Skip to main content
sharethis

"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ระดมความเห็นกับสถาบันอุดมศึกษา หวังมหาวิทยาลัยทำงานใกล้ชิดท้องถิ่น เยาวชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูป-ปรองดอง ชี้ความขัดแย้งที่ผ่านมาเกิดจากการไม่รับข่าวสารรอบด้าน ไม่สามารถสังเคราะห์ข้อมูลหลายชุดที่จะนำไปสู่ปัญญา แต่ถูกบังคับให้เลือกกระโจนไปในชุดข้อมูลชุดใดชุดหนึ่งซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง

นายกรัฐมนตรีระหว่างร่วมรับฟัง "การประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมสร้างประเทศน่าอยู่โดยสถาบันอุดมศึกษา" ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)

เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (2 ส.ค.) ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมรับฟังการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมสร้างประเทศน่าอยู่ โดยสถาบันอุดมศึกษา ณ ห้องเซฟไฟร์ ชั้น 2 อาคารคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ภายหลังรับฟังรายงานผลการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมสร้างประเทศน่าอยู่โดยสถาบันอุดมศึกษา นายกรัฐมนตรีได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมอบนโยบาย ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่ง โดยขอบคุณผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคนที่สละเวลามามีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่ม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือแม้ว่าจะแบ่งกลุ่มแล้วแต่ภารกิจหลัก ความคาดหมาย คาดหวังของสังคมยังคล้ายคลึงกัน และข้อเสนอที่ออกมาสอดคล้องต้องกันในหลาย ๆ เรื่อง เท่าที่ตนอ่านในรายละเอียดก็ตรงกันในเชิงมาตรการที่ทำให้ตนเบาใจ เพราะถ้าข้อเสนอต่างกันหมดก็คงดีในแง่หลากหลาย แต่อาจจะทำให้ประมวลและเดินไปข้างหน้าค่อนข้างยาก

หวั่นมหาวิทยาลัยเกิดช่องว่างกับสังคม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลายสิบปีที่ผ่านมาสังคมมีความคาดหวังในมหาวิทยาลัย แต่มองมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นองค์กรการศึกษา สถาบัน ที่มีลักษณะเหมือนกับชนชั้นนำที่มีความรู้สูงกว่า ความพร้อมมากกว่า และความคาดหวังว่าจะมีส่วนในการที่จะขับเคลื่อนนำพาสังคมไปสู่กระบวนการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันอุดมศึกษาต้องมีลักษณะเช่นนั้น เพราะสังคมต้องการองค์กรที่เหมือนจะเป็นศูนย์กลางในเชิงความคิด ปรัชญา สร้างองค์ความรู้ และนำพาสังคมไปได้ แต่เมื่อถูกมองในลักษณะนั้นช่องว่างระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับสังคมก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน แม้ระยะหลังเห็นชัดเจนว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะปรับเปลี่ยนจากการเป็นการศึกษาสำหรับชนชั้นนำมาเป็นการศึกษาสำหรับมวลชนไปแล้วโดยสังเกตได้จากการเติบโตของนิสิตนักศึกษาที่เข้าสู่ระดับอุดมศึกษา ช่องว่างตรงนี้จึงเป็นจุดหนึ่งที่อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ที่อาจจะลึกซึ้งกว่าเพียงแค่การมีช่องว่าง เช่น กลายเป็นว่าคนของเราเมื่อเรียนสูงขึ้นแต่กลับมีปัญหาในการกลับไปยังชุมชนของตัวเอง และห่างไกลจากรากเหง้าของตัวเองมากขึ้น

หวังให้มหาวิทยาลัยทำงานใกล้ชิดกับท้องถิ่น
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ตนอยากแบ่งเป็น 2 ส่วนที่มีความเชื่อมโยงกันคือ 1.การที่สถาบันอุดมศึกษากำลังจะเข้าไปทำงานในชุมชนมากขึ้น และ 2.ส่วนที่สถาบันอุดมศึกษาสามารถทำได้ในภารกิจหลักของตัวเองในส่วนที่เกี่ยวกับนิสิตนักศึกษาของตัวเองว่าจะต้องสร้างอะไรขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปและการปรองดอง ทั้งนี้ในส่วนแรกตนดีใจที่มองเห็นว่ามีข้อเสนอซึ่งน่าจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือ ข้อแรกการกำหนดการพัฒนาเชิงพื้นที่เรื่องของ 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัยนั้น ตนเห็นว่าขณะนี้เป็น 1 จังหวัด 2 มหาวิทยาลัยได้ แต่ตนก็ไม่ได้ขัดข้องในเรื่องของ 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัยที่ทำได้แน่นอนเพราะขณะนี้มีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก แต่มีเพียงบางจังหวัดเท่านั้น เช่น จังหวัดระยองซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความเจริญแต่กลับเป็นช่องว่างในการมีสถาบันอุดมศึกษา

“ขั้นแรกสิ่งที่จะต้องเร่งทำคือการกำหนดให้ชัดเจนว่าจังหวัดไหน มหาวิทยาลัยไหน จะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะสำหรับผมถ้าเป็นไปได้ มหาวิทยาลัยที่จะรับผิดชอบพื้นที่ต้องเติบโตจากการเป็นอุดมศึกษา ที่ใกล้ชิดกับชุมชน หรือเป็นมหาวิทยาลัยที่พยายามผลักดันตัวเองขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยเต็มรูปแบบ บทบาทที่น่าจะเป็นแม่ข่ายของกลุ่มจังหวัด เพราะตัวกลุ่มจังหวัดมีความสำคัญในเชิงพื้นที่ เพราะความจริงในอีกหลายพื้นที่ต้องเชื่อมโยงด้วยวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ลุ่มน้ำ คือให้มี 1 มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ แล้วก็มีระดับที่สูงขึ้นมาในการทำงานในเชิงเครือข่ายและกลุ่มจังหวัดหรือกลุ่มพื้นที่น่าจะช่วยทำให้การทำงานทางด้านนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 ในการทำงานในพื้นที่ชุมชนและแต่ละจังหวัด ตนอยากเห็นการเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล หรือการปกครองรูปแบบพิเศษ รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งขณะนี้สภาหอการค้าไทยก็มีการขับเคลื่อนในเรื่องของการปฏิรูปเช่นเดียวกัน และยังมีการมอบนโยบายให้กับหอการค้าจังหวัดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยน่าจะเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมตรงนี้ได้ดีและถ้ามองไปถึงเรื่องขององค์กรภาคประชาชนด้วย ตนคิดว่าการเป็นเจ้าภาพหลักในส่วนของตัวมหาวิทยาลัยน่าจะมีเหมาะสม ทั้งนี้ต้องเร่งกำหนดแนวทางโครงสร้าง โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เร่งนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเป็นมติต่อไป

เชื่อปฏิรูป-ปรองดองจะสำเร็จได้อยู่ที่กระบวนการ หวังเยาวชนมีส่วนร่วม
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนที่ 2 คือกระบวนการที่เกี่ยวกับตัวนิสิตนักศึกษาหรือบุคลากรของมหาวิทยาลัยว่า ประเด็นแรกตนมองว่าการปฏิรูปและการปรองดองจะสำเร็จได้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราต้องทำอะไร แต่ความสำเร็จจะอยู่ที่กระบวนการว่าเราจะทำอย่างไรด้วย ตนตั้งความหวังว่าการปฏิรูปครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่จะได้มีการฟื้นฟูเรื่องของการให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในเรื่องของการพัฒนาและการแสดงออกถึงการมีจิตอาสา และช่วงวิกฤติที่ผ่านมาเห็นสัญญาณที่ดีที่เยาวชนหลายกลุ่มมีความคิดริเริ่มเองในการมีปฏิกิริยาในการทำกิจกรรมหลายอย่างซึ่งมีรูปแบบเปลี่ยนไป

“สมัยก่อนอาจจะจัดตั้งยึดอยู่กับคณะ สถาบัน องค์กรนักศึกษา แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ เพราะเป็นเครือข่ายที่สร้างบนอินเตอร์เน็ตและสื่อผสมผสาน ซึ่งเป็นข้อดีในการกระตุ้นเรื่องนี้เพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในการให้นิสิตนักศึกษาเข้าไปในลักษณะของการอาสา ดังนั้นเราต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบตรงนี้ด้วย แม้ธรรมชาติของมนุษย์จะมองบทบาทของคนรุ่นใหม่ว่าจะต้องเหมือนคนสมัยก่อน คนแต่ละรุ่นก็มีวิธีการไม่เหมือนกัน ถ้าเราฝืนมันก็เชื่อมกันไม่ติด บางทีต้องฟังแนวทางของเยาวชนที่มีทั้งสภาเด็กเยาวชน สภานักเรียนที่เกิดขึ้นตามกฎหมายและนโยบาย ถ้าสามารถทำอย่างที่ว่าได้ ถือว่าจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาไปในตัว ที่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปแก้กฎระเบียบอะไรกัน แต่จะเป็นเรื่องที่เกิดจากภายในของแต่ละสถาบันเองที่ปฏิรูปได้ด้วยตัวเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชี้ความขัดแย้งเป็นเพราะคนไม่รับข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ไม่สามารถสังเคราะห์ข้อมูลหลายชุด
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงในส่วนที่เกี่ยวกับการปลูกฝังสร้างจิตสำนักให้กับนิสิตนักศึกษาด้วยว่า จากวิกฤติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดว่าเกิดจากความบกพร่องทางทักษะของคนในสังคม โดยเฉพาะเรื่องของการประมวลข้อมูล คือ 1.อาจจะไม่รับข้อมูลข่าวสารรอบด้าน 2.เวลาที่มีข้อมูลหลายชุดก็ไม่สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ที่จะนำไปสู่ปัญญา แต่ถูกบังคับให้เลือกกระโจนไปในชุดข้อมูลชุดใดชุดหนึ่งซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งท้าทายที่ทำให้ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่เด็กเล็กที่จะแก้ปัญหานี้อย่างไรให้คนของเราเท่าทันและรู้ว่าความสลับซับซ้อนของสังคมและสภาวะแวดล้อม สามารถที่จะรับข้อมูลข่าวสารที่มีความหลากหลาย รู้จักคิดด้วยตัวเอง แต่ต้องหาความพอดีและรู้จักเรียนรู้แลกเปลี่ยนด้วยเหตุด้วยผลกับคนที่คิดไม่เหมือนกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องช่วยให้นิสิตนักศึกษามีความพร้อมมากยิ่งขึ้นในโลกของการสื่อสาร โลกของข้อมูลและข่าวสารที่มีความหลากหลายด้วย อย่างไรก็ตาม ตนหวังที่จะเห็นบทบาทนำของมหาวิทยาลัยบนความไว้เนื้อเชื่อใจของทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งหมายถึงความเที่ยงตรงต่อหลักวิชาการ ความเป็นกลาง และพลังที่เกิดขึ้นจากการมีความรู้ ความพร้อมทางด้านต่าง ๆ โดยรัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net