Skip to main content
sharethis
 
 
1 ส.ค.53 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย แถลงข่าวเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ‘ฉบับทหาร’ ตอบโจทย์การปฏิรูปสื่อ? หรือเพื่อความมั่นคง ?”
 
สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการ คปส. กล่าวถึงเหตุผลการแถลงข่าวครั้งนี้ว่า เนื่องจากวุฒิสภาได้พิจารณา ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ในช่วงความขัดแย้งรุนแรงเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาและมีมติผ่านร่างออกมาในวันที่ 30 พ.ค. โดยมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่ผ่านชั้นสภาผู้แทนราษฎรหลายประการ โดยเฉพาะการเปิดช่องให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะเป็นองค์กรจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่ทั้งหมดในอนาคตเพื่อการปฏิรูปสื่อตามรัฐธรรมนูญ
 
สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธาน คปส. และอดีตคณะกรรมาธิการยกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างของ ส.ว. และในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่กำลังจะเริ่มในสมัยประชุมนี้ ก็อยากให้สภาผู้แทนฯ ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ยืนยันร่างของ ส.ส. ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ได้ดีกว่า เนื่องจากออกแบบที่มาของ กสทช. เป็นภาคส่วนที่สาม ได้แก่ ภาควิชาชีพ นักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม ซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับคลื่นความถี่เดิมเพื่อจะปฏิรูปสื่อได้อย่างอิสระ ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับที่ผ่านวุฒิสภากลับเพิ่ม กสทช. อีก 4 คน เป็น 15 โดยระบุว่าต้องมีประสบการณ์ด้านความมั่นคง บริหารราชการ ศาสนา ฯ แม้ถ้อยคำจะคลุมเครือแต่เดาเจตนารมณ์ได้ว่าเป็นการเปิดช่องให้ภาครัฐเข้ามา เช่น กระทรวงกลาโหม ซึ่งทำให้ขาดความเป็นอิสระ และเท่ากับไม่มีประโยชน์ที่จะตั้ง กสทช.ขึ้นมาปฏิรูปสื่อ
 
สุภิญญา กล่าวอีกว่า ส่วนที่ส.ว.เพิ่มเข้ามาและเป็นจุดอ่อนอย่างมากอีกประการ คือ การกำหนดว่า กสทช.ต้องจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงอย่างพอเพียง ซึ่งถือเปิดให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาเพื่อปกป้องผลปรโยชน์เดิม และไม่มีความชัดเจนว่า “เพียงพอ” คืออะไร
 
“ตอนนี้ถ้าต้องตั้งกมธ.ร่วมสองสภา ก็อยากเรียกร้องให้ ส.ส.ยืนยันร่างเดิมของตัวเอง ถ้ายอม ร่างของ ส.ว. ก็เข้าข้อครหาว่า รัฐบาลเต็มใจ ยิมยอมต่อข้อเรียกร้องนี้เพื่อแลกกับการพึ่งพิงทหารในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน” สุภิญญากล่าว
 
สุภิญญายังกล่าวถึงอีกประเด็นหนึ่งว่า ส.ว. ได้แก้ไขมาตรา 78 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้แก่ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. หรือแคท เทเลคอมฯ โดยยืดระยะเวลาการได้รายได้จากการสัมปทานคลื่นให้บริษัทมือถือหลังจากตั้ง กสทช.แล้ว จากเดิม 1 ปี เป็น 3 ปี เพื่อให้มีเวลาปรับตัว โดยการยืดเวลาดังกล่าวทำให้สองหน่วยงานนี้ไม่ต้องส่งเงินค่าสัมปทานมือถือจำนวนมหาศาลที่ได้จากเอกชนเข้าคลัง และไม่ส่งเสริมให้สองหน่วยงานนี้ปรับตัวเพื่อการแข่งขันเสียที
 
วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) กล่าวว่า ในส่วนของผู้ทำวิทยุชุมชนก็สนับสนุนอยากให้มีร่าง พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้มีองค์กรกำกับดูแลที่มีความชอบธรรมทางกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาวิทยุชุมชนอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของ กทช. ซึ่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งและดูแลไม่ทั่วถึง อีกทั้งยังมีแต่อำนาจปิดสถานีที่ไม่ได้ลงทะเบียนแต่ไม่มีอำนาจให้ใบอนุญาตเพิ่มเติม นอกจากนี้ช่องว่างในการดูแลดังกล่าวยังทำให้วิทยุชุมชนหลายแห่งยังถูกปิดโดยหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เช่น วิทยุชุมชน 12 แห่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราชถูกปิดโดย ศอฉ. อย่างไรก็ตาม แม้จะอยากให้กฎหมายนี้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างแต่ยังคงไม่เห็นด้วยกับที่มาของ กสทช. ที่ปรากฏในร่างของ ส.ว. เพราะเกรงว่าการทำงานของ กสทช.จะไม่เป็นอิสระ
 
“เรามีข้อสังเกตว่าหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา บทบาทกองทัพมีมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียกับ พ.ร.บ.นี้ด้วย” วิชาญกล่าว
 
ด้านตัวแทนผู้บริโภค ระบุว่า อยากให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับของ ส.ว. เพิ่มเติมกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยคงบทบาทตามมาตรา 31 ของร่างเดิมไว้ หรือทบทวนมาตรา 13 เรื่องการคุ้มครองสิทธิในร่างฉบับวุฒิสภาให้มีสาระชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภค
 
 
 
รายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ของวุฒิสภา  35 คน
1. พล.ต.ต.เกริก กัลยาณมิตร                                            2.นายคำนูณ สิทธิสมาน 
3.นายจรัล จึงยิ่งรุ่งเรือง                                                     4.ชรินทร์ หาญสืบสาย 
5.นายดิสทัต โหตระกิตย์                                                   6.นายต่วนอับดุลเล๊าะ ตาโอ๊ะมารียอ 
7.นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ                                                8.นางนิลวรรณ เพชระบูรณิน 
9.นายบุญชัย โชควัฒนา                                                 10.นายประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์
11.นายประสาร มฤคพิทักษ์                                             12.นายประสิทธิ โพธสุธน
13.นายพีระ มานะทัศน์                                                    14.ร้อยโทภูมิศักดิ์ หงษ์หยก
15.นายมณเฑียร บุญตัน                                                  16.น.ส.รสนา โตสิตระกูล
17.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช                                             18.นายวรินทร์ เทียมจรัส
19.นายวิทวัส บุญญสถิตย์                                               20.นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
21.นายสมชาติ พรรณพัฒน์                                             22.นายสมชาย แสวงการ
23.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย                                           24.นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง
25.พล.ท.สิทธิพร ภัทรเสน                                                26.นายสิทธิศักดิ์ ยนต์ตระกูล
27.นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์                                                  28.ศ.สุกัญญา สุดบรรทัด
29.พล.ท.สุจินดา สุทธิพงศ์                                               30.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
31.นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล                                              32.พลเรือเอกสุรศักดิ์ ศรีอรุณ
33.นายอนันต์ วรธิติพงศ์                                                  34.นายอนุรักษ์ นิยมเวช
35.พลอากาศเอกอาคม กาญจนหิรัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net