Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

4.  การสังหารหมู่ 19 พฤษภาคม 2553
การเสนอ “แผนปรองดอง” และให้เลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2553 โดยรัฐบาลเป็นการรุกกลับทางการเมืองที่ทำให้แกนนำ นปช.ต้องเผชิญความขัดแย้งระหว่างการต่อสู้ทางการเมืองกับฝ่ายเผด็จการด้านหนึ่ง กับการเมืองของมวลชนในอีกด้านหนึ่ง

รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นเพียงเครื่องมือของเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ไม่มีอำนาจและความเป็นเอกเทศที่จะตัดสินใจยุบสภาได้ด้วยตนเอง ความจริงคือ ฝ่ายเผด็จการไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีตของพวกเขาที่ยอมให้มีการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม 2550

ทั้งแกนนำและมวลชนต่างรู้ว่า “แผนปรองดอง” ดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการหลอกลวง และจะต้องถูกฝ่ายเผด็จการบิดพลิ้วไม่ช้าก็เร็ว แต่ถ้าแกนนำนปช.ปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลในทันที ฝ่ายเผด็จการก็จะฉวยใช้เป็นข้ออ้างทางการเมืองเพื่อใช้กำลังปราบปรามประชาชน ฉะนั้น หนทางที่สอดคล้องในขณะนั้นคือ การรับข้อเสนอของรัฐบาล ยุติการชุมนุม เพื่อรักษากำลัง ฐานมวลชนและเครือข่ายสื่อสารของตนไว้ให้พร้อม เพื่อรณรงค์เปิดโปงและเรียกร้องความเป็นธรรมจากกรณี 10 เมษายน 2553 ต่อไป รอเวลากลับมาเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งเมื่อฝ่ายเผด็จการบิดพริ้วไม่ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดในวันข้างหน้า

แต่แกนนำก็ไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ เพราะหากตอบรับข้อเสนอของรัฐบาลโดยทันที พวกเขาก็จะเผชิญความขัดแย้งกับมวลชนที่ไม่ต้องการ “ปรองดอง” กับเผด็จการ

แกนนำพื้นที่และมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ได้สั่งสมความโกรธแค้นมาหลายปีอันเกิดจากการข่มเหงและความอยุติธรรม นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การยุบพรรคไทยรักไทย การปฏิเสธผลการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ด้วยการอุ้มชูอันธพาลการเมืองเสื้อเหลืองให้ยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบิน ยุบพรรคพลังประชาชน ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และการปราบปรามประชาชนเมื่อ 12-14 เมษายน 2552 มวลชนเหล่านี้จึงออกมาร่วมเคลื่อนไหวด้วยจิตใจที่พร้อมจะเผชิญกับความยากลำบากและอันตราย

กรณีนองเลือด 10 เมษายน 2553 ที่มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายรวมเกือบหนึ่งพันคนยิ่งสร้างความโกรธให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น พวกเขามิได้เพียงต้องการยุบสภาอีกต่อไป แต่ต้องการท้าทายระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตยโดยตรง แกนนำพื้นที่และมวลชนจึงปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาล และปฏิเสธแกนนำนปช.ในประเด็นดังกล่าว ผลที่อาจเกิดขึ้นคือ แกนนำบางส่วนและมวลชนจะยังคงชุมนุมยืดเยื้อต่อไปโดยลำพัง นำมาซึ่งการเข่นฆ่าประชาชนครั้งใหญ่อยู่ดี

ในขณะเดียวกัน แรงกดดันจากมวลชนยังส่งผลให้ความแตกต่างทางความคิดที่มีอยู่เดิมภายในหมู่แกนนำนปช. ขยายตัวเป็นความแตกแยกทางความคิดและยุทธวิธี แกนนำส่วนหนึ่งมี “ความโน้มเอียงทางการทหาร” ประเมินดุลกำลังของตนอย่างเพ้อฝันเกินจริง และประเมินฝ่ายเผด็จการต่ำเกินไป โดยเชื่อว่า จะยังคงไม่มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชน หรือหากมีการใช้กำลัง ก็จะล้มเหลวดังเช่นกรณี 10 เมษายน และการยืนหยัดชุมนุมต่อไปจะทำให้รัฐบาลไม่มีทางอื่นใดอีกนอกจากต้องยอมยุบสภาโดยทันทีหรือลาออก

ในที่สุด ได้มีการเพิ่มข้อเรียกร้องของการชุมนุมจาก “ยุบสภา” เป็น “เอาผิดผู้รับผิดชอบกรณี 10 เมษายน” แต่การยกระดับข้อเรียกร้องดังกล่าวได้กลายเป็นสัญญาณว่า การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนี้มิอาจมีผลเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากการเข่นฆ่าประชาชนครั้งใหญ่เนื่องจากฝ่ายเผด็จการนั้นได้เตรียมแผนการมายาวนานและมีกำลังมาพร้อมสรรพ ในขณะที่ฝ่ายมวลชนประชาธิปไตยก็เต็มไปด้วยความโกรธที่สั่งสมมายาวนาน และพร้อมจะเผชิญหน้ากับฝ่ายอำมาตยาธิปไตย

ผู้วิจารณ์บางคนมีข้อแย้งว่า แกนนำนปช.ยังอาจยุติการชุมนุมได้ทันท่วงทีหากไม่มีการแตกแยกกัน และสามัคคีกันลงไปชี้แจงทำความเข้าใจกับแกนนำพื้นที่และมวลชน ข้อแย้งดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่า แกนนำยังคงสามารถกุมสภาพมวลชนได้ทั้งหมดตราบจนช่วงสุดท้ายของการชุมนุม แต่ความจริงคือ แกนนำนปช.ได้ค่อย ๆ สูญเสียการกุมสภาพมวลชนไปตั้งแต่เหตุการณ์ 10 เมษายน จนกระทั่งแทบจะกุมสภาพไม่ได้เลยในช่วงสุดท้าย กลายเป็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นเอกเทศของแกนนำพื้นที่และแกนนำจากภายนอก รวมทั้งการเคลื่อนไหวที่เป็นไปเองของมวลชน

นัยหนึ่ง การชุมนุมของประชาชนในนาม “คนเสื้อแดง” ที่เรียกร้องการยุบสภาในช่วงเดือนมีนาคมนั้น หลังจากการปราบปรามในวันที่ 10 เมษายน ก็ได้พัฒนาไปเป็นการชุมนุมเพื่อท้าทายเผด็จการอำมาตยาธิปไตย และท้ายสุดเมื่อฝ่ายเผด็จการทำการปิดล้อมทางทหารเพื่อเตรียมการล้อมปราบครั้งที่สองในต้นเดือนพฤษภาคม การชุมนุมก็ขยายตัวกลายเป็นการลุกขึ้นสู้ของมวลชนครั้งใหญ่ โดยที่แกนนำนปช. แดงทั้งแผ่นดินไม่สามารถควบคุมได้ในที่สุด

แกนนำนปช. จำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการยกระดับการชุมนุม และได้ตัดสินใจ “ยุติบทบาท” ไปก่อน แกนนำส่วนนี้แม้จะมองเห็นอย่างถูกต้องถึงอันตรายข้างหน้า แต่การที่พวกเขาตัดสินใจ “หยุด” ในขณะที่การเคลื่อนไหวของมวลชนยังคงดำเนินต่อไปนั้น มิได้เป็นผลดีต่อการเคลื่อนไหวของมวลชนแต่อย่างใด ทั้งไม่ได้ช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการเข่นฆ่าประชาชนอย่างขนานใหญ่อยู่ดี ความรับผิดชอบของพวกเขาในฐานะผู้นำการเคลื่อนไหวจะต้องได้รับการประเมินอย่างเข้มงวดโดยมวลชนประชาธิปไตยต่อไป

แกนนำนปช. อีกส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า ควรรับข้อเสนอของรัฐบาลและไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมยืดเยื้อออกไป แต่ด้วยความรับผิดชอบของการเป็นแกนนำ จึงยังคงยืนหยัดอยู่กับมวลชนไปจนถึงที่สุดแม้จะรู้ว่า บั้นปลายเป็นอย่างไร พวกเขาเหล่านี้สมควรได้รับการสดุดีอย่างสูง


5. การต่อสู้ที่มาก่อนกาลเวลา

อาจกล่าวได้ว่า แกนนำพื้นที่และมวลชนคนเสื้อแดงที่เรียกร้องเกินกว่าการยุบสภาในสถานการณ์ขณะนั้น กระทำผิดพลาดทางยุทธศาสตร์อย่างสำคัญ ในสภาพการณ์ที่ขบวนการประชาธิปไตยเพิ่งจะก่อตัว แม้จะมีจำนวนนับล้านคนทั่วประเทศแล้ว แต่ก็ยังอ่อนแอในการจัดตั้งและระเบียบวินัย ขาดประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวรูปธรรม ขาดแกนนำที่เข้มแข็งและเป็นเอกภาพ จึงย่อมไม่มีทางที่จะเข้าเผชิญหน้าโดยตรงกับเผด็จการอำมาตยาธิปไตยในทันที

การคลี่คลายของมวลชนจากการชุมนุมไปเป็นการลุกขึ้นสู้ในครั้งนี้ มีลักษณะเป็นไปเองและหลีกเลี่ยงได้ยาก ในประวัติศาสตร์ มีกรณีที่ประชาชนลุกขึ้นสู้ต่อต้านการกดขี่ข่มเหงอยู่ทุกหนแห่งทั่วโลก ส่วนใหญ่ต้องประสบความพ่ายแพ้เนื่องจากเป็นการเข้าต่อสู้ก่อนเวลาอันควรในยามที่ประชาชนยังอ่อนเล็ก ขาดการนำและการจัดตั้ง อย่างไรก็ตาม แม้เราอาจวิจารณ์ว่า การต่อสู้เหล่านี้มีความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ แต่เราก็ต้องมีความเข้าใจในสัญชาตญาณและจิตใจของมวลชนว่า การลุกขึ้นสู้ที่พ่ายแพ้เหล่านี้ จำนวนมากเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากประชาชนได้ถูกกดขี่ข่มเหงอย่างสาหัสมาเป็นเวลานาน จนถึงกาลที่พวกเขาไม่อาจทนต่อไปได้ และระเบิดขึ้นเป็นความโกรธ แม้พวกเขาจะรู้ว่า ในท้ายสุดจะยุติลงเป็นความสูญเสียและพ่ายแพ้ก็ตาม

ท่าทีที่ถูกต้องของนักประชาธิปไตยต่อการต่อสู้ที่พ่ายแพ้เหล่านี้ รวมทั้งต่อการเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553 คือ ต้องเข้าใจและสดุดีความกล้าหาญของพวกเขา คารวะจิตใจต่อสู้ที่กล้าเสียสละไม่กลัวตาย สนับสนุนและร่วมกับพวกเขาให้เรียนรู้จากความผิดพลาดและพ่ายแพ้เหล่านี้ นำมากลับมาถ่ายทอด เพื่อยกระดับการต่อสู้ในครั้งต่อไป

การโจมตีแกนนำนปช.อย่างสาดเสียเทเสียว่า เป็นสาเหตุหลักของการเสียหายจำนวนมากของมวลชน ไม่ใช่ท่าทีของนักประชาธิปไตย แม้ว่าแกนนำที่มีความโน้มเอียงทางการทหารจะกระทำผิดพลาดและมีส่วนสำคัญต่อผลลัพธ์ แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพประชาธิปไตยที่ยืนหยัดอยู่กับมวลชน

การโยนความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้แกนนำนปช.ยังเป็นการปฏิเสธความจริงสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประชาชนหลายแสนคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทั่วประเทศและชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพนั้น มาโดยสมัครใจ ด้วยความรับรู้ทางการเมืองในระดับสูงและการตัดสินใจที่ชัดเจนว่า พร้อมจะเผชิญหน้ากับความยากลำบาก อันตราย และการเสียสละ เพื่อให้สังคมไทยและชนชั้นปกครองไทยได้รู้สักครั้งว่า พวกเขาโกรธแค้นและจะไม่ยอมทนต่อการกดขี่และความอยุติธรรมอีกต่อไป ประชาชนเหล่านี้ไม่ใช่มวลชนว่านอนสอนง่ายที่แกนนำจะนำพาไปทางไหนก็ได้ พวกเขามีความมุ่งมั่นและความรับรู้สูงพอที่จะตัดสินใจสนับสนุนหรือปฏิเสธทิศทางการตัดสินใจของแกนนำของพวกเขาด้วยตัวเอง

6. ฝ่ายเผด็จการชนะทางทหาร แต่แพ้ทางการเมือง
การเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553 เป็นการเคลื่อนไหวที่มีการจัดตั้งในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีลักษณะเป็นไปเองอยู่สูง ขบวนการประชาธิปไตยจะต้องเรียนรู้จากจุดอ่อนและความผิดพลาดของตนเอง เพื่อยกระดับการเคลื่อนไหวในอนาคตฃ

จุดอ่อนสำคัญคือ แกนนำนปช. แดงทั้งแผ่นดินยังขาดเอกภาพในแนวทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี เนื่องจากพื้นภูมิหลังที่แตกต่าง มีประสบการณ์ร่วมและเวลาไม่มากพอที่จะหล่อหลอมขึ้นเป็นแกนนำที่เข้มแข็งเป็นเอกภาพ จึงไม่อาจประสานสามัคคีกันเพื่อแก้ปัญหาทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีได้ในยามวิกฤต อีกทั้งไม่สามารถประสานเป็นหนึ่งเดียวกับแกนนำพื้นที่ ไม่อาจสื่อสารและเรียนรู้จากกันและกัน เป็นผลให้แกนนำนปช.ไม่สามารถกุมสภาพมวลชนได้ กระทั่งสูญเสียการกุมสภาพของการเคลื่อนไหวไปในขั้นตอนวิกฤต

การทำงานทางความคิดของแกนนำในหมู่มวลชนยังไม่เพียงพอ แม้แต่การทำความเข้าใจกับมวลชนในประเด็นยุทธศาสตร์ยุทธวิธีรูปธรรมก็ยังสับสน ก่อให้เกิดการคาดหวังที่ไม่เป็นจริง เช่น การประเมินกำลังของตนสูงเกินจริงอย่างต่อเนื่อง การกระพือความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เรื่องสหประชาชาติ เรื่องกองกำลังในประเทศหรือจากต่างประเทศ เรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ เรื่องการแทรกแซงของมหาอำนาจ ซึ่งล้วนเป็นความเพ้อเจ้อที่สะท้อนถึงความอ่อนแอของฝ่ายประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ละเลยที่จะเน้นย้ำบทเรียนจากการต่อสู้ของประชาชนทั่วโลก คือต้องพึ่งตนเองเท่านั้น

มวลชนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวพฤษภาคม 2553 แม้จะพัฒนายกระดับความรับรู้ทางการเมือง มีการจัดตั้งรวมตัวในระดับหนึ่ง ก็ยังอ่อนแอ กระจัดกระจาย และขาดวินัยที่จำเป็น แต่พวกเขาก็จะเรียนรู้จากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ เช่นเดียวกับที่ได้เรียนรู้บทเรียนจากการต่อสู้ตลอดหลายปีมานี้ ประสบการณ์นองเลือดครั้งนี้จะนำไปสู่การยกระดับครั้งใหญ่ในทางจิตสำนึก ความเรียกร้องต้องการ การรวมตัวจัดตั้งและวินัยของขบวนการประชาธิปไตย

ในครั้งนี้ ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้ชัยชนะในทางทหารเท่านั้น แต่กำลังพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างสำคัญ การบดขยี้ขบวนการประชาธิปไตยด้วยการสังหารหมู่ประชาชนครั้งใหญ่และคุกคามจับกุมคุมขังไปทั่วประเทศคราวนี้ แลกมาด้วยการฉีกหน้ากากนักบุญผู้ทรงคุณธรรมและความเมตตาของฝ่ายเผด็จการจนหมดสิ้น ในวันนี้ พวกเขาไม่สามารถปกครองด้วยศรัทธาและการครอบงำทางจิตใจเป็นด้านหลักได้อีกต่อไป และจำต้องหันมาใช้การกดขี่ ปราบปรามและกำลังรุนแรงเพื่อรักษาอำนาจไว้

ระบอบการเมืองใดก็ตามที่สูญเสียการครอบงำทางจิตใจและอุดมการณ์ แล้วหันมาใช้กำลังรุนแรงอย่างเปิดเผยเพื่อปกครองประชาชน ระบอบนั้นก็ไม่อาจอยู่ได้นาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net