Skip to main content
sharethis
 
4 ส.ค.53 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษาสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ประกาศนำสมาพันธ์แพทย์ถอนตัวออกจากการเป็นคณะกรรมการสร้างเสริมสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข หรือคณะกรรมการ 3 ฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขว่า ขอยืนยันว่ายังมีผู้แทนสมาพันธ์แพทย์ร่วมเป็นกรรมการ 3 ฝ่าย โดยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ตนได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งกรรมการ มี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อให้ฝ่ายแพทย์กับภาคประชาชนมาพูดคุยเพื่อหาทางออกและหาข้อสรุปที่เป็นกลาง
 
"คิดว่าที่ประชุม 3 ฝ่ายจะมีส่วนคลี่คลายความเห็นที่ไม่ตรงกันได้ ขอเวลาให้คณะทำงานได้ทำงานก่อน" นายจุรินทร์กล่าว
 
กก.3 ฝ่ายนัดถกวันแรก7ส.ค.
นพ.สุพรรณในฐานะประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์ โดยได้เตรียมเอกสารข้อมูลในร่าง พ.ร.บ. รวมทั้งประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อจัดส่งให้คณะกรรมการศึกษาก่อนอย่างน้อย 2 วัน และจะนัดประชุมนัดแรกวันที่ 7 สิงหาคมนี้ นัดต่อไปคือ วันที่ 9 สิงหาคม และจะนัดหารือไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ข้อยุติภายในเวลาที่กำหนด จากนั้นจะนำมติร่วมมาทำประชาพิจารณ์ในภูมิภาคต่างๆ ก่อนจะนำเข้าสภา  ส่วนกรณีที่มีกรรมการบางคนถอนตัวออกจากคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย นพ.สุพรรณกล่าวว่า คนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ถือเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายวิชาชีพ แต่หากสมาพันธ์จะถอนตัว และรวมกลุ่มใหม่ ขอให้นำประเด็นที่เข้าใจไม่ตรงกันมาพูดคุยกันในเวทีนี้
 
เอ็นจีโอผิดหวัง สมาพันธ์แพทย์ถอนตัวคณะทำงาน
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนึ่งในคณะทำงานสามฝ่าย ผิดหวังอย่างยิ่งที่สมาพันธ์แพทย์ถอนตัวจากคณะทำงาน เพราะในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สังคมไทยต้องเผชิญกับความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างไม่ฟังเหตุฝังผลกันจนนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองและสังคมที่เลวร้ายที่สุดในประเทศไทย
 
ในการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ทุกฝ่ายเห็นด้วยในหลักการ 3 ข้อคือ 1.มีการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและมีความเสียหาย 2.ผู้ให้บริการทำงานอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้องร้อง 3.มีระบบพัฒนา ป้องกัน ความเสียหาย ดังนั้น ความเห็นต่างในรายละเอียดของ ร่าง พรบ. กำลังจะสร้างวัฒนธรรมที่ดีของการสร้างความสมานฉันท์ด้วยการรับฟังกัน-เข้าใจกันด้วยเหตุและผลด้วยกลไกคณะทำงานที่ประกอบด้วยบุคคลฝ่ายต่างๆจะได้มาร่วมหารือกัน แต่กลับถูกปฏิเสธจากสมาพันธ์แพทย์ฯเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่ง

สังคมไทยบอบช้ำมามากพอแล้วกับการเอาชนะคะคานอย่างไร้สติ จึงอยากขอให้สมาพันธ์แพทย์ทบทวนการเข้าร่วมคณะทำงานอีกครั้ง หรือขอให้นำความเห็นต่างทั้งหมดไปพิจารณาในสภาฯ หลังจากที่ร่าง พรบ.ผ่านที่ประชุมวาระแรก พร้อมขอบคุณกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ที่เข้าใจหลักการของกฎหมายเป็นอย่างดี และสนับสนุนกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายในการรับบริการสาธารณสุข
 
ส่วนกรณีที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬากังวลนั้น สารีระบุว่า เป็นเรื่องเข้าใจคลาดเคลื่อนและเป็นรายละเอียดของกฎหมายที่สามารถปรับปรุงและแก้ไขได้ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เช่น ความกังวลว่าโรงพยาบาลจุฬา ฯ จะต้องจ่ายสมทบปีละ 10 ล้าน ซึ่งในความเป็นจริง โรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการประชาชน รัฐจะเป็นผู้จ่ายสมทบ หากพิจารณาจากรายละเอียดจากทั้งมาตรา 20 และมาตรา 22 จะเห็นว่าจะมีการโอนเงินมาตรา 41 จากกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล หรือหากโรงพยาบาลจุฬาฯ จะมีส่วนช่วยสมทบเงินจำนวนเพียง 10 ล้านบาท ต่อปี เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นร่วมกัน ก็เป็นเงินจำนวนไม่มาก แทนที่จะให้โรงพยาบาลต้องรับภาระและแพทย์ต้องมีความทุกข์จากการถูกฟ้อง ทั้งนี้ กรณีการฟ้องในปัจจุบันที่ไม่มีคงไม่มีใครกล้ารับประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งกฎหมายฉบับนี้จะมีการจ่ายชดเชยให้กับแพทย์และผู้ประกอบวิชาชีพทุกคนที่มีความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข
 
นอกจากนี้ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ขอเรียกร้องไปยังสมาชิกรัฐสภาทุกท่าน  ว่า เรื่องนี้เป็นประโยชน์กับคนไทยทุกคน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง และเพื่อดูแลช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ อยากให้รัฐสภารีบเดินหน้าพิจารณากฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว และออกมาอธิบายว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์กับแพทย์ และผู้ป่วยอย่างไร และรัฐสภาควรเป็นกลไกที่สำคัญที่จะช่วยหยิบข้อกฎหมายที่ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ มาปรับปรับปรุงให้เป็นประโยชน์กับส่วนรวมให้มากที่สุด เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายได้เห็นด้วยในเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมายฉบับนี้แล้ว ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะทำกฎหมายให้ดีมี่สุด และทุกฝ่ายต้องยอมรับในภารกิจนี้ของรัฐสภา
 
สมาพันธ์แพทย์ผุด "คบส."สู้
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ที่ปรึกษาสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานเครือข่ายคุ้มครองการบริการสาธารณสุข (คบส.) แถลงว่า เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ได้มีการหารือเรื่องร่างกฎหมาย และมีมติจัดตั้ง คบส.ขึ้น เพื่อคุ้มครองบริการสาธารณสุข ให้มีคุณภาพ คุ้มครองประโยชน์ของประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการ โดยสมาพันธ์แพทย์ฯ สมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งมีแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งในและนอกราชการ บุคลากรสาธารณสุข ชมรมเภสัชกรอาสาคุ้มครองประชาชนด้านการรับบริการทางยา ชมรมเทคนิคการแพทย์ชนบท ชมรมนักกายภาพบำบัด กลุ่มหัวหน้าสถานีอนามัยและนักวิชาการสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีมติเข้าร่วมเครือข่ายคุ้มครองประชาชนฯ
 
พญ.เชิดชูกล่าวว่า คบส.ไม่เห็นด้วยในการจัดตั้งคณะทำงานร่วม 3 ฝ่าย โดยในการประชุมร่วม 2 ฝ่ายได้ให้บันทึกถึงความเห็นของฝ่ายแพทย์ผู้ให้บริการแล้วว่าไม่เห็นด้วยในวิธีการตั้งคณะทำงานแบบรวบรัด แต่เห็นด้วยในหลักการ 3 ข้อ และเห็นด้วยกับ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. ที่ต้องการให้เกิดความสมานฉันท์ จึงนำเรื่องดังกล่าวไปทบทวนอีกครั้งในกลุ่มสมาพันธ์ ประกอบกับมีการให้ข่าวใส่ร้าย โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และนพ.วิชัย โชควิวัฒน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ผ่านสื่อต่างๆ ทำให้เครือข่ายมีมติถอนตัวออกจากกรรมการ 3 ฝ่ายที่ สธ.ตั้งขึ้น
 
เพื่อไทยซัดรัฐบาลแก้ไม่ตรงจุด
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนิติบัญญัตินัดแรก ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเปิดให้สมาชิกหารือก่อนเข้าสู่วาระ นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย หารือกรณีแพทย์แต่งชุดดำคัดค้านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข โดยระบุว่า รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และเรื่องนี้จะเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขรุนแรง เพราะแพทย์คิดว่าโดนรังแก ขอเสนอว่า ควรทำเวิร์กช็อปของทั้งสองฝ่าย แล้วนายกรัฐมนตรีและนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ต้องกล้าฟันธงนำไปปฏิบัติ
 
ด้านนายจุรินทร์ชี้แจงว่า สธ.ได้ดำเนินการไม่ต่างกับที่ นพ.ประสิทธิ์ ส.ส.ชัยภูมิ แนะนำ กรรมการร่วมสองฝ่ายก็มาจากการหารือระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน
 
พจนา อ้างถูกด่าถอนชื่อกก.3ฝ่าย
พญ.พจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์ กล่าวว่า ได้ทำตามมติสมาพันธ์แพทย์ฯ ที่ขอให้ถอนตัวออกจากการเป็นคณะกรรมการ 3 ฝ่ายแล้ว โดยจะแจ้งให้กับปลัด สธ.ทราบต่อไป และคงไม่สามารถเข้าประชุมคณะกรรมการนัดแรกในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ เนื่องจากติดภารกิจ สาเหตุที่ต้องถอนตัว เนื่องจาก นพ.วิชัย และ นพ.อำพล แสดงความคิดเห็นโจมตีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ตามสื่อวิทยุโทรทัศน์
 
" แพทย์ในสังกัด สธ.มีเพียง 12,000 ราย ยังมีแพทย์ที่อยู่ในสังกัดอื่นๆ อีกจำนวนมาก ทั้งกระทรวง ทบวง กรม กทม. โรงเรียนแพทย์ เสียงจากแพทย์ใน สธ.ถือเป็นกลุ่มน้อย สมาพันธ์ต่างๆ จึงประกาศถอนตัว " พญ.เชิดชูกล่าว และว่า ข้อเสนอที่เครือข่ายเสนอเพื่อคุ้มครองผู้รับบริการในระบบสาธารณสุข คือ 1.ขยายความคุ้มครองการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมประชาชนทุกสิทธิทั้งบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการราชการ 2.เพิ่มเพดานการชดเชยในทุกกรณีให้สูงกว่าเดิมเพื่อความเหมาะสม 3.การจัดตั้งคณะทำงานควรมีครบทุกภาคส่วนเพื่อ รับฟังความคิดเห็นให้รอบคอบ
 
อสม.-แพทย์สมาคม ปัดถอนตัว
นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ ประธานชมรม อสม.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ทราบข้อมูลที่เครือข่ายระบุว่ามี อสม.เข้าร่วมด้วย แต่เชื่อว่าไม่มีแน่นอน เพราะหาก อสม.จังหวัดใดจะเข้าร่วมกิจกรรมใด จะต้องแจ้งชมรมทุกครั้ง
พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยืนยันว่าแพทยสมาคมเห็นด้วยกับแนวทางการเจรจาร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้รับบริการ และฝ่ายผู้ให้บริการ และไม่เห็นด้วยกับการล้มโต๊ะเจรจา แต่หากเห็นว่าสัดส่วนของคณะทำงานที่จะเจรจาร่วมกันไม่เหมาะสมหรือไม่ครอบคลุม ก็ต้องปรับเปลี่ยน ต้องคุยกันเพื่อให้ได้ทางออกของปัญหานี้
 
 
 
 

 
 
 

 
รายชื่อคณะกรรมการสมานฉันท์พิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ 3 ฝ่าย
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรี สธ. ได้ลงนามคำสั่ง สธ.ที่ 1356/2553 แต่งตั้งคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข จำนวน 26 คน ประกอบด้วย 1.นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. เป็นที่ปรึกษา 2.นายวรรณชัย บุญบำรุง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นที่ปรึกษา 3.นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นประธานกรรมการ 4.นายวิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 5.เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ/ผู้แทน 6.ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข/ผู้แทน 7.นายธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ 8.นายโชติศักดิ์ เจนพาณิชย์ แพทยสภา 9.รศ.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ สภาการพยาบาล 10.นายธรณินทร์ จรุงเกียรติ ทันตแพทยสภา 11.นายกิตติ พิทักษ์นิตินันท์ สภาเภสัชกรรม

12.พ.ท.ประพนธ์ อยู่ปาน สภากายภาพบำบัด 13.นางพจนา กองเงิน ประธานสมาพันธ์ รพท./รพศ. 14.พล.ต.ท.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย 15.นายสมชัย เจิดเสริมอนันต์ สภาเทคนิคการแพทย์ 16.น.ส.อารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 17.นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ 18.ผศ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 19.น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคตะวันตก 20.นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 21.น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ 22.น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานร่วมแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ 23.นายสัมภาษณ์ กูลศรีโรจน์ กรรมการเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ 24.นายธเนตร บัวแย้ม นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการสุขภาพ) กรมสนับสนุนบริการการสุขภาพ เป็นเลขานุการ 25.นายชาตรี พินใย นิติกรชำนาญการ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ และ 26.นางอารีวรรณ ปั่นแก้ว นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net