Skip to main content
sharethis

คนเกาะสมุย เกาะเตา เกาะพะงัน ผนึกกำลัง กว่า 35,000 คน จับยืนมือรอบเกาะสมุยแสดงพลังต้านสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมอ่าวไทย หวั่นผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง จี้รัฐทบทวนจะเอารายได้จากท่องเที่ยวระยะยาวหรือขุดปิโตรเลียมขายจนหมด

วันที่ 31 กรกฎาคม 2553 เป็นวันที่ผู้คนในแวดวงขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ต่างลุ้นระทึก

เนื่องเพราะเป็นวันที่คนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นัดหมายกับคนจังหวัดเดียวกันจากเกาะพะงัน เกาะเต่า คนบนฝั่งจากตัวเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจากอำเภอขนอม อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันแสดงพลังต้านสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมชายฝั่งในอ่าวไทย

ที่จริงปฏิกิริยาปฏิเสธสัมปทานขุดเจาะใกล้ชายฝั่งของชาวอำเภอเกาะสมุย ก่อตัวกันอย่างเงียบๆ ตั้งแต่ปี 2551 ถึงบัดนี้ก็ร่วม 2 ปีแล้ว

แต่ทว่า ที่เพิ่งออกมาปะทุชัดเจน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 เมื่อนายอานนท์ วาทยานนท์ อุปนายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ร่อนจดหมายชวนประชาชนและเจ้าของกิจการมาคัดค้านการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในอำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน และบริเวณหมู่เกาะใกล้เคียง

พร้อมกับส่งจดหมายคัดค้าน ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกต่างหาก

เวลา 9.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ขณะที่บริษัท โปรเอ็นเทคโนโลยี จำกัด ผู้ศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลหมายเลข G5/50 ของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงาน จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ต่อร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ห้องประชุมเพชรสมุย เทศบาลเมืองเกาะสมุย

ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ตัวแทนองค์กรต่างๆ ทั้งจากเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ต่างเดินทางมารวมตัวกันที่หน้าอาคารเทศบาล พร้อมตั้งโต๊ะลงรายชื่อคัดค้านโครงการขุดเจาะสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย

ด้วยเกรงว่าการขุดเจาะปิโตรเลียมใกล้ชายฝั่งในอ่าวไทย จะส่งผลคุกคามต่อวิถีชีวิต ระบบนิเวศและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พร้อมทั้งตั้งโต๊ะลงชื่อคัดค้าน

จากนั้นผู้ชุมนุมได้ส่งตัวแทนเข้าไปถึงตัวแทนเข้าไปแสดงความเห็นต่อที่ประชุม พร้อมกับชักชวนผู้เข้าประชุมทั้งหมดออกไปชุมนุมหน้าเทศบาล ส่งผลให้การประชุมระดมความคิดเห็นล้มกลางคัน

อันไม่แตกต่างจากการเดินสายจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ที่เกาะพะงันในวันถัดมา ซึ่งถูกชาวเกาะพะงันปฏิเสธเช่นกัน

ขณะที่นายประยุทธ ทองนวล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน ที่ออกมายืนยันว่า ชาวเกาะเต่าก็คัดค้านโครงการนี้เช่นกัน

“จุดขายของเกาะเต่าคือธรรมชาติสวยงาม และเป็นแหล่งดำน้ำชั้นนำของโลก ถ้านักท่องเที่ยวไม่เข้ามา ชาวเกาะจะไปทำอาชีพอะไร” เป็นคำถามจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเต่า

ส่วนนายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเกาะสมุย ในฐานะประธานเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย ย้ำว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องพิจารณาแล้วว่า ระหว่างการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 20,000 ล้านบาท จากเกาะทั้ง 3 แห่งนี้ กับพลังงานว่าจะเลือกอะไร

“พลังงานมีวันหมดสิ้นไป แต่การท่องเที่ยวสามารถทำรายได้เข้าประเทศได้ตลอดระยะยาว” นายรามเนตร กล่าว

สำหรับโครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 5/50 ของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ที่กำลังเดินสายรับฟังความคิดเห็นและถูกคัดค้านอยู่ในขณะนี้ มีผู้มีส่วนได้เสียครอบคลุมไปถึงจังหวัดนครศรีธรรมราช

ก่อนหน้านี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้อนุมัติแปลงสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย ปี 2550 ให้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมันหลายแห่ง เช่น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด, บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี จำกัด และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตโตรเลียม จำกัด เป็นต้น บริษัทเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีแปลงสัมปทานบริเวณรอบเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ

อันเห็นได้ชัดจากบริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด ได้รับสัมปทานแปลงสำรวจในทะเลหมายเลข G/50 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเกาะสมุย ขอบแปลงสัมปทานอยู่ห่างจากเกาะสมุยไม่ถึง 5 กิโลเมตร หลุมสำรวจขุดเจาะอยู่ห่างจากเกาะพงันและเกาะสมุยประมาณ 65 และ 74 กิโลเมตรตามลำดับ หลุมที่อยู่ใกล้เกาะพงันและเกาะสมุยที่สุดห่างประมาณ 115 และ 110 กิโลเมตรตามลำดับ การขุดเจาะแต่ละหลุมใช้เวลาประมาณ 11 วัน มีหลุมที่ต้องการขุดเจาะ 12 หลุม เงื่อนไขสัมปทานระบุว่า จะต้องขุดเจาะหลุมสำรวจอย่างน้อย 1 หลุม ในปี 2552 และต้องขุดเจาะสำรวจ 3 หลุม ภายในปี 2553

ส่วนแปลงสัมปทานของบริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด ได้รับสัมปทานแปลงสำรวจในทะเลหมายเลข G6/48 มีพื้นที่ 2,280 ตารางกิโลเมตร ขอบแปลงห่างจากเกาะสมุยประมาณ 82 กิโลเมตร อยู่ห่างจากเกาะพะงัน และเกาะสมุย 113 กิโลเมตร และ 110 กิโลเมตรตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีแปลงสัมปทานที่ขออนุญาตขุดเจาะสำรวจใหม่ ปี 2553 ที่อยู่ในขั้นตอนศึกษารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยมีหลุมเจาะใกล้เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า อีกสองบริษัทคือ แปลงสัมปทาน B8/38 ของบริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี จำกัด อยู่ห่างจากเกาะเต่าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 65 กิโลเมตร และแปลงสัมปทาน G5/50 ของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด มีระยะห่างจากเกาะสมุยไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพียง 42 กิโลเมตร

ข้อมูลที่หลุดออกจากปากนายวีรศักดิ์ พึ่งรัศมี ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 บริษัทที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย 4 บริษัท และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มีโครงการเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบริเวณอ่าวไทย 10 โครงการ

โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข บี 12/27, โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข บี 8/38, โครงการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 1/48, โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 2/48, โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 3/48, โครงการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 10/48

โครงการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 11/48, โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 5/50, โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 8/50 และจี 9/48, โครงการเจาะสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แปลงสำรวจหมายเลข จี 12/48

สำหรับโครงการที่ขุดไม่พบแหล่งปิโตรเลียม และปิดแปลงสัมปทานหยุดขุดเจาะไปแล้วคือ แปลงสำรวจหมายเลข จี 4/50 (A) และ (B) ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แปลงสำรวจหมายเลข จี 6/48 ของบริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด

จึงไม่แปลกที่การรับฟังความคิดเห็นประชาชนของบริษัทที่ปรึกษา ที่ได้รับการว่าจ้างมาจากผู้ได้รับสัมปทาน จึงถูกคัดค้านจากประชาชนส่วนใหญ่ ด้วยชาวบ้านและผู้ประกอบการในพื้นที่ ต่างเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวบนเกาะสมุย ที่ทำรายได้ให้กับเกาะสมุยกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี

นี่คือที่มาของการจัดตั้งเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย ของคนเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ที่มีนายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีเมืองเกาะสมุย เป็นประธาน กำหนดออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทยครั้งใหญ่ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553

พร้อมกับมีมติเชิญผู้ที่จะได้รับผลกระทบลักษณะเดียวกันจากอำเภอท่าศาลา อำเภอสิชล และอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มาร่วมเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย เพื่อจะได้กำหนดท่าทีเคลื่อนไหวร่วมกัน

ภาพที่จะได้เห็นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 ก็คือ การระดมประชาชนประมาณ 35,000 – 40,000 คน ทั้งชาวบ้าน พนักงานโรงแรม นักศึกษา นักเรียนออกมายืนบนถนนสายรอบเกาะ จับมือต่อกันในระยะทาง 52 กิโลเมตร เพื่อแสดงให้ภาครัฐเห็นเจตนารมณ์ของคนในพื้นที่

นี่คือ การประกาศเปิดศึกกับบรรษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ข้ามชาติของคนท้องถิ่นประเทศนี้ ที่คาดได้ไม่ยากว่า จะเป็นศึกที่ยืดเยื้อยาวนาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net