรามา และการเผชิญทุกข์แบบไม่ต้องอาศัยวัด

วิจักขณ์: คุณแขกโตมาในสิ่งแวดล้อมแบบไหน

คำ ผกา: เกิดที่นี่ โตที่นี่เลย [บ้านสันคะยอม สันทราย เชียงใหม่]

วิจักขณ์: แล้วจริงเหรอที่บอกว่า ไม่เข้าใจเลยว่าโลกจิตวิญญาณ โลกศาสนา ที่มันศักดิ์สิทธิ์สูงส่งเป็นยังไง

คำ ผกา: อือ เข้าใจไม่ได้จริงๆ

วิจักขณ์: แล้วสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้จากการเติบโตแบบนี้ มันมีอะไรที่พอจะเรียกว่าเป็นคุณค่าทางจิตวิญญาณหรือศาสนาได้บ้างมั๊ย

คำ ผกา: คือ แขกก็นับถือศาสนาพุทธมาตั้งแต่เกิด ก็ไปวัดเหมือนชาวบ้านทั่วไป ทำบุญตักบาตรตามปกติ แต่ทีนี้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับพระแบบบ้านๆเนี่ย มันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์สูงส่งอะไรมากมาย มันใกล้กันมาก (เน้นเสียง) เจ้าอาวาสก็คือว่า ถึงเวลาที่จะขึ้นเทศน์ สวดอะไรก็สวดไป แต่พอหมดหน้าที่ตรงนั้น ท่านก็จะมาเดินคุย เดินเม้าท์ นินทาชาวบ้าน อะไรเงี้ยะ (หัวเราะ) สำหรับแขกมันไม่ใช่อะไรที่อยู่พ้นไปจากโลกมนุษย์น่ะ และตัวเองก็มองว่า จริงๆแล้วหน้าที่ของวัดและพระตามหมู่บ้านต่างๆ มันก็คล้ายๆตัวกลางของชาวบ้าน ที่เอาไว้ต่อรองกับอำนาจรัฐ ไว้คุยกับนายอำเภอ เพราะว่าถ้าให้เจ้าอาวาสคุยก็มีน้ำหนักกว่าชาวบ้านคุยเอง หรือในกรณีถ้ามีความขัดแย้งอะไรกัน นอกนั้นก็เอาไว้ประกอบพิธีกรรม งานศพ งานอะไร เอาไว้ mobilize เงินทุนในหมู่บ้าน จะทำอะไร จะมีกิจกรรมอะไร เอาไว้สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ก็มีแค่นั้นแหละ แล้วก็เอาไว้เป็นตัวกลาง เพราะพุทธที่บ้านก็เป็นกึ่งๆพุทธ กึ่งๆผีอยู่แล้ว ก็เป็นตัวกลางสำหรับอุทิศส่วนกุศลให้คนที่ล่วงลับไปแล้ว

แขกไม่เคยสัมผัสพุทธที่มันเป็นปรัชญา สำหรับแขกพุทธก็บ้านๆแบบนี้ พระก็รู้ชีวิตส่วนตัวเรา เราก็จะรู้ชีวิตส่วนตัวพระ มันก็ไม่ค่อยจะมีอะไรที่เป็นความลับ แล้วก็ไม่มีวินัยอะไรเคร่งครัด อย่างหมู่บ้านนี้ สมัยแขกเด็กๆ ก็จะมีเวรส่งข้าวเย็นให้วัด บ่ายๆก็จะไปถามว่าวันนี้อยากกินอะไร เออ แล้ววันนึงแขกก็ไปเจอ อ้าว พระไม่กินข้าวเย็นหรอกเหรอ นี่เพิ่งมารู้ตอนโต (หัวเราะ) ตกใจ อ้าวจริงเหรอ แล้วก็ไม่มี ที่ขนาดจะไม่จับ ไม่โดนกันนี่ก็ไม่มีนะ คือโดนตัวกันก็ไม่ได้คิดว่าเป็น big deal โอเคถ้าไม่โดนได้ก็ดี แต่ถ้ามันจะต้องไปโดนกันบ้างก็ไม่เป็นไร

วิจักขณ์: แล้วเคยได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องจิตใจ มีการอบรมสั่งสอนหลักธรรมอะไรทำนองนี้บ้างมั๊ย หรือว่าไม่ได้สนใจเลย

คำ ผกา: ไม่ได้สนใจเลย ไม่ได้สนใจว่าพระจะต้องมีหน้าที่สอนให้เราเป็นคนดี เพราะหลักการความดี มันก็ง่ายๆอย่างที่พระเทศน์ ก็คือ ศีล 5 แล้วศีล 5 ก็ไม่ได้มีการตีความอะไรเพิ่มไปมากกว่านั้น ก็ไม่ได้มีการตั้งคำถามอะไรกัน เช่นว่า ตบยุงบาปมั๊ย เอ๊ะเราฆ่าหมูแล้วเอาไปทำบุญอันไหนจะได้บุญ อันไหนจะได้บาป คนก็ไม่ค่อยตั้งคำถามกันนะ เหมือนพุทธมันเป็นกลไกนึงของชีวิตที่มันเป็นวิถีปฏิบัติ แล้วชาวบ้านก็ไม่ค่อยพูดคำว่านิพพาน หรือว่าหลุดพ้น

วิจักขณ์: แล้วอย่างนี้เวลาที่มีคนในหมู่บ้านมีความทุกข์ มีใครตาย มีการพลัดพรากสูญเสียอะไรอย่างนี้ล่ะ

คำ ผกา: เอ้อ..อันเนี้ยะ (เสียงสูง) อันนี้แหละ น่าสนใจ คือแขกไม่เคยเห็นคนมีความทุกข์ (เน้นเสียง)

วิจักขณ์: โห จริงเหรอ!!

คำ ผกา: (หัวเราะ) เออ นึกออกมั๊ย

วิจักขณ์: นี่มันเทวดานี่ (หัวเราะ)

คำ ผกา: ไม่ช่ายยยย (เสียงสูง) (หัวเราะ) คือมันมีการสูญเสียนะ มันมีความเครียด แต่แขกไม่เคยเห็นความทุกข์แบบคนในเมืองน่ะ คือ อย่างงานศพมันก็จะเป็นความโศกเศร้าแบบดราม่ากันคืนเดียว สมมติว่าวันนี้มีคนตาย ก็จะร้องห่มร้องไห้กัน พอร้องไห้เสร็จก็จะเป็นเรื่องพิธีกรรม ทุกคนก็จะลืมความทุกข์ แล้วไป concentrate เรื่องว่าเราจะเอาอาหารอะไรมารับแขก ใครจะมาตั้งวงไฮโลกี่วง เราจะเอาดนตรีอะไรมาเล่น จะเอาปี่พาทย์หรือวงดนตรีสมัยใหม่ จะนิมนต์พระที่ไหน มีพระที่เทศน์ตลกที่สุด ฮาที่สุด ที่ไหนบ้าง แล้วมีเงินจะจ่ายค่าตัวพระมั๊ย พระเทศน์เก่งๆก็จะค่าตัวแพงหน่อย คือมันก็จะกลายเป็นเรื่องกิจกรรมทั้งหมด แล้วทุกคนก็ไม่ได้เศร้าอะไรกันนาน

แขกมองว่านี่คือโลกธรรมะของชาวบ้าน วิธีคิดแบบนี้มันไม่ค่อย dramatize อารมณ์ คือมันเศร้าแล้วมันก็จบ ไม่ได้เก็บเอามาไว้ระลึกถึง มันไม่มีอนุสาวรีย์แบบคนในเมือง ไม่มีครบรอบวันแต่งงาน ครบรอบวันเจอกัน ไอ้เรื่องแบบนั้นมันทำให้คนเศร้าเนอะ แต่ชาวบ้านเค้าไม่มีวิธีการรำลึกถึงอดีตแบบนั้น เค้าไม่มีวัตถุที่แสดงถึงความทรงจำ เค้าจะไม่มีว่า เห็นอันนี้แล้วคิดถึงแม่ที่จากไป แขกไม่เคยรับรู้เรื่องพวกนี้มาก่อนตลอดชีวิตแขก จนเมื่อไปเจอเพื่อนที่โตมากับครอบครัวที่อยู่ในเมือง แขกก็มารู้จักเรื่องฉลองวันเกิด เรื่องอะไร ซึ่งมารู้จักเอาทีหลังมากเลย มันมีด้วยเหรอ คนเราต้องมีครบรอบวันโน่นนี่นั่น ไม่รู้ สำหรับแขกพอมันไม่มีวันพวกนั้นมันก็เลยไม่จำ พอไม่จำมันก็ไม่ค่อยมีความโศกเศร้าฟูมฟาย แล้วการไปพึ่งศาสนาในมิตินั้นมันก็เลยไม่ค่อยมี เหมือนทุกอย่างมันดูแลของมันไปเองได้

วิจักขณ์: แล้วอกหักล่ะมีมั๊ย?

คำ ผกา: ไม่เคยเห็นคนอกหักเลยนะ (เสียงสูง) ผิดหวังในความรักมันต้องมีอยู่แล้วล่ะ แต่แขกไม่เคยเห็นคนแสดงอาการอกหัก ก็อาจจะมีนะ มีสั้นๆ ขำๆ แต่ไม่เคยเห็นใครอกหักแบบเยอะๆ นานๆ แล้วก็เห็นว่าเป็นบาดแผลในชีวิต อย่างเมื่อไม่นานมานี้ ลุงแขกเสีย ลุงอายุหกสิบกว่า ป้าก็เพิ่งห้าสิบกว่า ก็คือยังไม่แก่มาก แล้ววิธีของทางบ้าน ถ้ามีใครซักคนตาย สิ่งแรกที่เราจะทำก็คือ ไปหาพวกนั่งทางใน เพื่อที่จะถามว่าตอนนี้เค้าอยู่ที่ไหน อยู่ดีมั๊ย ได้กินอะไร แล้วก็อยากให้เราทำอะไรให้มั๊ย ก็คือทุกคนก็รู้ว่ามันโกหก แต่ก็จะไป ไปให้มันสบายใจ ก็ถามโน่นถามนี่ แต่คำถามสุดท้ายที่พวกแม่ๆป้าๆถาม “เออ แล้วตกลงจะให้เอาผัวใหม่รึเปล่า” (หัวเราะ) คือตายไปวันเดียวเองน่ะ มันคิดเรื่องมีผัวใหม่แล้ว แขกก็คิดไม่ได้สำหรับคนชั้นกลางนะ เพราะผัวตายก็ต้องเศร้าไปสามปี เข้าวัด นั่งสมาธิ อะไรงี้ แต่นี่เค้าคิดไปข้างหน้าแล้วว่า เออถ้ามีผัวใหม่เธอจะโอเคมั๊ย ก็ถามผ่านร่างทรงน่ะ

วิจักขณ์: ดูเหมือนมันจะมีความเบาสบายอยู่ในท่าทีของชาวบ้านกับเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว

คำ ผกา: แต่แขกคิดว่านี่แหละ คือ การปล่อยวาง ง่ายๆ แต่คนเค้าไม่ได้พูดว่าปล่อยวาง ไม่ได้เรียกว่าอนิจจัง แต่แขกคิดเค้าอยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าคนในเมือง คือเค้าอยู่โดยที่เค้าไม่ต้องพูด แขกจึงบอกว่ามันมีการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน กิจกรรมในชีวิตที่มันขัดเกลา คนที่มีวิถีปฏิบัติในชีวิตต่างกันก็ได้รับการขัดเกลาความคิดหรือจิตใจไม่เหมือนกัน อย่างชาวบ้าน แขกคิดว่าเขาอยู่กับความไม่เที่ยงอยู่แล้ว อยู่กับความไม่แน่นอนของชีวิตอยู่แล้ว ทั้งเรื่องภัยธรรมชาติ เรื่องการทำนาก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือถ้าเค้าค้าขายอะไรเล็กๆน้อยๆ เค้าก็ไม่ได้มี insurance อะไรที่จะมารับประกันว่า กิจการเล็กๆของเค้าจะไม่เจ๊งไปในวันใดวันนึง โรคภัยไข้เจ็บ แล้วนึกถึงว่าในสังคมหมู่บ้านสมัยก่อนไม่ได้มีหมอ ซึ่งคนตายเมื่อไหร่ก็ได้ เค้าอยู่กับความไม่แน่นอนมาตลอดชีวิตน่ะ เค้าก็รับมือกับความเปลี่ยนแปลง แล้วเค้าถึงไม่ได้มีความทุกข์แบบที่เรารู้จัก แต่ไม่ได้แปลว่าเค้าไม่ได้มีปัญหาในชีวิต หรือไม่มีความผิดหวัง ไม่มีความล้มเหลวนะ เพียงแต่เค้าไม่ได้มองความทุกข์ว่าเป็นสิ่งที่ต้องกอดเอาไว้

วิจักขณ์: เหมือนกับว่าต้องกอดความทุกข์ไว้ จึงจะรู้สึกได้ถึงตัวตน พอมีตัวตนก็ต้องมีธรรมะ พอมีธรรมะก็ต้องประสบความสำเร็จทางธรรมะอีกที กลายเป็นว่ากอดโน่นกอดนี่มั่วไปหมด ปล่อยอะไรไม่ได้ซักอย่าง เพราะกลัวความเบาของชีวิต

คำ ผกา: ช่ายย...ต้องรู้สึกถึงการมีอยู่ของตัวเอง เพราะฉันทุกข์ ฉันจึงมีอยู่ (หัวเราะ)

วิจักขณ์: แล้วโตมาแบบนี้ วันนึงไปเจอเพื่อนที่มาจากโลกอีกแบบนึง แล้วก็เริ่มซึมซับโลกแบบคนเมือง มีการศึกษา มีเพื่อน มีวันเกิด มีแฟน มีวันครบรอบการเจอกัน มีอกหัก แล้วก็ต้องมีดราม่าบ้างอะไรบ้างใช่มั๊ย

คำ ผกา: โอ๊ย มีสิ อกหักก็อย่างดราม่าเลย ตอนนั้นวัยรุ่นนี่ (หัวเราะ)

วิจักขณ์: อ้าว แล้วไง กับสิ่งที่โตมา พุทธแบบบ้านๆ มันยังใช้ได้เหรอ

คำ ผกา: พอเราเป็นสักพักนึง เราก็จะเกิดภาพเปรียบเทียบไง ทำไมเมื่อก่อนไม่เป็นวะ (หัวเราะ) แล้วมันก็ตั้งคำถามมากขึ้น แล้วก็เริ่ม...

วิจักขณ์: หันมาสนใจธรรมะรึเปล่า (หัวเราะ)

คำ ผกา: (ตอบเร็ว) ไม่เลย (หัวเราะ) เออ แต่อันนี้ไม่เคยเลย ไม่ว่าจะทุกข์แค่ไหน มันไม่เคยคิดจะเข้าวัดเลย (หัวเราะ)

วิจักขณ์: (หัวเราะ) เออ แล้วที่นี้ทำไง

คำ ผกา: ก็เผชิญไป หาเหตุหาผล อย่างสมมติว่าอกหัก ตอนเด็กๆนะก็คิดว่า อุ๊ย...อย่างนี้ มีคนใหม่ก็น่าจะหาย เออ...มันก็หายจริงๆ แล้วพอมันหลายครั้ง เราก็สั่งสมทักษะในการรับมือกับมัน (หัวเราะ) เราก็โตขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น เห็นชีวิตคนอื่นมากขึ้น ก็แค่นั้นเองน่ะ ก็ไม่เห็นต้องไปวัด

เออ...ทำไมนะ (หัวเราะ) แขกนี่ไม่เอาเลยนะ แม้จะมีความทุกข์แค่ไหน ก็ไม่เคยคิดว่าจะเข้าวัด

วิจักขณ์: ขอเลือกที่จะใช้แบบของตัวเองดีกว่า?

คำ ผกา: (นิ่งนึก) ไม่ใช่ใช้แบบของตัวเองนะ เอาอย่างงี้ดีกว่า ยิ่งเราแก่ตัวลงเรื่อยๆ แขกกลับมองว่า ปัญหาหรือความทุกข์มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันไม่ใช่อะไรที่เราจะต้องวิ่งหนี ถ้าไม่มีสิผิดปกติ ช่วงไหนมีความสุขมากๆ ก็จะรู้สึกแปลกๆ เป็นสัญญาณอะไรที่ไม่ดีรึเปล่า (หัวเราะ)

มีปัญหา มีความทุกข์อะไร ก็แก้ปัญหาไปตามเนื้อผ้า แก้ได้ก็ได้ แก้ไม่ได้ก็แล้วไป มันก็อยู่นอกเหนือการจัดการของเราแล้วล่ะ ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ทำได้แค่แก้ไปเท่าที่เราเห็น เท่าที่เราทำได้

วิจักขณ์: แล้วมีมั๊ยที่แบบ โอ๊ยยย... แก้ไม่ได้ ใครก็ได้มาช่วยฉันที

คำ ผกา: ไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่ได้ก็ปล่อยไป ไม่ได้ก็ไปทำอย่างอื่น แล้วเราก็ต้องรู้ว่า เราไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล เราก็นิดเดียวบนโลกใบนี้ เราทำผิดพลาดไปแค่นี้ โลกก็ไม่ได้ถล่มทลาย...

สัมภาษณ์เมื่อ 21 กรกฎาคม 2553
ภาพจาก นิตยสารสารคดี
____________________________

บ้านตีโลปะ
www.tilopahouse.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net