จูบอำมหิตของกองทัพกับรัฐบาลไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภัควดี ไม่มีนามสกุล แปลจาก Richard S. Ehrlich, Thailand's military, government in sync: Prime minister needs to keep army on his side,” The Washington Times: http://www.washingtontimes.com/news/2010/jul/29/thailands-military-government-in-sync/print/; Thursday, July 29, 2010


รูปจาก ASSOCIATED PRESS ทหารไทยจับกุมตัวผู้ประท้วงรัฐบาลในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
 

นับตั้งแต่การปราบปราม “กลุ่มคนเสื้อแดง” ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนพฤษภาคม ประเทศไทยก็ได้เป็นประจักษ์พยานถึงความสมัครสมานแนบแน่นระหว่างนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งของเขายังเป็นเครื่องหมายคำถาม กับกองทัพไทย ผู้มีบทบาทสำคัญในการค้ำจุนความมั่นคงของรัฐบาลชุดนี้

สื่อมวลชนในประเทศไทย โดยเฉพาะที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ ต่างพยายามฉายภาพความเป็นผู้นำของรัฐบาลและความพยายามของกองทัพในการฟื้นฟูความสงบทั้งระหว่างและหลังการประท้วง ในขณะเดียวกันก็เซ็นเซอร์ความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับการปราบปรามคนเสื้อแดง

พร้อมกันนั้น นายอภิสิทธิ์ก็เห็นชอบต่องบประมาณกองทัพที่น่ากังขา และไม่ยอมให้มีการสอบสวนใด ๆ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับการใช้จ่ายอย่างไร้ประสิทธิภาพของกองทัพ มีการคาดหมายว่านายทหารระดับผู้บังคับบัญชาหลายคนจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งอย่างน้อยก็คงพิจารณาความดีความชอบจากปฏิบัติการปราบกบฏเสื้อแดงด้วย

นายอภิสิทธิ์ย่อมไม่กล้าสร้างความไม่พอใจแก่กองทัพ ซึ่งขับไล่นายทักษิณ ชินวัตรออกจากตำแหน่งใน พ.ศ. 2549 ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากถึง 3 ครั้งในประเทศไทยที่มีประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ กองทัพไทยเคยทำรัฐประหารทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวมาแล้วถึง 18 ครั้ง นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา กองทัพไทยมักทำรัฐประหารเมื่อไรก็ได้เมื่อรู้สึกว่าจำเป็น

การรัฐประหารนายทักษิณออกจากตำแหน่งเป็นชนวนส่วนหนึ่งที่จุดประกายให้เกิดการประท้วงของคนเสื้อแดงในย่านการค้าของกรุงเทพฯ ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา กองทัพไทยที่ได้รับการฝึกจากสหรัฐฯ จัดการผู้ประท้วงด้วยสไนเปอร์ ปืนไรเฟิลจู่โจม (assault rifle—เป็นปืนไรเฟิลประสิทธิภาพสูง มีความเสถียรในการยิงสูงมากและมีอัตราแรงถีบค่อนข้างต่ำ—ผู้แปล) และรถยานเกราะ มีประชาชนถูกสังหารถึง 90 คนและอีก 1,900 คนได้รับบาดเจ็บตลอดช่วง 9 สัปดาห์ของการปะทะกัน

“เนื่องจากกองทัพเป็นเครื่องมืออย่างเดียวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในการต้านทานอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรและคนเสื้อแดง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องทำทุกอย่างให้กองทัพพอใจเสมอ” หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ รายงานไว้ในเดือนที่ผ่านมา

ในบรรดาผู้นำกองทัพที่รอการเลื่อนตำแหน่ง ประกอบด้วย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อจากพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา หลังจากฝ่ายหลังเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ มีรายงานข่าวว่านายอภิสิทธิ์และพลเอกอนุพงษ์เห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บัญชาการกองทัพคนใหม่

ทั้งนายทหารและนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกองทัพไทยลงความเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ ผู้มีวัย 56 ปี เป็นนายทหารในสายเหยี่ยวยิ่งกว่าพลเอกอนุพงษ์ ซึ่งเชื่อกันว่าไม่ค่อยเต็มใจนักกับการใช้อาวุธหนักในการ “ขอคืนพื้นที่” จากคนเสื้อแดง เพราะเขาต้องการเกษียณอายุโดยไม่มีเลือดของเพื่อนร่วมชาติเปรอะเปื้อนมือ พลเอกอนุพงษ์และนายทหารระดับสูงคนอื่น ๆ เป็นผู้โค่นล้มทักษิณในการรัฐประหารที่ปราศจากการนองเลือด

“หากพลเอกประยุทธ์ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก มันคงเป็นรางวัลสำหรับความดีความชอบของเขาในการปราบปรามคนเสื้อแดงครั้งล่าสุด นอกเหนือจากข้อที่ว่าเขาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกที่รอสืบทอดตำแหน่งจากพลเอกอนุพงษ์อยู่แล้ว” บางกอกโพสต์ รายงานไว้ในวันที่ 15 กรกฎาคม

นอกจากนี้ ยังมีนายทหารระดับสูงอีกอย่างน้อย 5 คนที่คาดว่าจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งด้วย คนหนึ่งในนั้นก็คือ พล.ท. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสนาธิการทหารบก ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้วางแผนยุทธศาสตร์ให้แก่ปฏิบัติการของกองทัพในการ “กระชับพื้นที่” จากคนเสื้อแดง

กองทัพไทยครอบครองสื่อที่มีอิทธิพลและทำกำไรมหาศาล กองทัพเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุกว่า 200 คลื่น สถานีโทรทัศน์หนึ่งช่องและสัมปทานสถานีโทรทัศน์อีกหนึ่งช่อง

กระนั้นก็ตาม กองทัพไม่ได้ออกมาเดินขบวนสวนสนามฉลองความสำเร็จหลังการทำลายคนเสื้อแดง เนื่องจากคงตระหนักว่า ปล่อยให้รัฐบาลพลเรือนได้หน้าได้ตาไปจะดีกว่า

ระหว่างการปะทะกับคนเสื้อแดงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม นายทหารหน้าตาขึงขังหลายคนมักออกมาปราศรัยทางทีวีต่อประชาชน จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมนายอภิสิทธิ์จึงไม่ค่อยโผล่หน้ามาให้เห็นมากนัก

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ด้วย ในเรื่องที่เขาหลบอยู่ในฐานทัพในกรุงเทพฯ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ตลอดช่วงที่มีการลุกฮือของคนเสื้อแดง เขากินนอนอยู่ใกล้ ๆ ห้องทำงานของพลเอกอนุพงษ์ เห็นได้ชัดว่ากลัวจะถูกลอบสังหาร

ทุกวันนี้ ภาพพจน์ของกองทัพยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก

มักมีการฉายภาพทางโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงให้เห็นภาพของทหารติดอาวุธพยายามฟื้นฟูความสงบตามท้องถนนในกรุงเทพฯ ที่คนเสื้อแดงมาสร้างความแปดเปื้อนเอาไว้ ในขณะเดียวกันก็คอยนำทางประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ให้พ้นจากเส้นทางอันตรายอย่างกล้าหาญน่าสรรเสริญ

อย่างไรก็ตาม มีปัญหาเกิดขึ้นทันทีเมื่อกลุ่มใหม่ในชื่อ “เครือข่ายพลังบวก” ซึ่งเกิดมาจากการรวมตัวกันของคนจากแวดวงโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สื่อมวลชนและสมาคมโทรทัศน์ ร่วมกันผลิตโฆษณาชื่อ “ขอโทษประเทศไทย” ออกมาในกลางเดือนกรกฎาคม

ในโฆษณาชุดนี้มีคลิปภาพกราฟิกการปะทะระหว่างกองทัพกับคนเสื้อแดง ตลอดจนแง่มุมอื่น ๆ ที่มีปัญหาของสังคมไทย และโฆษณาชุดนี้ถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกอากาศ

ในโฆษณามีเสียงผู้บรรยายบางตอนว่า “เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า? รุนแรงไปหรือเปล่า? ฟังความข้างเดียวหรือเปล่า? ทำหน้าที่ของตัวเองหรือเปล่า? คิดถึงประชาชนหรือเปล่า? โกงหรือเปล่า?”

เสียงผู้บรรยายแนะนำว่า “ถ้าจะต้องมีคนผิด ก็คงเป็นเราทั้งหมดที่ผิด ขอโทษประเทศไทย”

หลังจากประเทศไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกจากการสั่งปิดเว็บไซต์หลายพันแห่ง รวมทั้งสื่ออื่น ๆ ด้วย ในที่สุดนายอภิสิทธิ์ก็บอกว่า “ขอโทษประเทศไทย” สามารถออกอากาศทางโทรทัศน์ได้ แต่คณะกรรมเซ็นเซอร์สั่งว่า มันต้อง “ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง” ก่อนออกอากาศ

“กองทัพ [ไทย] นั้น โดยเบื้องต้นที่สุดก็คือข้าราชการติดอาวุธ ซึ่งไม่ได้มีไว้ต่อสู้ในสงคราม” นักวิเคราะห์ ดันแคน แมกคาร์โก เขียนไว้ในบทความ ค.ศ. 2002 ของเขาชื่อ "Security, Development and Political Participation in Thailand: Alternative Currencies of Legitimacy."

“นายทหารระดับสูงมักทุ่มเทพลังงานให้แก่อาชีพในด้านธุรกิจและการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่าและให้ผลตอบแทนมากกว่า ธุรกิจหลักของพวกเขาคือการลักลอบขนสินค้าเถื่อน ตัดไม้ทำลายป่าและแสวงหากำไรจากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ” นี่คือข้อเขียนของแมกคาร์โก ผู้เป็นศาสตราจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ในประเทศอังกฤษ

“ในด้านการเมืองนั้น พวกเขาเข้าไปครองตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงและเข้าไปมีส่วนแบ่งในการบริหารประเทศอยู่เสมอ นายกรัฐมนตรีไทยหลายคนมีปูมหลังเป็นทหารมาก่อน”

เห็นได้ชัดว่ากองทัพพออกพอใจกับการที่นายอภิสิทธิ์เพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคงและใจกว้างเป็นแม่น้ำสำหรับการทำสัญญาจัดซื้อจัดหาอาวุธที่เป็นปัญหาจำนวนมาก

ท่าทีของนายกรัฐมนตรีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกองทัพประเด็นหนึ่งที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือ การเพิกเฉยต่อเสียงคัดค้านว่า กองทัพสูญเงินไปถึง 24 ล้านดอลลาร์กับการซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดที่เป็นของแหกตา

เมื่อต้นปีนี้ เครื่องจีที-200 ถูกเปิดโปงว่าเป็นของปลอมและรัฐบาลไทยยอมรับในเรื่องนี้ กระนั้นก็ตาม กองทัพไทยยังคงใช้เครื่องมือนี้ในพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้มีการจับกุมคุมขังชาวมุสลิมผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ แต่กลับตรวจไม่พบวัตถุระเบิดจริง ๆ ที่สังหารทหารไปเป็นจำนวนมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท